"...นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการแล้ว ยังปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกมากมายที่มีพฤติการณ์หรือการจัดจัดซื้อจัดจ้างจัดทำและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมพร้อมโคมไฟเป็นรูปประติมากรรมต่าง ๆ ซึ่งส่อไปในทางเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ ราคาของประติมากรรมโคมไฟแต่ละต้น มีราคาที่สูงกว่าในท้องตลาดหลายเท่าตัว และหรือมีการชำรุด เสียหายง่าย หรือติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความคุ้มค่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ และไม่มีประสิทธิภาพ..."
.......................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จากกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หลายแห่งทั่วประเทศ จำนวน 16 แห่ง ดำเนินการโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมในราคาที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าแพงเกินจริง โดยการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว นายศรีสุวรรณ ระบุว่า เป็นการอาศัยช่องว่างของระเบียบของกรมบัญชีกลาง และหรือไม่ปรากฎในบัญชีมาตรฐานคุรุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ จึงทำให้ท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ อาศัยช่องว่างดังกล่าวในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจะขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ประกอบและกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก
ทั้งนี้ ข้ออ้างว่าที่ว่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 แล้วก็ตาม แต่ต้องคำนึงด้วยว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินดังกล่าวมีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายของ สตง.หรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย สตง.มีอำนาจลงโทษทางปดครอง และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาลงโทษทางอาญาต่อไปได้
สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดรายชื่อและข้อมูล อปท.จำนวน 16 แห่งที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมที่มีราคาแพง ซึ่งมีการยื่นเรื่องให้ สตง. ตรวจสอบเป็นทางการ มานำเสนอ ณ ที่นี้
ตามที่สื่อมวลชน โซเชียลมีเดียและเพจชื่อดังหลายๆเพจ อาทิ สำนักข่าวอิศรา ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย เฟซบุ๊ก ต้องแฉ ฯลฯ ได้ช่วยกันแฉและตีแผ่ข้อพิรุธโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานแสงอาทิตย์(โชล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ หลายต่อหลายโครงการฯหรือหลายสัญญา ที่อาจมีลักษณะส่อไปในทางทุจริต และไม่มีความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน เนื่องจากบางส่วนมีการติดตั้งในซอยที่เป็นป่าหญ้ารกทึบ มีระยะเสาแต่ละต้นที่ถี่เกินไป และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้นั้น
เมื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวพบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ โดยผู้ถูกกล่าวหา ได้ดำเนินโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มาหลายโครงการแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ
ในปี พ.ศ.2556 จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 64.76 ล้านบาท รวมเสาไฟ 648 ต้น ได้แก่
1)โครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าทำด้วยเหล็กชุบกาวาไนท์ สูงไม่น้อยกว่า 9 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) พร้อมรูปประติมากรรมกินรี จำนวนรวม 628 ชุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 62,830,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 100,048 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556
2)โครงการซื้อเสาไฟฟ้าพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) พร้อมประติมากรรมกินรี เพิ่มเติม จำนวน 20 ชุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 1,930,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 96,500 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556
***เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมพบว่า งานโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี จำนวน 2 สัญญา ในช่วงปี พ.ศ.2556 ของ อบต.ราชาเทวะ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงานของอบต.ราชาเทวะ และทำหนังสือแจ้งให้เรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นจำนวน 67.29 ล้านบาท โดยผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า อบต. ราชาเทวะ ได้ทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรมกินรี จากเอกชน โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดส่งรูปแบบรายละเอียดของงานให้แขวงการทางสมุทรปราการพิจารณาก่อนการดำเนินงาน และเมื่อแขวงการทางสมุทรปราการ ได้เชิญ อบต. ราชาเทวะ มาหารือแนวทางการติดตั้งและรื้อถอนไฟฟ้า เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่รับผิดชอบ หรือจัดเก็บเสาไฟฟ้าไว้ก่อนจนกว่าจะหาที่เหมาะสม พร้อมให้แขวงการทางสมุทรปราการเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งตามมาตรฐานกรมทางหลวงอีกครั้ง
แต่ อบต.ราชาเทวะ กับไม่ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุม อีกทั้งยังไปจัดทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้ามาเพิ่มเติมอีก เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวน 67.29 ล้านบาท สตง. จึงได้ทำหนังสือแจ้งให้ อบต.ราชาเทวะ ดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นจำนวน 67.29 ล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
***ในช่วงปี พ.ศ.2558-2561 ผู้ถูกร้องถูกหัวหน้าคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ปรากฎว่ามีโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2561 ผู้ถูกกล่าวหาจึงได้รับคืนตำแหน่ง
ปี พ.ศ.2562 จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 198,840,000 บาท ได้แก่
1)โครงการปรับปรุงเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี ในเขตทางหลวงหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 27,000,000 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562
2)โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) จำนวน 1,811 ต้น ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 171,840,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,887 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562
ปี พ.ศ.2563 จำนวน 5 สัญญา วงเงิน 332,730,000 บาท รวมเสาไฟ 3,506 ต้น ได้แก่
1)โครงการประกวดราคาซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งบริเวณริมคลองลาดกระบัง หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และบริเวณริมคลองเทวะคลองตรง หมู่ที่ 10 จำนวน 600 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 56,950,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,917 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563
2)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในตำบลราชาเทวะ จำนวน 536 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 50,920,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 95,000 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563
3)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว จำนวน 347 ต้นพร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 16 จุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 32,950,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,957 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563
4)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว จำนวน 788 ต้น พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 2 จุด ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 74,760,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,873 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563
5)โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภานในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,235 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 117,150,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,858 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563
ปี พ.ศ.2564 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 482,985,000 บาท รวมเสาไฟ 5,090 ต้น ได้แก่
1)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,456 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 138,080,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,835 บาท ทำสัญญากันเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564
2)โครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้งภายในเขตตำบลราชาเทวะ จำนวน 1,823 ต้น ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด วงเงิน 172,860,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 94,822 บาท ประกาศผลผู้ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564
3)ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยผู้ถูกกล่าวหา ยังได้จัดทำโครงการประกวดราคาซื้อจัดซื้อครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ เสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว พร้อมติดตั้ง จำนวน 1,811 ต้น ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ขึ้นมาอีก วงเงิน 172,045,000 บาท ราคาเฉลี่ยต้นละ 95,069 บาท ซึ่งคาดว่าผู้ชนะการประมูลน่าจะเป็นรายเดิม
ปี พ.ศ.2564 ล่าสุด
นอกจากนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ เพื่อที่จะทำเรื่องจ่ายเงินสะสมและจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟกินรีอีก 720 ต้น รวมเป็นเงินกว่า 68,400,000 บาทอีกด้วย
โดยสรุป การจัดทำโครงการเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบันระยะเวลาประมาณ 8 ปี ดำเนินการไปแล้วประมาณ 12 โครงการฯ วงเงินประมาณ 1,079,291,000 บาท ติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟไปแล้วทั้งสิ้น 11,339 ต้น เฉลี่ยต้นละ 95,480 บาท
ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 31 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 19,375 ไร่ (ในจำนวนนี้ใช้เป็นพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 9,451 ไร่) ซึ่งจะเหลือเป็นพื้นที่เหลือเพียง 9,924 ไร่เท่านั้น มีครัวเรือนเพียง 15,185 หลังคาเรือนเท่านั้น หากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเสาไฟกินรี 1 ต้นจะเท่ากับ 1 ครัวเรือนเลยทีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่ผิดปกติอย่างมาก
ซึ่งเสาไฟกินรีแต่ละต้นมีราคามากกว่าต้นละ 95,480 บาท ซึ่งมีการดำเนินการติดตั้งในซอยเล็ก ซอยน้อย และในถนนทางหลวงในพื้นที่ตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 มาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลากว่า 8 ปี รวมแล้วประมาณ 12 สัญญา คิดเป็นเงินกว่า 1,079,291,000 บาท ที่สำคัญคือ มีเพียงบริษัทเดียวที่สามารถประมูลงานดังกล่าวได้เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการจัดซื้อจัดหาและติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรีให้กับ อบต. ราชาเทวะ มาอย่างต่อเนื่องจนเป็นข้อผิดสังเกต
ทั้งนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริงก็พบว่าในพื้นที่ของ อบต.ราชาเทวะ ทุกตรอก ซอก ซอย ซึ่งแม้เป็นซอยแคบๆจะเต็มไปด้วยเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานโชล่าเซลล์เต็มไปหมดทั้งสองฝั่งซอย บางจุดมีระยะห่างประมาณ 10-14 เมตรก็มี ทั้ง ๆ ที่โยมาตรฐานควรจะมีระยะห่างประมาณ 1 เส้น หรือ 20 เมตร และบางซอยแทบจะเป็นซอยร้างมีหญ้าขึ้นรกชัฏ แต่ก็ยังมีเสาไฟกินรีไปติดตั้งอย่างมากมาย
นอกจากนั้น บริษัทที่ประมูลงานได้ทุกสัญญาที่ผ่านมา มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น จึงเป็นข้อผิดปกติ ซึ่งอาจเข้าข่ายพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลหรือไม่ได้ แม้จะอ้างว่าดำเนินการประมูลตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอตั้งข้อสงสัยในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แม้จะอ้างว่าดำเนินการประมูลตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้วก็ตาม แต่ในประเด็นเหล่านี้ มิใช่ประเด็นที่จะอ้างได้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งอย่างถูกต้อง ดังนี้
1)ราคาของเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) พร้อมการติดตั้ง มีราคาสูงเฉลี่ยต้นละประมาณ 95,480 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับลักษณะ ขนาด รูปร่าง และราคาในท้องตลาดทั่วไป น่าจะมีราคาที่แพงเกินไปกว่าเท่าตัวหรือไม่ อย่างไร
2)การออกแบบในข้อกำหนดการว่าจ้าง หรือ ทีโออาร์ของเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีความจำเป็นและประโยชน์เพียงใดที่เสาไฟประติมากรรมแต่ละต้นจะต้องเป็นลักษณะอลูมิเนียมสีทอง พร้อมลวดลายคล้ายใบโพธิ์ตลอดทั้งต้น
3)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีการติดตั้งในระยะที่ถี่เกินความจำเป็น โดยมีการติดตั้งทุกถนน ทุกตรอก ซอกซอย ไม่ว่าจะเป็นถนนใหญ่ ซอยเล็กแคบเพียงใด ก็มีการติดตั้งขนาบทั้งสองฝั่งถนนหรือซอย โดยมีระยะห่างระว่างต้นในหลายๆจุด มีความห่างเพียง 10 - 14 เมตรเท่านั้น ไม่มีมาตรฐานการติดตั้ง ไม่มีผัง หรือแบบแปลนการติดตั้ง ทั้ง ๆ ที่โดยมาตรฐานทั่วไปจะติดตั้งในระยะ 1 เส้นหรือ 20 เมตร เชื่อว่าเป็นการติดตั้งเอาตามอำเภอใจของผู้รับเหมา ที่ถูกกำหนดจำนวนไว้ตายตัวในแต่ละซอย หรือถนน นั่นเอง
4)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) มีการติดตั้งในซอยที่ยังเป็นถนนดิน ที่มีหญ้าขึ้นรกชัฏ บริเวณรอบสระน้ำ และไม่มีบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอยู่เลย หรือถ้ามี ก็จะตั้งอยู่ห่างกันมาก และบางถนนสภาพถนนเป็นหลุม เป็นบ่อแทบจะใช้สัญจรไม่ได้ แต่เหตุใดจึงมีการติดตั้งเสาไฟดังกล่าวเต็มถนนไปหมด
5)มีการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ซ้ำซ้อนกับไฟถนนทั่วไปของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท หรือ ฯลฯ โดยสังเกตได้ชัดเจนของสีไฟจากโคมไฟกินรีจะเป็นสีขาว แต่โคมไฟของถนนทั่วไปจะเป็นสีเหลือง ทำให้หลอกตาผู้ใช้รถใช้ถนน
6)องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ โดยผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ได้ชดใช้เงินค่าเสียหายทางราชการจำนวนเงินกว่า 67.29 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ตรวจพบว่าเป็นปัญหาจากการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันไปเมื่อปี 2556 แต่ก็เงียบหายไป แถมยังจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทรายเดิมอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยมีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนั้นว่าสร้างความเสียหายต่อราชการเป็นตัวงบประมาณค่อนข้างสูง เพราะเหตุใดถึงยังมีแผนสร้างเสาไฟดังกล่าวเพิ่มอีกเรื่อยๆ
7)การที่โครงการฯดังกล่าวมีผู้สนใจซื้อซองประกวดราคาจำนวนมาก แต่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย และเป็นรายเดิม ๆ เท่านั้น และสุดท้ายมีผู้ชนะการประมูลเป็นรายเดิมมาโดยตลอด เป็นการล็อคสเปก และเข้าข่ายการฝ่าฝืนพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูลหรือไม่
8)ในการแข่งขันการประมูลราคาบางโครงการฯ ผู้ที่ร่วมแข่งขันประมูลราคา ให้ราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเกือบครึ่ง แต่กลับถูกปัดตก โดยอ้างการไม่ผ่านคุณสมบัติ ชี้ให้เห็นว่ามีการช่วยเหลือกันในทางเทคนิคเพื่อกีดกันผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ไม่ให้ชนะการประมูล ทำให้รัฐเสียหาย ใช่หรือไม่
9)การติดตั้งเสาไฟฟ้าดังกล่าว ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า มีการติดตั้งเข้าไปในพื้นที่ของที่ดินเอกชน และในถนนส่วนบุคคลด้วยหรือไม่ เพราะบางจุดติดตั้งเสาไฟอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน การนำเอางบหลวงไปดำเนินการในที่ดินเอกชน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ อย่างไร
10)ข้อพิรุธเกี่ยวกับการกำหนดราคากลางของคณะกรรมการ/เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคากลาง ซึ่งมีราคากลางที่แตกต่างกันไป ทั้งๆที่เป็นโครงการในลักษณะ รูปแบบ ขนาดเหมือนกันทุกโครงการฯ ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ป่านมา แต่ราคากลางกลับไม่เสถียร แต่จะล้อเปลี่ยนแปลงไปตามวงเงินงบประมาณที่ถูกตั้งไว้ อันเชื่อได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัย หรือไม่ อย่างไร
นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการแล้ว ยังปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศอีกมากมายที่มีพฤติการณ์หรือการจัดจัดซื้อจัดจ้างจัดทำและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมพร้อมโคมไฟเป็นรูปประติมากรรมต่าง ๆ ซึ่งส่อไปในทางเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ ราคาของประติมากรรมโคมไฟแต่ละต้น มีราคาที่สูงกว่าในท้องตลาดหลายเท่าตัว และหรือมีการชำรุด เสียหายง่าย หรือติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความคุ้มค่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมรูปเครื่องบินขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ซึ่งมีหลายโครงการ โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในบริเวณพื้นที่ทำการ อบต. และยังพบเสาไฟประติมากรรมรูปเครื่องบินติดตั้งอยู่ภายในบริเวณถนนสายหลัก ภายในพื้นที่ของ อบต.กว่า 300 ต้น จากการคาดคะเนด้วยสาตา และยังมีเสาไฟที่ไม่มีโมเดลรูปเครื่องบินถูกติดตั้งไว้ตามถนนสายรองและในซอยต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นเสาไฟกิ่งเดี่ยว สูง 8 เมตร แบบโซลาร์เซลล์ และโมเดลรูปเครื่องบิน ราคาประมาณต้นละ 106,800 บาท
2)การติดตั้งโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์)ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
พบว่าอยู่บริเวณถนนสายห้วยบง – เทพารักษ์ ซึ่งเป็นโซนทุ่งกังหันลมยักษ์แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยววิวทิวทัศน์สวยงามแห่งใหม่ของโคราช มีชาวบ้านร้องเรียนโครงการก่อสร้างติดตั้งโคมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บริเวณริมถนนแยกบ้านห้วยบง เส้น 3165 และบ้านซับพลู - บ้านศิลา ระยะทาง 15.7 กิโลเมตร รวม 227 ต้น งบประมาณ 11,236,500 บาท เฉลี่ยเสาไฟราคาต้นละ 49,500 บาท เสาโคมไฟดังกล่าวเป็นระบบโซลาร์เซลล์ มีกำลังไฟ 150 วัตต์ ต้นเสาและโคมไฟมีขนาดเล็ก เสาสูงแค่ 4 เมตร เป็นเสาเหล็กกัลวาไนซ์ทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ฐานเสาเป็นแผ่นเหล็กยึดกับแท่งซีเมนต์ขนาดเล็ก แผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 30×40 เซนติเมตร และโคมหลอดไฟขนาดพอ ๆ กับฝ่ามือ ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเห็นว่า เสาไฟสเปกแบบนี้น่าจะมีราคาต้นละไม่เกิน 1-20,000 บาทเท่านั้น ขณะที่มีชาวบ้านแจ้งข้อมูลว่า เมื่อเมษายน 2563 ปีเดียวกัน อบต.ห้วยบง มีการจัดซื้อไฟฟ้าส่องสว่าง LED พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 17 ต้น งบประมาณ 493,000 บาท ติดตั้งไปแล้วบนถนนเส้นเดียวกัน เฉลี่ยต้นละ 29,000 บาท มีกำลังไฟ 200 วัตต์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าเสาไฟต้นละครึ่งแสน แถมสเปกดีกว่าด้วยซ้ำ
3)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมรูปช้าง พร้อมชุดโคมไฟไฮเพรสเซอร์โซเดียม 250 วัตต์ ของเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี ต.ท่าโรง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
ติดตั้งอยู่ที่ริมถนนในเขตเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี จำนวน 3 จุดคือ จุดแรกที่ถนนมรกต 56 ต้น จุดที่สองที่ถนนบุศราคัม 40 ต้น และจุดที่สามที่ถนนบวงสรวง 108 ต้น มีการจัดจ้างกันในช่วงประมาณปี พ.ศ.2555-2557 ราคาเฉพาะเสาปฎิมากรรมรูปช้างกับโครมไฟชุดละประมาณ 144,000 บาท ตัวเสาจะอยู่ในราคา 7 พัน รวมแล้ว 3 จุด 204 ต้น จำนวนเงินเกือบ 30 ล้านบาท
4)การติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ ขององค์การบริหารส่วนตำบลสุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
อ้างว่าติดตั้งเพื่อให้ความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนในการเดินทางไปใช้ประโยชน์ยังบ่อน้ำพุร้อนเค็มควนสระในพื้นที่ ม.4 และ ม.6 บ้านควนสระ โดยใช้งบประมาณ 494,000 บาท แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาเสาไฟโซล่าเซลล์ สูงผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับราคาตลาด ซึ่งแตกต่างกันจำนวนหลายรายการ เช่น โคมไฟ sport light LED 100w ในเอกสารปริมาณงานระบุราคาราชการชุดละ 13,500 บาท ราคาตลาดชุดละ 1,300 บาท เสาเหล็กกลมชุบกัลวาไนท์สูง 9 เมตร ครบชุดราคาราชการชุดละ 26,800 บาท ราคาตลาดชุดละ 15,000 บาท แผงโซล่าเซลล์ Poly-Crystalline ขนาดกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 320 วัตต์ ราคาราชการชุดละ 8,000 บาท ราคาตลาดชุดละ 6,000 บาท ตู้สำหรับใส่อุปกรณ์ชนิดกันน้ำติดตั้งที่เสา ราคาราชการตู้ละ 13,400 บาท ราคาตลาดตู้ละไม่เกิน 1,000 บาท เบรกเกอร์ 16 แอมป์ ราคาราชการชิ้นละ 1,840 บาท ราคาตลาดชิ้นละ 200-300 บาทเท่านั้น
5)การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปเรือหงส์ ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลหันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเป็นเอกลักษณ์ ตามตราประจำเทศบาลหันคา ซึ่งเป็นรูปเรือหงส์ และเพื่อสร้างภูมิทัศน์ในพื้นที่ให้สวยงาม สำหรับการติดตั้งเสาไฟฟ้า บนถนนทางเข้าเทศบาลตำบลหันคา ได้แบ่งการจัดสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกจัดสร้างในปี 2563 จำนวน 5 ต้น เฟสที่ 2 จัดสร้างในปี 2564 จำนวน 5 ต้น ราคาต้นละ 99,510 บาท ทั้งนี้ข้อมูลจากป้ายโครงการที่ติดตั้งไว้บริเวณถนนดังกล่าว ระบุไว้ว่า “สำนักงานเทศบาลตำบลหันคา ประเภทงาน ติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรมรูปเรือหงส์ ประมาณงานก่อสร้าง โดยทำการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะบริเวณทางเข้าสำนักงานเทศบาล เป็นเสาประติมากรรมรูปเรือหงส์ พร้อมโคมไฟ จำนวน 5 ต้น ไฟ LED เทียบเท่าแสงจันทร์ 125 วัตต์ จำนวน 10 ดวง รายละเอียดตามแบบแปลนเทศบาลหันคา ผู้รับจ้าง บริษัทสยามตักศิลป์จำกัด เลขที่ 62/165 ม.3 ถ.เอกชัย-บางบอน ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร สัญญาเลขที่ 10/2564 ลงวันที่ 21 ม.ค.64 สัญญาเริ่ม 22 ม.ค.64 สิ้นสุดสัญญา 22 มี.ค.64 งบประมาณค่าก่อสร้าง 497,550 บาท จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564
6)การติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปแม่ค้าพายเรือ ของเทศบาลตำบลบางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
ติดตั้งอยู่บริเวณชุมชนริมคลองบางกอกน้อย หมู่ 5 พบว่าเสาไฟฟ้าส่องสว่างเป็นรูปแม่ค้าพายเรือประมาณ 60 กว่าต้น ความสูงแต่ละต้นประมาณ 4 เมตร ถูกปล่อยทิ้งร้างจนชำรุดทรุดโทรม จนสภาพในปัจจุบันไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากกลายเป็นเสาไฟให้นกเกาะ และยังถูกมิจฉาชีพยังลอบตัดสายไฟไปขายอีกด้วย โดยชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวบอกว่าหลังจากโครงการติดตั้งเสาไฟดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งสองฝั่งคลองแล้ว เห็นมีไฟฟ้าให้แสงสว่างเพียงวันเดียวเท่านั้น คือวันที่ส่งมอบงาน ที่มีการเปิดไฟ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีการเปิดใช้ไฟที่เสาแห่งนี้อีกเลย จนเสาเก่าผุพังไปตามวันเวลา บางส่วนก็ถูกรื้อถอนออกไปเพราะมีการยกถนนสร้างเขื่อนใหม่ ทุกวันนี้ก็กลายเป็นเสาไฟที่เกะกะทางเดินเท้ากับชาวบ้านเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ กับชาวบ้านเลยในตอนนี้ สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องไปพึ่งไฟส่องสว่างจากการไฟฟ้าแทน
7)การติดตั้งเสาไฟฟ้าปะติมากรรมเรือสำเภาจีน ของเทศบาลเมืองสตูล ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
มีการติดตั้งในบริเวณพื้นที่ตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีจำนวนมากกว่า 100 ต้น มูลค่ากว่า 49,999099 บาท และราคาต่อต้น /ต้นละ 66,500 บาท งบการก่อสร้างทั้งหมดทางสำนักงานจังหวัดสตูลเป็นเจ้าของโครงการโดยให้ทางกรมโยธาและผังเมืองจังหวัดสตูล เป็นผู้ดูแลในการจัดหาผู้รับเหมาโครงการ สภาพปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย รูปทรงเรือสำเภาที่ติดโคมไฟ ร่วงหล่นพัง นับได้เกือบ 20 กว่าเสา และไฟฟ้าก็ไม่ติด แถมยังพบว่างบประมาณในการก่อสร้างบริเวณเหล่านั้น สูงเหยียดหลายล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งตรวจพบอีกว่า เคยเป็นโครงการของสำนักงานจังหวัดสตูล จนถ่ายโอนมาเป็นของเทศบาลเมืองสตูล เป็นผู้ดูแลล่าสุด
8)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกามเทพ ของเทศบาลตำบลหวายเหนียว ตำบลหวายเหนียว จงกาญจนบุรี
แต่เป็นเสาไฟที่ไม่มีไฟ ชาวบ้านเรียกว่าเป็นเสาไฟกามเทพ มีจำนวนประมาณ 62 ต้น คนในพื้นที่แจ้งว่าเป็นเสาไฟที่ไม่มีไฟ ถูกสร้างมาเพื่อเป็นเสาไฟจริง ๆ หรือไม่ เลยสงสัยจังว่าเสานี้สามารถใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง กำลังติดปัญหาอะไรหรือเปล่า จึงทำให้ไม่มีไฟในการใช้งาน หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพียงเสาเพื่อความสวยงามเท่านั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการเมื่อปี 2549 เพื่อก่อสร้างถนน คสล. พร้อมลดระดับบ่อพักฝาตะแกรงเหล็ก และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งบประมาณทั้งสิ้น 9,070,000 บาท โดยมีเนื้องานทั้งหมด 3 งาน ได้แก่ งานก่อสร้างถนน คสล. ยาว 470 เมตร งานลดระดับบ่อพักฝา คสล. พร้อมทำฝาตระแกรงเหล็ก 47 บ่อ และงานก่อสร้างไฟฟ้าแสงสว่างรูปกามเทพ จำนวน 62 ชุด ประกอบด้วย มูลค่าเสาไฟพร้อมกามเทพ สายไฟ ท่อ PE รวมเฉลี่ยชุดละ 65,139.13 บาท รวมเงินค่าสร้างเสาไฟทั้งสิ้น 4,038,626 บาท จากการตรวจสอบสภาพเสาไฟชำรุดทรุดโทรม โคมไฟเสียหายบางส่วน เนื่องจากใช้งานมานาน
9)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรม รูปร่างหงส์ทอง ของเทศบาลตำบลชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
มีจำนวนทั้งหมด 44 ต้น ติดตั้งอยู่บนถนนสายเพชรบูรณ์ -ตะพานหิน ในเส้นทางสาย 113 หมู่ที่ 4 เขตเทศบาลชนแดน ต.ชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งแต่ละต้น จะมีระยะห่างไม่เท่ากัน ไล่ตั้งแต่ ระยะ 10 เมตร , 15 เมตร , 20 เมตร โดยแต่ละจุด จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ และบางจุดก็ตั้งคู่กัน บางจุดตั้งเยื้องๆ คล้ายสลับฟันปลา และบางจุดก็ตั้งต้นเดียว ผู้ที่พบเห็นต่างตั้งคำถามว่า เกิดการตั้งเสาซ้ำซ้อนกันเกินไปหรือไม่ เพราะบริเวณเกาะกลางถนน ก็มีไฟส่องสว่าง ติดตั้งอยู่ด้วยควบคู่กันไปอยู่แล้ว
10)การติดตั้งเสาไฟประติมากรรมพระเจ้าตากสินมหาราช ของเทศบาลตำบลบ้านค่ายพัฒนา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
พบอยู่บริเวณริมถนนเลียบคลองชลประทาน หมู่ 5 ตำบลบ้านค่าย เขตเทศบาลตำบลบ้านค่ายพัฒนา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง บางจุดติดตั้งริมถนนทั้งสองฝั่ง บางจุดติดตั้งริมคลองส่งน้ำชลประทาน ด้านติดท้องนา อ้างว่าเป็นงบอุดหนุนเฉพาะกิจโครงการปรับภูมิทัศน์ สร้างห้องน้ำ สร้างซุ้มสวนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อ.บ้านค่าย อยู่ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านค่ายพัฒนา ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า เสาไฟฟ้า และถนน เป็นแหล่งท่องเที่ยว อ.บ้านค่าย ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัดไม่ใช่งบของเทศบาลฯ สร้างตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 50 ต้น ต่อมาในปี 2562 จังหวัดได้พิจารณางบลงมาให้ปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่ม ขยายฟุตบาธ ขยายทางเท้า ขยายสถานที่จอดรถและติดตั้งเสาไฟเพิ่มอีก 50 ต้น งบประมาณ 4.9 ล้าน ตกเสาไฟต้นละ 9.8 หมื่นบาท วัสดุรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำด้วยอัลลอย
11)การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมประภาคาร ของเทศบาลเมืองสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
โดยเมื่อปี 2562-2563 สำนักงบประมาณ ได้ให้ทางเทศบาลเสนอโครงการ เสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมรูปแบบ เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 20 ล้านบาท จึงได้นำเสนอเสาไฟรูปแบบดังกล่าว เพื่อสอดรับกับพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ให้ชุมชนตลาดเกิดความสวยงามสว่างไสว ที่สำคัญเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว สำนักงบประมาณจะเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างกับผู้รับเหมาโดยตรง โดยมี 2 สัญญา สัญญาแรกงบประมาณ 10,933,000 บาท จำนวน 76 ต้น และสัญญาที่ 2 งบประมาณ 9,124,000 บาท จำนวน 63 ต้น โดยทางเทศบาลเมืองสัตหีบอ้างว่า ไม่ได้ใช้งบประมาณในท้องถิ่น ส่วนรูปแบบเสาไฟฟ้าประติมากรรมที่ถูกติดตั้งในเขตเทศบาลเมืองสัตหีบ และพื้นที่โดยรอบตลาดสัตหีบนั้น เทศบาลอ้างว่าการออกแบบสัญลักษณ์เพื่อให้ตรงกับชื่อเมืองสัตหีบ โดยใช้รูปแบบประภาคาร สื่อความหมายของการเป็นหัวเมืองติดชายทะเล ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือทุกประเภท นอกจากนั้น ยังได้กำหนดโครงสร้างของเสาไฟฟ้าเป็นวัสดุที่เป็นอะลูมิเนียม ฉีดเคลือบด้วยทรายเม็ดและสเตนเลสกันสนิม ตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการเป็นสนิม เพราะพื้นที่สัตหีบติดกับชายทะเล ภายใต้ความสูง 7 เมตร กว้าง 4 นิ้ว หนา 4 มิล ไฟแอลอีดี 150 วัตต์ (ไม่ใช่ระบบโซลาร์เซลล์) โดยใช้ระบบการเดินสายไฟใต้ดิน
12)การติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่างประติมากรรมกินรี ของเทศบาลเชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง
มีการติดตั้งเรียงรายริมถนนพัฒนาประเสริฐ ในหมู่ 3, หมู่ 4 หมู่ 6 และหมู่ 7 ต.เชิงเนิน กว่า 300 ต้น พบว่าใช้งบประมาณจัดสร้างเกือบ 35 ล้านบาท ในช่วงแรกก่อสร้างเมื่อปีงบประมาณ 2557 ในพื้นที่หมู่ 3 และ 4 ใช้งบประมาณ 22.9 ล้านบาท ระยะทาง 1 กิโลเมตรครึ่ง มีเสาไฟฟ้าส่องสว่าง จำนวน 150 ต้น เฉลี่ยต้นละ 1.5 แสนบาท ส่วนการสร้างในระยะที่ 2 ระยะทาง 2 กิโลเมตรเศษ ในหมู่ 4 และหมู่ 6 และหมู่ 7 ใช้งบประมาณ 11.8 ล้านบาท ใช้เสาไฟฟ้าแสงสว่าง จำนวน 180 ต้น ราคาเฉลี่ยต้นละ 66,000 บาท ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะ ที่ระยะเวลาห่างกัน 3 ปี จึงมีราคาถูกลงต่างกันครึ่งต่อครึ่ง ทั้งที่ขนาดเสามีความสูงเท่ากัน คือเป็นเสาสแตนเลส สูงประมาณ 7 เมตร บนยอดเสามีรูปกินรี และติดโคมไฟฟ้าส่องสว่างเหมือนกัน ส่วนไฟส่องสว่างบางช่วงไม่ได้เปิดใช้งาน บางช่วงมีแสงสว่างไม่เพียงพอ
13)การติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สุริยะเทพ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
ถูกติดตั้งอยู่บนถนนหลายสายใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเสาไฟฟ้าชนิดนี้ชาวบ้านจะเรียกติดปากในชื่อ “เสาสุริยะเทพ” ซึ่งเป็นโครงการจัดซื้อโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งเสาไฟแสงสว่างแบบ LED วงเงิน 194 ล้านบาท ติดตั้งริมถนน 22 สาย จำนวน 2,998 ชุด ราคาเสาละ 65,000 บาท โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 จากวงเงินงบประมาณเพิ่มเติม ขณะที่การตรวจสอบสเปคและรายการพบว่าชุดอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยแบตเตอรี่ โคมไฟ แผงโซลาร์เซลล์ในรุ่นและยี่ห้อเดียวกันนี้ กลับมีราคาที่แตกต่างต่ำกว่าราคาจัดซื้อจัดจ้างที่เพียง 25,200 บาทเท่านั้น เมื่อรวมเสาไฟฟ้าและค่าติดตั้งไม่ควรเกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งหลังจากมีข่าวในสื่อมวลชน มีรายงานว่าเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่บริเวณริมถนนเลียบทางรถไฟรอยต่อระหว่าง ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง และ ต.นาสาร อ.พระพรหม หายไปอย่างไร้ร่องรอย กว่า 30 ต้น มีการถอดออกไปเหลือแค่ฐานเสาเท่านั้น ในขณะที่นายก อบต.มะม่วงสอง ระบุว่า เจ้าของโครงการฯพยายามจะถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลมะม่วงสองต้น กว่า 100 ต้น แต่สภามีมติไม่รับ เนื่องจากการติดตั้งไม่ได้แจ้ง อบต. และเมื่อตรวจสอบดูแลจะต้องมีงบการบำรุงรักษาสูงมากจึงมีมติไม่รับ ส่วนเสาที่ถูกถอดออกหายไปเป็นจำนวนมากนั้นไม่ทราบเรื่องว่าเป็นใครเป็นผู้ถอด และไม่รู้เหตุผลว่าถอดทำไม
14)การติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องแสงสว่างมีประติมากรรมรูปสัตว์ชนิดต่างๆ หรือเสา 12 นักษัตร ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ซึ่งได้มีการตรวจสอบราคาพบว่าสูงถึงต้นละเกือบ 1.1 แสนบาท มีการติดตั้งริมถนนสายหลักในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ทั้ง 2 ฝั่งทั่วทั้งเขตเทศบาล และนอกจากเสา 12 นักษัตรแล้ว ยังมีเสาป้ายบอกชื่อซอยบนถนนพัฒนาการคูขวางตลอดทั้งสายจำนวน 112 ป้ายอีกด้วย ตกราคาเฉลี่ยต้นละเกือบ 2 หมื่นบาท สำหรับเสาไฟฟ้าประติมากับรูป 12 นักษัตร ที่ติดตั้งสองฝั่งถนนราชดำเนินตั้งแต่สี่แยกศาลามีชัย -ตลาดแขก ในเขตเทศบาลนคร โดยอแยกทำสัญญาจ้างเป็นช่วง ๆ สี่แยกศาลามีชัย-สี่แยกประตูชัย 1 ชุด,หน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเริ่มตั้งแต่ตั้งแต่บริเวณหน้าวัดสระเรียงถึงถนนพระลาน 1 ชุด ,ตั้งแต่หน้าวัดสระเรียง-ตลาดแขก 1 ชุด โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเริ่มตั้งแต่ตั้งแต่บริเวณหน้าวัดสระเรียงถึงถนนพระลาน ในจุดนี้รวม 48 ต้น นอกจากนี้เสาไฟฟ้าประติมากรรมลักษระแบบเดียวกันชุดใหญ่อีก 1 ชุดติดตั้งบนเกาะกลางถนนกะโรมตั้งแต่ตลาดท่าเรียน-สี่แยกเบญจมราชูทิศ ในชุดนี้ระบุว่า 108 ต้น ราคา 11 ล้านบาทเศษ เท่ากับว่าเสาไฟฟ้าประติมากรรมที่ติดตั้งเฉลี่ยต้นละ 1.1 แสนบาท
15)การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมปูนปั้นปลาบึก ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย
เป็นส่วนหนึ่งโครงการส่งเสริมและพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ตามยุทธศาสตร์ของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ปี 2560 เป็น 1 ในโครงการปรับภูมิทัศน์ บริเวณสวนสาธารณะด่านชายแดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในป้ายเขียนว่า “โคมไปประติมากรรมปูนปั้น” สร้างเสร็จมาแล้ว 4 ปี งบประมาณราว 1,449,000 บาท รวมงานปรับปรุงทางขนาดกว้าง 1.50 เมตร ความยาว 300 เมตร เสาไฟปลาบึกจำนวน 22 ต้น ทั้งนี้เมื่อมีการประมูลจริง ราคาลดลงมา จากนั้นผู้รับเหมาดำเนินการหมดระยะเวลาสัญญา จึงถูกปรับเงิน 5 แสนกว่าบาท จึงได้จ่ายจริงเป็นเงินจำนวน 9 แสนกว่าบาท เสาไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ ปัจจุบันมีเสาลักษณะดังกล่าวภายในสวน มีลักษณะเป็นเสาสีฟ้าที่เรียงรายไปตามถนนภายในสวน ด้านบนสุดมีประติมากรรมรูปนกและโคมไฟ ส่วนตรงกลางเสาก็มีรูปปั้นปลาบึก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ อ.เชียงของ กอดอยู่กลางต้นเสาทุกต้น สอดรับกับรูปปั้นปลาบึกตัวใหญ่ที่ตั้งเด่นเป็นตระหง่านอยู่ภายในสวนอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ พยายามที่จะจัดทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าส่องแสงสว่างประติมากรรมต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีการกำหนดราคากลางไว้ โดยกรมบัญชีกลางหรือสำนักงงบประมาณ จึงกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ใช้เป็นช่องว่างในการจัดซื้อจัดจ้างกันโดยอำเภอใจ ไม่มีมาตรฐานราคาที่แท้จริง
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจในการสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐได้ รวมทั้งในกรณีที่ข้อบกพร่องที่ตรวจพบมีลักษณะเป็นการทุจริต กฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าการฯ ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปอีกด้วย
กรณีการดำเนินโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพลังงานแสงอาทิตย์(โชล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ หลายต่อหลายโครงการฯหรือหลายสัญญาดังรายละเอียดข้างต้นนั้น เป็นข้อผิดสังเกตหลายประการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ประกอบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุในหนังสือว่า ขอร้องเรียนมายังท่านคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 240 ขอให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน กรณีการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์(โซล่าเซลล์) ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ต่าง ๆ ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการส่อไปในทางขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ประกอบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ และการใช้จ่ายเงินหรือการใช้ประโยชน์นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีความคุ้มค่า ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ หรือมีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ อย่างไร และสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย กำหนดมาตรการอย่างใด ๆ เพื่อมิให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบได้ในกรณีดังกล่าวอีกต่อไป
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกันประกอบ :
เปิดชัดๆ หนังสือ สถ.แจ้งผลสอบ สตง. คุมเข้ม อปท.ผลาญงบเสาไฟประติมากรรม ปี 61
อบต.บางมัญ สิงห์บุรี
เปิดตัว อบต.บางมัญ เจ้าแรกปี 55 โดน สตง. สอบผลาญงบทำเสาไฟรูปสิงห์แพงต้นละ 5.5 หมื่น
เทศบาลนครตรัง
ซากอยู่บ่อขยะ-รอประมูลขาย! ป.ป.ช.ตรัง ลุยสอบถอนเสาไฟหงส์ ต้นละแสน งบ 3 ล. โดยพลการ
อบจ.อ่างทอง
โผล่ อบจ.อ่างทอง! บ.บางกอกฯ กวาดงานเสาไฟ 12 ส. 147 ล. คู่เทียบ ชุดเดียว 'อบต.ราชาเทวะ'
อบต.ราชาเทวะ
สตง.จี้ 'อบต.ราชาเทวะ' คืนเงิน67ล. เหตุบกพร่องเร่งรีบซื้อเสาไฟฟ้า-กินรี ปี 56
นายกอบต.ราชาเทวะ โต้ สตง.สอบเสาไฟฟ้ากินรี67ล. ยันทำถูกต้อง 'บิ๊กตู่' คืนตำแหน่ง ม.44 ด้วย
ฉบับเต็ม! ผลสอบ สตง.จัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี 67ล. ก่อน นายกฯ อบต.ราชาเทวะ โต้ไร้ปมทุจริต
หลังโดนสตง.เรียกเงินคืน 67ล.! อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีแสงอาทิตย์ บ.เจ้าเดิม 1.8 พันต้น171ล.
พบอบต.ราชาเทวะ ควักอีก 27ล. ปรับปรุงเสาไฟกินรีที่ถูกสตง.เรียกเงินคืน 67ล.- คู่สัญญาเดิม
สนามบินอยู่เขต อบต. ต้องดูดี! นายกฯ ราชาเทวะ แจงทำเสาไฟกินรี 263ล.-บ.เจ้าเดียวได้งานโปร่งใส
ตามไปดู บ.บางกอกไฟถนน ขายเสากินรีแสงอาทิตย์ อบต.ราชาเทวะ 263 ล. - รอผู้บริหารชี้แจง
คู่เทียบอยู่สารคาม! แกะรอย อบต.ราชาเทวะ จัดซื้อเสาไฟกินรี171ล.แข่ง2เจ้า-ไม่เผยราคาประมูล
พลิกปูมข่าวเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ! ก่อนเพจต้องแฉ โชว์ภาพ-บ.เดียว 7 สัญญา 461 ล.
734 ล้าน 8 ปี 10 สัญญา! อบต.ราชาเทวะ ผูกจ้าง บ.เดียวรับงานเสาไฟกินรี
เจออีกสัญญา 172.8 ล.! ยอด อบต.ราชเทวะ ผูกซื้อเสาไฟกินรี บ.เดียว พุ่ง 907.2 ล.
ทั่วปท. 287 โครงการ 1,361 ล.! บ.บางกอกไฟฯ คว้างานเสาไฟรัฐ- อบต.ราชาเทวะ มากสุด 907 ล.
ไส้ใน อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสากินรี 428 ล. ปี 64 'คู่เทียบ' ยื่นซองต่ำหลายสิบล.แต่ชวดงานหมด
ร้อง ป.ป.ช.สอบ อบต.ราชาเทวะซื้อ‘เสาไฟกินรี’-ผูกจ้างเอกชนเจ้าเดียว 12 สัญญาพันล.
ซอยร้างหญ้ารกชัฏก็ติด! ข้อมูล ‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นสอบ อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีพันล้าน
พบ 'คู่เทียบ' เสาไฟกินรีรายที่ 2 ยื่นซองต่ำแต่ตกคุณสมบัติ-ชื่อเหมือน บ.ขายเฟอร์นิเจอร์
ขยายผลสอบเสาไฟกินรี! สตง.สั่งยกระดับตรวจ อปท.5 จว.เน้นเปรียบเทียบราคา-ประสิทธิภาพ
ก่อนยอดพุ่ง 907ล.! โชว์หนังสือลับ สตง.จี้ อบต.ราชาเทวะ คืน67ล. บกพร่องซื้อเสากินรี ปี 56
แกะรอย บ.คู่เทียบเสาไฟกินรี อบต.ราชเทวะ พบคนชื่อเหมือน กก.โพสต์ขายไข่เจียว-ไม่ขอให้ข่าว
รับขยายผลต่อ! สตง.รู้ข้อมูล 'คู่เทียบ' แข่งขายเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ แล้ว
เปลี่ยนชื่อหลังยื่นซอง 7 วัน! บ.เฟอร์นิเจอร์ คู่เทียบเสาไฟกินรี อบต.ราชเทวะ สัญญา 74 ล.
อบต.ราชาเทวะไม่หยุด! สภาฯ อนุมัติซื้อเสากินรีอีก 720 ต้น-ยอด อบจ.อ่างทอง พุ่ง 412 ล.
ข้อสงสัย? คำสั่ง หน.คสช. กรณีคืนตำแหน่ง นายก อบต.ราชาเทวะ
ยกปย.คืนตำแหน่งให้! อดีตผู้ว่าฯ สตง.ยันนายก อบต.ราชาเทวะ โดน ม.44 มีเรื่องเสากินรี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/