เปิดคำสั่ง ปปง. อายัดเงินฝาก 15.7 ล. 'จุฑามาศ' ในแบงก์สิงคโปร์ ป.ป.ช.ชงเมื่อ พ.ค.2564 หลังศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 50 ปี น.ส.จิตติโสภา ลูกสาว 40 ปี ยกคําสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นเหตุวินิจฉัยเกินคําขอ คดีรับสินบนนักธุรกิจสหรัฐจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ 14 ล้านดอลลาร์ ลงบัญชีในรูป ‘ค่าคอมมิชชั่น’
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.97 /2564 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 1 รายการ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในบัญชี UOB Buttion & Futures Ltd. เลขที่ 1019005858 ชื่อบัญชี UOB Bution & Futures Limited (เดิมเลขที่บัญชี R906 ชื่อบัญชี นางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ และ เลขที่บัญชี 1019007419 ชื่อบัญชี State of Singapore และต่อมาชื่อบัญชี UOB Bullion & Futures Ltd.) ราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 15,735,950 บาท เนื่องจากเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับสินบนจากการที่ ททท. ว่าจ้างนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกาได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (หรือปี พ.ศ. 2545-2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาทซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน
(เรื่องเกี่ยวข้อง: อายัด 15.7 ล.! เงินฝาก 'จุฑามาศ' อดีตผู้ว่าการ ททท.ในแบงก์สิงคโปร์ คดีรับสินบน)
ความเป็นมาของเรื่องนี้ ของเรื่องนี้มาการร้องขอของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 และ วันที่ 27 พ.ค. 2564 ขอให้สํานักงาน ปปง. พิจารณาดําเนินการกับทรัพย์สินในสิงคโปร์ของ น.ส. จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว นางจุฑามาศ ศิริวรรณซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ อันเนื่องมาจากว่าจ้าง นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ในนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2549 จำนวน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีการจ่ายเงินสินบนให้นางจุฑามาศ ผ่านบัญชีที่ ของน.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว หรือนายกิตติ ชัมพุนท์พงศ์ เพื่อนของ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ในธนาคารที่สาธารณรัฐสิงคโปร์
นี่คือที่มาของเรื่องดังกล่าว
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากสํานักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) ตามหนังสือสํานักงาน ป.ป.ช. ด่วนที่สุด ที่ ปช 0027/0122 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และหนังสือสํานักงาน ป.ป.ช. ลับ ที่ ปช 0027/0128 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ขอให้สํานักงาน ปปง. พิจารณาดําเนินการกับทรัพย์สิน รายการบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร UOB เลขที่บัญชี 1019007419 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ของ นางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และ มาตรา 11 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กล่าวคือ
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2545 และต่อเนื่องถึงประมาณปี พ.ศ. 2550 นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ได้รับเงินอย่างน้อย 14,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากการทําสัญญากับการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างหลักหรือผู้รับจ้างช่วง ในเวลาเดียวกัน นายเจอรัลด์ กรีน และ นางแพทริเซีย กรีน ได้ส่งเงินจากบัญชีธุรกิจของนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อประโยชน์แก่นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ซึ่งในขณะนั้นดํารงตําแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยส่งไปยังบัญชีที่ถือในนามของนางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว หรือนายกิตติ ชัมพุนท์พงศ์ เพื่อนของ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ในธนาคารที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ อังกฤษ และไอยล์ ออฟ เจอร์ซีย์ (sle of Jersey)
ทั้งนี้ นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน จ่ายเงินโดยมิชอบและเพื่อประโยชน์ของนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาจ้างและสัญญาจ้างช่วงที่ให้ผลตอบแทนสูง จาก ททท. การจ่ายเงินเหล่านี้ถูกซ่อนไว้ในรูปของ “ค่าคอมมิชชั่น” ในบันทึกบัญชี และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของธุรกิจของนายเจอรัลด์ กรีน และ นางแพทริเซีย กรีน เพื่อปกปิดลักษณะของเงินที่จ่าย โดยนางจุฑามาศ ศิริวรรณ และนางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ ไม่ได้สําแดงรายการเงินที่ได้รับจากธุรกิจของนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ในแบบแสดง รายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย จากการสืบสวนปรากฏธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงิน สินบนทั้งสิ้น 59 ธุรกรรม รวมเป็นเงิน 1,822,484 ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ในการประชุมครั้งที่ 315-62/2554 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 มีมติเป็นเอกฉันท์ กรณีกล่าวหานางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทยและนางจิตติโสภา ศิริวรรณ ร่วมกันเรียกรับเงินจากนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2549 ว่าการกระทําของนางจุฑามาศ ศิริวรรณ มีมูลเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ส่วนการกระทําของนางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ มีมูลความผิดอาญา ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ดังกล่าว
โดยคดีดังกล่าว ศาลฎีกามีคําพิพากษาที่ 3749/2563 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 พิพากษายืน ตามศาลอุทธรณ์ให้จําคุกนางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ รวม 10 กระทง กระทงละ 4 ปี รวมจําคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วนนางจุฑามาศ ศิริวรรณ คงจําคุกตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น จําคุกรวม 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวมโทษ จําคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี และให้ยกคําสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทําผิดซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคําขอ
นอกจากนี้ศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคําพิพากษา ว่านายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน กระทําความผิดในข้อหาว่าด้วยกระทําทุจริตในต่างประเทศ ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําทุจริตในต่างประเทศ ค.ศ. 1977 (FCPA) อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 19/2556 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมมีมติ มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 46/2557 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิด รายนางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก คําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน : ที่ ม. 387/2558 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก คําสังเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 323/2562 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 343/2564 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็น ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือ ความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด
รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้เป็น สังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเพื่อการลงทุน อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอนยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตาม ทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านางจุฑามาศ ศิริวรรณ กับพวก ได้ไปซึ่ง ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล คือ เงินจํานวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในบัญชี UOB Buttion & Futures Ltd. เลขที่ 1019005858 ชื่อบัญชี UOB Bution & Futures Limited (เดิมเลขที่บัญชี R906 ชื่อบัญชี นางสาวจิตติโสภา ศิริวรรณ และ เลขที่บัญชี 1019007419 ชื่อบัญชี State of Singapore และต่อมาชื่อบัญชี UOB Bullion & Futures Ltd.) ราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 15,735,950 บาท (สิบห้าล้านเจ็ดแสนสามหมื่นห้าพัน เก้าร้อยห้าสิบบาท) พร้อมดอกผล (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.4719 บาท ของธนาคาร แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2564
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัด ดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ข่าวเกี่ยวข้อง:
ฎีกายืนคุกจริง 50 ปี‘จุฑามาศ’อดีตผู้ว่า ททท.-ลูก 40 ปี คดีรับสินบน 60 ล.จัดเทศกาลหนัง
อุทธรณ์ยืนคุก 50 ปี! อดีตผู้ว่าฯ ททท. รับสินบนจัดเทศกาลหนัง-เลิกริบเงิน 62 ล.
คำพิพากษาฉบับเต็ม! คดี‘จุฑามาศ’ รับสินบน-5 เม.ย.ถกตามเงิน 62 ล.คืนแผ่นดิน
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตผู้ว่าฯ ททท.’รวยผิดปกติ 65 ล.ซุกบัญชีชื่อลูกใน 4 ประเทศ
โชว์เส้นทางเงินคดีรวยผิดปกติ ‘จุฑามาศ’ซุกในบัญชีลูก 4 ประเทศ 65 ล.
บทวิเคราะห์ 8 ข้อ คำพิพากษาจำคุก'จุฑามาศ50ปี-บุตรสาว44ปี' ฉบับ ป.ป.ช.
อสส.นำ“อดีตผู้ว่าฯ ททท.-บุตร”ฟ้องศาลอาญา ปมรับเงิน 60 ล.จัดเทศกาลหนัง
อสส.สั่งฟ้อง! “อดีตผู้ว่าฯ ททท.”ปมเรียกรับเงิน 60 ล.จัดงานเทศกาลหนัง
คณะทำงานร่วมฯส่งหลักฐานจากสหรัฐเพิ่ม!ชงอสส.ฟ้อง"จุฑามาศ"รับสินบน 60 ล.
คณะทำงานร่วมฯสอบ 3 ปีชง อสส. ฟ้องอดีตผู้ว่าฯททท.รับสินบน 60 ล.
อายัด 15.7 ล.! เงินฝาก 'จุฑามาศ' อดีตผู้ว่าการ ททท.ในแบงก์สิงคโปร์ คดีรับสินบน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/