"…ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับโลหิตบริจาคเพียงวันละ 1,300 ยูนิต ทำให้สามารถกระจายโลหิตไปยังโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศได้ 30% เท่านั้น เพราะไม่สามารถจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตได้ การบริจาคโลหิตจึงลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้แพทย์ต้องจัดสรรโลหิตให้กับผู้ป่วยผ่าตัดหรือผู้ป่วยโรคเลือดที่สำคัญก่อน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยรายอื่นถึงชีวิตได้ จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมบริจาคโลหิต…”
…………………………………………………………..
วันที่ 14 มิ.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันผู้บริจาคโลหิตโลก’ (World Blood Donor Day) เพื่อระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบเอบีโอเป็นครั้งแรก และยังพบอีกว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญต่องานบริการโลหิตทั่วโลก ทำให้สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้อีกจำนวนมาก
ด้วยเหตุดังกล่าว เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต องค์การอนามัยโลก (WHO) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) จึงได้เชิญชวนให้สภากาชาดทั่วโลก ‘จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองและขอบคุณผู้บริจาคโลหิต’ ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดงานวันผู้บริจาคโลหิตโลกครั้งแรกเมื่อปี 2547 และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 17 แล้ว โดยในปีนี้จะเป็นปีพิเศษที่จะจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 12 – 17 มิ.ย.2564 เพื่อลดความแออัดให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด
‘การบริจาคโลหิต’ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่สูญเสียเลือดไปในภาวะต่างๆ อาทิ อุบัติเหตุ การผ่าตัด โรคกระเพาะอาหาร การคลอดลูก หรือการนำไปให้ผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เกล็ดโลหิตต่ำ ฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ทำให้โดยปกติมีผู้สนใจบริจาคโลหิตให้เป็นจำนวนมาก
แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ส่งผลให้การบริจาคโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดวิกฤต ‘ขาดแคลนโลหิต’ มาตั้งแต่ปี 2563 ที่โรงพยาบาลกว่า 340 แห่งทั่วประเทศต่างประสบปัญหาคลังเลือดสำรองไม่เพียงพอ กระทบต่อผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด และผู้ป่วยเด็กโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมากและต่อเนื่องตลอดชีวิต
โดยข้อมูลจาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ณ วันที่ 13 มิ.ย.2564 เปิดเผยว่า ปริมาณเลือดสำรองในคลัง เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ หมู่เลือด A มีความต้องการเดือนละ 12,200 ยูนิต ได้รับ 3,624 ยูนิต ยังคงต้องการอีก 8,176 ยูนิต หมูเลือด B มีความต้องการเดือนละ 18,300 ยูนิต ได้รับ 5,619 ยูนิต ยังคงต้องการอีก 12,081 ยูนิต หมูเลือด O มีความต้องการเดือนละ 24,400 ยูนิต ได้รับ 6,627 ยูนิต ยังคงต้องการอีก 16,973 ยูนิต หมูเลือด AB มีความต้องการเดือนละ 6,100 ยูนิต ได้รับ 1,550 ยูนิต ยังคงต้องการอีก 4,350 ยูนิต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์การบริจาคโลหิตที่น่าสนใจ ดังนี้
น.ส.ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับโลหิตบริจาคเพียงวันละ 1,300 ยูนิต ทำให้สามารถกระจายโลหิตไปยังโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศได้ประมาณ 30% เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากโรงพยาบาลทำเรื่องขอมา 100 ยูนิต เราสามารถจัดหาให้ได้เพียง 30 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตได้ องค์กรต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) และสถานศึกษาปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ การบริจาคโลหิตจึงลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้แพทย์ต้องจัดสรรโลหิตให้กับผู้ป่วยผ่าตัดหรือผู้ป่วยโรคเลือดที่สำคัญก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปการชะลอและการเลื่อนการรักษาด้วยโลหิต อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ถึงชีวิตได้ จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมบริจาคโลหิต
“การบริจาคโลหิตนอกเหนือจากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เกิดความอิ่มเอมใจแล้ว ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะการบริจาคเลือดช่วยให้ผู้บริจาคได้มาตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรีและยังช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดใหม่ๆได้ โดยทุกคนสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน” น.ส.ปิยนันท์ กล่าว
นอกจากนี้ น.ส.ปิยนันท์ กล่าวย้ำอีกว่า โลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่สำคัญ ซึ่งต้องได้มาจากการบริจาคเท่านั้น และต้องการใช้ทุกวัน โลหิต 1 ยูนิต หรือ ถุง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ได้แก่ เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง พลาสมา และสามารถนำพลาสมาไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง จึงช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต
โดยเกล็ดเลือด สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ และผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร ส่วนพลาสมานั้น นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อคจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิต 3 ชนิด ได้แก่ แฟตเตอร์ 8 (Factor VIII) เพื่อรักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ อิมมูโนโกลบูลิน (IVIG) รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง อัลบูมิน (Albumin) รักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ
อย่างไรก็ตาม หากขาดโลหิตจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยที่รอรับการรักษาจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับโลหิตทุก 3-4 สัปดาห์ เฉลี่ยครั้งละ 1-2 ยูนิต ในการรักษาเพื่อเพิ่มระดับฮีโมโกลบินให้ใกล้เคียงปกติ หากไม่ได้รับโลหิต ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในประจำวัน และกลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร ฯลฯ ที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน ต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถเลื่อนการรักษา หรือเลื่อนความต้องการใช้โลหิตได้
(น.ส.ปิยนันท์ คุ้มครอง)
@ ใช้มาตรการ ‘คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม’ ยกระดับการให้บริการรับมือโควิด
เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด น.ส.ปิยนันท์ กล่าวอีกว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ยกระดับมาตรการการบริจาคโลหิต 3 ข้อ คือ ‘คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม’ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การระบาดของโควิด จึงขอให้ประชาชนคลายกังวลและมั่นใจในความปลอดภัยต่อการให้บริการ
1.คัดกรอง สำหรับผู้บริจาคโลหิตขอให้คัดกรองตนเองก่อนมาบริจาคโลหิต คือ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่นขึ้น เดินทางไปยังสถานบันเทิง ตลาด สถานที่แออัด พื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด ต้องงดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 14 วัน
สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสามารถบริจาคโลหิตได้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด หรือสามารถบริจาคได้หลังจากฉีดวัคซีนโควิดทุกชนิด 7 วัน กรณีที่ไม่มีอาการข้างเคียง แต่หากมีอาการข้างเคียงให้นับต่อไปอีก 7 – 14 วัน
2.เข้มงวด บุคลากรให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทุกคนในพื้นที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีแอลกอฮอล์เจลล้างมือทุกจุดสัมผัส สถานที่และอุปกรณ์สะอาดปลอดเชื้อ จัดให้มีการเว้นระยะห่าง และจัดตั้งฉากกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้บริจาคโลหิตทุกจุดของกระบวนการบริจาคโลหิต
3.ครอบคลุม โดยมาตรการทั้งหมดจะครอบคลุมทั้งที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ตามมาตรฐานสากล
@ ‘พลาสมาโควิด’ เสริมการรักษาผู้ป่วยโควิด
บทบาทหน้าที่ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นอกจากจะจัดหาโลหิตและส่วนประกอบโลหิตเพื่อจ่ายให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้รับบริจาค 'พลาสมา' หรือ 'น้ำเหลือง' ของผู้ที่หายจากโรคมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อเดียวกัน ซึ่งวิธีการรักษานี้เคยใช้รักษาในช่วงการระบาดของโรคเกิดใหม่มาแล้ว เช่น ซาร์ส มอร์ส และอีโบลา และในช่วงการระบาดของโควิดนี้ ได้นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์การบริจาคพลาสมานั้น น.ส.ปิยนันท์ เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันมีผู้สมัครออนไลน์ทั้งสองรอบแล้วรวม 1,164 ราย แต่มีกว่า 100 ราย ที่สามารถบริจาคพลาสมานำไปผลิตเป็น COVID-19 Convalescent Plasma หรือ CCP ในรูปแบบพร้อมใช้รักษาผู้ป่วยโควิดและเป็นเซรุ่มได้ โดยสาเหตุที่คัดออกจำนวนมาก เนื่องจากมีพลาสมาขาวขุ่นหรือมีค่าแอนติบอดี้ต่ำ ทั้งนี้ในการให้บริการบริจาคพลาสมาจะมีการวางมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้มาบริจาคพลาสมาเหมือนกับผู้บริจาคโลหิตด้วยกัน 3 ข้อ คือ ‘คัดกรอง เข้มงวด ครอบคลุม’
(รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ)
@ ‘พลาสมาโควิด’ ป้องกันป่วยหนัก-เสริมประสิทธิภาพการรักษา
ส่วนพลาสมาสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโควิดได้อย่างไรนั้น รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ นักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สังกัดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ สวรส. กล่าวว่า พลาสมาเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเลือด มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองในหลอดเลือดของมนุษย์ ซึ่งการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ด้วยพลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรค หรือ Convalescent Plasma มีมานานเป็นร้อยปีแล้ว เป็นการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันแบบหนึ่งที่เรียกว่า 'Passive Immunotherapy' หรือการให้สารภูมิคุ้มกันจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายโดยตรง
โดยที่ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีในรูปของโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานอยู่ในพลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรคนั้นๆ ซึ่งเชื่อว่าแอนติบอดีที่อยู่ในร่างกายจะอยู่ได้หลายเดือน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่เป็นโรคซ้ำหรือน้อยคนที่จะเกิดโรคซ้ำ การนำพลาสมามาใช้นี้ ดังนั้นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิดด้วยพลาสมาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เชื่อว่า พลาสมาคือยาที่มนุษย์ผลิตด้วยตัวเอง จึงเป็นแนวทางของการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ ที่ในช่วงแรกของการระบาดจะยังไม่มียาชนิดเฉพาะเจาะจง รวมถึงวัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา หลายๆ ประเทศทั่วโลกจึงนำเอาพลาสมามาใช้ก่อนจนกว่าจะมียาหรือวัคซีนครอบคลุมทั่วถึง
การนำพลาสมามาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงด้วยพลาสมา แต่หลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ที่ได้บุกเบิกการรักษาด้วยพลาสมาตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็นต้น มีผลการวิจัยออกมาว่าผู้ป่วยโรคโควิด กลุ่มสูงอายุ ที่ได้รับพลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีสูงตั้งแต่เริ่ม จะช่วยป้องกันไม่ให้โรครุนแรงได้ ช่วยลดเวลาการนอนไอซียู และช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับพลาสมา นอกจากนั้นยังมีการวิจัยอีกว่า พลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีสูง ส่งผลการรักษาได้ดีกว่าพลาสมาที่มีระดับแอนติบอดีต่ำ
รศ.พญ.ดุจใจ ย้ำว่า หลักสำคัญของการให้พลาสมา คือ การนำไปใช้เสริมการรักษาควบคู่กับยา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลเหมือนกัน ขึ้นกับปัจจัยความรุนแรงโรคและช่วงเวลาการให้พลาสมาแก่ผู้ป่วย อีกทั้งปริมาณแอนติบอดีในแต่ละถุงที่ได้จากผู้บริจาคมีปริมาณไม่เท่ากัน ในโครงการวิจัยฯ จึงต้องคัดเลือกผู้บริจาคที่มีระดับแอนติบอดีที่สูงพอที่จะนำมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส และควรให้พลาสมาก่อนที่ไวรัสจะไปทำลายปอดหรืออวัยวะต่างๆ เสียหาย ซึ่งเชื่อว่าการให้พลาสมาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยทุเลาอาการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจนาน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิต
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโควิด ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงเปิดรับบริจาคพลาสมา โดยผู้บริจาคต้องเป็น ‘เพศชาย’ เท่านั้น เนื่องจากเพศชายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดมากกว่า และรักษาระดับแอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้นานกว่าเพศหญิง มีเส้นเลือดตรงข้อพับแขนชัดเจนกว่า มีความเข้มโลหิตผ่านเกณฑ์มากกว่า และช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของผู้รับพลาสมามากกว่าเพศหญิง
ส่วนคุณสมบัติในการพิจารณาอื่นๆ คือ มีอายุ 18 ถึง 60 ปี น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในกทม. และปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก รักษาหายผลตรวจเป็นลบและออกจากโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 14 วัน หรือ ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน และมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว โดยขอให้ลงทะเบียนออนไลน์เท่านั้น ทาง https://1th.me/ZJChu ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อนัดหมายเพื่อคัดกรองในรายละเอียดต่อไป
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นสถานการณ์การบริจาคโลหิตภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด จนเกิดวิกฤตขาดแคลนเลือด ขณะที่สถานการณ์พลาสมาโควิด มิได้มีตัววัดว่าแคลนหรือไม่ แต่หากมีผู้มาบริจาคมาก จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยเช่นกัน ดังนั้นในวันผู้บริจาคโลหิตโลกวันที่ 14 มิ.ย.นี้ หากทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขอชวนร่วมกันบริจาคโลหิตหรือพลาสมาโควิดกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage