"…เรามักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รัฐจึงมักให้ปิดก่อนแล้วเปิดทีหลัง ตอนนี้เป็นเวลามากกว่า 200 วันแล้ว ที่เราถูกสั่งปิดและไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ เราเพียงอยากได้กลับมาเปิดร้านและทำอาชีพของเราอีกครั้ง…”
………………………………………………………….
ผ่านมากว่า 1 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด มาตรการต่างๆ ถูกหยิบยกขึ้นมามากมาย เพื่อยับยั้งการระบาด แม้ว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ต้องแลกมาด้วยความเสียสละของผู้ประกอบอาชีพหลากหลายกิจการที่ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ภาคธุรกิจรายย่อย และกลุ่มคนทำอาชีพกลางคืน ต่างต้องสูญเสียน้ำตาและสุขภาพจิต ซึ่งกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นประวัติกาลในรอบ 17 ปี อยู่ที่ 7.37 แสนราย
เมื่อกลุ่มภาคีอาชีพต่างๆ เกิดความเดือดร้อน ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่สามารถเข้าได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ‘คลับเฮาส์’ กลายมาเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในการพูดคุย ระบายความรู้สึก แชร์ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่กันและกัน จนนำไปสู่การเดินหน้าเรียกร้องต่อ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เพื่อให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบอาชชีพอิสระ ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย รวมถึงคนทำอาชีพกลางคืนให้สามารถเปิดบริการได้ภายใน 45 วัน
ทำให้วงดนตรีอินดี้จำนวนมาก โดยเฉพาะวง ‘Safeplanet’ ได้ออกมาเชิญชวนศิลปินให้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่ม ‘นักดนตรี-อาชีพกลางคืน’ ให้ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ศิลปินหลายวง อาทิ The Yers , Soomkiat , Stoondio หรือ Moving and Cut ได้ออกมาคอมเมนต์ข้ามเพจเฟซบุ๊กของวงตัวเอง สร้างความสนใจให้คนบนโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีคนคนไลค์ 3 หมื่นราย คอมเมนต์ 686 ข้อความ และแชร์กว่า 8.6 พันครั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงลงไปพูดคุยกับตัวแทนภาคธุรกิจรายย่อย และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระในกลุ่มสถานบันเทิงและคอนเสิร์ต รวมถึงกลุ่มพลังคลับที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ถึงเสียงสะท้อนจากผลกระทบของโควิดมีข้อมูลดังนี้
นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร เจ้าของกิจการ The Rock Pub กล่าวถึงเสียงสะท้อนของคนทำอาชีพกลางคืนว่า เรามักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รัฐจึงมักให้ปิดก่อนแล้วเปิดทีหลัง ตอนนี้เป็นเวลามากกว่า 200 วันแล้ว ตั้งแต่การระบาดในระลอกต่างๆ ที่ผ่านมา ที่เราถูกสั่งปิดและไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ เราเพียงอยากได้กลับมาเปิดร้านและทำอาชีพของเราอีกครั้ง ซึ่งตนเองและผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนหลายคนพร้อมที่จะหารือและนำเสนอมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เหมือนอย่างร้านอาหาร ที่จะต้องมีการเว้นระยะห่าง หรือการจำกัดคนเข้าร้าน และเราพร้อมที่จะรับวัคซีน ซึ่งแม้ว่าเราจะถูกมองว่าเป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 แต่เราก็ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งทำให้เราเกิดการตั้งคำถามว่า ควรจะจัดสรรและเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มเสี่ยงนี้ น่าจะสมเหตุสมผลกับการป้องกันความเสี่ยงมากกว่าหรือเปล่า
ประกอบกับการถูกสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมาเข่ง หลังจากพบคลัสเตอร์ทองหล่อ อย่างไรก็ตามแม้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เราจะต้องปิดกิจการชั่วคราวแต่ กลับพบว่าสถานการณ์การระบาด ระบบสาธารณสุข หรือเศรษฐกิจซบเซาลงด้วยซ้ำ ทำให้รู้สึกว่ามาตรการของรัฐเป็นการให้กลุ่มบางอาชีพเสียสละ เพื่ออะไรไม่อาจทราบได้ ซึ่งตนเองมองว่าไม่ยุติธรรม
(นายนนทเดช บูรณะสิทธิพร)
“หลายคนมักถามว่า แล้วสามารถปรับไปทำอาชีพอื่นแทนได้หรือไม่ ขอชี้แจงว่า การปรับไปทำอาชีพอื่น เป็นการเปลี่ยนไปทำอาชีพเสริมเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อยู่แล้ว เช่น ทำน้ำส้ม ขายอาหาร หรือขายน้ำก็ตาม ส่วนใหญ่ทำได้ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2-3 เดือน สุดท้ายจะตัน จะเป็นการช่วยซื้อกันเองในหมู่คนรู้จัก เพราะไม่ใช่อาชีพที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมา คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ เหมือนกับว่าหากร้านอาหารถูกสั่งปิดพร้อมกันทั้งประเทศ เขาไม่ขายอาหาร แล้วเขาจะทำอะไรต่อ เขาจะมาเล่นดนตรีให้เราได้หรือไม่ หรืออยู่ดีๆ จะไปทำกาแฟขาย ก็อาจไม่ตอบโจทย์ ขอยืนยันว่าคนทำอาชีพกลางคืนเราปรับตัวแล้วจริงๆ แต่ก็กลับมาอยู่จุดเดิมที่ว่าปรับไม่ไหวแล้ว ตันแล้ว” นายนนทเดช กล่าว
(นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ)
@ ไม่ได้รับการเยียวยา! จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องรัฐบาล
ขณะที่ นายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนภาคธุรกิจสตาร์ทอัพ ในกลุ่มสถานบันเทิงและคอนเสิร์ต กล่าวด้วยว่า ในช่วงแรกที่มีการขอความร่วมมือให้เราช่วยกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ตนเองมองว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และควรปฏิบัติ ประชาชนทุกคนและสถานทันเทิงเองต่างเข้าใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้น เราได้รับการผ่อนปรนมาตรการให้จัดคอนเสิร์ตได้ ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตใน GMM Live House, Impact Arena หรือแม้แต่ Music Festival ขอยืนยันว่าขณะนั้นเราไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดมารวมตัวกันเพื่อดูคอนเสิร์ตเลย แต่เมื่อเกิดการระบาดขึ้นในระลอกที่ 3 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ สถานบันเทิงกว่า 500 หรือ 1,000 กิจการ ต่างถูกสั่งปิดหว่านแหทั้งหมด กระทั่งตอนนี้ยังไม่ได้เปิด ส่งผลกระทบไปในวงกว้างถึงลูกจ้างที่เป็นเด็กเสิร์ฟไปจนถึงแม่บ้าน คนค้าขายลูกอมหรือพวงมาลัย และร้านขายสินค้า อย่างร้านลูกชิ้นที่เปิดในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถลงทะเบียนคนละครึ่ง ไทยชนะ หรือ ม.33 เรารักกันได้ ซึ่งส่วนมากต่างลงไม่ทันกัน หรือสิทธิ์เต็มก่อน หลายคนจึงยังไม่ได้รับการเยียวยา
ต่อมาเมื่อตนเองได้เจอ นายนนทเดช หรือลูกเต๋า ได้มาพูดคุยกันและมีความคิดเห็นตรงกันว่า “เราต้องเริ่มต้นที่จะเรียกร้อง ไม่อย่างนั้น ร้านค้าอื่นๆ จะไม่กล้าออกมาเรียกร้อง หมดเวลาแล้วกับการร้องขอ เราอยากจะก้าวออกไป เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐหันมาหันมาดูแลและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้บ้าง” นายธัญญ์นิธิ กล่าว
(น.ส.พัชรพร สละชีพ)
@ เผย 3 ข้อเรียกร้อง ‘ฉีดวัคซีน-ให้เปิดกิจการ-ยุติมาตรการหว่านแห’
‘กลุ่มพลังคลับ’ (Thai Unity Club) คือกลุ่มขับเคลื่อนสังคมไทยที่เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนผู้ใช้งานคลับเฮาส์ ที่จะหยิบยกประเด็นสังคมมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด หาทางออกของปัญหา และร่วมผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ จากสมาชิกภายในคลับเฮาส์ ยื่นข้อเสนอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 15 มี.ค.2564
ด้าน น.ส.พัชรพร สละชีพ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพลังคลับและเจ้าของกิจการธุรกิจรายย่อย กล่าวว่า จากการได้รับฟังเสียงสะท้อนของภาคีอาชีพต่างๆ ผ่านคลับเฮาส์ ที่ก่อนหน้านั้นเราตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุยและรับฟังปัญหาของกันและกัน เราได้เห็นแล้วว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และคนทำงานอาชีพกลางคืน ซึ่งได้รับผลกระทบมาก่อนหน้าธุรกิจอื่นๆ อีก ต่างไม่ได้รับการเยียวยาที่ครอบคลุมและทั่วถึง
“หลายคนพยายามปรับตัวไปประกอบอาชีพอื่น ในช่วงวิกฤตโควิด แต่สำหรับในภาคธุรกิจที่ต้องใช้ทักษะนั้น ทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น ร้านนวด หรือร้านศิลปะ เราไม่สามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ เพราะเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น และเราอยากกลับไปเปิดร้าน แต่ไม่มีหมอนวด หรือไม่มีช่างฝีมือ ผู้ประกอบการทำเพียงคนเดียวคงไม่ไหว คงจะทำกำไรได้ไม่มาก ท้ายที่สุดธุรกิจจะกลับมาเจ๊งอยู่ดี ดังนั้นผู้ประกอบการหลายคนจำเป็นต้องดูแลพนักงานไว้ ซึ่งเป็นภาระทางด้านค่าใช้จ่ายที่อยากให้รัฐได้มาดู ได้มารับฟังปัญหาจากเราจริงๆ เพื่อให้เข้าใจว่าแต่ละธุรกิจนั้นไม่เหมือนกัน ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ เพื่อที่เราจะได้มาแก้ปัญหาร่วมกัน การที่รัฐสั่งปิดดำเนินกิจการ อย่างไม่รู้กำหนด และไม่รู้ว่าจะเปิดได้เมื่อไร มันยากสำหรับเราจริงๆ อยากให้มาช่วยดูแลเรา หรือมีมาตรการเยียวยาอะไรบางอย่างเข้ามาช่วยเหลือเราได้บ้าง จึงสร้างแคมเปญเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมา ซึ่งทางกลุ่มพลังคลับจะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป” น.ส.พัชรพร กล่าว
สำหรับข้อเรียกร้องต่อพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ทางกลุ่มพลังคลับได้สร้างแคมเปญรวบรวมผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด มาร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องต่อพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. จัดให้ภาคธุรกิจรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหมดได้รับวัคซีนโควิดภายในระยะเวลา 30 วัน 2. จัดให้ภาคธุรกิจรายย่อย ผู้ปรักอบอาชีพอิสระทั้งหมด เปิดกิจการและดำเนินกิจการได้ภายใน 45 วัน 3. ยุติการใช้มาตรการหรือความร่วมมือต่อภาคธุรกิจรายย่อยแบบหว่านแห และให้พิจารณาใช้มาตรการควบคุมระบุต่อสถานที่ให้แน่ชัดว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด
(น.ส.อาทิตยา บุญยรัตน์)
@ วอนรัฐรับฟังเสียงปชช. ร่วมสร้างสังคมที่ดี
โดย น.ส.อาทิตยา บุญยรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพลังคลับ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น เป็นเพียงข้อเรียกร้องจำเป็นเร่งด่วนที่กลุ่มภาคีอาชีพต่างๆ ต้องการก่อน ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ นั้น หากมีกลุ่มภาคีอาชีพต่างๆ อยากให้ยกประเด็นใดขึ้นมาเรียกร้อง ทางกลุ่มพลังคลับจะยื่นข้อเรียกร้องให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเรามองว่าเขาจะมีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไปได้ เนื่องจากเราเคยส่งเสียงไปยังพรรคฝ่ายค้านหลายครั้งภายในคลับเฮาส์ แต่ผลอาจยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรมมากนัก เราจึงมีความคิดว่าหมดเวลาแล้วที่เราจะร้องขอ เราอยากจะก้าวไปถึงการยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เขาหันมามองเราว่าเรามีจำนวนนะ และเรากำลังได้รับความเดือดร้อน
ส่วนการกำหนดกรอบเวลาในการเรียกร้องนั้น เป็นการสร้างความชัดเจนในการดำเนินงานให้กับภาครัฐ และเป็นหลักประกันกับเราว่า เราจะไม่ถูกละเลยต่อไปอย่างไม่รู้กำหนด
“ปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 3,800 ราย ซึ่งมีกว่า 900 ราย เป็นเจ้าของกิจการจากทั่วประเทศ สมมติว่าหาก 1 กิจการมีลูกจ้างอย่างน้อย 10 ราย แรงงานที่ต้องเผชิญกับความเดือดร้อนอาจมีมากถึง 9,000 ราย โดยมีข้อสังเกตว่าวันที่มีผู้มาร่วมลงชื่อเยอะที่สุด คือ วันที่ช่วงเช้า กทม. มีการสั่งเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภท ก่อนจะโดน ศบค. เบรคคำสั่งเปิดออกไปอีก 14 วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเสียงที่เพิ่มมากขึ้นมาจากสิ่งที่รัฐสัญญาไว้ แต่ไม่สามารถทำได้” น.ส.อาทิตยา กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่เราจะขับเคลื่อนต่อไปนั้น คือ การส่งจดหมายเชิญไปยังพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้มาเข้าร่วมการแถลงข่าวออนไลน์ว่าพรรคร่วมรัฐบาลนั้นตอบรับข้อเรียกร้องหรือไม่ และเราอยากให้พรรคร่วมรัฐบาลได้มาตอบคำถามของประชาชน เพราะเราเชื่อว่าการได้มาพูดคุยและรับฟังกัน จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดี อย่างไรก็ตามงานแถลงข่าวดังกล่าวนั้น คาดว่าจะจัดในวันที่ 15 หรือ 16 มิ.ย.2564
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเสียงของผู้ประกอบการสถานบันเทิงและกลุ่มขับเคลื่อนสังคมไทย ที่อยากให้รัฐได้มารับฟังความเดือดร้อน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการอิสระ เจ้าของธุรกิจรายย่อย รวมถึงคนทำอาชีพกลางคืนได้อย่างตรงจุด ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลนั้นจะรับฟังเสียงของประชาชนหรือไม่ หรือมาตรการเยียวยาจะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้รอติดตามกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage