"...ในรัฐอุตรประเทศ มีรายงานว่า ชาวบ้านได้พากันกระโดดลงสู่แม่น้ำเพราะข่าวลือว่าวัคซีนนั้นจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่วนที่รัฐแคชเมียร์มีรายงานว่า ผู้กํากับอาวุโสของตํารวจ แห่งบารามุลลาห์ ได้ประกาศว่าผู้ที่ลังเลว่าจะไปฉีดวัคซีนควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ขณะที่ในรัฐมัธยประเทศ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกลอบทำร้ายจากความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีนของประชาชนด้วย ปัญหาทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์การสื่อสารของศูนย์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าควรเป็นอย่างไร ..."
..................
สืบเนื่องจากประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายสำคัญที่ถือเป็นวาระแห่งชาติว่า ในปี 2564 นี้ จะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้เป็นจำนวน 100 ล้านโดส
แต่ในช่วงที่ผ่านมา การสื่อสารของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิดตามเป้าหมายนั้น ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ดังกล่าว
ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในหลายประเทศก็ดูเหมือนจะประสบปัญหานี้เช่นกัน
ยกตัวอย่าง ประเทศอินเดีย ที่ตั้งเป้าหมายเรื่องการฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2564 ก็เกิดปัญหาในขั้นตอนการสื่อสารเช่นเดียวกับประเทศไทย
น่าสนใจว่ารูปแบบของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของอินเดียเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถอดเป็นบทเรียนมานำเสนอ ณ ที่นี้
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอินเดียนเอ็กซ์เพรสของประเทศอินเดีย ได้มีการเผยแพร่รายงานความล้มเหลวและหนทางการดำเนินกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อรับมือกับความลังเลของประชาชนในด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอินเดียเอาไว้
ระบุว่า ในช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวของอินเดีย ได้ออกประกาศหัวข้อเรื่องกลยุทธ์การสื่อสารเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา เป็นเอกสารแสดงรายละเอียดแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้ทั้งในระดับประเทศ ระดับรัฐ และระดับมณฑล เพื่อจะนำไปใช้ในการรับมือกับกรณีที่ประชาชนยังมีความลังเลและสงสัยว่าจะไปรับการฉีดวัคซีนหรือไม่
หลังเกิดปัญหาในหลายรัฐ อาทิ ในรัฐอุตรประเทศ มีรายงานว่า ชาวบ้านได้พากันกระโดดลงสู่แม่น้ำเพราะข่าวลือว่าวัคซีนนั้นจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่วนที่รัฐแคชเมียร์มีรายงานว่า ผู้กํากับอาวุโสของตํารวจ แห่งบารามุลลาห์ ได้ประกาศว่าผู้ที่ลังเลว่าจะไปฉีดวัคซีนควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม ขณะที่ในรัฐมัธยประเทศ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกลอบทำร้ายจากความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีนของประชาชนด้วย
ปัญหาทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์การสื่อสารของศูนย์ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าควรเป็นอย่างไร
@ความลังเลด้านการฉีดวัคซีนนั้นใหญ่แค่ไหนในประเทศอินเดีย ?
นับตั้งแต่ที่ประเทศอินเดีย ได้มีการเริ่มโครงการการฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความสนใจของประเทศอินเดียนั้นกลับไปมุ่งเน้นที่การขาดแคลนวัคซีนเสียมากกว่า
ผนวกกับที่มีปัญหาข้อโต้แย้งกันในเรื่องของศูนย์การฉีดวัคซีนกับรัฐต่างๆในประเทศอินเดีย ในประเด็นเรื่องราคาของวัคซีน
ทั้งหมดนี้ เลยกลายอุปสรรคทำให้เกิดความล่าช้าทั้งในเรื่องการเร่งการฉีดวัคซีน การดำเนินการออกสิทธิบัตรต่างๆ รวมไปถึงสิ่งที่ขัดขวางกระบวนการผลิตวัคซีนในประเทศอินเดียประกอบกัน
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ ปัญหาด้านการสื่อสารจึงได้ถูกละเลยไป ด้วยสมมติฐานว่าปัญหาด้านความไม่เข้าใจ ความลังเลนั้นจะหายไป ถ้าหากมีจำนวนวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ทว่าความลังเลด้านการฉีดวัคซีนนั้นกลับยังคงอยู่ และเริ่มที่จะก่อตัวเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าในช่วงเดือน พ.ค. 2564 ประเทศอินเดียจะสามารถจัดหาวัคซีนมาได้จำนวนกว่า 210 ล้านโดสก็ตาม
และเมื่อดูที่ภาพใหญ่ ก็พบว่ามีปัญหาเรื่องความลังเลด้านการฉีดวัคซีนมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยข้อมูลการสำรวจอาการของไวรัสโควิด-19 บนเฟซบุ๊กหรือ CSS แสดงให้เห็นตัวเลขของความลังเลด้านการฉีดวัคซีน ซึ่งผลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าอัตราเปอร์เซ็นต์ความลังเลการฉีดวัคซีนนั้นอยู่ที่ 28.7 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่รัฐทั่วไป และในบางรัฐ อาทิ รัฐทมิฬนาฑู พบว่ามีอัตราความลังเลอยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รัฐปัญจาบมีอัตราความลังเลอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์
นี่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะว่าการสำรวจบนเฟซบุ๊กนั้น มีกลุ่มผู้เข้าร่วมการตอบแบบสอบถามมากมายจากพื้นที่ชนบท จากคนทุกกลุ่มที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยทิศทางข่าวนั้นบ่งชี้ว่าความลังเลเรื่องการฉีดวัคซีนกำลังแพร่หลายในพื้นที่ชุมชนอันห่างไกล และในพื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเชื่อมต่อ ที่ทีมผู้ดำเนินการฉีดวัคซีนยังไม่อาจเข้าถึงได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าจะมีการลงพื้นที่หลายครั้งด้วยจำนวนวัคซีนที่มีเพียงพอก็ตาม
@ผลกระทบที่ตามมาของเรื่องนี้นั้นคืออะไร?
การแก้ปัญหาด้านความลังเลในการฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะมันไม่แค่การนำไปสู่การฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุมเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีกระบวนการฉีดวัคซีน
ซึ่งปัญหาความลังเลในการฉีดวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศอินเดีย ย้อนกลับไปในช่วงปี 2516 ในการฉีดวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคไข้ทรพิษ ได้มีการออกมาตรการหลายอย่างเพื่อที่จะควบคุมและดำเนินการฉีดวัคซีน โดยนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่านายพอล อาร์ร กรีนอช ได้บันทึกข้อมูลการบุกเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านในรูปแบบของทางทหารของหมู่บ้านทางตอนเหนือของประเทศอินเดียและประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการใช้กำลังเพื่อที่จะทำให้เกิดการฉีดวัคซีนขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
รายงานข่าวปัญหาความลังเลการฉีดวัคซีนในอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก INDIATODAY)
แต่การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนั้นก็กระทบต่อกลุ่มประชากรที่มีลักษณะจำเพาะต่างๆ อาทิ ผู้หญิงที่เป็นมุสลิม,กลุ่มประชากรที่เป็นชนเผ่า และกลุ่มชาติพันธุ์ย่อย ซึ่งแม้การใช้กำลังจะได้ผล แต่ก็เป็นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น
เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ว่าเหล่านี้เพิ่มความลังเลในการฉีดวัคซีน สำหรับโครงการฉีดวัคซีนครั้งอื่นๆ และเริ่มที่จะมีความไม่พอใจของชุมชนเหล่านี้ต่อกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตามมา
ก่อนที่ในช่วงไม่กี่ปีถัดมา รัฐบาลอินเดียถึงจะประสบความสำเร็จ ในการดำเนินกลยุทธ์อย่างถูกทางเพื่อรับมือกับความลังเลในการฉีดวัคซีน ในช่วงที่มีการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนเพื่อขจัดโรคโปลิโอ
โดยรัฐบาลได้มีความร่วมมือกับกลุ่มผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนาต่างๆ เพื่อรับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และรับมือกับความกลัวด้านการฉีดวัคซีน และความร่วมมือที่ว่านี้ก็ได้สร้างพันธมิตรใหม่ให้กับหน่วยงานสาธารณสุขขึ้นมาในการดำเนินความก้าวหน้าด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพเด็กและสุขภาพมารดา
และแน่นอนว่ากลยุทธ์ที่ว่านี้นั้นก็ควรจะนำมาใช้เพื่อที่จะรับมือกับความลังเลในเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้เช่นกัน
วิธีการไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลัง แต่เป็นการสร้างความร่วมมือกับชุมชนต่างๆเพื่อประสานความร่วมมือ
โดยนายประกาช ชวาเดการ์ (Prakash Javadekar) รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการกระจายเสียงของอินเดียได้ประกาศเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่าประเทศอินเดียนั้นมีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กลุ่มประชากรทั้งประเทศในเดือน ธ.ค. 2564 แม้ว่าประเทศอินเดียจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องจำนวนวัคซีนที่ขาดแคลนได้นั้น
แต่ปัญหาเรื่องความลังเลในการฉีดวัคซีนนั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อินเดียไม่อาจจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้
ปัญหาข่าวปลอมด้านวัคซีนที่ประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก INDIATODAY)
@แนวทางการแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่สำคัญและวิกฤติเหล่านี้นั้น มีการรบเร้า และมีความต้องการที่จะใช้มาตรการอันรุนแรงเพื่อจะรับมือกับความลังเลในการฉีดวัคซีน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยงทั้งจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร
เพราะว่าในเวลานี้เริ่มมีการเรียกร้องกันแล้วว่าให้รัฐบาลอินเดียนั้นใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการฉีดวัคซีนภาคบังคับอันเข้มงวด ในปี 2435 และกฎหมายที่คล้ายกันเพื่อให้การฉีดวัคซีนนั้นเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย
ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง
สิ่งที่รัฐบาลกลางอินเดียควรที่จะดำเนินการนั้น จะต้องเป็นการมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกลยุทธ์การสื่อสารสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชน,มาตรการสร้างความไว้วางใจและความเห็นอกเห็นใจ
โดยในหลายพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่เขตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้พยายามที่จะใช้มาตรการที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อต่อสู้กับความลังเลในด้านการฉีดวัคซีนในหลายวิธี
อาทิ ขั้นตอนแรก รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างจุดเริ่มต้นเพื่อจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครองท้องที่และฝ่ายเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุข
หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ ท้องที่นันดูร์บาร์ ในรัฐมหาราษฏระ ที่มีการใช้ทีมเคลื่อนที่เร็วเพื่อลงพื้นที่รับมือกับความลังเลในด้านการฉีดวัคซีน หรืออย่างในพื้นที่รัฐฉัตตีสครห์ ก็มีรายงานว่ามีการใช้เพลงพื้นบ้านในพื้นที่เพื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลอันถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน
ขั้นตอนที่ 2. ควรจะต้องมีการระบุตัวตนของกลุ่มผู้คน และพื้นที่ภูมิศาสตร์ ที่มีรายงานของผู้ที่มีความลังเลในด้านการฉีดวัคซีนสูง เพื่อที่จะได้มีการกำหนดเป้าหมายการสื่อสารให้ชัดเจนกับคนกลุ่มเหล่านี้ต่อไป
ขั้นตอนที่ 3. สำหรับประเด็นเรื่องข้อมูล ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลในระดับนานาชาติที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ชนบท
อาทิ กรณีการโพสต์ข่าวปลอมที่อ้างว่ามาจากผู้ได้รับรางวัลโนเบล ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น หน่วยงานด้านการตอบสนองอันรวดเร็วของสื่อสาธารณะแห่งชาติ (The National Media Rapid Response Cell หรือ NMRRC ) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้กลยุทธ์การสื่อสารด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ควรจะมีความตื่นตัวและเตือนไปยังหน่วยงานปกครองในพื้นที่ต่างๆ ด้วยเวลาการตอบสนองที่รวดเร็วตรงกับความเป็นจริง
ขั้นตอนที่ 4. รัฐบาลควรที่จะนำเอาศิลปิน ผู้นำชุมชน และผู้ที่มีอิทธิพลสูงหรืออินฟลูเอ็นเซอร์มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการฉีดวัคซีน
และขั้นตอนที่ 5. ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายนั้น ควรจะมีการทบทวนและประเมินผลที่ครอบคลุมของรัฐบาลอินเดียกับกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อที่จะทำให้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารเพื่อที่จะรับมือกับความลังเลในด้านการฉีดวัคซีนนั้นก็ควรที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
แต่สาระสำคัญที่สุดของการสื่อสารในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อรับมือกับความลังเลในด้านการฉีดวัคซีนนั้น ไม่ควรรอเวลาให้นานเกินไป จนกว่าจะมีวัคซีนที่เพียงพอ
เพราะถ้าหากเรายิ่งสื่อสารล่าช้าเท่าไร ก็หมายความว่า ความล่าช้าในการยุติการระบาดก็เพิ่มมากขึ้น และจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage