"…เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน โดยอาจร่วมปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ณ จุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค ในเส้นทางหลัก เส้นทางรอง รวมถึงในพื้นที่หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกิดการเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้ลักลอบเข้าเมืองในทุกพื้นที่ …”
………………………………………………..
จากข้อมูลการรายงานการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เปิดเผยตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. – 25 พ.ค.2564 มีจำนวนผู้เดินทางข้ามแดนแบบผิดกฎหมายไม่ต่ำกว่า 100 ราย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย
“เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่มีแนวเขตชายแดนเป็นช่องทางธรรมชาติรอบประเทศติดกับเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย กว่า 5,000 กิโลเมตร จึงอาจมีโอกาสที่จะเกิดการลักลอบ เล็ดลอดเข้ามาได้” นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) สะท้อนถึงปัญหาการลักลอบเข้าเมืองจากชายแดนประเทศไทย
การเดินทางเข้ามาแบบผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับการตรวจคัดกรองและการกักกันตัว โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยไม่แสดงอาการที่หากไม่ตรวจหาเชื้อ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้โดยง่าย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ภาครัฐพยายามลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน จับตาการเดินทางข้ามแดนทุกประเภท
นายสมคิด กล่าวว่า ภายหลังการประชุมนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนในช่วงสถานการณ์โควิดที่ได้ร่วมกับ 33 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมด้วยกระทรวงแรงงาน จึงได้วางมาตรการดูแลและสกัดกั้นแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการควบคุมการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแบ่งพื้นที่และความรับผิดชอบ มีรายละเอียดดังนี้
1. การปฏิบัติในพื้นที่ชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ประสานการปฏิบัติ วางมาตรการร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยเน้นย้ำ 128 อำเภอชายแดนให้ ‘ดำเนินการด้านข่าวเชิงรุก’ ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ โดยตั้งเครื่องกีดขวาง เพิ่มการลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังและสกัดกั้นป้องกัน มิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณพื้นที่ชายแดน ขณะเดียวกันจะเปิดด่าน 5 วัน ในวันจันทร์ถึงศุกร์ หลังจากพบว่าผู้ลักลอบไม่อยากรอ เพื่อลดการลักลอบเข้าเมือง อย่างไรก็ตามหากพบการลักลอบเข้าประเทศอีก จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น
2. การปฏิบัติในพื้นที่ตอนใน ให้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค บุคคลและการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
3. การปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน หรือชุมชน ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครในพื้นที่ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามา ในหมู่บ้านหรือชุมชน รวมทั้งบุคคลที่เคยอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนแต่เดินทางไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง หากพบผู้ลักลอบขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบและดำเนินการ
นอกจากมาตรการจากฝ่ายรัฐแล้ว อีกแนวร่วมที่สำคัญ คือ ภาคประชาชน ที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตรวจสอบคนในพื้นที่ของตนเอง อาทิ เพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จัก ที่ไปทำงานในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่อยากกลับเข้าประเทศ ควรประชาสัมพันธ์ให้เขากลับเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย
"ขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อม โดยประชาชนสามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ตามความพร้อม และความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งร่วมปฏิบัติงานช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ณ จุดตรวจ จุดสกัด และจุดคัดกรองโรค ในเส้นทางหลัก เส้นทางรองได้ รวมถึงในพื้นที่หมู่บ้านหรือชุมชน นอกจากนี้ สามารถช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนให้ร่วมเฝ้าระวังและตรวจสอบผู้ลักลอบเข้าเมืองในทุกพื้นที่ หากตรวจพบหรือรับทราบข่าวสารหรือเบาะแส ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายโดยเร่งด่วน" นายสมคิด กล่าว
@ ยันผลักดันกลับประเทศทันที หากเจอต่างด้าวลักลอบ ขณะตระเวนชายแดน
สำหรับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรณีเจอแรงงานต่างด้าว นายสมคิด กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขก่อน กล่าวคือ จะต้องให้ผู้ลักลอบทั้งชาวไทยและต่างด้าว ได้รับการตรวจคัดกรอง และกักตัวเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนกระทั่งไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นจะส่งตัวให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จนกระทั่งสามารถผลักดันให้กลับประเทศได้
“แต่ในกรณีที่พบแรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย ระหว่างตระเวนชายแดนนั้น เจ้าหน้าที่จะผลักดันกลับประเทศต้นทางทันที แต่หากเป็นคนไทย ซึ่งมีสิทธิ์ในการกลับประเทศ จะนำตัวเข้าสู่ระบบมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป” นายสมคิด กล่าว
(นายสมคิด จันทมฤก)
@ แต่งตั้ง 6 ชุดเฉพาะกิจ เสริมกำลังคุมแนวชายแดน
นอกจากมาตรการคุมเข้มแนวชายแดนแล้ว ยังมีหนังสือด่วนที่สุดจาก นายธนาคม จงจิระ หรือ อธิบดีกรมการปกครอง ให้ปลัดทุกจังหวัดเน้นย้ำมาตรการคุมโควิด โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งได้มีมีมติแต่งตั้ง ‘ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานผิดกฎหมาย’ จำนวน 6 คณะ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. จนถึงกลางเดือน ส.ค.2564 โดยมีผู้แทนกรมการปกครองเป็นองค์ประกอบในชุดเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวด้วย เพื่อเสริมกำลังผู้ปฏิบัติหน้าที่คุมแนวชายแดน
@ เปิดรายชื่อ 27 จังหวัด มีแรงงานต่างด้าวกว่าหมื่นคน
สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทย จากรายงานของกระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 13 พ.ค.2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา อยู่ในประเทศไทย รวม 1,289,953 คน โดยพบมี 27 จังหวัด มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 10,000 คน ประกอบด้วย กทม. 236,281 คน สมุทรสาคร 124,501 คน สมุทรปราการ 80,224 คน เชียงใหม่ 75,932 คน ชลบุรี 67,783 คน ปทุมธานี 56,659 คน สุราษฎร์ธานี 56,226 คน นครปฐม 52,150 คน ภูเก็ต 49,121 คน นนทบุรี 46,360 คน
ระยอง 38,615 คน ชุมพร 31,179 คน ระนอง 25,568 คน ราชบุรี 25,502 คน ฉะเชิงเทรา 25,111 คน สงขลา 23,652 คน ประจวบคีรีขันธ์ 23,046 คน พังงา 19,208 คน กาญจนบุรี 15,662 ราย ตราด 14,472 คน ตาก 14,565 ราย เชียงราย 12,339 คน จันทบุรี 11,913 คน พระนครศรีอยุธยา 11,436 คน นครศรีธรรมราช 11,267 ราย สมุทรสงคราม 10,975 คน และนครราชสีมา 10,594 คน ตามลำดับ
@ สร้างมาตรฐานนำเข้าแรงงาน MOU ให้กักตัว-ฉีดวัคซีนก่อนเข้าสู่ระบบการทำงาน
อย่างไรก็ตามจำนวนแรงงานในขณะนี้ ยังไม่มีเพียงพอต่อความต้องการของบางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่บางกิจการยังต้องการแรงงานจำนวนมาก นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงโควิดว่า ทางกระทรวงแรงงานได้เปิดลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เมื่อ 15 ม.ค. – 13 ก.พ.2564 มีแรงงานลงทะเบียนแล้วกว่า 658,000 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์อัตลักษณ์และจัดทำทะเบียนประวัติ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้เข้ามาทำทะเบียนประวัติ ตามขั้นตอนเพียง 30% ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงอยากขอให้นายจ้างและแรงงานเข้ามาลงทะเบียนกันก่อนจะหมดเขตในวันที่ 16 มิ.ย.2564
ขณะเดียวกัน นายไพโรจน์ กล่าวเปิดเผยว่า ทางกระทรวงแรงงานมีแผนนำเข้าแรงงาน MOU เพื่อแก้ไขขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขอให้รอติดตามกันต่อไป โดยได้เตรียมวางมาตรการรองรับการนำเข้าแรงงานให้ปลอดภัย ด้วยการกักตัวแรงงาน 14 วัน และฉีดวันซีน ก่อนจะนำเข้าสู่ระบบการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเป็นผลดีกับตัวของแรงงานเอง
@ แรงงานถูกกฎหมาย ใช้สิทธิ์ผู้ประกันตนมาตรา 33 รักษาโควิดฟรี
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกกลุ่มแรงงานที่พบการระบาดในขณะนี้ อาทิ แคมป์คนงานหลักสี่ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ผู้ประกันตน ประกันสังคม มาตรา 33 ในการได้รับสิทธิ์ในการตรวจคัดกรองหาเชื้อ และสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษากรณีติดโควิดได้
โดยปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้จัดที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับแรงงานถูกกฎหมาย มีทั้งจุดตรวจที่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลคู่สัญญาอีก 242 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
"ขอให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการลงทะเบียนอย่างถูกกฎหมายแล้ว ไม่ต้องกังวล ทุกคนจะได้รับสิทธิ์ในการตรวจหาเชื้อและสิทธิ์การรักษากรณีป่วยโควิด เท่าเทียมเหมือนประชาชนชาวไทยทุกอย่าง" นายไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ผู้ประกอบการร่วมมือช่วยกันรับแรงงานที่ถูกกฎหมายเข้ามาทำงานเพื่อลบความคิดที่ว่าหากไม่มีใครจ้างงาน แล้วกลุ่มแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาได้อย่างไร ดังนั้นแล้วหากทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนร่วมมือกัน สถานการณ์การระบาดของโควิดจะดีขึ้นได้
(นายไพโรจน์ โชติกเสถียร)
@ สปสช.รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แรงงานไม่ถูกกฎหมายป่วยโควิด ป้องกันการแพร่ระบาด
สำหรับสิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติกรณีติดโควิด นางอรุณี ศรีโต กรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า กรณีแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถใช้มาตรา 33 สำหรับการเป็นผู้ประกันตนได้ กรณีการตรวจคัดกรองจะได้รับการตรวจปี และกรณีพบว่าติดโควิด จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่เกิน 365 วัน ใน 1 ปี และกรณีที่ต้องกักตัว ทำให้ต้องว่างงาน จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จะได้รับสิทธิ์การตรวจคัดกรอง การกักตัว และเข้ารับการรักษาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการรีบนำเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
(นางอรุณี ศรีโต)
@ ความอดยาก เป็นแรงผลักดันทำให้เกิดการลักลอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับบุคคลต่างด้าว หนึ่งในล่ามของมูลนิธิของเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ Labour Protection Network (LPN) ซึ่งเคยได้ทำหน้าที่เป็น อาสาสมัครผู้เข้าร่วมวิเคราะห์การสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง
เขาเล่าว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ทำงานคุมเข้มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อดูจากผลการจับกุมที่มีตัวเลขเพิ่มมากขึ้นจากผู้ลักลอบหลักสิบคน ที่เพิ่มเป็นหลักร้อยคนในบางวัน
ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมา หางานทำในถิ่นฐานตนเองได้ยากขึ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้คนกลุ่มนี้พยายามลักลอบเข้ามาภายในประเทศไทย
“อยู่ที่บ้านเขา เขาก็อดตาย เขาจึงยอมเสี่ยงเดินทางข้ามชายแดนกลับเข้าไทยเพื่อหางานทำ คนเหล่านี้เขารอไม่ได้ เพราะความอดอยากเป็นแรงผลักดันให้ต้องเลือก”
ภาพจาก: เดลินิวส์ และโพสต์ทูเดย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/