ปปง. สั่งยึดทรัพย์ ‘บลู เบย์ รีสอร์ท’ บนเกาะยาว จ.พังงา เครือข่าย บ.ทรานลี่ ทราเวิล ธุรกิจคนต่างด้าว พร้อม เวนิส ซีวิว - เนเชอรัล เบย์ รีสอร์ท 362 รายการ 188.5 ล้าน เฉพาะที่ดิน น.ส.3 ก. 15 -1-33 ไร่ มูลค่า 120 ล้าน ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2559 โดนแล้ว 2 ครั้ง 216 รายการ ทั้งเรือ รถบัสปรับอากาศ
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org ) รายงานว่า สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 84 /2564 ลงวันที่ 9 เม.ย.2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) รายบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด และบริษัทในเครือ จำนวน 362 รายการ มูลค่า 188,523,300 บาท ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของที่ใช้ในกิจการโรงแรม มีชื่อเด็กชายโถ่วโฮวเฉื่อง คำไผ่ประพันธ์กุล ,บริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท จำกัด ,บริษัท เวนิส ซีวิว จำกัด และ บริษัท เนเชอรัล เบย์ รีสอร์ท จำกัด เป็นผู้ครอบครอง
ในจำนวนนี้ทรัพย์สินประเภทที่ดิน 5 แปลง บริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท จำกัดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง จำนวน 2 แปลง และ เด็กชายโถ่วโฮวเฉื่อง คำไผ่ประพันธ์กุล เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง
จำนวน 3 แปลง และที่มีมูลค่าที่สุด ได้แก่ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 1318 ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมิน 120 ล้านบาท บริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง (ดูเอกสาร)
รองลงมา ได้แก่ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 48534 ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 82 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ราคา 7 ล้านบาท เด็กชายโถ่วโฮวเฉื่อง คำไผ่ประพันธ์กุล เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง (ดูเอกสาร)
ทั้งนี้ ในคําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 84 /2564 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) ระบุว่า ตามที่สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบังคับการตํารวจท่องเที่ยว ตามหนังสือที่ ตช 0026.5/7029 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ตํารวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ได้บูรณาการร่วมกับกองบังคับการตํารวจ ท่องเที่ยวและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้นบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด และบริษัทในเครือ รวมจํานวน 4 บริษัท ซึ่งมีนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม และนายวีระชัย คําไผ่ประพันธ์กุล บุคคลต่างด้าว ไปแจ้งให้เจ้าพนักงานกรมการปกครองซึ่งกระทําการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทย ต่อมาก็เข้าร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มีความมุ่งหมายว่าจะประกอบธุรกิจนําเที่ยวแบบครบวงจรในประเทศไทย แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองรู้ตัวดีว่าตนเองเป็นบุคคลต่างด้าว ไม่มีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนําเที่ยวในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และธุรกิจดังกล่าวอยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชีสาม ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว (18) การนําเที่ยว ฉะนั้น การที่นายกฤชกร รุ่งมงคลนาม และนายวีระชัย คําไผ่ประพันธ์กุล จะลักลอบประกอบธุรกิจดังกล่าว ในประเทศไทยนั้น จึงต้องมีการวางแผนวิธีการดําเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มสมาชิก โดยปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่แท้จริงของตนเอง ตั้งแต่นําบัตรประจําตัวประชาชนอันเกิดจากการแจ้งข้อความ อันเป็นเท็จดังกล่าวไปใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงต่อนายทะเบียนธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์ เจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้หลงเชื่อว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีข้อมูลรายการ บุคคลตามที่ระบุในบัตรประจําตัวประชาชนซึ่งทางราชการออกให้ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด และนิติบุคคลในเครืออีกหลายแห่ง ประกอบกิจการนําเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวของประเทศ เป็นอย่างมาก อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (10) แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเครือข่ายบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรม ได้มีคําสั่ง ที่ ย. 174/2559 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ไว้ชั่วคราว รายเครือข่าย บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด กับพวก จํานวน 204 รายการ พร้อมดอกผล และคําสั่ง ที่ ย. 196/2559 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดไว้ชั่วคราว รายเครือข่าย บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด กับพวก (เพิ่มเติม) จํานวน 12 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นั้น
จากการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคล รวมทั้งผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ในคดีดังกล่าว พบข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท บริษัท เวนิส ซีวิว จํากัด บริษัท เนเชอรัล เบย์ รีสอร์ท จํากัด เด็กชายโถ่วโฮงเฉี่อง คําไผ่ประพันธ์กุล ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเครือข่าย บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน เพิ่มเติมอีก จํานวน 362 รายการ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของที่ใช้ในกิจการโรงแรม ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ และสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่ใช้ในกิจการโรงแรม อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครอง สามารถโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน ไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสียและหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่าย บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 8เมษายน 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จํานวน 362 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติกล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สิน แนบท้ายคําสั่งนี้ (ดูเอกสารคำสั่ง)
https://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHo_2564/84-2564.pdf
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด และเครือข่ายถูก ปปง.ยึดและอายัดทรัพย์สิน 2 ครั้ง ได้แก่ คําสั่ง ที่ ย. 174/2559 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2559 จํานวน 204 รายการ อาทิ เรือ จำนวน 35 ลำ อินทรี มารีน 818, 828 ,995,878 ,858,997,898,881,882,977,996,885,887,999,551,553,556,818 อยู่ในชื่อบริษัท อินทรี มารีน จำกัด บริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จํากัด รถบัสปรับอากาศ อยู่ในชื่อ บริษัท ทีแอลเบตทเตอร์เวย์ จำกัด เป็นต้น มิได้แจ้งมูลค่า
และคําสั่ง ที่ ย. 196/2559 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2559 จํานวน 12 รายการ ในจำนวนนี้เป็นรถบัสปรับอากาศ 1 คัน และที่ดิน น.ส.3 ก.พร้อมสิ่งปลูกสร้างใน จ.ภู เก็ต และ เกาะยาว จ.พังงา จำนวน 10 แปลง อยู่ในชื่อ บริษัท ทีแอลเบตทเตอร์เวย์ จำกัด , บริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท จำกัด และ นายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล
เรื่องเกี่ยวข้อง
ใช้ชื่อ 'ดช.'ถือหุ้นใหญ่! เปิดตัวบ.ทรานลี่ ทราเวิล ถูกปปง. อายัดทรัพย์ร้อยล.
จำแนกชัดๆ รายชื่อกลุ่มเครือข่าย'ทรานลี่&ฝูอัน'ทัวร์ศูนย์เหรียญ หลังโดนอายัดทรัพย์หมื่นล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage