“...พอโควิดมา ต้องปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ปิดบ้านพัฒนาเด็กเล็ก ปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กต่างๆ เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามารับบริการเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีฐานะ ยากจน รายได้น้อย เด็กส่วนใหญ่จะมาพึ่งพานมจากศูนย์เด็ก พึ่งพาอาหารจากศูนย์เด็ก พอทุกอย่างปิดก็ได้รับผลกระทบหมด จากที่จ่าย 10 บาท เด็กได้เล่น ได้กินนม ได้เรียนรู้ ตอนนี้เด็กทั่วประเทศมากกว่า 2 แสนคนที่ออกจากระบบศูนย์เด็ก...”
-----------------------------------
ช่วงปฐมวัย หรือช่วง 0- 6 ขวบปีแรกของชีวิต เป็นช่วงเวลาของการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก โดยเป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งทางสมอง การใช้ภาษา ทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหว เป็นช่วงวัยของการสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ต่อไปในชีวิต
สุขภาวะและโภชนาการ จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อัตราการเจริญเติบโตจะเร็วที่สุดในช่วงแรกเกิด และค่อยๆลดลงเมื่อเด็กอายุมากเพิ่มขึ้น โภชนาการที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากร่างกายต้องการเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการ แต่อัตราการเจริญเติบโตของเด็กนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโภชนาการที่เด็กได้รับ และพื้นฐานทางพันธุกรรม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน ยังมีแนวโน้มที่ผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น รวมถึงมียอดผู้เสียชีวิตรายวัน ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบ ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพสังคม และเศรษฐกิจ หลายกิจการเริ่มปิดตัวลงไปเพราะมองไม่เห็นหนทางรอด ส่งผลกระทบเป็นลูกคลื่นไปถึงพนักงานหรือคนทำงานในกิจการนั้นๆ
เมื่อผู้นำครอบครัวเริ่มอ่อนแรง ส่งกระทบต่อคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีลูกหรือเด็กในความดูแล ทั้งต่อคุณภาพการเลี้ยงดู กระทบต่อภาวะโภชนาการและพัฒนาการ ทั้งที่วัยเด็กเป็นโอกาสทองในชีวิตที่สมองจะเติบโตดีที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เด็กได้รับจากสถานการณ์โควิดตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี มีข้อมูล ดังนี้
@ โควิดทำให้เด็กต้องแยกจากพ่อแม่
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือ ครูประทีป ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป เปิดเผยผลกระทบจากสถานการณ์ของเด็กในชุมชนคลองเตย ว่า ขณะนี้มีเด็กติดเชื้อเยอะ แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด เนื่องจากทางสำนักเขตจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการส่งตัว แต่ถ้าเป็นกรณีพบเด็กเล็กติดเชื้อ ก็จะดำเนินการส่งไปรักษาพร้อมครอบครัว
นางประทีป กล่าวถึงกรณีที่น่าเป็นห่วง ว่า เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านติดเชื้อ แต่เด็กไม่ติดเชื้อ ทำให้เด็กต้องกักตัวอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง และฝากให้เพื่อนบ้านดูแล ทาง กทม.ที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็ก ได้มีการจัดให้ครูประจำศูนย์ฯ ช่วยดูแลด้านอาหาร มีการทำอาหารให้เหมาะสมกับเด็ก และจัดส่งให้ตามบ้าน เป็นต้น
"ทางมูลนิธิได้มีการวางแผนในการเช่าตึกแถว 4 ชั้น รับดูแลเด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อ เพื่อเป็นสถานที่พัก ที่รอพ่อแม่ในระหว่างที่ทำการรักษา ทั้งนี้จะต้องให้คุณหมอช่วยวางแผน เนื่องจากเด็กที่จะมาอยู่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มาจากครอบครัวผู้ติดเชื้อ" นางประทีป กล่าว
@ โภชนาการคือสิ่งสำคัญ
ส่วนเรื่องสุขภาวะและโภชนาการ นางประทีป กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน อาจจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก แต่ทางมูลนิธิได้มีการช่วยเหลือส่งมอบนมและไข่ เพื่อการเจริญเติบโตของเด็กให้เหมาะสมกับวัย เพื่อไม่ให้ประสบภาวะขาดสารอาหาร แต่ถ้าจะให้ครบ 5 หมู่ โดยมีผักหรือผลไม้ต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ส่วนเรื่องมาตรการเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเด็กเล็กในชุมชน นางประทีป กล่าวว่า ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเด็กโดยตรงเข้ามาหรือลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ทางด้าน พม.เคยบอกว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจำนวน 2,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ดีที่ได้รับการช่วยเหลือ ขณะนี้ยังไม่เห็นการดำเนินการใดๆ อาจจะเป็นเพราะระบบราชการที่ค่อนข้างจะดำเนินการช้า ส่วนสวัสดิการอื่นๆ ยังมีหลายครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์การลงทะเบียนได้อีกด้วย
@ พ่อแม่ล้ม ลูกก็ล้ม
นางศีลดา รังสิกรรพุม หรือ ครูต้อ ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฯ เล่าว่า สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของครอบครัวผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ส่วนมากประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน แม่ค้า หรือขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งประสบปัญหาตกงาน ไม่มีรายได้ รวมถึงอาศัยภายในชุมชนแออัด สภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความเครียดเนื่องจากอาศัยอยู่ในห้องแคบๆ
@ ศูนย์เลี้ยงเด็กปิด เพิ่มค่าใช้จ่ายพ่อแม่
นางศีลดา เล่าถึงผลกระบทบจากการปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ว่า เข้าใจว่าเป็นมาตรการเพื่อควบคุมโรค แต่ก็มีผลกระทบตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนเปราะบาง ในช่วงปกติการฝากลูกไว้กับศูนย์เด็กเล็ก จะประหยัดค่ากินค่าอยู่ แต่เมื่อปิดศูนย์เด็กเล็ก บางครอบครัวต้องออกไปทำงาน ก็ปล่อยให้เด็กอยู่บ้านตามลำพัง หรือไม่ก็จำเป็นต้องจ้างคนเลี้ยงลูก ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ประสบกับปัญหารายได้ลดลงและตกงานอีก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปในเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของคนในครอบครัวอีก อย่างเช่นหนึ่งในกรณี
"พอโควิดมา ต้องปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก ปิดบ้านพัฒนาเด็กเล็ก ปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กต่างๆ เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามารับบริการเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีฐานะ ยากจน รายได้น้อย เด็กส่วนใหญ่จะมาพึ่งพานมจากศูนย์เด็ก พึ่งพาอาหารจากศูนย์เด็ก พอทุกอย่างปิดก็ได้รับผลกระทบหมด จากที่จ่าย 10 บาท เด็กได้เล่น ได้กินนม ได้เรียนรู้ ตอนนี้เด็กทั่วประเทศมากกว่า 2 แสนคนที่ออกจากระบบศูนย์เด็ก พอออกไปอยู่กับพ่อแม่ สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ ความสมบูรณ์ด้านอาหารเช้า อาหารว่าง นม อาหารกลางวันของเด็ก ซึ่งกินเวลา 2 เดือนเกือบจะ 3 เดือนแล้ว โอกาสของเด็กที่จะได้เล่น ได้ทำกิจกรรมพัฒนาต่างๆก็หายไปด้วย จากมูลนิธิที่ครูทำงานด้วย พบว่าเด็กซึมลง พูดน้อยลง ไม่สบตา เด็กบางคนก็ผอมลงด้วย" นางศีลดากล่าว
@ ถุงยังชีพ..ถุงพัฒนาเด็กในยุคโควิด
นางศีลดา เผยว่า พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ประกอบด้วย บ้านสมวัย ชุมชนคลองเตย บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ บ้านแห่งความหวัง ชุมชนอ่อนนุช 88 แยก 10 และบ้านศรีนครินทร์ ชุมชนกองขยะหนองแขม มีเด็กอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 5 ขวบ ที่มาจากกลุ่มครอบครัวยากจน เปราะบาง รวมแล้ว 350 ราย
นางศีลดา เล่าถึงแนวทางการช่วยเหลือของทางมูลนิธิฯ ว่า มูลนิธิฯ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือและดูแลในเบื้องต้น เช่น การแก้ปัญหาด้านปากท้อง และการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยการส่งมอบถุงเสบียง ที่ประกอบด้วย นม ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น นิทาน และของเล่นส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างและให้ผู้ปกครองสำหรับดูแลเด็ก รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการของเด็กระหว่างที่อยู่ที่บ้าน โดยส่งมอบความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ได้มีการช่วยเหลือแล้ว 300 ครอบครัว
@ สวัสดิการเด็กที่รอให้รัฐกระจายให้ถ้วนหน้า
นางศีลดา กล่าวถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือหรือสวัสดิการของเด็กเล็กว่า จากการระบาดหลายระลอกที่ผ่านมา ภาครัฐยังไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือกลุ่มเด็กเล็กโดยตรง ไม่ว่าจะในรูปแบบใด แต่อาจจะมีการช่วยเหลือโดยอ้อม เช่น การช่วยเหลือครอบครัวหรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอเนื่องจากครอบครัวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เป็นวัยแรงงาน และการที่มีเด็กเล็ก ก็เป็นการที่มีความรับผิดชอบที่สูงมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความช่วยเหลือส่วนมากมาจากภาคประชาสังคมมากกว่า เช่น การแจงของ อาหารต่างๆ
นางศีลดา กล่าวถึงสวัสดิการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ว่า รัฐมีสวัสดิการเงินอุดหนุนสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี แต่ต้องผ่านการลงทะเบียนคัดกรอง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมากกว่าร้อยละ 30 ตกหล่นไม่ได้รับสิทธิที่พึ่งจะได้ เพราะเข้าไม่ถึงการลงทะเบียน ไม่เว้นแม้แต่สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ที่บางครอบครัวไม่มีแม้กระทั่งโอกาสในการเข้าถึงการลงทะเบียนรับสิทธิ
นางศีลดา เสนอแนะว่า ภาครัฐควรปรับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเป็นในรูปแบบถ้วนหน้า ที่ทุกคนได้รับได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งจากสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า มีกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่ได้เข้าถึงสิทธิที่พึ่งจะได้รับจำนวนมาก ถ้ารัฐปรับเงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า เด็กที่คนก็จะได้รับสิทธิ ซึ่งส่งผลให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"จะเห็นว่ามีความจำเป็น ถ้าเด็กคนไหนและโอกาสที่มีอาหารที่ดี ได้ดื่มนม ได้เรียนรู้ ก็จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี และสามารถพัฒนาไปได้ไกล จึงอยากให้รัฐบาลช่วยลงทุน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กทั่วประเทศ" นางศีลดา
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาของทางภาครัฐที่มีให้กับกลุ่มเด็กเล็กและครอบครัว พบว่า
@ กรมกิจการเด็กฯ เร่งเข้าช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม
จากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2563 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด (ศบค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ด้านมาตรการป้องกัน และด้านการสาธารณสุข โดยที่ผ่านมากรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการพัฒนามาตรการ กลไก และบริการ เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการเข้าถึงการบริการช่วยเหลือทุกมิติ เช่น ขยายจำนวนคู่สายศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พัฒนาแอปพลิเคชัน 'คุ้มครองเด็ก' เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก และจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
2) ด้านการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แบ่งเป็นระยะที่ 1 เดือน ม.ค. - ธ.ค. 2563 สนับสนุนหน้ากากอนามัย เงินช่วยเหลือ เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น นมสำหรับเด็ก อายุ 1-3 ปี จำนวน 20,000 ราย จากกองทุนคุ้มครองเด็ก ระยะที่ 2 วันที่ 15 ธ.ค. 2563 – 31 มี.ค. 2564 สนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่องค์กรเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กต่างชาติที่ได้รับผลกระทบ และระยะที่ 3 วันที่ 1 เม.ย. 2564 - ปัจจุบัน จัดโครงการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ เด็ก ครอบครัว และครอบครัวอุปถัมภ์ ระยะเร่งด่วน โดยกองทุนคุ้มครองเด็กเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบ จำนวน 1,500 ราย วงเงิน 17.9 ล้านบาท
3) ด้านการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน
4) ด้านการจัดเตรียมการดูแลเด็กทดแทนสำหรับเด็กที่ได้รับผลกระทบและไม่มีผู้ดูแล
5) การประสานส่งต่อการช่วยเหลือ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน และ
6) ด้านการจัดการองค์กร
ทั้งหมดนี้ คือมุมมองที่สะท้อนผ่านมูลนิธิที่เข้าช่วยเหลือกลุ่มเด็กเล็ก ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม เป็นวัยที่ต้องการการเติบโตที่สดใสและแข็งแรง จะต้องติดตามกันต่อไปว่าภาครัฐจะมีแนวทางหรือนโยบายเข้ามาดูแลกลุ่มเด็กเล็กเหล่านี้ต่อไปอย่างไร
ภาพประกอบจาก: มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ และ มูลนิธิดวงประทีป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage