"....ในยุคสื่อดิจิทัลปัจจุบัน ... อำนาจทางการสื่อสาร ที่เคยผูกติดอยู่กับสื่อมวลชนจนถึงขนาดถูกยกย่องให้เป็นฐานันดรที่สี่ทางสังคม กำลังถูกท้าทายอย่างตรงไปตรงมา จากกลุ่มแอดมินเพจหลายคนในยุคสื่อปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตและนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน ได้ตรงตามหลักการทำงานทางด้านวารสารศาสตร์ (journalism) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการเสนอข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงธรรม ได้ดีมากกว่า สื่อมวลชน ผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม เสียอีก...."
...........................
นับเป็นบทเรียนสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนของสื่อมวลชนอีกครั้ง!
สำหรับกรณีที่มีการแชร์ภาพหญิงสาวรายหนึ่งเข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี ได้เกิดผลข้างเคียงมีอาการชาทั้งตัวและมีเลือดออกในสมอง แต่ได้นำเอาภาพของผู้ป่วยที่ จ.ลพบุรี ที่มีอาการแพ้ยาในลักษณะผื่นแดงเต็มตัวมาเผยแพร่ จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบว่า ต้นตอของข่าวดังกล่าวมาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ 3 ราย ซึ่งเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'กะทิ จ้า' ซึ่งพบว่าประกอบอาชีพสื่อมวลชน มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณธิการข่าวเช้า สำนักข่าวไทยพีบีเอส และเตรียมที่จะมีการฟ้องร้องเป็นคดีความด้วย
เบื้องต้น ไทยพีบีเอส ได้ออกแถลงการณ์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ขอโทษและขอรับทุกคำติเตียนหรือคำกล่าวโทษต่างๆ จากกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นบทเรียนการทำงานไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในอนาคต พร้อมออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นและดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันไปแล้ว แม้ว่าการโพสต์ข้อความหรือภาพของพนักงาน ส.ส.ท. ดังกล่าว จะเป็นการโพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียส่วนบุคคลของพนักงานเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ ส.ส.ท. แต่ไทยพีบีเอสเห็นว่าการกระทำนั้นส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ท. และกระทบต่อสาธารณะ ส.ส.ท. จึงไม่อาจจะละเลยต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ต้องกำกับดูแลพนักงานในสังกัดของตนได้ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม)
ขณะที่ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'กะทิ จ้า' ก็ได้มีการโพสต์แก้ไขแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนทันทีที่ทราบเรื่องไปแล้ว
ในส่วนประเด็นเรื่องคดีความ และการสอบสวนข้อเท็จจริงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติทางกฎหมายและระเบียบต่อไป
แต่ที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ คือ ในขณะที่ บุคคลที่เป็นต้นตอของเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ กำลังจะถูกแจ้งความดำเนินคดี บางรายถูกสอบสวนจากองค์กรสื่อต้นสังกัด
แต่เว็บไซต์ข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนัก ซึ่งมีกระบวนการผลิตและนำเสนอข่าวซับซ้อนมากกว่าแค่การนำเสนอข่าวผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีการนำข้อมูลเรื่องนี้ไปขยายผลต่อสาธารณชนในวงกว้าง จนกลายเป็นกระแสทางสังคม กลับไม่ถูกดำเนินการอะไรเพื่อเป็นการลงโทษด้วยเลย
การลบข่าวทิ้ง นำเสนอข่าวใหม่ รวมไปถึงการใช้ข้ออ้างแค่ว่า ไม่ได้เป็นต้นต่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นที่แรก
แค่นั้นก็เพียงพอต่อการเอาตัวรอดจากความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้แล้วหรือ?
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวสื่อมวลชนที่ใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร หรือสื่อมวลชนหลายสำนัก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับในการนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณชนในเวลาต่อมา
หากนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและนำเสนอข่าวภายใต้หลักการทางด้านวารสารศาสตร์ (journalism) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการเสนอข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงธรรม ดังที่ มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ผู้เขียนหนังสือชื่อว่า วารสารศาสตร์เบื้องต้น: ปรัชญาและแนวคิด เคยระบุไว้
จะพบว่ากระบวนการทำงานมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเหมือนกัน คือ การไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำเสนอ ทั้งที่ การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนที่ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนในยุคดิจิทัลปัจจุบัน มักละเลยต่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการนำเสนอ ก็หนีไม่พ้นในเรื่องการแข่งขันแย่งชิงความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่นำมาซึ่งยอดผู้ชมผู้อ่านข่าวจำนวนมาก ที่มีผลต่อเม็ดเงินโฆษณาที่จะเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจสื่อให้อยู่รอด ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งข่นธุรกิจสื่อที่มีความรุนแรงอย่างมากในปัจจุบัน
ขณะที่การถูกตำหนิในเรื่องความผิดพลาดจากการนำเสนอข่าวยุคสื่อปัจจุบัน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือในการทำงานสื่อมวลชนอีกต่อไป
เพราะเมื่อมีข่าวใหม่ที่มีความน่าสนใจเร้าอารมณ์กว่าข่าวเก่า ผู้ชมผู้อ่านก็จะให้ความสนใจตามดูตามอ่านข่าวเหมือนเดิม ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ นับเป็นปัญหาสำคัญที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดขึ้นของปัญหาข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ ในปัจจุบันโดยมีสื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการขยายความรุนแรงของปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้นเอง
แต่จะว่าไปปัญหากรณีนี้ ก็ไม่ได้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาในการทำงานของสื่อมวลชนในยุคสื่อปัจจุบันเพียงด้านเดียวเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของ แอดมินเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งนับเป็นผู้ส่งสารกลุ่มใหม่ ที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาในยุคสื่อดิจิทัลปัจจุบันด้วยเช่นกัน
เพราะสำหรับกรณีนี้ ในขณะที่สื่อมวลชนกำลังแห่กันนำเสนอข่าวการแชร์ภาพหญิงสาวรายหนึ่งเข้ารับวัคซีนซิโนแวคที่ จ.อุดรธานี ได้เกิดผลข้างเคียงมีอาการชาทั้งตัวและมีเลือดออกในสมองดังกล่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องก่อนการนำเสนอ
"จ่าพิชิต” เจ้าของเพจ Drama-addict ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผ้าปูเตียง ของหญิงสาวในรูปว่าน่าจะเป็นของโรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี และยังสอบถามข้อมูลไปที่เพจโรงพยาบาล จนได้รู้ความจริงว่า แท้จริงแล้ว หญิงสาวในรูปเป็นเคสแพ้ยา เข้ามารักษาตัว ไม่ใช่จากวัคซีนโควิด
วิธีการ ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว คือ ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม แล้วก็ไปตามหาความจริง ตามวิธีการทำข่าวดั้งเดิมของสื่อมวลชนนั่นเอง (ดูโพสต์ประกอบ)
และมีรายงานข่าวว่าการนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ ของ "จ่าพิชิต” ดังกล่าว นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้สังคม เริ่มตั้งคำถามว่า กรณีนี้น่าจะไม่ใช่การแพ้วัคซีนโควิด และนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างจริงจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมา
เมื่อพิจารณากระบวนการผลิตและนำเสนอข่าวเรื่องนี้ของ "จ่าพิชิต” จะพบว่าเป็นไปตามหลักการทางด้านวารสารศาสตร์ (journalism) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการเสนอข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงธรรม อย่างชัดเจน
มิหน่ำซ้ำกระบวนการทำงาน ยังมีการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม และตรวจสอบข้อมูลค้นหาความจริง ไม่ต่างไปจากกระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน (Investigative news) ของสื่อมวลชนด้วย
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีแอดมินเพจอีกหลายคน ที่ใช้วิธีการทำงานเดียวกับสื่อมวลชน เพื่อหาข้อมูลหลักฐานสำคัญมาประกอบการนำเสนอข่าวสำคัญด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ กรณีข่าวนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เพจเฟซบุ๊ก “CSI LA” ที่ใช้วิธีการหาข้อมูลจากคนในสังคม (Crowdsourcing) มาตรวจสอบยืนยันข้อมูลหลักฐานนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ที่ไม่ได้แจ้งแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มากถึง 25 เรือน จนนำไปสู่การรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดีปกปิดทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ และมีการออกหมายเรียกให้พล.อ.ประวิตรเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง (แม้ว่าภายหลัง ป.ป.ช. ที่ชี้ว่า พล.อ.ประวิตร ไม่มีความผิด)
ที่น่าสนใจที่สุด คือ แอดมินเพจชื่อดังหลายคนเหล่านี้ ไม่ได้เรียนจบหลักสูตรทางด้านวารสารศาสตร์มาโดยตรงด้วย
ผู้เขียน เคยมีโอกาสพูดคุยเรื่องการทำงานเพจกับ "จ่าพิชิต” ได้รับทราบว่า จ่าพิชิต เคยเป็นแพทย์รักษาโรคทั่วไป ที่โรงพยาบาลเกาะลันตา จ.กระบี่
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้แพจของตนเองได้รับความสนใจมีคนติดตามจำนวนมาก เป็นเพราะสื่อมวลชนกระแสหลัก นำข้อมูลที่นำเสนอไปขยายความต่อ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มแอดมินเพจด้วยกันเอง ก็ยังมีการสร้างเครือข่ายในการสนับสนุนแชร์ข้อมูลในเนื้อเพจระหว่างกัน
“จ่าพิชิต” ยืนยันด้วยว่า ผลจากการที่สื่อโซเชียลมีเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากคนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้แฟนเพจของเขาได้รับความสนใจจากคนในสังคมโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน แตกต่างจากในสมัยอดีตที่การสร้างตัวตนของคนในสังคมให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมมักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกสื่อกระแสหลัก ส่วนวัตถุประสงค์ในการทำแฟนเพจช่วงเริ่มต้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์มุ่งหวังเพื่อแสวงหารายได้ในทางธุรกิจเป็นหลัก แต่ทำเพราะต้องการมีช่องทางในการสื่อสารต่อสังคม เพื่อนำเสนอความคิดหรือผลงานของตนเองที่ผลิตขึ้น
“ตอนทำเพจใหม่ๆ ช่วงนั้นยังเป็นหมอ ผมคิดแค่เพียงว่า ก็ถ้าเรามีพื้นที่ที่ช่วยในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์ก็น่าจะช่วยคนได้ เลยลองทำดู”
ขณะที่เทคนิคการใช้แฟนเพจในการเป็นช่องทางนำเสนอผลงานต่อสังคมนั้น “จ่าพิชิต” ระบุว่า จะมีการผลิตงานนำเสนออย่างต่อเนื่อง รวมถึงเข้าไปสื่อสารกับคนในเพจอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เพจอยู่เคลื่อนไหวไม่ตาย ซึ่งจะมีผลต่อความสนใจติดตามข้อมูลในเพจ ส่วนช่วงเวลาในการนำเสนอข้อมูลก็เลือกช่วงเวลาที่คนเข้าเล่นเฟซบุ๊กกันมาก ในช่วงเช้า บ่าย หัวค่ำ และช่วงดึก
ส่วนหัวใจสำคัญที่ทำให้แฟนเพจประสบความสำเร็จ เป็นเพราะค้นหารูปแบบในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวได้
ขณะที่ เดวิด หรือประมุข อนันตศิลป์ แอดมินและเจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก "CSI LA” เคยให้ข้อมูลยืนยันกับผู้เขียนว่า เขาสร้างเพจ CSILA ขึ้นมา เพราะมีคำถาม กับสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างในประเทศไทย ทำไมนักข่าวรายงานข่าวในลักษณะที่ไปเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐหมด พูดอะไรก็จะเชื่อหมด ไม่มีการตั้งคำถามอะไรเลย
"ผมไม่ได้เป็นสื่อมวลชน เราก็เริ่มจากคนๆหนึ่งเท่านั้นเอง แต่พอว่าเราทำงานไปแล้วเนี่ย ไอ้คำที่ว่าสื่อมวลชน นักคงนักข่าว หรืออะไรเนี่ย มันก็เป็นแค่คำที่คนพูดขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่มันอยู่ที่จิตวิญญาณ จิตวิญญาณเราที่ว่าเรารักความถูกต้อง ประชาชนก็สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ทำบทบาทตรงนี้ได้ ถ้าเกิดมีแนวทางในการทำของตัวเอง บางคนที่เป็นสื่อแต่ไม่มีจรรยาบรรณ เอาข่าวปลอม เอาอะไรมาใส่ร้ายป้ายสีอะไรอย่างนี้ แต่คราวนี้เนี่ย สื่อโซเชียล เรามีอิสระมากกว่าสื่อหลัก เราก็จะใช้อะไรมันสื่อสาร เหมือนกับสื่อมวลชน ชาวบ้านกับสื่อมวลชนตอนนี้มันก็เท่าเทียมกันแล้วครับ"
"ก่อนที่จะมาสร้างเพจ CSILA ผมเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กคนหนึ่ง แต่ช่วงที่มีม็อบ กปปส. ตอนนั้นผมเป็นนักเรียนปริญญาโท กำลังทำเรื่องพวก data เรื่องข้อมูลอะไรเหมือนกัน ก็เลยอยากจะมาลอง เอาหลักความคิดมาลองใช้ ให้มีการพูดถึง"
"เพราะเมื่อก่อนสมัยสื่อสังคมออนไลน์ออกมาใหม่ๆ มันจะมีแต่พวกข่าวระเบิดอะไรก็ไม่รู้ ข่าวมั่วไปหมดเลย เห็นแล้วรู้สึกรำคาญ ก็เลยสร้างประเด็นขึ้นมาในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน เขียนบล็อกเล็ก ๆ ว่าเราเห็นอะไรบางอย่างที่ว่ามันผิดปกติ ตอนนั้นผมเองเริ่มคนเดียวก่อน แล้วจุดประเด็นว่ามันน่าสงสัยนะ แล้วก็เลยให้กลุ่มเพื่อนหลาย ๆ คนมาช่วยกันคิด มันมีอะไรไม่ปกติ แล้วหลายๆคนก็บอก เห้ย ทำไมวิเคราะห์เก่งจังเลย ทำไมช่างสงสัยอะไรงี้ เพราะว่าผมเป็นแบบนักตั้งคำถาม ตั้งคำถามได้ดีอะไรแบบนี้ คนเขาก็เลยเรียกว่าเหมือนกับเป็น CSI เราก็เลยเรียกตัวเองว่า CSI แต่ก็คือเล่นกับคำด้วยแหละ CSI ก็คือแปลว่า critical thinking คิดแบบมีวิจารณญาณ และผลจากการที่ผมอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เพจอยู่ในต่างประเทศ ก็ทำให้ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจหรืออิทธิพลของใครในประเทศไทยด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรามีจุดยืน และมีมาตรฐานในการทำงาน ไม่เหมือนกับเพจบางเพจ ที่ดังแปปเดียวแล้วก็ปิดเพจหายไป ” เดวิด หรือประมุข อนันตศิลป์ระบุ
จากข้อมูลที่นำเสนอไปทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า ในยุคสื่อดิจิทัลปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งการสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ที่เปิดโอกาสให้คนในสังคมทุกกลุ่มทุกชนชั้น สามารถที่จะมีช่องทางการสื่อสารนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ ความคิดเห็นของตนเองต่อสาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ ส่งผลทำให้ประชาชนคนทั่วไปในฐานะผู้รับสาร สามารถที่จะมีอำนาจในการสื่อสารและกำหนดประเด็นวาระข่าวสารแก่สังคมได้ ไม่ต่างจากกลุ่มสื่อมวลชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่มีสื่อเป็นของตนเองด้วย
อำนาจทางการสื่อสาร ที่เคยผูกติดอยู่กับสื่อมวลชนจนถึงขนาดถูกยกย่องให้เป็นฐานันดรที่สี่ทางสังคม กำลังถูกท้าทายอย่างตรงไปตรงมา จากกลุ่มแอดมินเพจหลายคนในยุคสื่อปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตและนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน ได้ตรงตามหลักการทำงานทางด้านวารสารศาสตร์ (journalism) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักการเสนอข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันให้ผู้อ่านได้รับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง เที่ยงธรรม ดังที่กล่าวไปแล้ว
ได้ดีมากกว่า 'สื่อมวลชน' ผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม เสียอีก
กรณีศึกษาเฟกนิวส์ภาพหญิงสาวแพ้วัคซีนโควิด อุดรฯ ครั้งนี้ จึงนับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในส่วนองค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อมวลชน รวมไปถึงตัวนักข่าวเอง ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/