“...จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย และช่วงต่อมาได้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในโรงพยาบาล การที่จำเลยที่ 1, 3, 4 เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินตามฟ้องดังกล่าว ไปเป็นของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เทศบาลตำบลอุทัยได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1, 3, 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้องจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานนั้น จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86...”
.............................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 มีคำพิพากษาให้ นายสมาน ตรีคุณา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 ว่าที่ร้อยตรี สวณัฐ ทองลมุล จำเลยที่ 3 และ นายสมประสงค์ นิลพฤกษ์ จำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 147 ประกอบ 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน คงจำคุกคนละ 50 ปี ส่วน น.ส.อารีวรรณ ตรีคุณา จำเลยที่ 2 ที่มีสถานะเป็น ‘ลูกสาว’ ของนายสมาน มีความผิดตามมาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 26 ปี 208 เดือน และปรับ 104,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
ในคดีที่นายสมานแต่งตั้ง น.ส.อารีวรรณ เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย ทั้งที่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. ไม่สามารถมาปฏิบัติงานที่เทศบาลตำบลอุทัยในเวลาราชการเต็มเวลา แต่มีการตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวน 26 ฎีกา เป็นเงินกว่า 200,561 บาท (อ่านประกอบ : คดีคุก 50 ปี อดีตนายกเทศฯอุทัย! ที่แท้ตั้งลูกสาวเป็นเลขาฯ ช่วงเรียนหนังสือ-จ่าย 2 แสน)
รายละเอียดคดีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา สรุปจากคำพิพากษาให้ทราบ ดังนี้
เบื้องต้นจำเลยที่ 1-2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1-2 ให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ขณะที่จำเลยที่ 3-4 ให้การปฏิเสธ
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2547-15 ก.พ. 2551 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าพนักงาน เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นปลัดเทศบาลตำบลอุทัย จำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลอุทัย
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2547 จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งเทศบาลตำบลอุทัยที่ 158/2547 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2547 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 บุตรสาว เป็นเลขานุการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2547 โดยได้รับค่าตอบแทน อย่างไรก็ดีตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการลาของผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 19 วรรคสอง กำหนดว่า “การจ่ายเงินค่าป่วยการ หรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่นฯ หากมีวันปฏิบัติงานตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป ให้จ่ายเงินค่าป่วยการหรือค่าตอบแทนเต็มเดือน แต่ถ้ามีวันปฏิบัติน้อยกว่า 20 วัน ให้จ่ายลดลงตามส่วน”
ทั้งนี้จำเลยที่ 1 อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเลขานุการฯ (ผู้ช่วยผู้บริหาร) ให้แก่จำเลยที่ 2 รวมจำนวน 25 ฎีกา ระหว่างวันที่ 31 ม.ค. 2548-28 ม.ค. 2551 ส่วนจำเลยที่ 3 ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอุทัย อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเลขานุการฯ แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1 ฎีกา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2551 รวมทั้ง 26 ฎีกา เป็นเงินทั้งสิ้น 200,561 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เทศบาลตำบลอุทัยแล้ว
ช่วงเกิดเหตุระหว่างวันที่ 17 ม.ค. 2548-31 มี.ค. 2548 จำเลยที่ 2 ยังคงศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. ส่วนช่วงเกิดเหตุระหว่างวันที่ 20 เม.ย. 2549-22 ก.พ. 2551 จำเลยที่ 2 ทำงานเป็นพนักงานประจำของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
คดีรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติในเบื้องต้นเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาล และจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล ย่อมต้องรู้ดีว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และเป็นเลขานุการฯจำเลยที่ 1 มาทำงานในวันใดบ้าง หรือสามารถมาปฏิบัติงานที่เทศบาลตำบลอุทัยในวันใดบ้าง
พยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางไต่สวนฟังได้ว่า จำเลยที่ 1, 3, 4 เป็นเจ้าพนักงานรู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ในช่วงแรกกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. ต่อมาจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. ดังข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้นดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังอนุมัติฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังเสนอฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนต่อจำเลยที่ 1 เพื่ออนุมัติฎีกาจำนวน 25 ฎีกา รวมที่จำเลยที่ 3 อนุมัติเบิกจ่ายอีก 1 ฎีกา ในช่วงปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรีตำบลอุทัย ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินไปทั้งสิ้น 200,561 บาท จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย และช่วงต่อมาได้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในโรงพยาบาล
การที่จำเลยที่ 1, 3, 4 เป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเงินตามฟ้องดังกล่าว ไปเป็นของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เทศบาลตำบลอุทัยได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1, 3, 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้องจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานนั้น จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 86
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันยักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1, 3, 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 125 ปี แต่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 62 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จำคุก 130 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 จำคุก 85 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 มีกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
ด้านจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก กระทงละ 3 ปี 4 เดือน ปรับกระทงละ 8,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คงจำคุก 26 ปี 208 เดือน ปรับ 104,000 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และบางช่วงของการกระทำความผิดนั้นยังเป็นนักศึกษาอยู่ และจำเลยที่ 2 คืนเงินให้แก่เทศบาลตำบลอุทัยครบถ้วนแล้ว สมควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
เป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างในการแต่งตั้ง ‘เครือญาติ-พวกพ้อง’ มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากไม่มาปฏิบัติงานอย่างเต็มที่แล้ว อาจถูกตรวจสอบ และลงเอยแบบกรณีข้างต้นได้!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage