“...เด็กกลุ่มนี้ไม่ถูกมองว่า เป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพราะอคติที่มองกลุ่มเด็กผู้ชายที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกใช้ไปตัดสินว่า เด็กมีความต้องการทางเพศเอง ทั้งที่จริงแล้ว เด็ก ต้องเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ว่าจะถูกใช้บริการทางเพศด้วยเหตุผลใดก็ตาม และจากการสัมภาษณ์ ก็พบว่า มีเด็ก 18 คน จาก 20 คน ยืนยันว่าจะเลิกทำอาชีพนี้ ถ้าพวกเขามีทางเลือกอื่นในการหารายได้เพื่อดำรงชีพ...”
........................................
'การล่วงละเมิดทางเพศ' หรือ พฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สายตา และการใช้ท่าที รวมไปจนถึงการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรที่จะต้องถูกละเมิดด้วยการกระทำดังกล่าวทั้งปวง
สังคมส่วนใหญ่คิดว่า 'เหยื่อ' หรือ 'ผู้ที่ถูกล่วงละเมิด' ส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง เนื่องจากบริบททางสังคมนั้นเห็นว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า แต่จากผลการวิจัยรื่อง 'การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก' โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ที่ดำเนินการตรวจสอบเมื่อปี 2554 จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มเด็กในระบบโรงเรียน เด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กในสถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมกว่า 5 หมื่นราย ใช้เวลาดำเนินงาน 2 ปี พบว่า เด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศที่มีการร่วมเพศมากกว่าเด็กผู้หญิง 3-5 เท่า
ทั้งนี้การพบการกระทำดังกล่าวในเพศชายมากขึ้น อาจเพราะความรู้สึกที่ไม่คิดว่าการที่ผู้ชายใกล้ชิด หรือไปกับผู้ชายด้วยกันจะเกินเลยถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้ง เด็กผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจะสังเกตอาการได้ยากกว่าเด็กหญิง เพราะเด็กชายมักเก็บเงียบ ซึม ไม่บอกใคร และมักถูกละเมิดทางเพศแบบสัมผัส ไม่ใช่สอดใส่ จึงไม่มีบาดแผลภายนอกมากนัก
และที่สำคัญ คือ ทัศนคติเรื่องเพศของสังคม ที่มองว่าเพศชายต้องไม่แสดงความอ่อนแอ ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อ ทำให้เด็กชาย รวมถึงผู้ชายที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศปฏิเสธความจริง เกิดการไม่ยอมรับตัวเอง ไม่พูดเรื่องนี้ และกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้ จึงเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของมีค่าต่างๆ หรือเพื่อความปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย
@ เด็กชายถูกล่วงละเมิดมากกว่าเด็กหญิง
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ทำคดีละเมิดทางเพศต่อเด็กมากว่า 15 ปี พบว่า ตัวเลขเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และยังพบว่ามีสิ่งที่ตามมาคู่กันเสมอ คือ จะมีการขายภาพลามกอนาจารของเด็กผู้ชายผ่านโลกออนไลน์ไปด้วย
ข้อเท็จจริงที่ดีเอสไอพบอีกประการหนึ่ง คือ เด็กผู้ชายมักจะมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องหรือบอกต่อสิ่งที่เขาถูกกระทำต่อคนใกล้ชิดได้ยากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะอับอาย กลัวถูกบูลลี่ ทำให้มีข้อเท็จจริงที่เหยื่อในคดีของดีเอสไอทุกคน ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้มาก่อนเลย และเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ มีโอกาสใช้ยาเสพติดสูง
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี
ขณะที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) เปิดเผยผลรายงานวิจัยเพื่อศึกษาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย รายงานประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 โดยการเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศที่เป็นเยาวชนชายในประเทศไทย ซึ่งขายบริการทางเพศอยู่ที่ กทม. และเชียงใหม่ รวม 20 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ 'SOGIE' (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression)
@ ยอมแลกเปลี่ยนทางเพศ เพื่อที่พักพิง
“ผมรู้สึกค่อนข้างกลัว ผมนั่งอยู่ตรงนั้นในขณะที่ลูกค้าขับรถผ่านมา แล้วเขาก็จอดรถและเดินเข้ามาหาผม เขาถามผมว่า ผมอยากไปกับเขามั้ย? แล้วเขาก็พูดอีกว่า พี่ขอเวลาแป๊บเดียวนะ แล้วพี่จะให้เงินน้องด้วย” เยาวชนที่เริ่มให้บริการทางเพศตั้งแต่อายุ 12 ปี เล่าเหตุการณ์การแลกเปลี่ยนทางเพศครั้งแรกของเขาให้ทีมวิจัยฟัง
Mark Kavenagh หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ ECPAT กล่าวว่า เยาวชนที่ให้สัมภาษณ์เกินกว่าครึ่ง เริ่มให้บริการแลกเปลี่ยนทางเพศกับสิ่งมีค่าครั้งแรก ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยมีอายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี โดยการแลกเปลี่ยนทางเพศนั้น บางครั้งเพียงเพื่อต้องการที่พักพิง ต้องการความปลอดภัย หรือเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเหตุผลที่สำคัญที่เยาวชนกลุ่มนี้เข้ามาสู่วงการนี้ คือ ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความแตกต่างของรสนิยมทางเพศ
@ 'เด็กชาย' ก็คือเหยื่อเช่นกัน
ทั้งนี้ Mark กล่าวว่า ปัญหาจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ คือ ปัญหาในสร้างความไว้ใจเพื่อทำงานกับเด็กที่ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย พบปัญหาต่อการเข้าถึงชุมชนของเด็ก พบปัญหาไม่สามารถให้คำปรึกษากับเด็กผู้ชายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่เผลอไปมีอคติกับเด็กกลุ่มนี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะทัศนคติที่คิดว่า เด็กผู้ชายที่ให้บริการแลกเปลี่ยนทางเพศ ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ซึ่งเป็นความคิดที่ที่ทำให้เด็กจะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย
Mark กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการ คือ โอกาสที่จะเข้าถึงบริการสังคมอย่างเท่าเทียมทั้งเพศชาย หญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ การทำให้พื้นที่อื่นๆนอกจากเมืองใหญ่มีบริการทางสังคมที่เพียงพอ มีงานทำ มีการอบรมสร้างอาชีพมากขึ้น ก็จะช่วยไม่ให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องเข้ามาทำงานให้บริการทางเพศได้
“เด็กกลุ่มนี้ไม่ถูกมองว่า เป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ หรือ เหยื่อ เพราะอคติที่มองกลุ่มเด็กผู้ชายที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกใช้ไปตัดสินว่า เด็กมีความต้องการทางเพศเอง ทั้งที่จริงแล้ว เด็ก ต้องเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ว่าจะถูกใช้บริการทางเพศด้วยเหตุผลใดก็ตาม และจากการสัมภาษณ์ ก็พบว่า มีเด็ก 18 คน จาก 20 คน ยืนยันว่าจะเลิกทำอาชีพนี้ ถ้าพวกเขามีทางเลือกอื่นในการหารายได้เพื่อดำรงชีพ” Mark กล่าว
Mark Kavenagh
@ เทคโนโลยี ตัวกลางสู่ภัยคุกคามทางเพศ
ดร.พิเศษ สอาดเย็น กล่าวว่า ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN Crime Congress 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีหลายข้อสรุปที่ให้ความสำคัญกับการทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ภัยคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในโลกยุคโควิด ก็ยิ่งทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กมีมากขึ้น เพราะเด็กอาจปรับตัวได้ไม่ดีพอกับโลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีในยุคโควิด ทั้งยังมีปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ และความรุนแรงในครอบครัว
"เชื่อว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้ จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเลือกหยิบยกกรณีศึกษาที่เป็นเด็กผู้ชายและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบมากในการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ด้วย" ดร.พิเศษกล่าว
ดร.พิเศษ สอาดเย็น
@ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจความต้องการของเด็ก
Maia Mounsher จากมูลนิธิเออเบิร์น ไลท์ จ.เชียงใหม่ ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีรูปร่างเล็กกว่าเด็กทั่วไป เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จนต้องออกไปอยู่บ้านพักเด็กกำพร้า ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี ถูกเพื่อนชักจูงไปดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด เมื่อถูกจับได้ ก็โดนตำหนิอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ดูแลบ้านพัก ทำให้เด็กคนนี้ตัดสินใจหนีออกไปใช้ชีวิตคนเดียวในเมือง กลายเป็นเด็กเร่ร่อน จนต้องดำรงชีพและหาเงินมาซื้อยาเสพติดด้วยการแลกเปลี่ยนบริการทางเพศ
Maia กล่าวว่า แท้จริงแล้ว ผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะป้องกันเด็กคนนี้ไว้ได้หลายครั้ง ทั้งผู้ปกครอง ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่บ้านพัก แต่พวกเขาไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม และไม่เข้าใจความต้องการของเด็ก
Maia Mounsher
@ กฎหมายควรเน้นการปกป้องเหยื่อ
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงาน เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ และอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า จากมายาคติทางเพศ ทำให้ที่ผ่านมา เด็กผู้ชาย มักถูกมองด้วยความห่วงใยน้อยกว่าเด็กผู้หญิงในปัญหาทางเพศมาโดยตลอด กลายเป็นปัญหาความเสมอภาคทางเพศอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน แม้ว่าคดีทางเพศที่เด็กผู้ชายตกเป็นเหยื่อในประเทศไทย จะมีจำนวนน้อยกว่าคดีของเด็กผู้หญิงมาก แต่ถ้ามองในแง่ความรุนแรง จะพบข้อมูลจากตำรวจสากลว่า กรณีของเด็กผู้ชายมีความรุนแรงมากกว่า
นางสันทนี แสดงความเห็นด้วยในกรณีการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งการที่กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองทุกเพศสภาพอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายต้องเน้นการปกป้องผู้เสียหายมากกว่าการลงโทษทางอาญา อีกทั้งต้องปรับทัศนคติของผู้ปฏิบัติการส่วนหน้าและผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้ปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
นางสันทนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องเห็นว่า เด็กผู้ชาย หรือเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ เป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แม้ว่าจะกระทำโดยสมัครใจก็ตาม รวมถึงต้องพยายามสร้างกระบวนการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และใช้เทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการสื่อสารกับเด็กเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะภาพรวมของปัญหา คือ ความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว ถูกบูลลี่จากความหลากหลายทางเพศ
นางสันทนี ดิษยบุตร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage