"...ผลสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ผ่านโปรแกรม Mental Health Check-In พบว่า ประชาชนจำนวน 838,550 ราย มีแนวโน้มเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง รวมถึงเกิดภาวะหมดไฟ 38,804 ราย หรือคิดเป็น 4.63% ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น..."
………………………………………………………
วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด ได้ส่งผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากการระบาดของโรคที่ง่ายและรุนแรงแล้ว ยังทำให้เกิดความหวาดหวั่น และวิตกกังวล จากมาตรการคุมเข้มที่ต้องมีการเว้นระยะห่างหรือการกักตัวเพียงลำพัง หรือจากพิษปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้สุขภาพจิตของประชาชนตกอยู่ในความเครียด ความหวาดหวั่น และสะสม จนกลายเป็นภาวะของความท้อแท้ใจ ซึ่งในที่สุดอาจนำมาสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความเครียดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาระงานและความเสี่ยงเพิ่มในฐานะเป็นบุคลากรด่านหน้าของการเผชิญกับโรคโควิด” นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน กล่าว
โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยผลสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ผ่านโปรแกรม Mental Health Check-In ระหว่างวันที่ 1 – 15 เม.ย.2564 พบว่า ประชาชนจำนวน 838,550 ราย มีแนวโน้มเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง รวมถึงเกิดภาวะหมดไฟ 38,804 ราย หรือคิดเป็น 4.63% ซึ่งจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น
“อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิทางใจของประชาชนขึ้นลงเร็วมาก ก่อนที่จะค่อยๆ คงที่ เป็นเพราะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิดมากขึ้น พลังใจก็กลับมาดีขึ้น แต่เมื่อเกิดการระบาดขึ้นมาเป็นวงกว้าง แนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาดมาก ประชาชนเริ่มมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตมากขึ้น” พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ในการดูแลจิตใจของประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด มีคำแนะนำจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งชาติ ‘9 ข้อควรทำ และ 4 ข้อที่ไม่ควรทำ’ ที่น่าสนใจดังนี้
สิ่งที่ควรทำ
1. การรับข้อมูล ควรรับข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข มีการใคร่ครวญไตร่ตรองโดยไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินจะช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลโดยใช่เหตุจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
2. ลดการเสพข้อมูล การเสพข้อมูลข่าวสารการระบาดของโรคทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ หากเสพข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มากเกินไป จะยิ่งกระตุ้นให้คิดมาก เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หวาดกลัวตื่นตระหนกมากขึ้น โดยไม่เกิดประโยชน์ในการดูแลตนเอง ครอบครัวและสังคม ซึ่งการเสพข้อมูลควรเป็นไปเพื่อทราบแนวทางในการป้องกันระมัดระวัง ดูแลตนเองตามหลักอนามัย และปฏิบัติตนกับคนในสังคมได้ถูกต้องเหมาะสม
3. ใช้ชีวิตให้สมดุลเหมาะสมในการดูแลสุขภาพ เช่น การรับประทาน การนอน การออกกำลังกาย การป้องกันการรับเชื้อ/การแพร่เชื้อ ช่วยให้มีพื้นฐานของร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสนี้
4. การดูแลอารมณ์ความรู้สึกในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ในช่วงการแพร่ระบาด การเกิดอารมณ์เชิงลบ ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น ความเศร้า ความเครียด ความสับสน ความกลัว ความท้อแท้สิ้นหวัง และความโกรธ
แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลอารมณ์ มีดังนี้
4.1 ตระหนักและยอมรับว่าเรากำลังมีความรู้สึกตึงเครียด เศร้า กังวล กลัว หรือ โกรธ ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นเรื่องธรรมดา การตระหนัก รับรู้และยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลจิตใจที่ดี เนื่องจากเราได้รับรู้แล้วว่าใจเราตอนนี้มีอาการอย่างไร และกำลังต้องการการดูแล
4.2 หาสาเหตุที่ทำให้เครียด และทำความเข้าใจความเครียดที่เกิดขึ้นในใจ เช่น การทบทวนตนเองว่า เครียดเพราะอะไร กำลังกังวลอะไรในเรื่องนี้ ห่วงอะไร แล้วเขียนสิ่งที่วิตกกังวลต่างๆ ลงในกระดาษ จะช่วยให้ทราบว่า เราวิตกกังวลอะไร ต่อมาเขียนแนวทางในแก้ปัญหานั้นๆ จะช่วยให้เราได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลดการคิดวนเวียน และได้แนวทางที่ดีที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป การทราบสาเหตุ และเข้าใจที่มาของปัญหาความเครียด ความกังวล จะช่วยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
4.3 การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เช่น เพื่อน คนในครอบครัว เป็นการช่วยลดความตึงเครียดในใจที่ดีแบบหนึ่ง และอาจได้รับวิธีในการแก้ปัญหาหรือการดูแลใจที่ดีมากขึ้น
5. การตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตปกติอย่างฉับพลันทั้งการทำงาน การเรียน การดำรงชีพ การถูกจำกัดพื้นที่ ปัญหาขาดแคลน อุปกรณ์ป้องกันความเจ็บป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถาโถม จนตั้งตัวไม่ติด เพื่อรับมือให้ทันสถานการณ์ การตั้งสติจึงเป็นส่วนสำคัญมากในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยการตั้งสติแบบง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีเวลาเกิดความเครียด คือ การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก สัก 10 ครั้ง การกลับมารับรู้ลมหายใจเข้า-ออก อย่างช้าๆต่อเนื่อง จะช่วยให้จิตใจเราสงบมั่นคงขึ้น และช่วยให้คิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
6. หางานอดิเรกที่เหมาะสม การหางานอดิเรกที่ทำให้รู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย และอาจช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในบ้าน โดยควรเป็นกิจกรรมที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
7. การสื่อสารในสังคมออนไลน์ การแชร์ การโพสต์ บทความหรือข่าวสารที่ถูกต้องทางการแพทย์ รวมถึง แนวทางดีๆในการดูแลร่างกายและจิตใจ จะเป็นประโยชน์กับคนในสังคม
8. เข้าใจความรู้สึกทุกข์ของติดเชื้อโควิด และผู้ที่เกี่ยวข้อง การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่คาดการณ์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีโอกาสที่จะสัมผัส รับ และแพร่กระจายเชื้อได้ ผู้ที่ติดเชื้อก็มีความทุกข์ใจ กังวลถึงความเจ็บป่วยที่ไม่ทราบว่าจะมีความรุนแรงถึงชีวิตหรือไม่ ควรสื่อความเห็นใจ เข้าใจ ให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อ การแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ หมดกำลังใจ และจะส่งผลกลับมาที่จิตใจของเราเองในที่สุด
9. การส่งความใส่ใจ ความปรารถนาดี และการช่วยเหลือดูแลกันในสังคม เป็นสิ่งที่ช่วยให้ใจของเรา คนใกล้ตัว และคนในสังคม มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในยามที่สถานการณ์มีความยากลำบาก และเป็นหนทางที่ทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง
สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. ไม่ควรแก้เครียดด้วยวิธีที่มีผลลบต่อร่างกาย และ จิตใจ เช่น การใช้บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ มาเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกด้านลบ เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับตนเองมากขึ้น
2. การหาคนผิด การด่าว่ากันในสังคม เนื่องจากจะกระตุ้นให้เครียดโดยใช่เหตุ และ สร้างบรรยากาศทางสังคมให้ตึงเครียดยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรนำสิ่งที่ผิดเหล่านั้นมาเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา และคนที่เรารัก
3. การแสดงการรังเกียจกันในสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด เนื่องจากการแสดงท่าทีรังเกียจ จะทำให้บรรยากาศในสังคมยิ่งเป็นทุกข์ เพิ่มความรู้สึกย่ำแย่ในทุกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย
4. การแชร์ การโพสต์ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดปัญหามากขึ้น
กลุ่มบุคลากรการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้เสียสละที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดของโควิด ท่ามกลางความลำบากในการคาดเดาและควบคุมสถานการณ์ ต้องเผชิญกับการดูแลภาระงานเดิม และงานใหม่ที่เกิดขึ้นจากโควิด รวมถึงต้องตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ซึ่งในการระบาดระลอกใหม่ พบบุคลากรการแพทย์ ติดโควิดแล้วกว่า 146 ราย
โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ หมดพลังงาน การมองความสัมพันธ์ในองค์กรในแง่ลบ และการมองตนเองขนาดศักยภาพ เป็น ‘ภาวะหมดไฟ’ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับบุคลากรการแพทย์ สามารถรับมือได้ดังนี้
ระดับองค์กรดูแลบุคลากร
1. จัดการภาระงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคลากรมีเวลาในการจัดการเรื่องส่วนตัวและดูแลครอบครัว
2. สื่อให้ทราบว่าองค์กรคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร และมีมาตรการรองรับ
3. ผู้นำองค์กรส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
4. มีการสื่อสารชัดเจน สม่ำเสมอ กำหนดให้มีผู้ประสานงาน เพื่อลดความสับสนของข้อมูล
5. มีช่องทางรับฟังผู้ปฏิบัติงาน
6. กระจายทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเหมาะสม
7. เห็นคุณค่าของสิ่งที่บุคลากรทำ และให้เครดิต
ระดับบุคคล
1. ตั้งสติ เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
2. รับรู้สิ่งที่อาจต้องเผชิญตามความจริงจากช่องทางข่าวสารที่เชื่อถือได้
3. ทบทวนว่าตนเองเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่
4. สื่อสารกับครอบครัวให้เข้าใจตรงกัน
5. แบ่งเวลาในการพักผ่อน มีช่วงเวลา ‘Zero office contact’
6. ตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง
7. เน้นการทำงานเป็นทีม โดยฝึกการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงาน
8. มีคนที่ไว้ใจได้คอยให้คำปรึกษา และพึ่งพาทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก ครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงาน
นอกจากจะมีวัคซีนบรรเทาความรุนแรงจากอาการป่วยของโรคโควิดแล้ว 'วัคซีนใจ'จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่วิถีปกติใหม่ อย่างไร้ความกังวลและปลอดภัย
ภาพจาก: Freepik
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/