"...ผมไม่คิดว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลยถ้าเมียนมาตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลว อาเซียนสามารถเตือนเมียนมาได้ ว่าสถานะของเมียนมาในอาเซียนนั้นกำลังมีความเสี่ยง อาเซียนเองยังสามารถเรียกร้องไปยังประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ให้ร่วมกับพิจารณาอย่างสอดประสานเพื่อจะเพิ่มแรงกดดันด้วยกันอีกทางหนึ่งในกรณีเมียนมานี้ได้เช่นกัน..."
........................
สืบเนื่องจากปรากฎเป็นข่าวว่า ในวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่จะถึงนี้ กลุ่มประเทศจากประชาคมประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ทั้ง 10 ประเทศจะมีการพบปะหารือกันที่ประเทศอินโดนีเซียเพื่อหาทางออกจากปัญหาวิกฤติเมียนมาอันมีที่มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้เกิดการสังหารกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นั้น ก็จะมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจทางการเมืองพม่า เข้าร่วมการประชุมด้วย ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าการประชุมในครั้งนี้อาจจะไม่สามารถหาทางออกให้กับความรุนแรงในประเทศเมียนมาได้
เพราะยังไม่มีรายงานว่าจะมีกลุ่มตัวแทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อเดือน พ.ย. 2563 และเป็นคู่ขัดแย้งฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น เวทีการประชุมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อรับรองความชอบทำในการปกครองประเทศของกลุ่มเผด็จการทหารอีกด้วย
จากเหตุการณ์ทั้งหมด สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ นายดีเรค มิทเชลล์ (Derek Mitchell) ประธานสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NDI) และยังเป็นอดีตทูตสหรัฐฯประจำประเทศเมียนมาถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้
นายดีเรค มิทเชลล์ (Derek Mitchell) ประธานสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NDI) อดีตทูตสหรัฐฯประจำประเทศเมียนมา (อ้างอิงรูปภาพจาก https://medium.com/theciao/interview-derek-mitchell-former-u-s-ambassor-to-myanmar-burma-cd0a624239ec)
สำนักข่าวอิศรา แปล/เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ดังกล่าว มานำเสนอ ณ ที่นี้
@นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาได้มีการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. กองกำลังรักษาความมั่นคงได้มีการสังหารประชาชนไปแล้วมากกว่า 740 คน มีผู้สังเกตการณ์เตือนว่าเมียนมาอาจจะกลายเป็นซีเรียในภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การรบในพื้นที่ชายแดน และกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ทะลักเข้าไปยังประเทศไทยและอินเดีย ในฐานะที่คุณเคยเป็นเอกอัครราชทูตเมียนมาคนแรกในรอบ 22 ปี ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2555-2559 คุณคิดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายไปในระดับไหน
นายมิทเชลล์: ผมค่อนข้างเป็นห่วง เพราะทั้งทหารและประชาชนอยู่ในจุดที่มีความขัดแย้งรุนแรงยิ่งกว่าที่เราเคยเห็นในการรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆ มาในเมียนมา ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีฝ่ายใดที่จะยอมถอยเลย ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่เห็นได้น้อยมากในช่วงหลายสิบปีที่มีการต่อสู้กันเกิดขึ้นมา
"ตัวผมเองไม่แน่ใจว่าภูมิภาคนี้นั้นพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ เพราะมีแนวความคิดที่แตกต่างกันออกไปอีกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเมียนมา บางแนวคิดก็ยึดโยงกับหลักปฏิบัติ แต่บางแนวคิดก็ยึดโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
@มีแนวคิดว่าควรจะให้มีการดำเนินการกับกองทัพเมียนมา และไม่ควรกดดันพวกเขาหนักจนเกินไป แนวคิดแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้ยังคงใช้ได้หรือไม่
นายมิทเชลล์: สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธรวมไปถึงกลุ่มผู้ประท้วงหนุ่มสาวได้แสดงออกมานั้น สื่อสารให้เห็นว่าพอกันที พวกเขาเบื่อกับเรื่องเหล่านี้ และพวกเขาจะไม่ทนกับสิ่งที่เคยเผชิญในช่วง 30 หรือ 15 ปีก่อน
ดังนั้นคุณไม่อาจจะพูดได้ว่า “ควรจะต้องอดทนจนกว่าโลกจะแก้ปัญหาเบื้องบนให้คุณได้”
"การบอกว่าต้องอดทนนี่ถือว่าเป็นทัศนคติที่ไร้เดียงสาต่อสถานการณ์นี้มาก เพราะว่าประชาชนชาวเมียนมานั้นได้เคยลิ้มรสเสรีภาพมาแล้ว และตอนนี้พวกเขาก็มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ประท้วงในที่อื่นๆทั้งในฮ่องกง ในประเทศไต้หวัน และในประเทศไทย ดังนั้น พวกเขาคงจะไม่นั่งเฉยๆ และอนุญาตให้กองทัพมาทำลายอนาคตของพวกเขาแน่นอน"
@โลกภายนอกจะทำอะไรได้บ้างกับกรณีเมียนมา ทั้งการลงโทษจากประเทศตะวันตก ที่ดูว่าจะไม่กระทบกับกลุ่มนายพลเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา การประชุมอาเซียนจะทำให้มีมาตรการที่หนักแน่นกว่านี้ออกมาหรือไม่ และเราทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่
นายมิทเชลล์ : ต้องยอมรับว่าตะวันตกสามารถช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น เราได้มีการลงโทษเฉพาะบุคคลไปแล้ว เราได้มีการออกแถลงการณ์ไปแล้ว เราพยายามที่จะดึงเอาพันธมิตรในเอเชียให้ออกมาพูดในเรื่องนี้ด้วย นี่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันจะต้องขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่จะตระหนักรู้ว่า เรื่องเมียนมานั้นถือว่าเป็นเดิมพันอันสำคัญ ผมคิดว่านั่นรวมถึงประเทศจีนด้วย
"ผมไม่คิดว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลยถ้าเมียนมาตกอยู่ในสภาวะรัฐล้มเหลว อาเซียนสามารถเตือนเมียนมาได้ ว่าสถานะของเมียนมาในอาเซียนนั้นกำลังมีความเสี่ยง อาเซียนเองยังสามารถเรียกร้องไปยังประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ให้ร่วมกับพิจารณาอย่างสอดประสานเพื่อจะเพิ่มแรงกดดันด้วยกันอีกทางหนึ่งในกรณีเมียนมานี้ได้เช่นกัน"
รายงานข่าวกรณี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@ คิดว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนจะส่งผลทำให้เป็นไปไม่ได้หรือไม่ในการประสานความร่วมมือเพื่อที่จะจัดการแก้ไขปัญหากับเมียนมานี้หรือไม่
นายมิทเชลล์: ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น ในเมียนมานั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนมีทัศนคติที่แข่งขันกันกับสหรัฐฯในเมียนมา พวกเขาต้องการสิทธิพิเศษ เหนือกว่าสหรัฐฯและตะวันตกอย่างแน่นอนในประเทศเมียนมา
"ผมคิดว่าพวกเขามีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากเราในเรื่องความต้องการให้สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ณ เวลานี้หยุดลง ซึ่ง ณ ตรงนี้ก็เป็นจุดที่อาเซียนควรจะเข้ามาเพื่อแสดงพลังและทัศนคติต่างๆเพื่อจะแก้ไขปัญหาในเมียนมา"
@ ดังนั้นประเทศจีนเป็นตัวละครเพื่อที่จำเป็นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา เรื่องนี้จะไม่สามารถยุติได้เลยใช่ไหม ถ้าหากประเทศจีนไม่เข้ามาร่วมวงด้วย
นายมิทเชลล์:หนทางที่จะทำให้ประเทศจีนเข้ามาร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาเมียนมาด้วยนั้น ก็คือให้ประเทศจีนได้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังเดินไปอยู่นั้นคือฉันทามติของประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย ถ้าหากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียได้มีการเคลื่อนไหวร่วมกันไปในทิศทางนี้ นี่จะสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับประเทศจีน และยังจะสร้างแรงกดดันให้กับเมียนมาได้เป็นอย่างยิ่ง และนี่ถือเป็นสิ่งที่กองทัพเมียนมานั้นไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
"นี่ถือว่าเป็นอีกเหตุผลที่ทำไมในช่วง 10 ปีก่อน กองทัพเมียนมานั้นได้พยายามที่จะไม่ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศเมียนมากลายเป็นรัฐที่เอียงข้างไปทางประเทศจีนมากจนเกินไป พวกเขาจึงต้องมีความสัมพันธ์อย่างมีสมดุลทั้งกับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆเพื่อที่จะทำให้การปกครองของพวกเขานั้นมีความเข้มแข็ง"
@สิบปีก่อน คุณมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การที่ประเทศเมียนมามีรัฐบาลพลเรือน ถ้าหากมองย้อนกลับไป คุณรู้สึกแตกต่างกับประเทศนี้มากน้อยแค่ไหน
นายมิทเชลล์: มีคนถามผมมาเยอะในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าเราควรมองอะไรหลายอย่างตามความเป็นจริง ผมคิดว่าภายใต้การดำเนินงานของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เรารู้สึกดีที่ว่าประเทศเมียนมานั้นสามารถจะไปสู่การปฏิรูปได้ โดยมีการปล่อยนักโทษการเมือง มีการเลือกตั้งในปี 2558 ซึ่งนี่ถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำไปสู่การพูดคุยหารือด้านสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ
"แต่ปรากฏว่าหลังจากการเลือกตั้งในปี 2558 เรารู้ดีว่าแม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ของนางอองซาน ซูจี เข้ามาบริหารประเทศแล้ว รัฐธรรมนูญของเมียนมานั้นยังคงไม่ถูกเปลี่ยนไปแต่อย่างใด ความคิดของผู้คนเองก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนไป ขีดความสามารถในการผลิตของประเทศเมียนมาก็ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำอยู่ และสถาบันต่างๆในเมียนมานั้นก็มีความอ่อนแอเป็นพิเศษ กระบวนการสันติภาพที่ว่ามานั้นก็ยังคงไม่สามารถที่จะเป็นรูปธรรมได้ อีกทั้งความแบ่งพรรคแบ่งพวกและความแตกแยกต่างๆก็ยังคงร้าวลึกในเมียนมา"
"นี่จึงถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่สำหรับเมียนมา ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้นั้นจะไม่สามารถย้อนกลับได้แล้ว"
เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-04-18/the-big-question-can-the-myanmar-s-democracy-be-rescued
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage