"...ขอให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนโควิด ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ หน่วยงานภาครัฐ เท่านั้น ที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน..."
..........................
รัฐบาลล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนจริงหรือไม่
เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่คนในสังคมไทยหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่ประเด็นนี้ เคยมีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้มีการสอบสวนและมีคำวินิจฉัยเป็นทางการมาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ กรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเรียนในประเด็นเรื่องความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนดังกล่าว
ข้อร้องเรียนระบุว่า ประเทศไทยเริ่มมีแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ซึ่งในขณะนั้นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่ในระหว่างการพัฒนา และทดสอบวัคซีน โดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน
หากวัคซีนที่ทำการจองไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยจะสูญเสียงบประมาณในการจองวัคซีนไปโดยเปล่าประโยชน์
ดังนั้น การจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดของประเทศไทย จึงเป็นการจัดซื้อภายใต้ความเสี่ยง โดยต้องทำการจองวัคซีนล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.บ.การจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ความมั่งคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ได้เปิดโอกาสให้สามารถใช้จ่ายงบประมาณในกรณีการวิจัยพัฒนาได้ วัคซีนป้องกันโควิดที่จะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้นั้น จะต้องมีการขึ้นทะเบียน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะพิจารณาองค์ประกอบ 3 ด้าน ประกอบด้วย คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด จาก 3 บริษัท ที่ได้มีคำขอขึ้นทะเบียนจาก อย. ประกอบด้วย บริษัท ASTRAZENECA จำกัด ได้อนุมัติทะเบียนแล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 บริษัท SINOVAC BIOTECH จำกัด ได้ยื่นข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร แต่ยังไม่มีการอนุมัติทะเบียน และบริษัท JOHNSON & JOHNSON ได้มีการยื่นข้อมูลเพื่อพิจารณาบางส่วน (ข้อมูลในช่วงเดือนม.ค.2564)
ข้อพิจารณา
จากการแสวงหาข้อเท็จจริงของผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรากฏว่า การจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทย เริ่มกระบวนการตั้งแต่ในช่วงที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน อยู่ในระหว่างการพัฒนา และทดสอบวัคซีน โดยที่ในขณะนั้นยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีน
แต่ในขณะเดียวกัน หากประเทศไทยยังไม่ดำเนินการจับจองวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตรายใด อาจทำให้การนำวัคซีนป้องกันโควิด มาใช้กับประชาชนเกิดความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงของโรคได้
ด้วยเหตุนี้ การจัดหาวัคซีนโควิด จึงเป็นการพิจารณาจัดซื้อภายใต้ความเสี่ยง โดยต้องทำการจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้จ่ายงบประมาณ ตาม พ.ร.บ.การจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เนื่องจากการจัดซื้อภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่มีวัคซีนเกิดขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ สามารถใช้จ่ายงบประมาณในกรณีการวิจัยพัฒนาได้
ขณะที่ประเทศไทย ได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจาก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท SINOVAC BIOTECH จำกัด จำนวน 2,000,000 โดส และจากบริษัท ASTRAZENECA จำกัด จำนวน 26,000,000 โดส รวมทั้งมีแผนที่จะจัดซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 35,000,000 โดส
ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมประชาชน จำนวน 33 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชาชนทั้งประเทศ สำหรับวัคซีนที่จัดซื้อไว้แล้วคาดว่าจะได้รับตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ค.2564 โดยฉีดเข็มแรกในวันที่ 14 ก.พ.2564
กรณีจึงถือได้ว่าคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิดเป็นไปด้วยความรอบคอบแล้ว
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า หน่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน
ดังนั้น ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 22 (2) ตามประกาศผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่รับไว้พิจารณาตามมาตรา 37(8) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ
กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกัน มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริการจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสียงสูง รวมทั้งเกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนโควิด ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ หน่วยงานภาครัฐ เท่านั้น ที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน และกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีน
เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน
จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดกับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage