"...อาการป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย แต่มีเชื้อในปริมาณมาก ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวสามารถแพร่ระบาดเชื้อจนกลายเป็นคลัสเตอร์ ได้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจแพร่เชื้อไปยังผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน..."
…………………………………………………..
เมื่อปีที่ผ่านมา มีการระบาดระลอกแรกของโควิดในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. 2563 โดยมีผู้ป่วยไม่เกิน 3,000 ราย และวันที่พบผู้ป่วยมากที่สุด มีจำนวนสูงสุดเพียง 188 ราย ซึ่งหากคิดโดยเฉลี่ยจะพบผู้ป่วยเพียงแค่หลักสิบคนต่อวันเท่านั้น
ต่อมาการระบาดระลอกที่สองเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ไล่มาตั้งแต่กลุ่มคนลักลอบเข้าเมือง - คลัสเตอร์บ่อนการพนัน จนถึงปัจจุบันที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายขึ้น ไทยกลับพบการระบาดอีกระลอก กับคลัสเตอร์กสถานบันเทิง ที่ป่วยสะสมแล้ว 291 ราย
ตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เชื้อโควิดที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ คือสายพันธุ์ใด ? และมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ?
เพื่อไขข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงได้นำข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ โดย ศ.นพ.ยง ภู่ วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว จะเห็นความรวดเร็วในการแพร่กระจายเชื้อโควิด ซึ่งต่างจากการระบาดในระลอกแรกมาก ตนเองจึงทำการตรวจหาเชื้อบริเวณคอของผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก่อน พบสิ่งที่ผิดสังเกต คือ ผู้ป่วย มีปริมาณเชื้อไวรัสที่สูงมาก จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อแบบจำเพาะกับผู้ป่วยโควิด 24 ราย จากสถานบันเทิง เพื่อค้นหาสายพันธุ์ของโควิดอีกครั้ง เนื่องจากธรรมชาติของโควิดที่พบนี้ แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยแพร่ระบาดในไทยระลอกแรก กระทั่งพบว่าผู้ป่วยทั้งหมดติดเชื้อ 'โควิดสายพันธุ์อังกฤษ' หรือ 'B.1.1.7'
จากกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า การระบาดในสถานบันเทิงนั้น มีต้นตอมาจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่รู้ว่าตนเองมีอาการ จึงเดินทางไปในที่ต่างๆ ทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อโดยไม่รู้ตัว และยากต่อการควบคุมโรค กลายเป็นคลัสเตอร์ในที่สุด
"โควิดสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7 เริ่มมีมาตั้งแต่เดือน พ.ย. - ธ.ค. 2563 ซึ่งมีความสามารถในการระบาดเร็วมาก ง่ายกว่าสายพันธุ์ G หรือ สายพันธุ์ S สายพันธุ์เดิมที่เคยระบาดในไทย อยู่ประมาณ 1.7 เท่า โดยในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันต่างก็ประสบปัญหาการระบาดระลอกที่ 3 อีกครั้ง จากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดเดียวกันนี้ แล้วเริ่มมีการล็อคดาวน์กันใหม่ แต่อังกฤษเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนมากกว่าประเทศอื่นในยุโรป ทำให้เห็นอัตราการตายลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับฝรั่งเศสและเยอรมัน ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการควบคุมโรค” ศ.นพ.ยง กล่าว
@ ปริมาณเชื้อมาก แต่ไม่แสดงอาการ คุณสมบัติสายพันธุ์อังกฤษ
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สิ่งที่แพทย์กังวลสำหรับเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษนี้ คือ
1. ความสามารถในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับมาตรการคุมเข้มที่ลดลงจากปีที่แล้วถึง 10 เท่า ทำให้เชื้อโควิดสามารถแพร่กระจายออกไปเร็วกว่าเดิมถึง 100 เท่า ซึ่งเมื่อเจอสายพันธุ์อังกฤษที่สามารถแพร่กระจายรวดเร็วกว่าปกติ ย่อมส่งผลให้การแพร่ระบาดของเชื้อสามารถแพร่กระจายออกไปได้อีก 170 เท่า
2. อาการป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการน้อย แต่มีเชื้อในปริมาณมาก ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวสามารถแพร่ระบาดเชื้อจนกลายเป็นคลัสเตอร์ ได้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจแพร่เชื้อไปยังผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน
"การเคลื่อนย้ายของประชาชน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปได้ไกล ขนาดโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ที่มีที่มาอยู่ในประเทศอังกฤษ ยังสามารถแพร่กระจายเข้ามาถึงไทยได้ ผมเองยังสงสัยว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้ามาได้อย่างไร ขนาดเรามีสถานกักกันที่รัฐจัดให้ เรามีทุกวิถีทางที่จะบล็อกแล้ว แต่ก็ยังหลุดมาได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่อยากให้ประชาชนทุกคนทำ ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะไปบล็อกอะไรต่าง ๆ ได้แล้วนั้น คือ หากใครไม่มีความจำเป็น ผมอยากให้ลดการเคลื่อนย้ายประชากรให้น้อยที่สุด แต่หากจำเป็นต้องไป หรือวางแผนไว้แล้ว ก็จะต้องมีมาตรการทุกย่างให้เคร่งครัดและมีระเบียบวินัยตั้งแต่ออกจากบ้าน ถ้าทุกคนช่วยกัน ผมเชื่อว่าไทยจะสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.นพ.ยง กล่าว
@ วัคซีนต้านโควิดมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิดต่อสายพันธุ์อังกฤษนั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่า วัคซีนยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม เนื่องจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ จากอังกฤษ หรือแอฟริกาใต้นั้น ความรุนแรงของโรค ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อมีความสามารถมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจรู้สึกกลัวต่ออาการข้างเคียงของวัคซีนต้านโควิด ศ.นพ.ยง กล่าวชี้แจงว่า วัคซีนทุกชนิด มีโอกาสได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนได้เช่นเดียวกัน แต่โอกาสแพ้วัคซีนจริง ๆ นั้นมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นการเกิดลิ่มเลือด อุดตันในเส้นเลือดส่วนลึกหรือเส้นเลือดของสมอง ที่หากร้ายแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือถึงขั้นเสียชีวิต โดยไม่ว่าจะในเยอรมัน ออสเตรีย หรืออังกฤษ เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์ที่สัมพันธ์กับวัคซีนแล้วจะอยู่ที่ 1 ราย ต่อการฉีดวัคซีนระหว่าง 100,000 - 1,000,000 โดส ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่จะได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น จะพบได้ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 55 ปี หรือผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ทั้งนี้หากเทียบกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน แล้วนั้น จะพบว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า ประกอบกับการให้สังเกตอาการหลังจากได้รับวัคซีน 30 นาทีภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าการฉีดวัคซีนปลอดภัยแน่นอน
“ตอนนี้เราต่างอยากเห็นคนไทยได้รับวัคซีนที่เร็วที่สุด เนื่องจากการฉีดวัคซีนในปริมาณที่มากเพียงพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะช่วยลดหรือยุติการเกิดโควิดได้ ซึ่งหากไทยสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 300,000 โดสต่อวัน เราจะใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นจึงอยากเชิญทุกคนไม่ต้องรีรอเลย เมื่อถึงคิว ให้รีบรับการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด” ศ.นพ.ยง กล่าว
@ แนะผู้ติดเชื้อรับวัคซีนได้ หลังหายป่วย 3-6 เดือน
ศ.นพ.ยง กล่าวถึงกรณีการได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มแรก แต่ติดโควิดในภายหลังว่า วัคซีนต้านโควิดจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่หลังฉีดครบ 2 เข็มแล้ว 14 วัน อย่างไรก็ตามหลังจากฉีดเข็มแรกแล้วนั้น บางรายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการลดอาการป่วยของโรคได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทานที่ขึ้นของแต่ละบุคคล
จากการศึกษาวัคซีนซิโนแวคของผู้ได้รับวัคซีนประมาณ 2 ใน 3 พบว่า หลังจากฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 เข็ม ก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ระยะเวลา 3 สัปดาห์ จะมีภูมิต้านทานวัดได้แล้ว ส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เหลือนั้น ยังวัดไม่ได้ หรือต่ำๆ ทั้งนี้การขึ้นของภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนั้น จะยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะฉีดครบทั้ง 2 เข็ม
“อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ของวัคซีนต้านโควิดที่มีอยู่ขณะนี้ เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงของโรค ดังนั้นการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ จึงอยากขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเหมือนเดิมจนกว่าเราจะมีข้อมูลเต็มที่ และทุกคนได้รับวัคซีนหมด เนื่องจากหากประชาชนได้รับวัคซีนหมด โอกาสที่จะแพร่เชื้อจะลดลง และโอกาสผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ” ศ.นพ.ยง กล่าว
ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ศ.นพ.ยง กล่าวแนะนำว่า สามารถมารับวัคซีนได้หลังจากหายป่วย 3 – 6 เดือน โดยหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หลังจากหายป่วยเป็นเวลา 3 เดือน สามารถขอรับวัคซีนได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำ สามารถรอและขอรับวัคซีนได้หลังจากหายป่วยเป็นเวลา 6 เดือน
@ สธ.เผยไทยจะได้รับวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส 10 เม.ย.64
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การกระจายวัคซีนว่า ขณะนี้การกระจายวัคซีนล็อตแรกของซิโนแวค จำนวน 200,000 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 100,000 โดส ประชาชนได้รับครบหมดแล้ว และในช่วงปลายเดือน มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ไทยได้รับวัคซีนจากซิโนแวคมาอีก 800,000 โดส ขณะนี้ได้กระจายไปยังจังหวัดกลุ่มเป้าหมายแล้ว 400,000 โดส
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 เม.ย.2564 ไทยจะได้รับวัคซีนจากซิโนแวคมาอีก 1,000,000 ล้านโดส ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งกระจายวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด
สำหรับยอดผู้ได้รับวัคซีนนั้น ล่าสุดมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วรวม 323,989 โดส แบ่งเป็น บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. 137,475 โดส เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 34,406 โดส ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 21,630 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 17,851 โดส และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 112,627 โดส ทั้งนี้ กทม.ได้นำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงแถวทองหล่อที่มีการระบาดเพิ่มเติมด้วย
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ ทั้งนี้ในเดือนมิ.ย.นี้ ไทยจะได้วัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตเองด้วย หากได้รับแล้ว เราจะเร่งผลิตวัคซีนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนโดยเร็วที่สุด”นพ.โอภาส กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/