"...ในประเทศที่ฉีดวัคซีนเกิน 25% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เช่น อิสราเอล และสหราชอาณาจักร สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดี ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 25% พบว่าว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ในปริมาณหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นเครื่องมือช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้..."
......................................
ผ่านมาแล้วเกือบ 4 เดือน
นับตั้งแต่ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มแรกเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563 โดยในปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งไปแล้วกว่า 630 ล้านโดส และมีผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้วกว่า 130 ล้านโดส แต่อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก
ล่าสุด ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลกับสาธารณชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก หลังเริ่มมีการกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆว่า ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ มองสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกผ่านกราฟของแต่ละประเทศ พบว่า ประเทศส่วนใหญากมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2564 แต่ต่อมาในช่วงเดือน มี.ค.2564 กลับมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากสุดต่อ 1 วัน มีจำนวนมากถึง 637,906 ราย
ทั้งนี้ หากจำแนกตามทวีปและภูมิภาค แบ่งเป็น อเมริกา ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และแปซิฟิกตะวันตก ต่างก็มีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง หลังมีการกระจายวัคซีน แต่ต่อมาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งเทียบเท่ากับช่วงแรกของการระบาด
"จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น หลังได้รับการฉีดวัคซีนนั้น แสดงให้เห็นถึงอุบัติการณ์ต่างๆ กลับเริ่มย้อนขึ้นมา คล้ายๆช่วงก่อนหน้าที่ไม่มีวัคซีน และจากการวิเคราะห์แยกรายประเทศพบว่า ในประเทศที่ฉีดวัคซีนเกิน 25% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เช่น อิสราเอล และสหราชอาณาจักร สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดี
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 25% พบว่าว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ในปริมาณหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นเครื่องมือช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า แม้แนวโน้มของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น หลังทั่วโลกเริ่มฉีดซีน แต่จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดต่ำลงมาก โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2% แต่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ประชาชน 'การ์ดห้ามตก'
@'สหรัฐฯ'พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม แต่อาการไม่หนัก
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยกตัวอย่างกรณีสหรัฐที่ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 157.61 ล้านโดส คิดเป็น 30.4% ของประชากรทั้งหมด 332.5 ล้านคน ว่า จากกราฟจะพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ หลังจากประชาชนได้รับวัคซีนมีแนวโน้มลดลง ก่อนจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้
แต่เมื่อพิจารณาอัตราการเสียชีวิตจะพบว่า อัตราการเสียชีวิต 'ลดลงชัดเจน' สะท้อนได้จากกราฟอัตราการเสียชีวิตของประชาชนชาวสหรัฐจากโควิด ซึ่งพบว่าก่อนหน้าได้รับวัคซีนพบผู้เสียชีวิตต่อวัน 3,000-4,000 ราย ขณะนี้หลังจากมีวัคซีนแล้วพบผู้เสียชีวิตต่อวันอย่างมากไม่เกิน 1,000 ราย
"มีรายงานข้อมูลว่า เมื่อมีวัคซีน ประชาชนสหรัฐฯก็เริ่มชะล่าใจ ละเลยการปฏิบัติตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี ที่ระบุให้ ประชาชนมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง เนื่องจากคิดว่าวัคซีนต้านโควิดสามารถป้องกันโรคได้
ทั้งๆที่วัตถุประสงค์หลักของวัคซีนต้านโควิดในปัจจุบัน คือ การลดอาการป่วย ซึ่งหมายความว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อออกไป ตรงนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ซีดีซี ออกมาแถลงว่า วัคซีนต้านโควิด ต้องได้รับครบ 2 เข็ม และรอระยะเวลาอีกประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ดีพอ
@'ฝรั่งเศส'ฉีดวัคซีนแล้ว 11.77 ล้านโดส-ผู้ติดเชื้อรายใหม่ผันผวน
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในฝรั่งเศสนั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันฝรั่งเศสฉีดวัคซีนไปแล้ว 11.77 ล้านโดส คิดเป็น 13.0% ของประชากรทั้งหมด 65.2 ล้านคน ผลปรากฎว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้ม 'ขึ้นๆลงๆ' เช่นเดียวกันอัตราการเสียชีวิตจากโควิดที่มีลักษณะ 'ขึ้นๆลงๆ' เช่นเดียวกัน
แต่เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทางการต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ได้แก่
1. รัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดในหลายพื้นที่ และขยายเป็นทั้งประเทศในวันที่ 3 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา
2. กำหนดเวลา 06.00-19.00 น ให้ประชาชนออกจากบ้านได้ไม่เกิน 10 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากเกินระยะทางนี้ ต้องมีเอกสารรับรอบ 11 ประเภท
3. กำหนดเวลา 19.00-06.00 น ประกาศเคอร์ฟิว หากจะออกจากบ้าน ต้องมีเอกสารที่มีการรับรอง 8 ประเภท
4. ไม่รับคนอื่นเข้าบ้าน และไม่ไปบ้านคนอื่น รวมถึงต้องใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่าง
5. ปิดโรงเรียนถึง 26 เม.ย.2564
@'อิตาลี'ฉีดวัคซีนแล้ว 10.77 ล้านโดส-มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เช่นเดียวกัน สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิดในอิตาลี ซึ่งปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนแล้ว 10.77 ล้านโดส คิดเป็น 12.2% ของประชากรทั้งหมด 60.5 ล้านคน แต่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"สถานการณ์ภายในอิตาลีน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากในหลายพื้นที่ตอนนี้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดคล้ายกับช่วงแรกของการระบาด ขณะที่บางโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ เนื่องจากมีเตียงไม่เพียงพอ ทางการจึงได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
สำหรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในอิตาลี ประกอบด้วย
1.มีการออกกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ในประเทศเป็นโซนสี 4 ประเภท ได้แก่ พื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีขาว โดยกำหนดมาตรการเข้มข้นสูงสุดในพื้นที่สีแดง แล้วลดหลั่นกันไปตามสีพื้นที่ ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่สามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้ความจำเป็น
2.รัฐบาลกำลังพิจารณาการออกกฎหมายบังคับให้บุคลากรด้านสุขภาพทุกคนต้องฉีดวัคซีน
@'เยอรมนี'ลุยปรับมาตรการคุมโควิด พบติดเชื้อรายใหม่กว่าหมื่นราย
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนในเยอรมนี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้ว 13.77 ล้านโดส คิดเป็น 11.5% ของประชากรทั้งหมด 83.8 ล้านคน ซึ่งพบว่ากราฟพบว่า หลังจากประชาชนได้รีบวัคซีน ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ก่อนจะพบเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลักหมื่นเหมือนในช่วงแรกของการระบาด แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง
"โควิดที่ระบาดในเยอรมนี เป็นสายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร B.1.1.7 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น และแพร่ระบาดถึง 88% ในเยอรมนีแล้ว
และด้วยจำนวนผู้ติดรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นรายต่อวัน ทำให้ Chancellor Angela Merkel ออกมาร้องเรียนให้รัฐปรับปรุงหรือแก้ไขนโยบายของประเทศ ในวันที่ 2 เม.ย.2564 เนื่องจากมองว่ามาตรการที่รัฐกำลังดำเนินยังไม่เข้มงวดและไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้ทางการต้องแจ้งให้ชาวเยอรมนีททราบถึงความจำเป็นออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น และเริ่มใช้ในวันถัดมา" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
@โควิดสายพันธุ์ใหม่-การ์ดตก สาเหตุ 'อินเดีย' ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 1 แสนราย/วัน
ขณะที่อินเดีย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการฉีดวัคซีนแล้ว 68.68 ล้านโดส คิดเป็น 5% ของประชากรทั้งหมด แต่กลับพบว่า ล่าสุดอินเดียมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุ 1 แสนรายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สาเหตุที่ประเทศอินเดียพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น 12 เท่า หลังอัตราการระบาดต่ำสุดในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมานั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า หลังจากการผ่อนปรนมาตรการ ทำให้ประชาชนหยุดสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย
ประกอบกับการมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังคงเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่อาทิตย์ และซูบาซ ซาลุนเค อดีตเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวแนะนำว่า ถ้าหากเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ตอนนี้ให้กับผู้ใหญ่ที่อยู่อาศัยภายในเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย เมืองมุมไบ ปูเน และนาศิก ภายในเดือนเม.ย.2564 จะมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิดลดลง
@โควิดสายพันธุ์ 'บราซิล' ทำป่วยกว่า 6 หมื่นราย-เสียชีวิตกว่า 2 พันราย/วัน
เช่นเดียวกับ บราซิลที่พบว่าหลังจากการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 20.63 ล้านโดส คิดเป็น 7.6% ของประชากรทั้งหมด 212.5 ล้านคน แต่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบติดเชื้อเพิ่มต่อวันถึง 69,662 ราย
"จากกราฟอัตราการเสียชีวิต พบว่ามีผู้เสียชีวิตวันละกว่า 2,000 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว คือ เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ P.1 ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้แพทย์กำลังศึกษาดูธรรมชาติของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้อยู่ จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าสายพันธุ์ใหม่นี้มีผลกระทบต่อวัคซีนหรือปัจจัยอื่นๆ หรือไม่" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ระบุ
@'อิสราเอล'ประเทศต้นแบบฉีดวัคซีน 60.75%-ควบคุมโควิดได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงอิสราเอล ซึ่งประสบความสำเร็จมากที่สุดในฉีดวัคซีนโควิดว่า หลังจากอิสราเอลมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 10.06 ล้านโดส คิดเป็น 60.7% ของประชากรทั้งหมด 8.8 ล้านคน พบว่ากราฟการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
"อิสราเอลเป็นประเทศต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งการตัดสินใจที่รวดเร็ว ความที่เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก และประชาชนในประเทศให้ความร่วมมือต่อรัฐเป็นอย่างดี เป็นปัจจัยที่ทำให้การฉีดวัคซีนมีผลดีอย่างมากในการควบคุมการระบาดของโควิด" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
@'สหราชอาณาจักร'ฉีดวัคซีน 46.1 % ผู้ติดเชื้อรายใหม่-อัตราเสียชีวิตลดต่อเนื่อง
ขณะที่สหราชอาณาจักรเป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีน เพราะหลังจากมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 36.25 ล้านโดส คิดเป็น 46.1 % ของประชากรทั้งหมด 67.9 ล้าน จะพบว่ากราฟการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงเช่นกัน แม้จะมีการเกิดการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.7 ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
"การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของสหราชอาณาจักร ในการฉีดวัคซีนโควิดเป็นประเทศแรก หลังพบการระบาดภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการฉีดวัคซีนในการควบคุมเชื้อโควิด" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
@ ซีดีซีย้ำวัคซีนปลอดภัย ฉีดแล้ว 145 ล้านโดสไม่พบผู้เสียชีวิต
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงความปลอดภัยของวัคซีนโควิด ว่า มีรายงานข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ว่า จากการฉีดวัคซีนให้ประชาชนชาวสหรัฐฯกว่า 145 ล้านโดส ยังไม่พบรายใดได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตจากตัววัคซีนโดยตรง มีบางรายเท่านั้น ที่มีการเสียชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงหลังจากได้รับวัคซีน แพทย์ได้ทำการสอบสวนแล้วพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีนโดยตรง
ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศสำคัญๆของโลก และประสิทธิผลของวัคซีน รวมถึงประสบการณ์หลังมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้
อ่านข่าวประกอบ:
'หมอประสิทธิ์'แนะเลี่ยง 4 ปัจจัยเสี่ยงโควิดช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/