"...ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีเงื่อนไขเส้นตายสำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกันที่จะนำมาสู่ความรุนแรงก็คือ 1.กองทัพเมียนมาอยากที่จะเอาชนะสงครามที่กำลังก่อกับประชาชนให้ได้ก่อนวันที่ 27 มี.ค. เพราะในวันดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นวันของกองทัพเมียนมา ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์กันว่ากองทัพจำเป็นจะต้องแสดงความมีอำนาจ ในการสวนสนามในวันดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยและแรงกดดันมาจากประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นการให้ปกป้องทรัพย์สินของชาวจีนในเมียนมา ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาจำเป็นต้องดำเนินการแบบไม่เลือกวิธีการมากขึ้นก็เป็นได้..."
..............................
สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเมียนมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา กำลังถูกจับตามองมากขึ้น
เมื่อปรากฎข้อมูลว่า มีประชาชนจำนวน 320 ราย ต้องเสียชีวิตลงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รวมไปถึงการเสียชีวิตของเด็กจำนวนมากด้วย
ล่าสุด สถาบันว่าด้วยสันติภาพของสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมา ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ อะไรคือผลกระทบด้านความมั่นคงของการรัฐประหารสำหรับรัฐชายแดนของเมียนมา
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลทำให้มีแรงกระแทกอย่างรุนแรงต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในประเด็นเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย จีน อินเดีย และบังกลาเทศนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเจอผลกระทบอย่างร้ายแรง ถ้าหากปัญหาในเมียนมายังไม่สงบ
ณ เวลานี้นั้นกองทัพเมียนมาได้เพิ่มมาตรการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงและประชาชนโดยใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีชาวเมียนมาหนีภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไทยและบังกลาเทศ โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ถือว่าเป็นประเทศหลักๆ ที่รับเอากลุ่มผู้อพยพชาวเมียนมาเข้ามา
ขณะที่อินเดียและจีนนั้น ยังคงไม่ค่อยเต็มใจนักกับการรับเอาบุคคลพลัดถิ่นเข้าประเทศของตัวเอง
มีรายงานด้วยว่าการที่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจนั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญในโครงสร้างความเป็นพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ต่างๆ และยังก่อให้เกิดการสู้รบครั้งใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพรมแดนเมียนมา
เพราะหลังจากการยึดอำนาจเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดการปะทะกันเกิดขึ้นในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทยและจีน
โดยเฉพาะพรมแดนประเทศไทย มีรายงานว่ามีกลุ่มติดอาวุธขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ที่ประกาศยุติบทบาทไปแล้ว เพราะกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา ได้ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหาร และประกาศว่าจะละทิ้งข้อตกลงหยุดยิงที่เคยทำไว้เมื่อปี 2558
ขณะที่ในรัฐกะเหรี่ยงและในรัฐฉานทางตอนใต้ก็เกิดกรณีการปะทะครั้งใหม่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจำนวนนับพันราย
การต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง (อ้างอิงวิดีโอจาก Karen News)
@ ภาพรวมความมั่นคงในระดับภูมิภาคเป็นอย่างไรบ้าง
การรัฐประหารนั้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประชาคมเศรษฐกินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ทั้งในระดับองค์กรและในระดับประเทศในการจะรับมือกับปัญหาความมั่นคง ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ได้พยายามที่จะผลักดันอาเซียนให้เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ประเทศกัมพูชาและประเทศลาวนั้นมีท่าทีคล้อยตามประเทศจีน ที่แสดงท่าทีอดทนและรอมชอมกับเผด็จการทหารมากกว่า
แต่ทั้งนี้ การที่อาเซียนไร้ความสามารถในการดำเนินการและการที่เมียนมากลับไปเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั้นจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของอาเซียนต่อทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะตามมา ก็คือการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมอาชญากรรม ที่มาจากการเคลื่อนไหวของกองทัพเมียนมาเอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วก็คือ หลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้น มีการปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 23,000 ราย ด้วยจุดประสงค์จะสร้างความวุ่นวายในกลุ่มผู้ประท้วง
ส่วนในพื้นที่เมืองที่มีอำนาจปกครองตนเอง ซึ่งส่วนมากแล้วเมืองเหล่านี้นั้นจะถูกควบคุมโดยกลุ่มอาชญากรข้ามชาติชาวจีน ก็มีรายงานว่ามีกิจกรรมอาชญากรรมเกิดขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พื้นที่เหล่านี้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยรัฐบาลพลเรือนเมียนมาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
โดยในวันที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร มีการประกาศบนเฟซบุ๊กและวีแชตว่าจะมีการเปิดพื้นที่สำหรับการพนันอีกครั้งหนึ่ง และยังพบประกาศบนเฟซบุ๊กว่าจะมีการรับสมัครงานใหม่ พรัอมกับการโฆษณาขายอาวุธปืนเถื่อน การค้าสัตว์ป่า และการขนของเถื่อนข้ามชายแดน ก็เพิ่มขึ้นในอัตราทวีคูณ เนื่องจากขาดกระบวนการใช้กฎหมายในพื้นที่เหล่านี้นั่นเอง
@ ประเทศในระดับภูมิภาคจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ในเมียนมาอย่างไร และการมีส่วนร่วมต่อไปในอนาคตจะเป็นเช่นไร
ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ดูจะไม่แปลกใจกับเหตุการณ์การรัฐประหาร
ในช่วงที่ตัวแทนของประเทศจีนเยือนเมียนมาเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีนายทหารระดับผู้บัญชาการของกองทัพเมียนมาได้บรรยายข้อมูลให้กับนักการทูตระดับสูงของประเทศจีนเกี่ยวกับประเด็นความคับข้องใจในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2563 จึงเปรียบเสมือนกับการส่งสัญญาณท่าทีของกองทัพไปยังประเทศจีนนั่นเอง และในทันทีหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหารประเทศจีนก็มีท่าทีที่จะเฝ้ารอผล ขณะที่สื่อจีนออกมาระบุว่านี่เป็นแค่การปรับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
แต่การแสดงออกของประเทศจีนก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มสาธารณชนเมียนมา เพราะว่าพรรคเอ็นแอลดี ณ เวลานี้ ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดและยังสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธ์ต่างๆ และลามไปถึงขั้นที่ว่าในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานั้น มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านประเทศจีนที่ต้องการจะทำลายทรัพย์สินของชาวจีน ถ้าหากประเทศจีนยังไม่เปลี่ยนท่าทีดังกล่าว
จึงทำให้ในช่วงเดือน มี.ค. ประเทศจีนเริ่มที่จะเปลี่ยนท่าทีหลังจากที่รับรู้ว่ากองทัพเมียนมาไม่อาจจะควบคุมโครงสร้างการปกครองประเทศได้ออกต่อไป และในช่วงวันที่ 8 มี.ค. สภาของประเทศจีนได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์กับพรรคเอ็นแอลดี และเน้นย้ำว่าประเทศจีนพร้อมจะมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นการเมืองที่เมียนมา
แต่ถึงประเทศจีนจะมีท่าทีดังกล่าวออกมา กลุ่มผู้ที่เคลื่อนไหวในเมียนมาก็มองว่าประเทศจีนนั้นไม่มีความจริงใจต่อการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาดังกล่าว เนื่องจากประเทศจีนได้ปฏิเสธการติดต่อจากพรรคเอ็นแอลดีมาตลอดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และเชื่อว่าประเทศจีนจะสนใจแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตัวเองเท่านั้น
ขณะที่ท่าทีจากประเทศอื่นในภูมิภาคนั้นยังส่งเสียงถึงกรณีการรัฐประหารไม่ดังเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับท่าทีจากทางกรุงปักกิ่งและท่าทีการประณามจากชาติตะวันตก ส่วนประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซียได้ออกมาพูดชัดเจนว่าต่อต้านกองทัพเมียนมาในการใช้ความรุนแรงต่างๆ
ด้านประเทศไทยก็วิพากษ์ว่าสถานการณ์ของเมียนมานั้นถือว่าเป็นเรื่องภายในอันละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องมีการเว้นระยะห่างให้เหมาะสม แต่ถึงกระนั้นประเทศไทยก็พยายามจะรักษาบทบาท โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างระมัดระวัง ในช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ลี้ภัยที่เข้าสู่ประเทศไทยนั้นจะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนผู้เล่นรายอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทและการลงทุนที่สำคัญในเมียนมาเช่นกัน
โดยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เปิดรับกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยก็ตาม อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงไม่มีท่าทีอย่างเต็มใจนักในการกดดันประเทศเมียนมา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการยุติสัญญาความร่วมมือต่างๆกับทางกองทัพเมียนมา เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ได้ตัดขาดสัญญาด้านความมั่นคงทั้งหมดที่มีต่อกองทัพเมียนมาเช่นกัน
ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือการตอบสนองในระดับภูมิภาคต่อพฤติกรรมของกองทัพเมียนมานั้น ยังคงอยู่ในรูปแบบที่เน้นไปที่การเตือน ท่าทีหลายประเทศส่วนใหญ่ยังคงไม่มีการประสานงานกัน และยังขาดกลยุทธ์และแนวทางที่เด่นชัดในการดำเนินการนั่นเอง
การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับกองกำลังตำรวจเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Political Gyno)
@ สถานการณ์จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ต้องยอมรับว่ากองทัพเมียนมานั้นได้ประเมินพลังที่มาจากการต่อต้านการรัฐประหารในหมู่ประชาชนต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก และอาจจะไม่ได้คาดการณ์ ไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของกลุ่มข้าราชการพลเรือนเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ มีเงื่อนไขเส้นตายสำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกันที่จะนำมาสู่ความรุนแรงก็คือ 1.กองทัพเมียนมาอยากที่จะเอาชนะสงครามที่กำลังก่อกับประชาชนให้ได้ก่อนวันที่ 27 มี.ค. เพราะในวันดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นวันของกองทัพเมียนมา
ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์กันว่ากองทัพจำเป็นจะต้องแสดงความมีอำนาจ ในการสวนสนามในวันดังกล่าว
และเส้นตายที่ 2 ก็คือความท้าทายจากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาพลัดถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. จำนวน 300 คน ที่สามารถหลบหนีจากการจับกุมของกองทัพเมียนมาไปได้
โดยมีรายงานว่ากลุ่มสมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ ภายในขอบเขตของกฎหมายซึ่งก็คือภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยและแรงกดดันมาจากประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นการให้ปกป้องทรัพย์สินของชาวจีนในเมียนมา ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพเมียนมาจำเป็นต้องดำเนินการแบบไม่เลือกวิธีการมากขึ้นก็เป็นได้
ด้วยปัจจัยทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งแรงกดดันภายในประเทศ และจากภายนอกประเทศนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเหตุทำให้เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง
จนในที่สุดนั้นก็นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนกว่า 320 ราย รวมไปถึงการเสียของเด็กๆ จำนวนมาก ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั่นเอง
เรียบเรียงจาก:https://www.usip.org/publications/2021/03/myanmar-coup-international-shockwaves-have-just-begun
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/