“...ถ้าหากเราพัฒนาระบบการตรวจสอบพาสปอร์ตสุขภาพ รวมไปถึงระบบติดตามต่าๆให้มีความเหมาะสม ทำให้ยอมรับในระดับสากลจนเป็นมาตรฐาน สิ่งนี้จะเป็นระบบสำคัญที่จะช่วยให้เรารอดจากโรคระบาดในอนาคตที่อาจจะมีความร้ายแรงกว่าไวรัสโควิด-19 ก็เป็นได้...”
..................
ประเด็นเรื่อง 'วัคซีนพาสปอร์ต' ในประเทศไทย กำลังถูกกล่าวถึงอย่างมาก ภายหลังจากที่คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสไปแล้วจำนวนกว่า 25,000 ราย
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยืนยันเป็นทางการว่า คนไทยทุกคนที่ได้รับวัคซีนจะได้รับสมุดประจำตัว ที่เรียกว่า ‘สมุดปกเหลือง’ แสดงว่าเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้ว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการจัดทำหนังสือเดินทาง หรือเอกสารราชการต่างๆ ที่จำเป็น และสร้างความเชื่อมั่นให้สำหรับผู้คนที่จะพบเจอกัน
(อ่านประกอบ:ส่องสถานการณ์โลกกับการใช้ 'วัคซีนพาสปอร์ต' แผนระยะยาวที่ใช้รับมือโควิด)
ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับ วัคซีนพาสปอร์ต นั้น สำนักข่าวซีเอ็นบีซี ในต่างประเทศ เคยนำเสนอรายงานพิเศษเอาไว้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ณ เวลานี้ กระบวนการฉีดวัคซีนกำลังมีความคืบหน้าไปในหลายประเทศทั่วโลก ความสนใจของหลายประเทศจึงได้พุ่งเป้ากลับมาที่ประเด็นเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตกันอีกครั้ง
ย้อนไปเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมการบินระหว่างประเทศได้เคยประกาศว่าจะมีการเดินหน้าสำหรับบัตรผ่านดิจิทัลรูปแบบใหม่ เพื่อจะนำเอาสิ่งนี้เป็นหนทางในการกลับมาเดินทางระหว่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกักกันตัวเกิดขึ้น
โดยบัตรผ่านดิจิทัลที่ว่าดังกล่าว อยู่ในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่กำลังมีการทดสอบโดยผู้ให้บริการจำนวนกว่า 30 ราย ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะช่วยให้สายการบินและรัฐบาลสามารถรวบรวม เข้าถึง และแบ่งปันข้อมูลที่เข้ารหัสอันเกี่ยวกับประวัติการตรวจหาไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนของผู้โดยสารก่อนที่จะออกเดินทาง
ส่วนหอการค้านานาชาติ หรือ ICC และสภาเศรษฐกิจโลกหรือ WEF ก็ได้มีการสร้างแอปพลิเคชันที่มีลักษณะคล้ายกัน ในชื่อว่า ICC AOKpass และ CommonPass ซึ่งแอปพลิเคชันทั้ง 2 ตัวนี้จะช่วยให้ผู้เดินทางบันทึกสถานะทางการแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ขณะที่ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อาทิประเทศสวีเดนและประเทศเดนมาร์กก็ได้มีการเปิดตัวหนังสือเดินทางสุขภาพสำหรับประเทศตัวเองขึ้นมา และได้มีการให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านไอทีเข้ามามีส่วนในการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับหนังสือเดินทางสุขภาพที่ว่ามานี้ว่าจะออกมาในรูปแบบอย่างไรด้วย
@อะไรคือวัคซีนพาสปอร์ต
วัคซีนพาสปอร์ต เป็นบัตรผ่านสุขภาพแบบดิจิทัล หรือก็คือระบบการบันทึกข้อมูลว่าแต่ละคนนั้นได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้วหรือยัง
โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนโทรศัพท์หรือว่าเก็บไว้บนกระเป๋าเงินแบบดิจิทัล และจะมีการแสดงข้อมูลออกมาในระบบของคิวอาร์โค้ด ซึ่งนอกจากจะแสดงข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนแล้ว ระบบวัคซีนพาสปอร์ตดังกล่าวยังสามารถแสดงข้อมูลว่าบุคคลนั้นได้เคยผ่านการตรวจหาโควิดว่ามาผลเป็นลบมาแล้วหรือไม่
(**หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่าเอกสารการรับรองสุขภาพดังกล่าวนั้นไม่ใช่ของใหม่ เพราะเป็นระยะเวลากว่าหลายสิบปีมาแล้วที่ผู้เดินทางนั้นได้เคยมีการใช้สิ่งที่เรียกว่าสมุดปกเหลืองเพื่อจะเป็นเครื่องยืนยันว่ามีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางประเภท อาทิ อหิวาตกโรค,ไข้เหลือง และโรคหัดเยอรมันมาแล้วหรือยัง เมื่อต้องมีการเดินทางไปยังพื้นที่บางประเทศ)
แต่อย่างไรก็ตาม นี่จะถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่เหล่าอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ด้านไอทีทั่วโลกได้มารวมตัวกันเพื่อจะออกแบบทางเลือกทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะปรับปรุงความสามารถในการตรวจสอบและหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้แค่บัตรผ่านในรูปแบบกระดาษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ลองจินตนาการดูว่าถ้ามีคนอยู่ 1.8 แสนคนตรงหน้า และแต่ละคนก็มีกระดาษคนละชิ้นเพื่อที่จะรอให้ได้รับการตรวจและยืนยันข้อมูล” นายไมค์ แทนซีย์ ผู้อำนวยการด้านการจัดการที่บริษัทเอคเซนเชอร์ (Accenture) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำกล่าวถึงตัวเลขของผู้ที่เดินทางไปยังสนามบินชางงีของประเทศสิงโปร์ในแต่ละวันในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19
@เราต้องการบัตรผ่านสุขภาพทางดิจิทัลสำหรับการเดินทางใช่หรือไม่
นายแทนซีย์ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นหัวหน้าแผนกด้านการท่องเที่ยวและสถานบริการของบริษัทเอคเซนเชอร์เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับสายการบินยักษ์ใหญ่หลายแห่ง และเคยให้คำปรึกษาในเรื่องนโยบายบัตรผ่านดิจิทัลกับสายการบินขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ยืนยันกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า มีการวางแผนการเดินทางข้ามประเทศพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ที่มีกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนออกมา และสำหรับตัวเขามองว่าการทำบัตรผ่านสำหรับเรื่องการเดินทางข้ามประเทศนั้นควรเป็นสิ่งที่จะต้องมีความชัดเจน
“คำตอบที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ เราจำเป็นต้องมีบัตรผ่านดิจิทัลที่ว่านี้เพื่อจะกลับมาเดินทางข้ามประเทศกันอีกครั้งหนึ่ง”นายแทนซีย์กล่าว
และย้ำด้วยว่าการถกเถียงว่าจำเป็นต้องมีสิ่งนี้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้หลงประเด็นจากสิ่งที่ควรจะเป็น
“รัฐบาลอาจจะไม่ได้พูดว่าคุณจำเป็นต้องมีหรือไม่ แต่จากข้อบ่งชี้ก็เห็นแล้วว่าการเดินทางข้ามประเทศนั้นจะเป็นสิ่งที่ดูไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ถ้าหากการเดินทางข้ามประเทศนั้นจะต้องมีการขยายเวลาด้วยขั้นตอนการตรวจหาโควิด และต้องมีขั้นตอนการกักตัวที่เข้มงวดตามาอีก” นายแทนซีย์ระบุ
@แล้วประเด็นข้อกังวลด้านความปลอดภัยล่ะ
นอกเหนือจากนายแทนซีย์แล้วก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าพาสปอร์ตดิจิทัลในด้านสุขภาพนั้นจะเป็นทางที่เร็วที่สุดในการกลับมาเดินทางระหว่างประเทศกันอีกครั้งหนึ่ง
โดยนายเยส แรมซีย์ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการที่วิทยาลัยธุรกิจลัทเกิร์ต มหาวิทยาลัยฟลอริดากลัฟโคสต์ ได้แสดงความเห็นในเชิงว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะมีการนำเอานโยบายเรื่องบัตรผ่านดิจิทัลที่ว่านี้มาปรับใช้ แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้แสดงความกังวลในประเด็นเรื่องความปลอดภัยและข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจะทำให้เหล่าผู้ที่จะใช้บริการนั้นมีความรู้สึกยากที่จะยอมรับบัตรผ่านสุขภาพในเชิงดิจิทัลได้เมื่อเปรียบเทียบกับบัตรผ่านสุขภาพที่เป็นในรูปแบบของกระดาษที่สามารถสัมผัสได้
“พอมาเป็นประเด็นเรื่องแอปพลิเคชันที่มีการบันทึกข้อมูลทางด้านสุขภาพ มันก็จะมีเรื่องความกังวลทางด้านข้อมูลส่วนบุคคลและความกังวลด้านการฉ้อโกงตามมา”นายแรมซีย์กล่าว
ส่วนทางด้านบริษัท Accredify ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินการด้านการรับรองข้อมูลเอกสารในประเทศสิงคโปร์ และบริษัทนี้ยังเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้นำไปใช้เพื่อรับรองข้อมูลทางด้านสุขภาพเพื่อใช้ในด้านการเดินทาง ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กล่าวว่าระบบการรับรองแบบดิจิทัลนั้นมีการวางระบบที่ป้องกันการขโมยข้อมูล และไม่สามารถจะปลอมแปลงได้โดยง่ายนัก
“ข้อมูลเอกสารทางการแพทย์จะถูกจัดเก็บไว้เป็นส่วนตัวและปลอดภัยบนแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงได้โดยตัวผู้ใช้งานเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานมีสิทธิเลือกได้ว่าจะแบ่งปันข้อมูลสุขภาพของตัวเองให้กับใครบ้าง และจะให้เมื่อไร” โฆษกบริษัท Accredify ชี้แจงผ่านอีเมล
ล่าสุดจากผลสำรวจของเว็บไซต์ข่าว The Vacationer ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านการเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ระบุว่า ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 73.6 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าพวกเขาจะใช้พาสปอร์ตสุขภาพสำหรับกรณีไวรัสโควิด-19 หรือแอปพลิเคชันเพื่อให้สายการบิน หน่วยงานตรวจสอบที่พรมแดนยืนยันว่าพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และให้ยืนยันในเรื่องของผลการตรวจหาไวรัสโควิด-19ที่ผ่านมา
อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซี
@อะไรคือความท้าทายสำหรับพาสปอร์ตสุขภาพ
ต้องยอมรับว่าความสำหรับของพาสปอร์ตสุขภาพในเชิงดิจิทัลนั้นจะยึดโยงไปกับประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นสำคัญ ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดน้อยมากในประเด็นว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังต้องมีการวิจัยควบคู่ไปกับกระบวนการฉีดวัคซีน
ส่วนที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับเรื่องการใช้บัตรผ่านสุขภาพเช่นกัน ระบุว่า ยังไม่ต้องการให้หน่วยงานต่างๆรวมไปถึงผู้จัดการเดินทางระหว่างประเทศควบรวมเอาเงื่อนไขการฉีดวัคซีนไปเป็นเงื่อนไขการจะเดินทางระหว่างประเทศ
“นี่ก็เป็นเพราะว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในการจะป้องกันการแพร่เชื้อนั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน และการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกนั้นก็ยังอยู่ในวงที่จำกัดอยู่” โฆษก WHO กล่าว
ทั้งนี้การประสานงานกับหน่วยงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการออกวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับระบบข้อมูลการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลนั้นจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของการบังคับใช้วัคซีนพาสปอร์ตดังกล่าว
“ในการที่จะทำให้วัคซีนพาสปอร์ตเป็นมาตรการที่ใช้งานได้จริงในระดับสากล มันจะต้องมีแพลตฟอร์มอันเป็นมาตรฐานที่สามารถยอมรับได้ในทุกประเทศ อาทิเช่นระบบการใช้หนังสือเดินทางที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน” นพ.แฮร์รี่ เซเวอแรนซ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยการแพทย์ดุ๊กกล่าว
ณ เวลานี้ WHO กำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆรวมไปถึงสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนามาตรฐานสำหรับบัตรแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนในเชิงดิจิทัล โดยรูปแบบของบัตรสุขภาพดังกล่าวนี้นั้นจะมีการปรับปรังตัวเองโดยอัตโนมัติถ้าหากว่ามีวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ชนิดใหม่ๆถูกพัฒนาออกมา
@ผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าการพัฒนาวัคซีนพาสปอร์ตนั้นจะมีผลแผ่ขยายไปถึงในมิติทางด้านกฎหมายและทางด้านการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อทั่วโลกกำลังจะเข้าถึงวัคซีนและเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น
โดย ณ เวลานี้มีการประมาณการจากทาง WHO ว่ามีประชากรโลกจำนวนอย่างน้อย 3.6 พันล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และมีอีก 1.1 พันล้านคน ไม่สามารถจะยืนยันตัวเองได้อย่างเป็นทางการ
นั้นหมายความว่ามีอีกหลายคนที่ยังคงมีความจำเป็นจะต้องใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษอยู่
“ผู้คนจากบางภูมิภาค บางประเทศ หรือบางชุมชนอาจไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 หรือเข้าถึงการตรวจหาโควิดได้” พญ.ชาโรนา ฮอฟแมน ศาสตราจารย์ด้านชีวจริยธรรม วิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์นรีเซิร์ฟกล่าวและกล่าวต่อไปด้วยว่าประเทศหลายๆประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้จนถึงปี 2566 หรือนานกว่านั้น ดังนั้นการใช้นโยบายป้องกันไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางหรือรับบริการอื่นๆอาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รุนแรงขึ้นก็เป็นได้
ระบบนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาว่ามีการเลือกเปิดให้บริการเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มประเทศได้อีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการใช้บริการที่ร้านอาหารหรืองานอีเวนท์ต่างๆ ซึ่ง ณ เวลานี้นั้นประเทศอิสราเอลก็ได้สร้างสิ่งที่เรียกกันว่าพาสปอร์ตสีเขียวเอาไว้ทำหรับประชาชนของตัวเอง เพื่อจะใช้ในการเข้าถึงสถานที่สาธารณะแล้ว
ตัวอย่างพาสปอร์ตสีเขียวของประเทศอิสราเอล (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังจะมีการยกเลิกมาตรการการให้ใส่หน้ากาก ซึ่งนี่ก็อาจจะขยายประเด็นปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มได้อีกเช่นกัน
“เมื่อชุมชนหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวในทิศทางนี้ ชุมชนอื่นๆก็จะเคลื่อนไหวตามไปในทิศทางเดียวกันเช่นกัน ดังนั้นสำหรับการตัดสินใจในระดับประเทศแล้ว ในอนาคตคุณอาจจะพบว่าวัคซีนการ์ดนั้นจะกลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว” นพ.เซเวอร์แรนซ์กล่าว
@นี่จะหมายความอย่างไรสำหรับอนาคตของการเดินทางข้ามประเทศ
ท้ายที่สุดแล้วการเริ่มต้นใหม่ของการเดินทางระหว่างประเทศนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความเต็มใจของหลายประเทศเป็นสำคัญ ว่าหลายๆประเทศนั้นจะเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยียืนยันตัวบุคคลหรือไม่
โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังคงมีการปิดพรมแดนในหลายๆประเทศสำหรับนักท่องเที่ยว หลายๆรัฐบาลก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะจะข้อตกลงทวิภาคีหรือการตกลงในเรื่องการเดินทางแบบฟองสบู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการเลือกจับคู่เพื่อนบ้านของตัวเองก่อนจะเปิดพรมแดนให้กว้างมากขึ้น
แต่ถึงกระนั้นนายแทนซีย์ ระบุว่า "ขณะนี้ เรายังอยู่ห่างจากการเดินทางทางอากาศอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนด้วยกัน ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้จะต้องมีการทำข้อตกลงกันทีละหนึ่งถึงสองประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปก่อน "
ส่วน นพ.เซเวอร์แรนซ์กล่าวว่า "การที่มีเทคโนโลนีสมัยใหม่ต่างๆเข้ามาช่วยเหลือในด้านการเดินทางรวมไปถึงบัตรผ่านดิจิทัลนั้น สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวให้ดีก็คือการรับมือกับความปั่นป่วนที่อาจจะเกิดในอนาคต "
“ถ้าหากเราพัฒนาระบบการตรวจสอบพาสปอร์ตสุขภาพ รวมไปถึงระบบติดตามต่าๆให้มีความเหมาะสม ทำให้ยอมรับในระดับสากลจนเป็นมาตรฐาน สิ่งนี้จะเป็นระบบสำคัญที่จะช่วยให้เรารอดจากโรคระบาดในอนาคตที่อาจจะมีความร้ายแรงกว่าไวรัสโควิด-19 ก็เป็นได้” นพ.เซเวอร์แรนซ์กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://www.cnbc.com/2021/03/05/digital-health-passport-will-i-need-proof-of-vaccine-to-travel-abroad.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage