"....ปีที่แล้ว อย่างที่เรียนว่าคณะกรรมการก็ดูตามเนื้อผ้าเป็นหลัก ดูเนื้องานเป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วน ว่ากลุ่มไหน จะเป็นเท่าไหร่ ปีนี้ คิดว่าก็เป็นบทเรียนเหมือนกัน ว่าเมื่อพิจารณาขั้นต้นเสร็จแล้ว กรรมการที่จะพิจารณาอนุมัติอาจจะมาดูสัดส่วนอีกรอบหนึ่งก่อนจะพิจารณาอนุมัติ เพื่อให้เห็นการกระจายตัวของทุน กระจายตัวไปยังกลุ่มต่างๆ กลุ่มผู้ขอต่างๆ ตั้งแต่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่เป็นธุรกิจ นิติบุคคลที่เป็นสมาคม มูลนิธิ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทางสำนักงานก็เตรียมที่จะดูสัดส่วน ทำสรุปกลุ่มข้อมูลที่ชัดเจน ให้กับคณะอนุกรรมการบริหารให้รับทราบ..."
......................................................
ภายหลังจากที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุน ปี 2564 โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการระหว่างวันที่ 20 ม.ค.2564-19 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความสนใจต่อผู้ที่ประสงค์จะยื่นขอรับทุนเป็นอย่างมาก
มากทั้งในประเด็นที่ใครหน่วยงานแห่งไหนจะได้รับงบประมาณสนับสนุนบ้าง? รวมไปถึงในประเด็นสำคัญที่ว่า การให้ทุนในปีนี้จะมีสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2563 ที่เผชิญกับบททดสอบหนาหนักมาแล้ว อันเนื่องจากข้อร้องเรียนหลายประการของเครือข่ายภาคประชาชน ที่ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ ขอให้มีการระงับการให้ทุนงบกว่า 300 ล้านบาท เนื่องจากการให้ทุนอาจเอื้อทุนใหญ่หรือไม่, ระยะเวลาในการเปิดรับสมัครน้อยเกินไปเพียง 15 วัน, กรอบเวลาในการเสนอโครงการวงเงิน 5 ล้านบาท รวม 157 โครงการมีเวลาเสนอต่อคณะกรรมการน้อยเกินไป เฉลี่ยเพียงรายละ 5 นาที
การอนุมัติให้ทุนในปี 2564 นี้ จะมีปัญหาซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่? การมองปัญหาในอดีตเพื่อถอดเป็นบทเรียนสำคัญนำมาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สอบถามความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนแนวทางการอนุมัติจัดสรรทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในปี 2564 มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
@ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดรับข้อเสนอโครงการแล้ว โดยกรอบระยะเวลา เริ่ม 20 ม.ค.2564-19 ก.พ.2564 ถือว่าน้อยไหมกับเวลา 30 วัน ?
ธนกร : ไม่น้อยครับ 30 วันนี่เป็นเวลาที่เป็นทางการ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอผ่านระบบออนไลน์ เป็นช่องทางเดียวแล้วที่ผ่านมา โดยเราทำงานในเชิงการสื่อสารประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่ากลางเดือน ม.ค. กองทุนจะเปิดรับนะ คนที่ติดตามข่าวสารกองทุนมาเสมอก็รับรู้ รับทราบว่ากองทุนจะเปิดรับทุน มาแล้ว 3 เดือนก่อนหน้านี้ ส่วน 1 เดือน ไม่มากไม่น้อยเกินไป อย่างปีที่แล้ว ด้วยเวลาจำกัด เราใช้เวลาแค่ 15 วัน ก็คิดว่าเป็นเวลาที่รอบคอบแล้วก็พอดีพอประมาณ
@ ถือเป็นการรับฟังเสียงท้วงติงจากภาคประชาชนในคราวที่แล้วหรือไม่ ?
ธนกร : ใช่ คือ ข้อทวงติงหรือความไม่สบายใจทุกเรื่องเลย เรานำมาถอดบทเรียน แล้วก็สรุป ปรับปรุงการทำงาน เช่น เรื่องระยะเวลาเปิดรับสมัคร 30 วัน แล้วระยะเวลาของการพิจารณาปีที่แล้วก็สั้นมาก ซึ่งผู้จัดการก็พยายามชี้แจง ทำความเข้าใจว่าด้วยความที่ระยะเวลาจำกัด ก็ใช้วิธีการพิจารณาแบบ กรรมาธิการงบประมาณ คือ พิจารณาต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืนเลย แต่ปีนี้ เรารู้ว่าภาวะแบบนั้น ไม่ควรจะทำบ่อยๆ ปีนี้ก็เลย กำหนดช่วงเวลาในการพิจารณาหลังจากปิดรับสมัครแล้ว 45 วัน
โดย 45 วันเราก็คำนึงถึงว่าสำหรับโครงการขนาดกลาง มูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ก็คงจะเป็นแนวเหมือนปีที่แล้ว คือ ให้เขามาชี้แจง เสนอโครงการ โดยเวลาก็อาจจะยืดหยุ่นมากกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วก็คือ เรายอมรับว่าการจัดคิวผิดพลาด บางทีเขามารอหลายชั่วโมง ได้นำเสนอ 5 นาที ก็สร้างความรู้สึกไม่ดีให้แก่ผู้ขอทุน
แต่ปีนี้ เรามั่นใจว่าเราน่าจะจัดคิวในการนำเสนอได้ชัดเจน ถูกต้อง จัดเวลาให้กับคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอให้ไม่แน่นจนเกินไป เพื่อให้มีเวลาในการที่จะพิจารณาให้รอบคอบ 45 วันก็คิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาโครงการแล้วไทม์ไลน์ที่วางไว้คือ วันที่ 19 ก.พ.2564 เมื่อเราปิดระบบหลังจากนั้น จริงๆ แล้ว ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป เราก็จะเริ่มดูเอกสารหลักฐานกันแล้วว่าหลักฐานครบหรือไม่ครบ
ถ้าครบเราก็ดูต่อเนื่องไปถึง 10 วัน ที่เราปิดระบบ แล้วปีนี้ ก็จะมีการเปิดเผยข้อมูล ผู้ที่ยื่นขอมาทั้งหมดทางเว็บไซต์ด้วยนะครับ ต่างจากปีที่แล้ว ปีที่แล้วอย่างที่บอกว่าด้วยความกระชั้น เราก็อยากเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง แต่ด้วยกลไก ทำให้เราทำงานไม่ทัน
***เปิดเผยชื่อผู้ยื่นเสนอโครงการทั้งหมด***
ปีนี้ หลังจากเราปิดระบบ หลังจาก 5 วันทำการ เราจะเปิดเผยชื่อของผู้ยื่นขอทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ของกองทุน และเราก็วางไทม์ไลน์ว่า เมื่อปิดระบบแล้ว เปิดเผยชื่อแล้ว กองทุนจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน บวกลบนิดหน่อย ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ไม่เกี่ยวว่าโครงการดีหรือไม่ดี เราจะไม่ใช่อำนาจดุลยพินิจตรงนั้นเลย ดูแต่เอกสารล้วนๆ ว่าถูกหรือไม่ ซึ่งเราจะเริ่มส่งข้อมูลให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ ที่ตั้งกรอบเวลากำหนดไว้ 26 ก.พ. นับไป 45 วัน ก็จะมีการไปแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในชุดต่างๆ ก็จะมีเวลาตั้งแต่ 26 ก.พ.ไปถึง 11 เม.ย. เดือนครึ่งเลยนะครับ
คาดว่าในช่วงเดือน เม.ย.ทั้งเดือน ก็จะมีการเข้าสู่กระบวนการ หลังจากกระบวนการขั้นต้นเสร็จแล้ว
อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ ก็จะเสนอให้กับอนุกรรมการบริหาร ซึ่งจุดนี้อยากเรียนว่ามีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน องค์ประกอบไม่ซ้ำ อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการก็ชุดหนึ่ง ที่จะพิจารณาเบื้องต้น แล้วส่งให้อนุกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ แยกกันชัดเจน เมื่ออนุกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติแล้ว สำนักงาน ก็จะนำเรื่องเสนอให้กับบอร์ดใหญ่รับทราบ โดยมีเงื่อนไขรับทราบว่า โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สำนักงานต้องทำรายละเอียด เหตุผลที่มาที่ไปว่าทำไมถึงอนุมัติ จุดเด่นอย่างไร เป็นต้น เพราะฉะนั้น จุดนี้ คิดว่าสิ่งที่เคยเป็นประเด็นข้อร้องเรียน ความไม่สบายใจทั้งหมดในปีที่แล้ว เรามาปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด แล้วเราก็มั่นใจว่าเราสามารถทำได้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ต้นปีด้วยครับ
@ ดูเหมือนปีนี้เน้นเรื่องความโปร่งใส เช่น มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ขอรับทุน ปีที่แล้วมีหรือไม่ ?
ธนกร : ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ขึ้นเว็บไซต์ ไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ
@ การเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ มีข้อดีอย่างไร ?
ธนกร : ข้อดีก็คือ อย่างการเปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร อย่างน้อยเป็นการแสดงความตรงไปตรงมาตั้งแต่เริ่มต้น ว่ามีผู้มาสมัครเท่าไหร่ มีผู้ผ่านไปเท่าไหร่ ไม่สามารถมีชื่อลอยมาจากไหนได้ ทุกอย่างต้องเข้าระบบ เดินตามระบบ เดินตามขั้นตอน จากหนึ่งไปสอง สาม สี่ แล้วทุกคนจะได้สบายใจ ถ้าไม่มีชื่อตั้งแต่ต้น แล้วมามีชื่อตอนสุดท้าย อันนี้จะเป็นปัญหา
แนวนโยบายของกองทุน ผมในฐานะผู้จัดการตระหนักอยู่เสมอว่า ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง คือเราทำเรื่องเกี่ยวกับสื่อ เกี่ยวกับสาธารณะ แม้เงินน้อย แต่เราก็ต้องทำให้โปร่งใส และให้เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม เพราะการผลิตสื่ออยู่ที่ความน่าเชื่อถือของสังคม ถ้าสื่อสารออกไปแล้ว คนไม่เชื่อก็ล้มเลย จบเลย
@ มีประเด็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในปีที่แล้ว ที่มองว่า การให้ทุนไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ หรือพันธกิจของกองทุน มีการเอื้อทุนใหญ่ ขณะที่ภาคประชาชน องค์กรขนาดเล็ก หรือสถาบันการศึกษาได้ทุนในสัดส่วนที่น้อย ในปีนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องสัดส่วนทุนไหม ?
ธนกร : ปีที่แล้ว อย่างที่เรียนว่าคณะกรรมการก็ดูตามเนื้อผ้าเป็นหลัก ดูเนื้องานเป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วน ว่ากลุ่มไหน จะเป็นเท่าไหร่ ปีนี้ คิดว่าก็เป็นบทเรียนเหมือนกัน ว่าเมื่อพิจารณาขั้นต้นเสร็จแล้ว กรรมการที่จะพิจารณาอนุมัติอาจจะมาดูสัดส่วนอีกรอบหนึ่งก่อนจะพิจารณาอนุมัติ เพื่อให้เห็นการกระจายตัวของทุน กระจายตัวไปยังกลุ่มต่างๆ กลุ่มผู้ขอต่างๆ ตั้งแต่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่เป็นธุรกิจ นิติบุคคลที่เป็นสมาคม มูลนิธิ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ทางสำนักงานก็เตรียมที่จะดูสัดส่วน ทำสรุปกลุ่มข้อมูลที่ชัดเจน ให้กับคณะอนุกรรมการบริหารให้รับทราบ
ส่วนวัตถุประสงค์ของกองทุน อันนี้ก็ได้พูดคุยในบอร์ดใหญ่ด้วย ซึ่งข้อสรุปก็คือ ตั้งใจให้ทุกกลุ่มอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นองค์กรประกอบอาชีพ เป็นมืออาชีพ ทำธุรกิจอยู่ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร สถาบันการศึกษา หน่วยงาน มูลนิธิ ให้ทุกกลุ่ม ไม่ได้กันไว้สำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันนี้ชัดเจน เพียงแต่ว่าเราเองก็คำนึงถึงการกระจายตัวที่เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของสำนักงาน ก่อนส่งให้อนุกรรมการบริหารอนุมัติในรอบสุดท้าย เราก็จะจัดกลุ่มแยกแยะให้เห็นแต่บริษัทที่ทำกำไร ก็ยื่นขอได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม
***คาด ปลายเดือน เม.ย.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุน***
@ คาดว่าน่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้ทุนเมื่อไหร่ ?
ธนกร : ตั้งเป้าไว้ว่าประมาณปลายเดือน เม.ย. เพราะไทม์ไลน์ที่วางไว้คือ อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ น่าจะสามารถเสนอผลการพิจารณาเบื้องต้นได้ในประมาณกลางเดือน แล้วก็ในช่วงกลางเดือนเช่นเดียวกัน อนุกรรมการบริหาร ก็จะอนุมัติได้ แล้วเราก็จะเสนอให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ คือคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ท่านวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน เพื่อรับทราบรายละเอียดในโครงการขนาดใหญ่ก่อน แล้วเมื่อประกาศแล้วเราก็จะแจ้งให้มาทำสัญญาภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ดังนั้น ถ้าดูตามตารางเวลาที่กำหนด ภายในเดือน พ.ค.ปีนี้ เราหวังว่าจะสามารถทำสัญญาให้ผู้รับทุน ปี 2564 ได้แล้วเสร็จทั้งหมด
@ ขอสอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ปีที่แล้ว ?
ธนกร : เมื่อปีที่แล้ว เราทำสอง-สามอย่าง มีทั้งชี้แจงโดยตรง ชี้แจงผ่านสื่อ และได้ไปชี้แจงกับหน่วยงานที่เชิญเราไป ทั้งในวุฒิสภา และกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ เราได้พบกับผู้ร้องเรียนโดยตรงด้วย ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน หลังจากนั้นทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ เข้าใจว่าเป็นที่ยุติเรื่อง ก็คือหายสงสัย
ส่วนการไปฟ้องศาลปกครองไม่มีนะครับ ยังไม่ถึงขั้นนั้น แล้วก็อย่างที่บอกว่าทุกเรื่องเราพร้อมที่จะชี้แจง ไม่เกี่ยงที่จะชี้แจง บางกรณีก็เคยมีคนมาที่กองทุนด้วย มาขอดูรายละเอียดโครงการของตัวเอง เราก็ให้ดู เพียงแต่ว่า เมื่อจะไปขอดูของคนอื่นที่ได้รับเลือก เราก็บอกว่ามีข้อจำกัดด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและเป็นลิขสิทธิ์ ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
@ กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรยุติเรื่องโดยชี้ว่าโปร่งใส ?
ธนกร : ครับ ชัดเจน ถูกต้อง เรายืนยันว่ากระบวนการจัดสรรทุนปี 2563 ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามระเบียบ ทุกอย่าง และกระบวนการก็มีความโปร่งใส ถือเป็นที่ยุติ ผู้รับทุนทั้งหมดก็เข้ามาทำสัญญาเป็นทีเรียบร้อย ตอนนี้ก็เข้าสู่การส่งงานงวดที่สองแล้วครับ
ปีนี้ กองทุนมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากที่จะสร้างสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ สร้างระบบนิเวศน์สื่อให้เกิดเนื้อหาสื่อที่สมดุลในสังคมไทย ทุนเราเองมีน้อยมาก ที่ต้องนำมาจัดสรร 300 ล้าน นี่ถือว่าน้อยมาก ขณะที่มีผู้ต้องการ ขอมาจำนวนมาก ดังนั้น วันที่เราประกาศผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ก็จะมีเพียง 10% เท่านั้น ที่สมหวัง ส่วนใหญ่ 90% ก็เป็นผู้ผิดหวัง เราก็อยากให้กำลังใจทุกคน ก็เป็นข้อจำกัด ก็ขอให้เข้าใจ แต่เราก็ให้ความมั่นใจได้ว่าถ้าเป็นตัวจริง เสียงจริง ทำจริง เขียนโครงการดีจริง ทีมงานดี มีคุณภาพ เราเชื่อว่ากรรมการก็จะอนุมัติให้ทุนอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น อยากให้ความมั่นใจว่านี่คือจุดยืนของกองทุนที่ต้องการให้สังคมเกิดความเชื่อถือ และเราอยากสร้างสื่อที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์กับสังคมครับ
.............................……..
***ควรมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ-อย่ายึดติดระบบราชการ***
นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
@ มีข้อเสนอแนะใดต่อกองทุนพัฒนาสื่อฯ ในปีนี้ ?
เข็มพร : ประเด็นที่หนึ่ง แนวคิดเรื่องของการมีส่วนร่วมยังเป็นปัญหา ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้อยู่ภายใต้กรอบของระบบราชการ ที่เป็นคนวางทั้งเรื่องของวิธีคิด หรือเรื่องของเนื้อหา ยุทธศาสตร์ ควรจะให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคสังคมอย่างแท้จริง
ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ถ้าอยากเข้ามาใช้เรื่องของกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคมในมิติอย่างไรบ้างที่มีความหลากหลาย แต่ไม่ใช่เป็นกรอบวิธีคิดว่าต้องแก้ไขปัญหาด้วยยุทธศาสตร์แบบนี้นะ เช่น ยุทธศาสตร์แบบรักชาติ แบบวิธีการหรือรูปแบบเดียวจริงๆ ยุคปัจจุบันมีความหลากหลายของกระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา ควรให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ประเด็นที่สอง เรื่องของการกระจายทรัพยากรและทุนให้เกิดความทั่วถึง และโปร่งใสของกระบวนการที่จะคัดเลือกโครงการ หรือพิจารณา ควรจะให้เกิดความโปร่งใสและไม่เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่ามีการล็อคสเปกหรือเปล่าเช่น ถูกมองว่าควรให้กลุ่มที่แนวคิดตรงกันกับยุทธศาสตร์ของภาครัฐอย่างเดียวหรือเปล่า
ควรมีความโปร่งใส กระบวนการตรวจสอบได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดกระบวนการตั้งคำถามจากสังคม เหมือนคราวที่แล้ว มีความกังขา จนกระทั่งเกิดการเข้าสู่กระบวนการที่จะดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย ดังนั้น กองทุนสื่อจะต้องพิสูจน์ และแก้ปัญหาตรงนี้ให้ชัดเจน เพราะแนวคิดโดยกฎหมายแล้ว กองทุนนี้เป็นกองทุนของสังคม ของประชาชนไม่ใช่กองทุนของภาครัฐ
@ ปี 2564 ทราบว่ามีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง เช่น ปีนี้ เพิ่มระยะเวลาการสมัครเป็น 30 วัน จากเดิมในปีที่แล้ว มีระยะเวลาเพียง 15 วัน และจะมีการใช้เวลาพิจารณาถึง 45 วัน คิดว่าเพียงพอไหม มีอะไรที่ควรจะปรับเปลี่ยนอีก ?
เข็มพร : ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่นี่เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของกระบวนการ แต่ว่ากระบวนการคัดเลือกมันมีมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของระยะเวลา มันเป็นเรื่องตั้งแต่กรอบวิธีคิด กระบวนการคัดสรร กลั่นกรอง โครงการรอบแรก หรือตัวคณะกรรมการที่ลงมาคัดเลือกว่ามีความหลากหลาย มีมุมมอง มีมิติที่รอบด้านหลากหลายไหม จริงๆ มันมีมากกว่าเรื่องแค่ระยะเวลา
@ ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสังคม ควรมีเขียนไว้เป็นยุทธศาสตร์หรือไม่ ในเรื่องการพิจารณาทุน
เข็มพร : จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องเปิดรับโครงการ มันขึ้นอยู่กับตั้งแต่ตัวการจัดทำยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากร ว่าจะทำให้เกิดนวัตรกรรมหรือการมีส่วนร่วมอย่างไร ตรงนี้ ซึ่งก็มีกรรมการ มีการแบ่งสัดส่วนอย่างไร มีการทำงานเป็นเชิงรุกอย่างไร เป็นเจ้าของร่วมอย่างไร ก็ต้องมองหลายมิติ การให้ทุนเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่ง แต่กระบวนการบริหารจัดการกองทุน มันยังมีอีกหลายมิติ
***ต้องพร้อมชี้แจงสังคม ต้องตรวจสอบได้***
@ ในปีที่แล้วมีประเด็นหนึ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้อง คือมีการเอื้อทุนใหญ่ สัดส่วนของภาคประชาชนและสถาบันการศึกษาได้ทุนน้อยเกินไป เหล่านี้ ควรอยู่ในยุทธศาสตร์ด้วยไหม ?
เข็มพร : ใช่ค่ะ ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจถึงสัดส่วนการแบ่งงบประมาณหรือตัวที่จะขับเคลื่อนตรงนี้ ควรจะต้องชี้แจง ให้สังคมได้ทราบและตรวจสอบได้
@ ข้อเสนอโครงการแบบไหนที่คุณอยากเห็น ?
เข็มพร : คืออยากเห็นข้อเสนอโครงการที่ไม่ได้มองว่า กองทุนเป็นแค่แหล่งทุนที่เรามาขอทุน ได้ทุนไปทำงาน แต่เป็นวิธีคิดของความรู้สึกที่อยากเป็นพาร์ทเนอร์ อยากเป็นหุ้นส่วน อยากเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา อันนี้คือที่พูดไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เสนอมาจะมองแบบนี้นะ แต่หมายถึงว่า กองทุนก็ต้องคิดกับเขาแบบนี้ กองทุนต้องคิดกับคนที่เสนอโครงการแบบนี้ด้วยค่ะ ถึงจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ เวลาที่ไปแนะนำยุทธศาสตร์ว่าเขียนยังไงถึงจะได้เงิน แบบนี้ควรจะเลิกซะ แบบที่ไปเปิดการประชุมแนะนำเสนอผู้ขอทุนว่า เขียนอย่างไรจะได้ทุน มันไม่ใช่เป็นการที่ทุกคนอยากได้ทุน แต่ทุกคนควรเอาทุนที่เขามีอยู่มาร่วมกับกองทุน ซึ่งอาจไม่ใช่เงิน แต่เป็นทุนทางความคิด เป็นทุนทางด้านเครือข่าย ทุนด้านพื้นที่ หรือสิ่งที่เขามี คือทุกคนมีทุนอยู่ แต่เขาจะนำสิ่งที่เขาเป็นเจ้าของนั้น มาร่วมกันยังไง แล้วก็ให้เกิดการคิด การออกแบบร่วมกัน ก้าวทันกับสถานการณ์ที่วิกฤติหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตรงนี้น่าจะต้องช่วยกันออกแบบ
@ จากการร้องเรียนของภาคประชาชนปีที่แล้ว มีสิ่งใดที่กองทุนสื่อควรจะนำมาปรับหรือเป็นบทเรียน ?
เข็มพร : คิดว่าจริงๆ กองทุนสื่อก็ทราบ เพราะมีการสะท้อนเรื่องนี้อยู่เยอะ ก็คิดว่าจะต้องแก้ปัญหา แล้วก็ตอบโจทย์ให้สังคมรู้สึกเข้าใจและรู้สึกว่ากองทุนเป็นของประชาชนจริงๆ
อยากเห็นกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เป็นกองทุนที่สร้างสรรค์ เป็นนวัตรกรรมของสังคม สื่อนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกลไกให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง ไม่อยากให้ล้าหลังหรือติดยึดกับแบบเดิมๆ ควรจะมีการปรับตัวและสร้างสรรค์สังคมได้จริงๆ ค่ะ
@ ในฐานะที่คุณอยู่กับกองทุนมาตั้งแต่เริ่มต้น พันธกิจเป็นไปอย่างที่คุณอยากจะเห็นใช่หรือไม่ ?
เข็มพร : ก็มีหลายอย่างที่รู้สึกว่ายังไปไม่ถึง เพราะยังติดยึดอยู่กับกรอบเดิมๆ และการบริหารจัดการที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากกว่าการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
ในส่วนของพันธกิจ หรือเจตนารมณ์โดยตัวกฎหมายก็เขียนครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับการตีความ และการบริหารจัดการ การออกแบบโครงสร้างที่จะทำให้เจตนารมณ์สอดคล้องจริงๆ แต่ทุกวันนี้โครงสร้างต่างๆ ยังยึดติดกับระบบระเบียบราชการ
...................….
***ควรเป็นทุนที่ให้กับภาคประชาชน***
นายจารุวงศ์ ณ ระนอง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
@ มีความเห็นและข้อเสนอแนะใดต่อกองทุน และควรนำข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในปีที่ผ่านมา มาปรับอย่างไรบ้าง ?
จารุวงศ์ : หลังจากที่กองทุนจัดอีเวนท์ตระเวนไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการจัดสรรค์ทุนปี 2564 เพื่อรองรับกระบวนการจัดสรรทุนปี 64 ให้ประชาชนเห็นว่า
โปร่งใส ขาวสะอาด เพราะเป็นแนวทางที่มาจากข้อเสนอของภาคประชาชนทุกภาคแต่ทั้งหมดนี้มันคือเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กองทุนได้นำไปอ้างเพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาการให้ทุนในปี 2564 แต่งบปี 2564 จะถึงมือคนกลุ่มนี้ถึง10 % หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะ ผู้จัดการและกรรมการชุดนี้ มักเน้นย้ำเสมอเรื่องความเป็นมืออาชีพ งบที่ผ่านมาจึงไปตกอยู่ในมือของเอกชนรายใหญ่จำนวนมาก แต่ถามว่าเคยเห็นผลงานอะไรออกมาให้ได้ชื่นชมกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็น โครงการที่เกี่ยวกับมวยไทย ของบริษัทหนึ่งที่ค้างคา ไม่ปิดโครงการสักที จนล่วงเลยมากว่า 2 ปีแล้ว นี่คือมืออาชีพหรือไม่ เอาอะไรมาตัดสิน และกองทุนจะไม่เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์หน้าใหม่เกิดขึ้นในวงการเลยเหรอ ทั้งที่ทุนนี้ ควรเป็นทุนที่ให้กับภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมตัวเล็กๆ เพราะอย่าลืมว่าการทำสื่อทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่อย่างนั้นเมืองไทยคงไม่มียูทูปเบอร์ที่มียอดติดตามนับล้านคนในหลาย ๆ ยูทูปเบอร์
***ต้องคิดนอกกรอบ เปิดกว้างด้านเนื้อหา-นวัตกรรม***
@ การให้ทุนควรมีความหลากหลายในแง่ใดบ้าง ?
จารุวงศ์ : การคิดคอนเทนต์ จากผู้ผลิตสื่อโดยอิสระ จึงจะก่อเกิดนวัตกรรม เพราะฉะนั้นกองทุนควรเปิดกว้างในการคิดคอนเทนต์ มากกว่าการกำหนดกรอบมาจากกองทุนที่กำหนดมาในแต่ละปี จนกลายเป็นทุนที่สนับสนุนการทำสื่อเพื่อรณรงค์ มากกว่าสื่อเพื่อความบันเทิงเชิงสาระ อันนี้เป็นเพราะคนกำหนดนโยบายไม่คิดนอกกรอบ เป็นคนในวงราชการยุคเก่าทั้งที่เกษียณไปแล้วและยังเป็นข้าราชการที่กำลังใกล้เกษียณ กรอบการจัดสรรทุนจึงออกมาอย่างที่เห็น
ผลงานที่ออกมาควรมีความเป็นงานศิลปะมากกว่าการใช้ศาสตร์เชิงตรรกะมาเป็นตัวนำในการคิด เพราะแบบนั้นจะจำกัดกรอบความคิดของนักสร้างสรรค์ลง เราจะไม่ได้เห็นงานที่เป็นนวัตกรรมที่มาจากนักสร้างสรรค์ หรืออาจจะมีแต่คงน้อยมาก และไม่ควรเน้นยอดวิวเพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้งานที่ดีบางงานก็ไม่ค่อยมีคนดู แต่งานบางงานที่ไม่ได้มีสาระหรือสร้างสรรค์กลับมีคนดู แต่การผลิตงานดี ๆ ก็ควรสนับสนุนเพื่อป้อนออกสู่โลกโซเชียลมาก ๆ อย่างน้อยก็เพื่อชิงพื้นที่สื่อขยะที่แพร่กระจายอยู่เป็นจำนวนมากในโลกโซเชียล แม้งานบางงานยอดวิวจะน้อย แต่คนดูก็ได้ประโยชน์ ได้เสพความบันเทิงเชิงสาระ ได้เสพงานศิลปะที่มีคุณค่า
***หวั่นกองทุนวางบทบาทซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น***
ตัวอย่างที่ชัดอีกชิ้นหนึ่งคือ ในช่วงที่โควิดกำลังระบาดปีที่แล้ว กองทุนพยายามที่จะมีส่วนร่วมในการรณรงค์ ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้าง ทำสื่อรณรงค์เกี่ยวกับโควิด ไม่ว่าจะเป็นเพลง 1 เนื้อเพลง แปลเป็น 4 ภาษา เหนือ อีสาน กลาง ใต้แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ ยอดวิวก็ไม่ได้มากมาย แค่หลักร้อย อาจจะมองได้ว่าเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) หรือกระทรวงสาธารณสุข หรืออาจจะเกิดจากภาพลักษณ์ที่ประชาชนมองด้วยว่ากองทุนนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แม้จะเชี่ยวชาญด้านสื่อก็ตาม แต่ควรให้หน่วยงานที่เขารับผิดชอบโดยตรงทำหน้าที่ดีกว่า ส่วนกองทุนทำหน้าที่สนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่ออกมาในรูปแบบความบันเทิงเชิงสาระ เช่นการทำสื่อสารคดีท่องเที่ยวในสถานที่สวยๆ โดดเด่น ด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อกระตุ้นให้คนอยากเที่ยวในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อเป็น Soft Power ส่งออกไปสู่สายตาชาวโลก ให้ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทย เพราะช่วงสถานการณ์แบบนี้ คนส่วนใหญ่ทั่วโลกอยู่บ้าน เล่นโทรศัพท์ ดูกูเกิ้ล ดูยูทูป ดูทีวี เราต้องรีบทำ รีบออกไป วันหน้าโควิดหมดเปิดการท่องเที่ยวและเปิดการเดินทางเต็มรูปแบบ ประเทศไทยจะได้เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งในการเดินทาง อย่าไปทำสื่อที่ทำให้เครียด หรือต้องตีความอะไรมากมายในการรับชมในสถานการณ์แบบนี้
***หวั่น กองทุนหลงประเด็น-ล็อคสเปก***
แต่พอย้อนกลับไปกับกรอบที่กองทุนกำหนดในรอบการจัดสรรทุนปีนี้ กลับเน้นไปที่ด้านอื่นๆ ที่เน้นการรณรงค์ กองทุนหลงประเด็นและหลงบทบาทหน้าที่ของตนเองไปไกล เช่นกรอบการขอทุนที่กำหนดมา ให้ทำหนังรักชาติ ที่โดนโจมตีจนแทบไปต่อไม่ถูก
- หรือการเรียนรู้สิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมือง
- การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
- สร้างจิตสำนึกผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย
- การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
- การทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ
- รณรงค์เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม
- เชิดชูบุคคลทำความดี
- โทษและความเสี่ยงของสื่ออนไลน์
ตอนนี้จึงสับสนว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยกลายเป็นกองทุนรณรงค์เพื่อความรักชาติไปแล้วหรือย่างไร
ในขณะที่ทุนประเภทความร่วมมือ ก็ยังคลุมเครือเรื่องการล็อคสเป็ก ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ในข้อ 3.2.3 (2) ว่าต้องเคยทำบันทึกความเข้าใจหรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับกองทุนมาแล้ว จึงจะขอทุนประเภทนี้ได้
การจัดสรรทุนรอบนี้จึงอยากเห็นรัฐมนตรีและท่านรองนายกวิษณุ ออกมากำกับดูแลการทำงานของกองทุนอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ข้าราชการยุคเก่า ลากจูงจนกลายเป็นปัญหาเหมือนปีที่ผ่านๆมา
***หวั่นเนื้อหาคอนเทนต์ถูกตีกรอบ***
@ กรอบระยะเวลาในปีนี้ ที่เปิดให้เสนอโครงการ เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ?
จารุวงศ์ : ระยะเวลาในการเปิดรับ คือถ้ากองทุนเปิดให้ผู้ยื่นเสนอทุนมีอิสระในการคิดคอนเทนต์เอง โดยไม่ต้องทำตามโจทย์ที่กองทุนกำหนดหรือตีกรอบมา ระยะเวลาตามนี้เหมาะสมแล้ว เนื่องจากคนที่มีความพร้อม มีคอนเทนต์ที่ตนเองอยากทำ เช่นเพื่อนผมบางคนเขาคิดคอนเทนต์ไว้ในหัวและเขียนโครงการไว้ล่วงหน้ารอเลย เมื่อไหร่กองทุนเปิดให้ยื่นก็ยื่นได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน
แต่การเปิดให้ยื่นขอทุนในครั้งนี้ กองทุนให้คนสร้างสรรค์งานมีอิสระในการคิดคอนเทนต์เองแค่ 90 ล้านบาท จากงบ 300 ล้าน และใน90 ล้านยังขีดกรอบเป็น 4 กรอบในการผลิตอีก ในขณะที่ทุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่กองทุนกำหนดมาและต้องยื่นข้อเสนอตามโจทย์ กองทุนกันงบไว้ถึง 180 ล้านบาท และเป็นโจทย์ที่หลงยุคมาก เช่นหนังรักชาติ และอื่นๆตามที่กล่าวไว้แล้ว ดังนั้นระยะเวลาที่กองทุนเปิดให้ยื่นจึงอาจจะกระชั้นชิดไปนิดต่อการคิดงานตามโจทย์แบบนี้ และจะให้ประชาชนไม่คิดได้อย่างไรว่ากองทุนส่งซิกให้ใครคิดงานไว้ล่วงหน้าแล้วหรือเปล่า แต่สำหรับคนที่ผมรู้จัก ที่คุยกัน ระยะเวลาประมาณนี้เขารับได้ ผมรับได้ เพราะคนที่ผมรู้จักเขาพร้อมมาก แต่ไม่เคยได้ทุน
***จับตาหน่วยงานรัฐ อาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์***
สัดส่วนการให้ทุน จะเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่มีงบเป็นของตนเองอยู่แล้วเข้ามาได้ในหลายช่องทางมาก ขอได้มากกว่าหนึ่งโครงการด้วย ส่วนบริษัทรายใหญ่ก็เช่นกัน กองทุนพยายามจัดแบ่งขนาดโครงการเป็นใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อจะกีดกันรายย่อยและบุคคลธรรมดาให้หลุดไปหรือเปล่าที่ทำแบบนี้ เพราะในขณะที่ประชาชนทั่วไปหรือบุคคลธรรมดามีข่าวเล็ดลอดมาว่ากรรมการบางท่านและกองทุนเคยหลุดปากมาว่าไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นมืออาชีพ งบก้อนใหญ่จึงควรไปตกอยู่ที่บริษัทเอกชนรายใหญ่และผมคิดว่าหน่วยงานรัฐไม่ควรได้รับทุนนี้ไป เพราะอาจเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เช่นวัฒนธรรมจังหวัดยื่นขอทุนมา โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรรมการพิจารณา
ผมเชื่อว่าถ้ากองทุนใจกว้าง เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาได้รับทุน บริษัทเล็กๆ ได้สร้างสรรค์งานในรอบนี้ ภาพลบของกองทุนในปีที่ผ่านมาอาจจะเลือนลางจางหายไปบ้างก็เป็นได้
บทเรียนจากปีที่แล้ว และปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าประชาชนเขารู้ทัน และทราบว่าบางโครงการปีก่อนหน้านี้ยังปิดโครงการไม่ได้อีกหลายโครงการ และเป็นบริษัทใหญ่ๆ ด้วยนะ รวมทั้งมีใครเคยเห็นงานสื่อเจ๋งๆ ที่ได้รับทุนออกมาบ้างยัง ยูทูเปอร์ต่างจังหวัดทำงานคนเดียวยังออกมาเกิดอิมแพ็คกับคนได้เยอะกว่าทุนที่กองทุนจ่ายไปทั้งหมดซะอีก เพราะฉะนั้นยุคสมัยนี้แล้วกรรมการอย่าคับแคบ อย่าคิดว่าบุคคลธรรมดาจะสร้างงานดีๆได้ไม่เท่าทุนใหญ่รอบนี้ถ้ากรรมการไม่ปรับตัวอีก กองทุนและกรรมการเตรียมตัวรับผลกระทบครั้งใหญ่ได้เลย
…..........................
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2564 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอโครงการ หรือกิจกรรม เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2564 ผ่านเว็บไซต์ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลังจากปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 19 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ ทั้งสิ้น 1,342 โครงการ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทเปิดรับทั่วไป วงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท จำนวน 802 โครงการ , ประเภทเชิงยุทธศาสตร์ วงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท จำนวน 511 โครงการ และประเภทความร่วมมือ วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท จำนวน 29 โครงการ มูลค่ารวมทุกโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท
ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ใครจะได้รับงบประมาณบ้าง จะรอดพ้นจากคำครหาและข้อกังขาดังเช่นในปีที่แล้วได้หรือไม่ ต้องติดตามดูกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage