มีรายงานว่าประเทศจีนได้เริ่มจะให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคต่างๆแล้วกับทางกองทัพเมียนมา ในการสร้างไฟร์วอลเพื่อจะบล๊อกการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต การค้นหาทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และป้องกันการใช้งานเครือข่ายเน็ตเวิร์กเสมือนส่วนตัว (VPN) ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นถูกเปรียบเทียบกับม่านเหล็กในอดีต ในยุคสงครามเย็น แต่ทว่าในปัจจุบัน มันกลับเปรียบเสมือนไฟร์วอลที่จะทำหน้าที่ลดการไหลของข้อมูลในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการในภูมิภาคนี้
......................
จากสถานการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลทำให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นขึ้นเพื่อที่จะกดดัน อาทิ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. สหรัฐอเมริการะงับธุรกรรมการเงินของธนาคารกลางเมียนมาที่พยายามจะเคลื่อนย้ายเงินราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30,450 ล้านบาทออกจากธนาคารกลางของสหรัฐในนครนิวยอร์ก
แต่แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ออกมาก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีว่าจะคืนอำนาจ หรือเจรจาเพื่อหาข้อยุติต่อความขัดแย้งนี้ด้วยสันติวิธีแต่อย่างใด และยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรองประธานสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา ให้คำตอบว่า “เราเคยถูกคว่ำบาตรมาแล้ว และเราก็รอดมาแล้ว เราต้องเรียนรู้ที่จะเดินร่วมกับเพื่อนเพียงไม่กี่ประเทศ”
ทำให้ ณ เวลานี้ ประชาคมโลกเริ่มมองไปที่บทบาทของเพื่อนเพียงไม่กี่ประเทศที่ว่านั้นแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศจีนที่มีชายแดนติดกับเมียนมา
โดยสำนักข่าว Asia Times ของฮ่องกงจัดทำรายงานเกี่ยวกับบทบาทของประเทศจีนกับประเทศเมียนมาเอาไว้ ซึ่ง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมาเรียบเรียงและนำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
หลังจากการรัฐประหารในเมียนมา ทำให้ ณ เวลานี้ได้มีการอภิปรายอย่างจริงจังเกี่ยวกับบทบาทของประเทศจีนกับการเมืองภายในแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน โดยมีการคาดเดากันแล้วว่าเหตุผลของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เป็นผลมาจากกการที่นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาของรัฐได้เริ่มมีท่าทีขยับเข้าหาทางการจีนมากขึ้น จึงทำให้กองทัพเมียนมาเริ่มมีความไม่สบายใจกับท่าทีการพัฒนาความสัมพันธ์ดังกล่าว
โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือมีการกล่าวอ้างว่ามูลนิธิการกุศลของนางซูจีได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจจีน อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่าเงินที่เข้าสู่มูลนิธินี้มาจากทั้งในประเทศ และมาจากกลุ่มที่เรียกว่าเป็นเพื่อนของเมียนมาจากต่างประเทศ
ดังนั้น หลังการรัฐประหารมีรายงานว่ากองทัพได้กักตัวผู้บริหารหลายคนของมูลนิธิของนางซูจีด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่านางซูจีได้เริ่มจะตกลงแล้วว่าจะรับเอากลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากประเทศบังกลาเทศกลับคืนสู่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นเหตุผลที่มาจากการเจรจาที่ประเทศจีนเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ โดยย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาพบปะกับเจ้าหน้าที่ทางการบังกลาเทศ จนได้ข้อสรุปว่าจะมีการหารือเรื่องส่งตัวชาวโรฮิงญากลับประเทศเมียนมาในช่วงเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้การพบปะดังกล่าวนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้นำกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด ซึ่งนั่นทำให้กองทัพเมียนมามีความกังวลมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากนางซูจีได้พยายามที่จะโน้มเอียงไปทางประเทศจีนมากขึ้นด้วยการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาตามวิธีการของประเทศจีนแล้ว ความพยายามใดๆ ก็ตาม ที่จะถอยห่างจากข้อตกลงดังกล่าวนั้นย่อมเป็นการเสียหน้าต่อประเทศจีนเป็นอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์กันว่า หลังจากนี้กองทัพเมียนมาจะต้องมีความพยายามอย่างหนักที่จะเอาใจประเทศจีน อาทิ ขยายโครงการภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือการเพิ่มการนำเข้าทั้งสินค้าและการลงทุนจากประเทศจีนให้มากขึ้นไปอีก
แต่ว่าทั้งหมดที่ว่ามานั้นเป็นเรื่องของการคาดเดาบนสมมติฐานที่น่าจะเป็นไปได้ แต่ ณ ตอนนี้นั้น เริ่มมีความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายของประเทศจีนในเมียนมาแล้ว
ตามที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมานั้นกองทัพเมียนมามีสถานการณ์ตึงเครียดกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในเมียนมามาอย่างยาวนาน ซึ่งปัญหาความตึงเครียดที่ว่ามานี้ก็เป็นประเด็นที่ทำให้กรุงปักกิ่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือเนปิดอว์ได้
มีการรายงานว่า กองกำลังกองทัพสหรัฐว้าที่มีพื้นที่ปฏิบัติการณ์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมานั้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมีนัยยะสำคัญจากประเทศจีน ขณะเดียวกันกองทัพจากอาระกันจากรัฐยะไข่เองก็ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธที่ผลิตในประเทศจีนเช่นกัน
ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 มีข่าวปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไทยสนธิกำลังกันเข้ายึดอาวุธจีนลอตใหญ่ที่มีจุดหมายปลายทางไปยังประเทศเมียนมา แม้แต่ตัว พล.อ.มิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการเองก็ยังเคยออกมากล่าวว่ามีกลุ่มองค์กรก่อการร้ายปฏิบัติการณ์ในเมียนมา และกล่าวว่ามีต่างประเทศอยู่เบื้องหลังกองทัพอาระกัน
อ้างอิงวิดีโอจากไทยพีบีเอส
นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า กรุงปักกิ่งได้เคยสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายให้กับคณะกรรมการปรึกษาและการเจรจาการเมืองสหพันธรัฐ (the Federal Political Negotiation and Consultative Committee) เพื่อให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพในระดับสหภาพเมียนมาด้วยเช่นกัน และประเทศจีนยังได้ดำเนินการจำกัดอิทธิพลของประเทศตะวันตกในเมียนมาไปพร้อมๆ กันด้วย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือในปี 2559 สถานทูตจีนประจำประเทศเมียนมาออกคำเตือนไม่ให้อเมริกาลงพื้นที่ไปในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน โดยอ้างว่าให้เคารพต่อผลประโยชน์ของประเทศจีน
ดังนั้นจากที่กล่าวไปแล้ว ก็น่าจะสรุปได้ว่าประเทศจีนกำลังเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในบทบาทผู้เล่นคนสำคัญในกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพื่อที่จะนำกระบวนการนี้ไปเป็นข้อต่อรองหาผลประโยชน์ เมื่อต้องมีการเจรจาหารือกับกองทัพเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในประเทศ
โดยแม้ว่าประเทศจีนจะเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าและผู้ร่วมลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลมากที่สุดในเมียนมา แต่ก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนเมียนมาในช่วงก่อนการรัฐประหาร ว่าการลงทุนดังกล่าวนั้นจะมีประเด็นเรื่องการหาผลประโยชน์ให้กับครอบครัวทหารเมียนมาเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เห็นเด่นชัดก็คือ กลุ่มนักธุรกิจจีนนั้นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองชเวโก๊กโก๋ที่อยู่ชายแดนไทย-เมียนมา ริม อ.แม่สอด จ.ตาก ให้เป็นเมืองแห่งความบันเทิง โดยใช้เม็ดเงินไปทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (457,575,000,000 บาท) โดยการก่อสร้างดังกล่าวนั้นถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างทางกลุ่มนักธุรกิจและกองกำลังท้องถิ่นตามแนวชายแดน
เมืองชเวโก๊กโก๋ที่อยู่ชายแดนไทย-เมียนมา ริม อ.แม่สอด จ.ตาก (อ้างอิงรูปภาพจาก http://www.maesod.info)
ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมทางธุรกิจของประเทศจีนในลักษณะที่มีการติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นนั้นทำให้กองทัพเมียนมาเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกทำให้แตกแยกในแง่ของอำนาจของตัวเองที่ควรจะต้องเป็นส่วนกลาง
ดังนั้นจึงอาจจะพูดได้เลยว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นไม่ได้มีเหตุผลเพื่อที่จะจำกัดอำนาจและอิทธิพลของประเทศจีนในเมียนมาอย่างแน่นอน
โดยการรัฐประหารนั้นแม้จะนำมาซึ่งความไม่พอใจของทั้งสหรัฐฯ , สหภาพยุโรป (อียู) และอีกหลายประเทศในอาเซียน แต่ว่ามันกับกลายเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศจีนเข้ามามีอิทธิพลกับเมียนมามากขึ้นไปอีก เพราะว่ารัฐบาลทหารเมียนมานั้นถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติไปแล้ว จีนจึงจะกลายเป็นชาติเดียวที่จะเข้ามามีบทบาทในเมียนมาได้อย่างไร้คู่แข่ง และในทางกลับกันกองทัพเมียนมานั้นก็จะกลับมาหาผลประโยชน์กับทางจีนได้อีกครั้งหนึ่ง
ดังที่จะเห็นได้จากในเวทีการประชุมสภาความมันคงสหประชาชาติ (UNSC) ประเทศจีนก็เป็นประเทศแรกๆที่เริ่มขัดขวางไม่ให้ UNSC เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาว่าการรัฐประหาร
แม้ว่าทาง UNSC จะออกแถลงการณ์เรียกร้องและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางด้านประชาธิปไตยในเมียนมา ในเวลาต่อมากรุงปักกิ่งก็ได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับแยกจากทาง UNSC โดยเรียกร้องให้เกิดการพูดคุยหารือและความปรองดองโดยยึดเอาเจตนารมณ์และผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นที่ตั้ง
กลับมาที่ประเด็นของกองทัพเมียนมา ซึ่งต้องยอมรับประการหนึ่งว่าเหล่าบรรดาผู้นำกองทัพเมียนมานั้นไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องพึ่งพาการพบปะทางเศรษฐกิจกับชาติตะวันตกมากเท่ากับรัฐบาลพลเรือนที่จะต้องมีนโยบายสร้างความหลากหลายในมิติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับคู่เจรจาต่างๆ
แต่ ณ เวลานี้รัฐบาลพลเรือนที่ว่านั้นไม่ได้มีตัวตนอยู่แล้ว ดังนั้นประเด็นความหลากหลายทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอะไรอีก ทำให้ในอนาคตอันใกล้หลังจากนี้ผลประโยชน์ของประเทศจีนในประเด็นต่างๆจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางการเมืองของเมียนมามากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเองก็กำลังเผชิญกับการต่อต้านชาวจีนอย่างแข็งขันในหมู่สาธารณชนเมียนมา จนเป็นเหตุทำให้เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าประเทศจีนได้เริ่มโครงการการสร้างกำแพงชายแดนยาว 2,227 กิโลเมตรเพื่อป้องกันการไหลของประชากรจากทั้งเมียนมามาจีน และป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจีนหนีข้ามไปยังเมียนมา แต่การสร้างกำแพงก็ถูกคัดค้านเอาไว้เนื่องจากมีจดหมายคัดค้านจากทางกองทัพเมียนมา
ยิ่งไปกว่านั้นสื่อของรัฐจีนยังได้นิยามการรัฐประหารว่าเป็นแค่การปรับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งนี่ก็ส่งผลทำให้เกิดการประท้วงที่หน้าสถานทูตจีนในเมืองย่างกุ้งด้วยข้อกล่าวหาว่าจีนได้สนับสนุนทหารเมียนมา
อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว Channel News Asia
อีกทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาที่ประกาศว่าจะเข้าร่วมกับพันธมิตรชานมซึ่งมีทั้งไทย ฮ่องกง และไต้หวันเพื่อต่อต้านจีนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศจีนจะละเลยไม่ได้เลย เพราะถือว่าเป็นกิจกรรมการต่อต้านจีนที่กำลังเติบโตขึ้นและมีพื้นที่ความเคลื่อนไหวอยู่รอบชายขอบของประเทศจีนนั่นเอง
ดังนั้นก็เลยมีรายงานว่าประเทศจีนได้เริ่มจะให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคต่างๆแล้วกับทางกองทัพเมียนมา ในการสร้างไฟร์วอลเพื่อจะบล๊อกการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต การค้นหาทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และป้องกันการใช้งานเครือข่ายเน็ตเวิร์กเสมือนส่วนตัว (VPN) ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นถูกเปรียบเทียบกับม่านเหล็กในอดีต ในยุคสงครามเย็น แต่ทว่าในปัจจุบัน มันกลับเปรียบเสมือนไฟร์วอลที่จะทำหน้าที่ลดการไหลของข้อมูลในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการในภูมิภาคนี้
และยังมีรายงานข่าวต่อมาด้วยว่ากองทัพเมียนมาซึ่งได้รับความช่วยเหลือกับทางการจีนนั้นจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์แล้วเพื่อที่จะจำกัดการไหลข้อมูล อันจะนำไปสู่การสลายการชุมนุมในประเทศได้โดยง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานข่าวเรื่องกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ตัวใหม่นั้นจะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่นอน แต่เมื่อดูจากขนาดของผู้ชุมนุมในเมียนมาที่เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ณ เวลานี้แล้ว กองทัพเมียนมาอาจต้องใช้มากกว่าไฟร์วอลจากประเทศจีนเพื่อที่จะระงับเหตุการณ์ประท้วงก็เป็นได้
เรียบเรียงจาก: https://asiatimes.com/2021/03/chinese-firewalls-and-myanmars-transition/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/