“…แต่ล่าสุดอัยการยังไม่ได้ ‘สั่งฟ้อง’ แม้แต่คดีเดียว โดยเฉพาะการสั่งฟ้องกลุ่มรถหรูยี่ห้อลัมโบร์กินี ‘ล็อตแรก’ จำนวน 8 คดี เนื่องจากอัยการมีความเห็นไม่ตรงกับ ‘ดีเอสไอ’ ในประเด็นเกี่ยวกับรายชื่อผู้ต้องหา คือ ดีเอสไอเห็นว่าในแต่ละคดีมีกลุ่มผู้ต้องหา 8 ราย แต่อัยการเห็นว่าผู้ต้องหาบางรายในกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ จึงต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด…”
...................
ผ่านมาแล้ว 3 ปี 8 เดือน
หลังจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกเข้าตรวจค้นโชว์รูม บริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่าย ‘รถหรู’ และรถซุปเปอร์คาร์ยี่ห้อต่างๆ รวมทั้งตรวจค้นจุดอื่นๆรวม 5 จุด ก่อนอายัดรถหรู 122 คัน ไว้ตรวจสอบ เนื่องจากพบหลักฐานว่ามีการ ‘สำแดงราคาเป็นเท็จ’ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในเบื้องต้นกว่า 2,400 ล้านบาท
ต่อมา ‘ดีเอสไอ’ เข้าตรวจค้นบริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายรถหรูอีก 1 แห่ง คือ บริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ จำกัด และอายัดรถหรูได้อีกนับร้อยคัน ก่อนนำไปตรวจสอบว่ามีการสำแดงราคาและเสียภาษีนำเข้าถูกต้องหรือไม่ (อ่านประกอบ : บ.นำเข้ารถหรู‘เฟอร์มาฯ’ถูกกรมศุลฯอายัดจดทะเบียนปมค้างภาษีตั้งแต่ปี 57)
ผลการตรวจค้นและอายัดรถหรูที่มีหลักฐานว่าเสียภาษีนำเข้าไม่ถูกต้องทั้ง 2 ครั้ง มีผู้ต้องหาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก เป็นผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายรถหรูยี่ห้อลัมโบร์กินี (Lamborghini) ประกอบด้วย 2 บริษัท คือ บริษัท เบนซ์นครินทร์ ออโต้ กรุ๊ป ผู้นำเข้า และบริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่าย รวมทั้งมีบริษัทตัวแทนอิสระอีก 1 ราย
กลุ่มที่สอง คือ ผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายรถหรูยี่ห้อมาเซราติ (Maserati) คือ บริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่าย
สรุปรวมแล้วมีผู้ต้องหา 4 บริษัท และบุคคลธรรมดา 8 ราย แต่เมื่อศาลฯยังไม่มีคำตัดสินออกมาผู้ต้องหาทั้งหมดยังเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ อยู่
“เมื่อปี 2560 เราได้ใบอินวอยส์ (ใบแจ้งราคาสินค้า) ตัวจริงมาจากประเทศอิตาลี ผ่านสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา ซึ่งเดิมเราได้สอบถามเขาไปว่าราคารถที่ซื้อขายจริงๆอยู่ที่คันละเท่าไหร่ แล้วเขาส่งใบอินวอยส์ตัวจริงมาให้เรา โดยราคาในใบอินวอยส์สูงกว่าราคาที่ทั้ง 2 บริษัทสำแดงไว้เยอะ
คือ ราคาในใบอินวอยส์อยู่ที่ 10 ล้านบาท แต่เขามาสำแดงราคาเพียง 3-4 ล้านบาท เราจึงเปิดเป็นคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นจึงไปค้น อายัดและเริ่มทำคดี” แหล่งข่าวจากดีเอสไอย้อนที่มาการบุกค้นและอายัดรถหรูของบริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป และบริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(ที่มา : เอกสารข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560)
แต่ทว่าหลังผ่านไปเกือบ 4 ปี พบว่า 'อัยการ' ยังไม่มีการสั่งฟ้อง 'คดีรถหรู' แม้แต่คดีเดียว
เพราะจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 ก.พ.2564 พบว่าดีเอสไอตั้งคดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีนำเข้ารถหรูของบริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ ไว้เป็น 'คดีพิเศษ' รวมทั้งสิ้น 207 คดี หรือ 207 คัน บริษัทละประมาณ 100 คดี ขณะนี้ดีเอสไอได้สอบสวนเสร็จแล้ว 141 คดี และยังอยู่ระหว่างสอบสวน 67 คดี
โดยจำนวนคดีที่สอบสวนเสร็จแล้วทั้ง 141 คดีนั้น เป็นคดีที่ส่งให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องศาลฯ 132 คดี (เป็นการกระทำความผิดของเอกชนเท่านั้น) และส่งไปคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการอีก 9 คดี (เป็นการกระทำความผิดที่มีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำความผิดด้วย)
แต่ปรากฎว่าคดีที่ส่งไปให้อัยการ 132 คดีนั้น อัยการยังไม่ได้ ‘สั่งฟ้อง’ แม้แต่คดีเดียว
โดยเฉพาะการสั่งฟ้องกลุ่มรถหรูยี่ห้อลัมโบร์กินี ‘ล็อตแรก’ จำนวน 8 คดี เนื่องจาก 'อัยการ' มีความเห็นไม่ตรงกับ ‘ดีเอสไอ’ ในประเด็นเกี่ยวกับรายชื่อผู้ต้องหา คือ ดีเอสไอเห็นว่าในแต่ละคดีมีกลุ่มผู้ต้องหา 8 ราย แต่อัยการเห็นว่าผู้ต้องหาบางรายในกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ จึงต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด
“อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำความเห็นแย้งในประเด็นรายชื่อผู้ต้องหาไปแล้ว 7 คดี และเรื่องได้ถูกส่งไปยังอัยการสูงสุดสูงสุดชี้ขาด ถ้าอัยการสูงสุดชี้ขาดแล้วก็เป็นไปตามนั้น ส่วนอีก 1 คดี ดีเอสไอยังไม่ได้ทำความเห็นแย้งไป โดยอยู่ระหว่างทำความเห็น จึงทำให้อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องทั้ง 8 คดี” แหล่งข่าวจากดีเอสไอกล่าว
สำหรับคดีที่ส่งไปยังป.ป.ช. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง 9 คดี นั้น เนื่องจาก ป.ป.ช.มีอำนาจพิจารณาว่าจะทำคดีเองหรือให้พนักงานสอบสวนชุดเดิมทำคดีต่อ ซึ่งหลังจากพิจารณาแล้ว ป.ป.ช. ส่งกลับมาให้ดีเอสไอดำเนินการภายใต้อำนาจของ ป.ป.ช. จำนวน 8 คดี เพราะป.ป.ช.มีคดีอื่นๆที่ค้างอยู่มาก
เมื่อดีเอสไอสอบสวนเสร็จจะส่งให้อัยการฟ้องต่อไป แต่หากอัยการไม่ฟ้อง ทาง ป.ป.ช.มีอำนาจส่งฟ้องเองได้อีก
(ที่มา : กรมสอบสวนคดีพิเศษ 1 ก.พ.2564)
แหล่งข่าวจากดีเอสไอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้ดีเอสไอรับคดีหลีกเลี่ยงภาษีรถหรูของบริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป และบริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ ไว้เป็น 'คดีพิเศษ' รวมทั้งสิ้น 207 คดี แต่เนื่องจากการบุกค้นทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวนั้น พบรถหรูอีกกว่า 100 คัน ที่มีเอกสารหลักฐานว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า
ดังนั้น ดีเอสไอทยอยนำรถหรูทั้ง 100 คันที่เหลืออยู่นั้น ไปตั้งเป็นคดีพิเศษและสอบสวนต่อไป ส่งผลให้ในภาพรวมการบุกจับกุมรถหรูหลีกเลี่ยงภาษีครั้งนั้น มีรถหรูเข้าเกี่ยวข้องกว่า 300 คัน หรือกว่า 300 คดี โดยคดีมีอายุความ 15 ปีนับตั้งแต่วันที่มีการกระทำความผิด
“เราจะทยอยทำต่อไป เพราะยังมีอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำผิด (นำเข้ามาในราชอาณาจักร) และถ้าจะให้เรารับเรื่องเข้ามาทีเดียว 300 คัน คนของเรามี 3-4 คนเอง คงจะทำไม่ทัน และกลายเป็นความผิดของพนักงานสอบสวนไป ส่วนรถหรูอีก 100 คัน ที่เรายังไม่เปิดคดีนั้น เรายังไม่ได้อายัด คนที่ซื้อไปก็ใช้กันอยู่
แต่หากดีเอสไปเปิดคดีเมื่อไหร่ ก็จะอายัดรถหรูดังกล่าวในทางทะเบียน คือ ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เหมือนกับรถหรู 207 คัน ที่อายัดไปก่อนหน้านี้ โดยเราจะเรียกเขาทำสัญญาให้เขาเก็บรักษา และใช้งานได้ตามปกติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.85/1 แต่เมื่อคดีสิ้นสุด รถที่เสียภาษีไม่ถูกต้องนั้นจะถูกยึดและนำขายทอดตลาด” แหล่งข่าวกล่าว
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘อัยการ’ จะส่งฟ้องคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ‘รถหรู’ ของกลุ่ม ‘นิช คาร์ กรุ๊ป’ และกลุ่ม ‘เฟอร์ม่า มอเตอร์’ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้ง 8 ราย ได้เมื่อไหร่ หลังผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี
อ่านประกอบ :
แกะรอย บ.รถหรู‘นิชคาร์ กรุ๊ป’- เครือข่าย ถูกดีเอสไออายัด 122 คัน เป็นใคร?
บ.นำเข้ารถหรู‘เฟอร์มาฯ’ถูกกรมศุลฯอายัดจดทะเบียนปมค้างภาษีตั้งแต่ปี 57
2 บ.นำเข้ารถหรู ‘นักธุรกิจหนุ่ม’ หุ้นใหญ่! ชนวน สตง.สอบรองอธิบดีกรมศุลฯ-พวก
งานเข้า'นิชคาร์กรุ๊ป' DSI บุกยึด'ลัมโบกีนี่-เฟอร์รารี'60คัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage