"...การกระจายวัคซีนกว่า 63 ล้านโดส หากกระจาย 10 ล้านโดสต่อเดือนทันไหม ขอเรียนว่าตัวเลขดังกล่าวนี้มาจากจำนวนโรงพยาบาลสาธารณสุขกว่า 1,000 แห่ง แต่ละแห่งจะสามารถให้บริการประชาชนได้วันละ 500 โดสต่อวัน 20 วันทำการต่อเดือนก็จะครบ 10 ล้านโดสพอดี ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เราบริหารจัดการได้..."
..................................................
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยนโยบายการให้วัคซีนภายในประเทศว่า จะให้วัคซีนกับประชาชนทุกคนภายในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1.เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
2.เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานในภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนโควิด จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด ในช่วง ก.พ.-เม.ย.2564 กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจะอาศัยอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตาก นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และเชืยงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด และเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน, บุคคลที่มีโรคประจำวัน เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร, ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด
ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เป็นระยะที่สามารถควบคุมโรคได้ และเป็นช่วงที่มีวัคซีนเพียงพอ คาดว่าจะอยู่ในช่วง มิ.ย. - ธ.ค. 2564 ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้าม ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, ประชาชนทั่วไป , นักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้ในการบริหารจัดการการให้วัคซีนภายในประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 : สื่อสารสาธารณะ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับระชาชน จัดทำสาระการสื่อสารที่ถูกต้องและทันสมัย เผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสมผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และเฝ้าระวังและชี้แจงแก้ไขข่าวที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำเสนอวัคซีนสามารถป้องกันอะไรได้บ้าง และการนำเสนอประโยชน์ของวัคซีน
กลยุทธ์ที่ 2 : จัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมประชาชนเป้าหมาย อย่างรวดเร็ว ฝึกอบรมบุคลากร และจัดระบบ Cold chain เพื่อให้วัคซีนคงคุณภาพไว้ และจะสามารถกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ที่ 3 : ประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการข้างเคียง เป็นเรื่องของผลข้างเคียงในการรับวัคซีน รัฐเตรียมจุดเฝ้ารอไว้ให้ ณ จุดฉีดวัคซีน ให้ประชาชนที่มารับวัคซีนรอเป็นเวลา 30 นาที ขณะเดียวกันรัฐจะมีระบบติดตามที่ 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน โดยอาจจะติดตามผ่าน Line Official Account ในชื่อหมอพร้อม อาสาสมัคร หรือพยาบาลโทรไปติดตาม
กลยุทธ์ที่ 4 : พัฒนาระบบข้อมูล ช่วยการบริหารจัดการ เป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่จะต้องใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยเป็น Line Official Account ในชื่อหมอพร้อมเพื่อให้เป็นช่องทางการรายงานและติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้
กลยุทธ์ที่ 5 : จัดการองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาบริการให้วัคซีน การจัดการองค์ความรู้ โดยจะจัดทำข้อมูลวิชาการติดตามว่า ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นหรือไม่ สามารถป้องกันโรคไม่ป่วยได้มากน้อยเพียงใด และสามารถลดการแพร่โรคได้หรือไม่
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยแผนการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทยทั้ง 63 ล้านโดสอีกว่า ในระยะที่ 1 ไทยจะรับวัคซีนจากซิโนแวก รวม 2 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือน ก.พ. 200,000 โดสเดือนมี.ค. 800,000 โดส และเดือนเมษายน 1 ล้านโดส ส่วนในระยะที่ 2 ไทยจะได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้ารวม 61 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือน มิ.ย. 6 ล้านโดส เดือนก.ค. 10 ล้านโดส เดือนส.ค. 10 ล้านโดส เดือนก.ย. 10 ล้านโดส เดือนต.ค. 10 ล้านโดส เดือนพ.ย. 10 ล้านโดส และเดือนธ.ค. 5 ล้านโดส
โดยมีแผนการกระจายวัคซีนระยะที่ 1 ในวันที่ 1 มี.ค.2564 ให้กับกลุ่มเป้าหมาย 13 จังหวัด ดังนี้
สมุทรสาคร จะได้รับวัคซีน 70,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 8,000 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 6,000 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 46,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 10,000 โดส
กทม.(ฝั่งตะวันตก) จะได้รับวัคซีน 66,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 12,400 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 47,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 5,000 โดส
ปทุมธานี จะได้รับวัคซีน 8,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 3,000 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
นนทบุรีและสมุทรปราการ จะได้รับวัคซีน 6,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 2,000 โดส เจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส ผู้มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
ตาก อำเภอแม่สอด จะได้รับวัคซีน 5,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 3,000 โดส และเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส
นครปฐม จะได้รับวัคซีน 3,500 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 2,500 โดส และเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส
สมุทรสงคราม จะได้รับวัคซีน 2,000 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 1,500 โดส และเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส
ราชบุรี จะได้รับวัคซีน 2,500 โดส แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 2,000 โดส และเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส
ส่วนในพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ชลบุรี จะได้รับวัคซีน 4,700 โดส ภูเก็ต 4,000 โดส สุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย 2,500 โดส และเชียงใหม่ 3,500 โดส ซึ่งจะมอบให้คณะกรรมการโรคิดต่อจังหวัดพิจารณาจัดสรรการแจกจ่ายวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้จะสำรองอีก 16,300 โดส สำหรับควบคุมการระบาดและฉีดให้บุคลากรในโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด ส่วนระยะห่างการฉีดนั้น เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จะห่างกัน 2-3 สัปดาห์
"การกระจายวัคซีนกว่า 63 ล้านโดส หากกระจาย 10 ล้านโดสต่อเดือนทันไหม ขอเรียนว่าตัวเลขดังกล่าวนี้มาจากจำนวนโรงพยาบาลสาธารณสุขกว่า 1,000 แห่ง แต่ละแห่งจะสามารถให้บริการประชาชนได้วันละ 500 โดสต่อวัน 20 วันทำการต่อเดือนก็จะครบ 10 ล้านโดสพอดี ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เราบริหารจัดการได้" นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผย
ด้าน ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยอีกว่า กระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีอยู่ด้วยกัน 3 หลักการ แยกเป็น 1.การปล่อยให้เกิดการระบาดและสร้างภูมิคุ้มกันเองตามธรรมชาติ 2.การปล่อยให้เกิดการระบาดและปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง และ 3.การฉีดวัคซีน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือในการระบาดของโควิด การฉีดวัคซีนจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้มีประสิทธิภาพดีและรวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามควรจะดำเนินการควบคู่กับการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ
"การปล่อยให้เกิดการระบาดแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการเว้นระยะห่าง หรือการฉีดวัคซีน ซึ่งมีบางประเทศเคยลองแนวทางดังกล่าวแล้วมา 6 เดือน พบผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เพียงพอต่อการยับยั้งการระบาด ทำให้เราและหลายๆประเทศรู้ว่าหลักการนี้เราใช้ไม่ได้ผลกับโควิดและเปลี่ยนไปใช้หลักการอื่นแทน อย่างหลักการเว้นระยะห่าง แต่ไม่ได้รับวัคซีน หลักการนี้ดีกว่าหลักการแรก การแพร่ระบาดน้อยลงแต่ยังพบผู้เสียชีวิตอยู่ และอาจต้องใช้เวลานานหลายปีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เพียงพอยับยั้งการระบาดได้ ดังนั้นวิธีการเดียวที่เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุดคือการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 50-60%" ศ.ดร.นพ.วิปร เปิดเผย
ศ.ดร.นพ.วิปร เปิดเผยด้วยว่า การรับวัคซีนนั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่มีการบังคับแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่เคยได้รับเชื้อโควิดและรักษาหายดีแล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ปัจจุบันแนะนำว่ายังควรฉีดวัคซีนอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่ามีภูมิคุ้มกันสูงพอเพียงต่อการป้องกันการระบาดหรือการติดโรคซ้ำ แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการสรุปว่าจะมีผลกระทบหรือไม่
"ภาวะแทรกซ้อนหลังจากฉีดวัคซีน บางคนอาจจะมีอาการปวดหรือบวมบริเวณฉีด บางคนก็มีไข้ หรือหนาว ซึ่งพวกนี้สามารถดูแลและป้องกันได้ โดยอาจประคบเย็นหรือทานยาลดไข้หลังจากฉีดวัคซีน ส่วนความกังวลว่าจะติดโควิดจากวัคซีนได้ไหม ขอตอบว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะวัคซีนได้รับการพัฒนาจากเชื้อที่ตายแล้ว หรือหากเป็นวัคซีนชนิดไวรอลเวกเตอร์ก็ไม่ใช่ตัวเชื้อทั้งหมด" ศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว
(หมายเหตุ : ที่ภาพหน้าปก www.freepik.com)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage