"...ราคาสลากนั้นไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางหรือยี่ปั๊วเป็นคนกำหนด บางทีราคามา 80-89 บาท สำหรับสลากรวมชุดตั้งแต่ 2 ใบขึ้น ราคาประมาณใบละ 90-92 บาท และหากเป็นตัวเลขดังหรือเลขที่ได้รับความนิยม ราคาจะสูงขึ้นไปอีก..."
...........................................................
‘หวยแพง’ หรือการสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา เป็นปัญหาสะสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประกาศมาตรการเข้มงวดมากแค่ไหน แต่สุดท้าย เรายังเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขายที่มีราคาเกินกว่า 80 บาทต่อใบเช่นเคย
ล่าสุดต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคุมเข้มราคาอีกครั้ง หลังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
หนนี้เปิดทาง-ย้ำมาตรการเดิมให้ประชาชนแจ้งเบาะแส เมื่อพบเห็นการขายสลากเกินราคาได้ พร้อมมี ‘รางวัลนำจับ’ เมื่อผู้ค้าถูกจับกุมและคดีถึงที่สิ้นสุด คดีละ 1,000 บาท ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้รับเงินรางวัลเท่ากับเงินที่เปรียบเทียบปรับ แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อคดี
รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ พ.ศ.2517 เพื่อเพิ่มโทษปรับผู้ค้าสลากเกินราคา จากปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท และในอนาคตอาจมีการ
นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทั่วประเทศ ตรวจสอบราคาขาย การรวมสลาสกชุด เพื่อยกเลิกการเป็นตัวแทนจหน่ายของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 – 2563 พบว่ามีผุ้กระทำความผิดทั้งสิ้น 21,913 ราย (อ้างอิงข่าว : https://news.thaipbs.or.th/content/301063)
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงเหตุผล 4 ข้อที่ทำให้มีการขายสลากเกินราคาในปัจจุบัน
1.สำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากให้ตัวแทนจำหน่ายประเภทบุคคลทั่วไป คนพิการ และสมาคม องค์กร มูลนิธิ รวม 33 ล้านฉบับ มีตัวแทนจำหน่าย 32,242 ราย มีระบบซื้อ-จองล่วงหน้า 67 ล้านฉบับ ให้กับผู้ลงทะเบียน 159,000 ราย แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น และได้ไปซื้อสลากต่อจากตัวแทนจำหน่าย ทำให้มีการเพิ่มราคาขายหลายทอด
2.วิธีการจำหน่ายสลากฯ ใช้วิธีการขายขาดให้กับตัวแทนจำหน่ายโดยไม่รับซื้อคืน เนื่องจากต้องจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลตามที่กำหนดไว หากจำหน่ายไม่หมดจะเกิดปัญหาในเรื่องการจ่ายเงินรางวัลให้ผู้ถูกรางวัลจะไม่เท่ากัน ประกอบกับสลากมีมีเลขที่ไม่เป็นที่นิยม เช่น 000000 , 111111 ฯลฯ ทำให้ตัวแทนจำหน่ายต้องรับภาระความเสี่ยงเมื่อขายไม่หมด ส่งผลให้ผู้ขายสลากแต่ละทอด ต้องเพิ่มราคาขายในทอดต่อๆไป เพื่อรับภาระความเสี่ยงนี้
3.ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายรายย่อยอยุ่ทั่วประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า 35,000 ราย สำนักงานสลากฯ ได้ทำสัญญาให้เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรง แต่ก็ยังมีพ่อค้ารายย่อยส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด นำสลากที่ได้รับไปขายให้แก่ผู้ซื้อ เพื่อรวบรวมสลากนำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ทำให้สำนักงานสลากฯ ไม่สามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้อย่างมีประสิทธิ เนื่องจากมีตัวแทนจำหน่ายรายย่อยเป็นจำนวนมาก
4.ประชาชนผู้ซื้อสลากฯ ยอมซื้อในราคาที่เกินกว่ากำหนด แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการในการซื้อเพื่อเสี่ยงโชคมากกว่าจำนวนสลากที่สำนักงานฯนำออกขาย ดังนั้น เมื่อจำนวนสลากที่น้อยกว่าความต้องการของประชาชน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ให้มีการขายเกินราคา
@5 ปีจ่ายรางวัลนำจับ 62.54 ล้านบาท
ขณะที่กองสลากฯ เปิดเผยสถิติการจ่ายเงินรางวัลนำจับในช่วงปี 2560 - 2564 พบว่า ในแต่ละปีกองสลากฯ ได้ตั้งงบประมาณสำหรับรางวัลนำจับ เฉลี่ยปีละ 15 ล้านบาท และมีปี 2562 ที่ต้องขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเป็น 18 ล้านบาท เนื่องจากจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากกว่าปกติ
ภาพรวมตลอด 5 ปี ได้จับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 26,102 ราย เบิกจ่ายเงินรางวัลนำจับไปแล้ว 62.54 ล้านบาท
แบ่งเป็น ปี 2560 จับกุมผู้ต้องหา 2,339 ราย เบิกจ่ายรางวัลนำจับจริง 8,794,000 บาท ปี 2561 จับกุมผู้ต้องหา 6,240 ราย ราย เบิกจ่ายรางวัลนำจับจริง 14,567,300 บาท ปี 2562 จับกุมผู้ต้องหา 7,527 ราย เบิกจ่ายรางวัลนำจับจริง 17,861,200 บาท ปี 2563 จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 6,047 ราย เบิกจ่ายรางวัลนำจับจริง 14,025,100 บาท และ ปี 2564 มีการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 3,949 ราย เบิกจ่ายรางวัลนำจับจริง 7,295,300 บาท
ทั้งนี้การบังคับใช้กฎหมาย ยังเปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแส การจำหน่ายสลากเกินราคาผ่านศูนย์รับร้องทุกข์ 02 528 9999 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสำนักงานสลากฯ จะส่งข้อมูลให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมต่อไป
@จัดระบบพิมพ์คละเลขแก้ปัญหาหวยชุด
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ได้กำหนดให้มีสัดส่วนการจัดสรรเงินส่วนลดให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อย เพื่อให้มีรายได้จากการขายมากขึ้น จากเดิมส่วนลด 7% หรือฉบับละ 5.60 บาท ปรับเป็น ส่วนลด 12% หรือฉบับละ 9.60 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชพและเป็นมูลเหตุจูงใจให้ร่วมกันขายในราคา 80 บาท
นอกจากนี้เมื่อเดือน ต.ค.2563 คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มีมติพิมพ์สลากคละเลขในระบบตัวแทนจำหน่ายและระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯ แบบ 2-1-1-1 เนื่องจากที่ผ่านมา กาพริมพ์เรียงเลข สามารถนำไปรวมชุดได้จำนวนมากกว่า 10 ใบ และทำให้มีราคาแพง
ส่วนการพิมพ์สลากคละเลขแบบ 2-2-1 ในระบบ ยังมีการจำหน่ายเกินราคาอยู่ ดังนั้นเพื่อให้การรวมชุดหลายใบลดลง จึงเห็นควรให้คละในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ 16 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป โดยพบว่า การรรวมชุดสลากมากกว่า 5 ใบลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน และสลากใบเดี่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาลดลง และผู้ถูกรางวัลที่ 1 แต่ละงวด มีการกระจายตัวมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับการแก้ไขในระยะยาว มีการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ เพื่อให้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยขณะนี้ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินโครงการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบดิจิทัล ต่อไป
@ผู้ค้ารายย่อยเผยแค่ราคาทุนก็เกิน 80 บาท
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้สิทธิในการเป็นตัวแทนจำหน่ายของกองสลากฯ ทำให้ต้องซื้อราคาส่งและนำมาขายต่ออีกทีหนึ่ง
เมื่อสอบถามถึงการย้ำมาตรการ ตั้งรางวัลนำจับกับการขายสลากเกินราคา กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย กล่าวว่า ทุกคนต่างก็เคยถูกขู่แจ้งจับหลายครั้ง และหากถูกจับจริงก็ต้องยอมถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีทางเลือก และไม่สามารถขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาทได้
“ราคาสลากนั้นไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางหรือยี่ปั๊วเป็นคนกำหนด บางทีราคามา 80-89 บาท สำหรับสลากรวมชุดตั้งแต่ 2 ใบขึ้น ราคาประมาณใบละ 90-92 บาท และหากเป็นตัวเลขดังหรือเลขที่ได้รับความนิยม ราคาจะสูงขึ้นไปอีก” พ่อค้ารายย่อยกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ส่วน ชายพิการผู้ค้าสลากรายย่อยที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ยอมรับว่า ตนเองขายสลากเกินราคา เพราะต้นทุนมีราคาแพงเช่นกัน โดยเฉลี่ยการขายสลากมีกำไรใบละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับการขายที่มีราคาเกินกว่า 80 บาท แต่อาจมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ ซึ่งส่วนตัวเคยถูกแจ้งจับแล้ว 2 ครั้ง
“ทุกครั้งที่ถูกแจ้งจับ ตำรวจจะมาพบผม แต่เขาก็ไม่ได้ดำเนินคดีอะไร เพราะสงสารผม แต่ถ้าอนาคตจะต้องถูกดำเนินคดี ผมก็ต้องยอมรับโทษ ต้องจ่ายค่าปรับตามกฎหมาย แต่การมาแจ้งจับเรื่องการขายสลากเกินราคา ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือการจัดสรรโควตาตัวแทนจำหน่ายของกองสลากฯ ที่ยังมีลักษณะผูกขาด ทำให้หลายคนไม่ได้รับสิทธิ์ แม้กระทั่งผู้พิการเองก็ตาม” ชายพิการกล่าวกับผู้สื่อข่าว
@กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคจี้กองสลากฯรื้อระบบโควตาใหม่
ขณะที่ นายมานะ โลหะวณิชย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาสลากเกินราคามีมานานแล้ว การตั้งรางวัลนำจับก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา และมองว่าเป็นเรื่องที่อยู่ปลายเหตุ ปัจจุบัน กมธ.ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การรื้อระบบโควตา เพื่อจัดสรรให้กับผู้ค้าปลีกโดยตรง แต่ปัจจุบันกองสลากฯยังไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวแต่อย่างใด และในอนาคตจะมีการทวงถามเรื่องนี้เพื่อให้ปัญหาสลากราคาแพงนำไปสู่การแก้ไขที่แท้จริง
(หมายเหตุ : ภาพหน้าปกจาก ไทยรัฐออนไลน์)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage