“...เนื่องจาก ส.ส. เป็นบุคคลใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้าม เพื่อหลักประกันว่า ส.ส. ต้องเป็นบุคคลมีความประพฤติ คุณสมบัติ เป็นที่ยอมรับ และได้รับน่าเชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากมลทินมัวหมอง ทำเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ รวมถึงศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร…”
...........................
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเทพไท เสนพงศ์ พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.แบบแบ่งเขต จ.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นผลพวงจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งจำคุก 2 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี คดีทุจริตการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช (อ่านประกอบ : ‘เทพไท’ตกเก้าอี้! ศาล รธน.สั่งพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.เหตุโดนคุกคดีทุจริตเลือกตั้ง อบจ.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติกรณีนายเทพไทเป็น ‘เอกฉันท์’ 9:0 เสียง
สำหรับรายละเอียดคำวินิจฉัยมีดังนี้
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า นายเทพไทเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช อ่านพิพากษาว่า คดีหมายเลขดำ 64/2562 คดีหมายเลขแดง 485/2563 โดยมีนายเทพเป็นหนึ่งในจำเลย มีความผิดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ พ.ศ.2545 จำคุก 3 ปี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี แต่การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จึงไม่รอการลงโทษ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 100 บัญญัติสมาชิกภาพ ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้งสิ้นสุดลงตามเหตุต่าง ๆ ตาม รธน บัญญัติ 101 (1)-(13) โดยมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) ตามประเด็นแห่งคดีนี้ บัญญัติให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลง เมื่อเป็นบุคคลลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตาม ม.96 (1) (2) (4) โดย (2) บัญญัติให้บุคคลถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นสิ้นสุดหรือไม่ เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม
บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลนั้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยเพิ่มความว่า ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการคำพิพากษาศาลมีผลใช้บังคับได้จนกว่ามีผลเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้าม ตาม 96 (2) และเข้าลักษณะต้องห้ามบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98 (4)
ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้ลักษณะต้องห้ามของบุคคลดังกล่าว เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) โดยไม่ต้องรอให้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด เนื่องจาก ส.ส. เป็นบุคคลใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และลักษณะต้องห้าม เพื่อหลักประกันว่า ส.ส. ต้องเป็นบุคคลมีความประพฤติ คุณสมบัติ เป็นที่ยอมรับ และได้รับน่าเชื่อถือของสาธารณชน ปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากมลทินมัวหมอง ทำเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ รวมถึงศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร
การที่ ส.ส. ผู้ใดกระทำความผิดจนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลใช้สิทธิเลือกตั้ง 96 (2) แล้ว ส.ส. ผู้นั้น ย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอื่นด้วย
ทั้งนี้ข้อโต้แย้งของนายเทพไท อ้างถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 ที่บัญญัติเหตุต่าง ๆ ถึงกรณีสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง แต่ไม่ได้ระบุเหตุเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นลักษณะต้องห้ามโดยตรง จึงไม่มีผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง นอกจากนี้การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตาม 96 (2) ต้องเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) กำหนดลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 98 และมาตรา 96 ถึงเหตุการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อตีความประกอบกันแล้ว หากมีเหตุตามมาตรา 98 และมาตรา 96 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง จึงจะมีผลทำให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงระหว่างการดำรงตำแหน่งได้ มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะนายเทพไทสมัครรับเลือกตั้ง หรือใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า หากสมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง ทั้งที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด จะเป็นผลร้าย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายเทพไท จึงเป็นบทบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (9) (10) (11) ที่บัญญัติให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้อง 69 (2) ประเด็นคุ้มครองจำเลยในคดีอาญา เพื่อให้มีการพิสูจน์ความจริงก่อนคดีถึงที่สุดนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) มาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2) ใช้คำว่า อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ไม่ใช่คำว่า คำพิพากษาถึงที่สุด บทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความอย่างอื่น หมายความว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องให้คดีถึงที่สุดก่อน ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
ส่วนการอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 (2) ประเด็นคุ้มครองจำเลยในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์ จนกว่าพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิด
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีผู้ถูกร้อง ดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องสมบูรณ์ของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องพิจารณาลายลักษณ์อักษร และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
เมื่อผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 10 ปี สมาชิกภาพ ส.ส. จึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และมาตรา 96 (2)
ประเด็นต้องพิจารณาต่อไปมีว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายเทพไท สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ให้พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบกิจกรรมผู้นั้นทำไปก่อนพ้นตำแหน่ง รัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของ ส.ส. ที่ถูกศาล รัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้นายเทพไทหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาล รัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้นายเทพไทพ้นจากตำแหน่งวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายเทพไท สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ 98 (4) และมาตรา 96 (2) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่คือเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2563 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังมีผลในวันอ่านคือเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 105 (2)
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายเทพไท จาก https://siamrath.co.th/, ภาพประกอบศาล รธน. จาก https://www.thairath.co.th/
อ่านประกอบ :
ไม่มีเหตุกลับคำสั่ง! ศาล รธน.ยันตามเดิมนัด 27 ม.ค.วินิจฉัยสถานะ ส.ส.‘เทพไท’
ศาล รธน.นัดชี้ขาดสถานะ ส.ส.'เทพไท'27 ม.ค.-รับคดี'ไพบูลย์'ยุบพรรคซบ พปชร.
‘เทพไท’หยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาล รธน.รับวินิจฉัยพ้น ส.ส.หรือไม่ปมถูกคุกคดีทุจริตเลือกตั้ง
พิพากษาคุกคนละ 2 ปี!‘เทพไท-มาโนช เสนพงศ์’ทุจริตเลือกตั้ง-ตัดสิทธิการเมือง 10 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/