ปัญหาอีกประการหนึ่งของการขาดข้อมูลที่ชัดเจนก็คือการที่หน่วยงานซึ่งให้คำอนุมัติในการใช้งานวัคซีนนั้นจะต้องดำเนินการตัดสินใจอย่างยากลำบาก ยกตัวอย่างเช่นฮ่องกงซึ่งมีแผนการจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 7.5 ล้านโดส ก็ต้องมีการชะลอการติดสินใจการอนุมัติฉุกเฉินวัคซีนชนิดนี้
.................
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังทยอยอนุมัติวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสออกมา ณ เวลานี้ แต่กลับมีข่าวจากประเทศบราซิลว่า วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีนนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้แค่ 50.4 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่าแค่ .4 เปอร์เซ็นต์ของค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดประสิทธิภาพวัคซีนไว้ที่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
จากกรณีดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นประสิทธิภาพของวัคซีนจากบริษัทจีนอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด สำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกง ได้นำเสนอข้อมูลเจาะลึกเกี่ยวกับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน นำเสนอต่อสาธารณชน มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ที่ไปที่มาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน
จุดเริ่มต้นมาจากสถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) ศูนย์วิจัยทางชีววิทยาและผู้ผลิตวัคซีนในรัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า วัคซีนจากประเทศจีนนั้นมีประสิทธิภาพในป้องกันไวรัสสูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์
โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นมาจากการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัครจำนวนกว่า 12,400 ราย ในรัฐเซาเปาโล ซึ่งทางด้านของสถาบันยืนยันว่าวัคซีนจากจีนนั้นมีผลการทดลองที่น่าทึ่ง
อย่างไรก็ตามผลการทดลองดังกล่าวนั้นกลับทำให้เกิดความน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากการออกมาให้ข้อมูลของสถาบันบูตันตันนั้นมีความสับสนเป็นอย่างมาก และที่สำคัญทางด้านของบริษัทซิโนแว็ค และรัฐบาลจีนเองก็ไม่เคยออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลผลการทดลองดังกล่าวมากนัก
นพ.เจอโรม คิม ผู้อำนวยการของสถาบันวัคซีนนานาชาติ ได้ออกมาวิจารณ์ว่าการปล่อยข้อมูลผลการวิจัยที่ค่อยๆออกมาทีละนิด มีความน่าสับสนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับกรณีที่บริษัทซิโนแวคนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลจากการทดลองทั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประเทศตุรกี และที่ประเทศบราซิลได้ แต่ก็ยังคงไม่มีการแถลงผลการทดลองอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อมูลการทดลองวัคซีนของบริษัทออกมาเลย
"สรุปคือวัคซีนได้รับการอนุญาตหรือไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้กันแน่ ถ้าหากวัคซีนได้รับการอนุญาตแล้ว ทำไมถึงไม่มีความเห็นใดๆจากบริษัท เราไม่รู้เลยว่าผลการวิเคราะห์นั้นมีการดำเนินการกันอย่างไร และเรายังไม่รู้ด้วยว่าผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นสามารถนำมาผสานกันได้หรือไม่ จะมีตัวเลขทางการของซิโนแวคออกมาหรือไม่" นพ.เจอโรมกล่าว
ขณะที่บริษัทซิโนแวคเอง ก็ไม่ได้ตอบคำถามว่าเมื่อไรจะมีการปล่อยผลการวิเคราะห์กลางออกมา แต่ที่ผ่านมาแหล่งข่าวจากทางผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีนได้ออกมาเปิดเผยว่าข้อมูลทุกข้อมูลนั้นมีความจำเป็นต้องได้รับการยืนยันจากทางรัฐบาลจีนก่อน เพื่อป้องกันความคาดเคลื่อนของข้อมูล
นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงได้มีการวิจารณ์ว่าข้อมูลประสิทธิภาพที่สถาบันบูตันตันได้ปล่อยออกมานั้นไม่ตรงความจริง โดยคาดว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นน่าจะต่ำกว่า 78 เปอร์เซ็นต์ไปมาก
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานายดิมาส โควาส (Diman Covas) ผู้อำนวยสถาบันบูตันตัน ได้กล่าวในงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการทดลองว่าพบกลุ่มอาสาสมัครจำนวนกว่า 220 รายติดเชื้อโควิด-19
โดยในการทดลองระบุว่า 160 คน อยู่ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกและอีก 60 คนอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
แต่ระเบียบการทดลองระบุชัดเจนว่าจำนวนอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอกและได้รับวัคซีนนั้นควรจะมีจำนวนอย่างละครึ่งเท่าๆกัน แต่สถาบันบูตันตันไม่เคยเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของ 2 กลุ่มนี้เลย
อ้างอิงวิดีโอจาก South China Morning Post
"มันควรจะต้องเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งเท่ากันในกลุ่มอาสาสมัคร 13,000 คน โดยมี 6,500 คนได้รับวัคซีน และอีก 6,500 คนได้รับยาหลอก แต่ปรากฎว่ามี 60 รายที่ฉีดวัคซีน และอีก 220 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าตามอัตราส่วนนี้ก็หมายความว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพน้อยกว่า 78 เปอร์เซ็นต์ตามที่แถลงข่าว"นพ.เจอโรมกล่าว
ด้าน นพ.ปีเตอร์ สมิธ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ประเมินตัวเลขเอาไว้ว่า ถ้าหากจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนและได้รับยาหลอกนั้นอยู่ที่ 60 และ 160 นี่หมายความว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ต่อมาในช่วงวันที่ 11 ม.ค.2564 สถาบันบูตันตันได้ออกมาประกาศว่า ประสิทธิภาพทั่วไป ของวัคซีน อยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 78 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า "ประสิทธิภาพในทางคลินิก" เท่านั้น แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าทางสถาบันบูตันตันได้มีการคำนวณตัวเลขประสิทธิภาพนี้กันอย่างไร
ขณะที่การทดลองในประเทศอื่นๆ นั้น มีการเปิดเผยข้อมูลการทดลองวัคซีนซิโนแว็คแค่บางส่วนเท่านั้น อาทิ ตุรกีและ อินโดนีเซียซึ่งมีระบุผลการทดลองว่าอยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์และ 91 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แม้ว่าจะเป็นการทดลองแค่กับกลุ่มตัวอย่างเล็กๆที่มีกรณีการติดเชื้อเท่านั้นเอง
"ถ้าหากดูที่การเปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กๆน้อยและเอาผลลัพธ์มารวมกัน จะพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นอยู่ที่ 65-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่แตกต่างจากทางวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า" นพ.สมิธกล่าว
อ้างอิงวิดีโอจาก South China Morning Post
นพ.สมิธ กล่าวต่อว่า การเปิดเผยข้อมูลวัคซีนทีละน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นวิธีการป้องกันการซื้อขายข้อมูลวงในเกี่ยวกับวัคซีน แต่ปัญหาก็คือในกรณีนี้นั้นมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนออกมาน้อยมาก และตัวเขาก็เชื้อว่าข้อมูลที่ถูกปล่อยมาเหล่านี้นั้นยังไม่เคยถูกนำเสนอให้กับหน่วยงานในเวทีประชุมในระดับนานาชาติ หรือมีการส่งไปให้ตรวจสอบผ่านกระบวนการของวารสารวิชาการ ที่ให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเลย ซึ่งถ้าหากไม่มีรายละเอียดที่ว่ามานี้ ก็ทำให้ต้องมีการทบทวนกันเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อมูลการทดลองวัคซีนซึ่งถูกปล่อยออกมา
ปัญหาอีกประการหนึ่งของการขาดข้อมูลที่ชัดเจนก็คือการที่หน่วยงานซึ่งให้คำอนุมัติในการใช้งานวัคซีนนั้นจะต้องดำเนินการตัดสินใจอย่างยากลำบาก ยกตัวอย่างเช่น ฮ่องกงซึ่งมีแผนการจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 7.5 ล้านโดส ก็ต้องมีการชะลอการติดสินใจการอนุมัติฉุกเฉินวัคซีนชนิดนี้
"มันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงเลย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับระดับสารภูมิคุ้มกัน และเราก็ไม่รู้ช่วงอายุสำหรับกลุ่มทดลอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากลุ่มทดลองนั้นมีอาการป่วยอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่" แหล่งข่าวไม่ระบุนามซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอนุมัติวัคซีนของฮ่องกงรายหนึ่งระบุ
และหลังจากที่มีการตั้งข้อสงสัยอย่างมากมายกับวัคซีนจากบริษัทซิโนแว็ค ในที่สุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา
นักวิจัยจากสถาบันบูตันตันในบราซิล เปิดเผยว่า วัคซินจากบริษัทซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ เพียง 50.4 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบทางคลินิกในขั้นสุดท้าย ซึ่งเน้นทดสอบในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโรค และอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น
โดยทางด้านของนางนาตาเลีย พาสเทอร์แนค (Natalia Pasternak) นักจุลชีววิทยาชาวบราซิล ได้ออกมายอมรับกลายๆ ว่า เรามีวัคซีนในที่สุด แต่ก็เป็นวัคซีนที่ดี ซึ่งนี่จะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชัยชนะเหนือโรคระบาดได้
ส่วนที่ประเทศไทยนั้น ทางด้านของ นพ.ศุภกิจ ศริริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลการทดลองวัคซีนซิโนแวคของประเทศจีน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ไทยจะนำเข้ามา 2 ล้านโดสในช่วง ก.พ.-เม.ย.
โดยการทดลองระยะสามถูกดำเนินการโดยสถาบันบูตันตัน ประเทศบราซิล และพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในภาพรวม 50.4 เปอร์เซ็นต์
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถาบันบูตันตันได้ทดลองฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง และอาสาสมัครกลุ่มใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนปกติโดยทั่วไป นอกจากนั้นยังมีชุดข้อมูลหนึ่งออกมาด้วยว่า ผลการทดสอบระหว่างผู้ที่ได้รับและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าสมารถป้องกันอาการป่วยได้ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าอาจจะพบผู้ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้พบว่าในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน ไม่มีเกิดอาการป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำว่า ข้อมูลการแถลงข่าวค่อนข้างจำกัด ขณะนี้ไทยได้ทำเรื่องขอข้อมูลอย่างละเอียดจากวัคซีนซิโนแวคแล้ว เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างเป็นทางการต่อไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ข้อดีของวัคซีนจากจีน เมื่อเทียบกับชนิดอื่น พบว่าเป็นการใช้เชื้อตายมาทำให้หมดฤทธิ์ ซึ่งเราได้เคยใช้วิธีการดังกล่าวกับการผลิตวัคซีนไวรัสตับอักเสบและวัคซีนโปลิโอ ดังนั้นเทคโนโลยีดังกล่าวจึงเป็นรูปแบบที่เราคุ้นชิน ประกอบกับการทราบผลการฉีดวัคซีนในจีนที่มากหลายแสนคนก็ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งต่างจากวัคซีนบางบริษัทที่พบผลข้างเคียง ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องการการดูแลจากแพทย์และพยาบาลจำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่น้อยเหมือนกัน
“วัคซีนที่เราจะนำมาใช้ได้ผ่านการพิจารณาถึงคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศแล้วว่าวัคซีนที่มีคุณภาพมากกว่า 50% ขึ้นไป ก็สามารถนำมาใช้ได้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเสริมว่า การที่วัคซีนจะนำมาใช้ภายในประเทศได้จะต้องผ่านการรับรองจาก อย. ซึ่งจะตรวจสอบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน โดยจะระดมผู้เชี่ยวชาญแทบทุกคนทั่วประเทศมาช่วยประเมินและพิจารณาวัคซีน เพื่อให้พิจารณาได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว
ในปัจจุบันได้มีบริษัทวัคซีนของ ‘ซิโนแวค’ และ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ได้เข้ามาขอขึ้นทะเบียน-รับใบรับรองจาก อย. แล้ว โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ
เรียบเรียงจาก:https://jp.reuters.com/article/us-health-coronavirus-brazil-coronavirus/new-brazil-data-shows-disappointing-50-4-efficacy-for-chinas-coronavac-vaccine-idUSKBN29H2CE,https://www.scmp.com/news/china/science/article/3117461/coronavirus-scientists-concerned-way-data-chinese-drug-firm
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/