"...ประเด็นการทำงานจากที่บ้าน จากแค่ชั่วครั้งชั่วคราวไปสู่การทำงานแบบถาวรนั้น กำลังถูกมองว่า จะเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถยอมรับและอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว โดยสถาบันวิจัยโนมูระของประเทศญี่ปุ่นเคยออกบทความพบว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีบุตรเล็กมีความรู้สึกว่าปรับตัวไม่ทันกับการต้องทำงานที่บ้าน ขณะที่ 79 เปอร์เซ็นต์นั้นรู้สึกถึงข้อดีของการทำงานที่บ้านเนื่องจากเป็นการประหยัดช่วงเวลาการเดินทางไปทำงานได้..."
..........................................
ปี 2563 ผ่านพ้นไปแล้ว สังคมโลกเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2564 เป็นทางการในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหานานัปการที่จะเกิดขึ้นบนโลกนับจากนี้เป็นต้นไป
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเอเชียนิกเกอิ ของประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอบทความประเมินสถานการณ์โลกที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2564 โดยเฉพาะสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจในหลายประเด็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้
@การทำงานจากที่บ้านจะเริ่มกลายเป็นการทำงานที่ถาวร
สถานการณ์ในปี 2564 ถูกคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปได้ทั้งในทิศทางที่ดีขึ้น หรือจะแย่ลงกว่าปี 2563
โดยผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าการดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนในทวีปเอเชียนั้นอาจจะประสบความยากลำบาก เนื่องจากข้อจำกัดในด้านพรมแดน
ขณะที่ประเด็นการทำงานจากที่บ้าน จากแค่ชั่วครั้งชั่วคราวไปสู่การทำงานแบบถาวรนั้น กำลังถูกมองว่า จะเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2564
แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถยอมรับและอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว โดยสถาบันวิจัยโนมูระของประเทศญี่ปุ่นเคยออกบทความพบว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีบุตรเล็กมีความรู้สึกว่าปรับตัวไม่ทันกับการต้องทำงานที่บ้าน ขณะที่ 79 เปอร์เซ็นต์นั้นรู้สึกถึงข้อดีของการทำงานที่บ้านเนื่องจากเป็นการประหยัดช่วงเวลาการเดินทางไปทำงานได้
ส่วนประเทศที่มีประชากรหลายช่วงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน การที่มีคนงานอยู่กับญาติซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ก็มีความรู้สึกโล่งใจมากขึ้นที่ได้ทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ จากการที่ปล่อยให้พนักงานทำงานที่บ้าน และในบริษัทบางแห่งก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียด้วยซ้ำ หลังจากที่มีการอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน
ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทยามาโตะโฮลดิ้งส์ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งที่คนไทยมักจะรู้จักกันในชื่อว่า แมวดำ ได้เริ่มการใช้งานหุ่นยนต์ในท้องถนนของกรุงโตเกียวเพื่อที่จะลดการสัมผัสด้วยมนุษย์อันจะเสี่ยงต่อไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปกับการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งผลจากการใช้หุ่นยนต์ทำงานดังกล่าวปรากฏว่าสามาถทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยใช้จำนวนกำลังคนที่น้อยกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม บางประเทศเช่นอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม ที่มีกิจการการก่อสร้างค่อนข้างมาก ก็ยังคงมีความต้องการที่จะใช้งานแรงงานจากมนุษย์เป็นส่วนสำคัญ และนอกเหนือจากภาคกิจการก่อสร้างแล้ว ก็ยังมีธุรกิจในด้านคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งต้องใช้พนักงานที่เป็นมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะแม้ว่าในปัจจุบันนั้น จะมีระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะหรือว่าเอไอ ที่สามารถจะใช้งานเป็นคู่สนทนาในระหว่างการคอลเซ็นเตอร์ได้แล้ว แต่ท้ายที่สุด ผู้คนก็ยังคงต้องการทั้งการสนทนา การทำงานเป็นกลุ่ม การหารือด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นยังคงเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ไม่ได้
@หุ้นบริษัทเทคโนโลยีจะเติบโตขึ้น
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกทั่วทวีปเอเชียนั้นจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและทำให้หุ้นบริษัทชั้นนำหลายแห่งตก จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่ปรากฏว่าหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่นั้นสามารถพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับก่อนที่จะเกิดการระบาดได้ และมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตทั้งมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลรวมไปถึงกระบวนการเริ่มการแจกจ่ายวัคซีนแล้วจะทำให้เกิดความมั่นใจในหมู่นักลงทุนของบริษัทเหล่านี้มากขึ้นไปอีก
นาย Abheek Anand ผู้บริหารบริษัท Sequoia Capital ได้กล่าวไว้ว่า นี่เป็นข้อบ่งชี้ประการหนึ่งว่าทั้งตลาดเสรีและโลกดิจิทัลนั้นมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอลนี้ หรือก็คือโรคระบาดนั้นเร่งปฏิกริยาของบริการดิจิทัลให้เร็วขึ้นไปอีกในหลายภาคส่วนและในหลายพื้นที่ อาทิ ในด้านการศึกษา และระบบการสุขภาพ ซึ่งทุกอย่างนั้นจะมีความเป็นออนไลน์มากยิ่งขึ้นไปนั่นเอง
@การท่องเที่ยวจะยังคงตกต่ำลง ขณะที่การขนส่งวัคซีนจะเป็นความท้าทายหลัก
รัฐบาลและผู้บริหารการท่องเที่ยวกำลังคาดหวังว่าวัคซีนที่จะมีการแจกจ่ายกันทั้งจากบริษัทไฟเซอร์,บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และจากบริษัทมอร์เดอนาในตะวันตก และวัคซีนจากประเทศรัสเซียและประเทศจีนนั้นจะสามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจการให้บริการและธุรกิจการบินได้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการประเมินจากสมาคมการบินระหว่างประเทศ ระบุว่า แค่ปี 2563-2564 สายการบินทั่วโลกนั้นต้องเสียรายได้ไปแล้วถึงกว่า 1.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,704,505,000 บาท)
ซึ่งการพิสูจน์ว่าวัคซีนสามารถใช้ได้หรือไม่นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่มาก และยังมีอุปสรรคอื่นๆตามมาอีก อาทิ ภารกิจการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลกนั้น ถูกขนานนามว่าเป็นภารกิจแห่งศตวรรษเลยก็ว่าได้ เพราะจะต้องมีกระบวนการขนส่งและแจกจำหน่ายวัคซีนซึ่งเป็นสินค้าเปราะบางจำนวนกว่าพันล้านโดส ผ่านทางช่องทางการขนส่งทางอากาศ และจะต้องมีการเก็บรักษาวัคซีนเหล่านี้ที่อุณหภูมิต่ำมากตลอดระยะเวลาการขนส่งทางไกล
และก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องประชดประชัน เมื่อสายการบินซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับต้องกลายมาเป็นหัวใจสำคัญในโครงการขนส่งทั่วโลกที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ระบาด ณ เวลานี้ ทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปได้เริ่มกระบวนการอนุมัติวัคซีนฉุกเฉินกันแล้ว แต่ถึงกระนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเหล่านี้ก็ยังคงพุ่งขึ้นไม่หยุด
ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็พยายามจะหาหนทางที่จะฟื้นฟูภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โดยก่อนหน้าการระบาด มีการประมาณการจากองค์การท่องเที่ยวของสหประชาชาติว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเอเชียเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากภูมิภาคอื่น ซึ่งนำโดยประเทศจีน
ในปี 2563 ที่ผ่านมานั้นมีความพยายามจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยวแบบฟองสบู่หรือ travel bubbles ระหว่างประเทศซึ่งมีจำนวนอัตราผู้ติดโควิดที่น้อยหรือว่าไม่มีเลย แต่แน่นอนว่าความพยายามดังกล่าวนั้นประสบความล้มเหลว หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงปิดชายแดน และดำเนินมาตรการกักกันโรคอย่างเข้มข้น ด้วยการตรวจสแกนนักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาในประเทศ
นาง Priyanka Kishore ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ประเมินว่าการท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นปกติแบบในปี 2562 โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลเป็นอย่างยิ่ง และคาดว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดก่อนปี 2566 หรือปี 2566 เลยทีเดียว
ขณะที่นายอลัน จอยซ์ ผู้บริหารสายการบินแควนตัส กล่าวว่า สายการบินของเขาวางแผนที่จะใช้นโยบายห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนขึ้นโดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งนโยบายดังกล่าวนั้นถือเป็นการนำร่องพาสปอร์ตสำหรับวัคซีน ที่จะให้พนักงานสนามบินตรวจสอบข้อมูลทางดิจิทัลกับห้องแล็บที่น่าเชื่อถือเพื่อจะยืนยันข้อมูลว่าผู้โดยสารเครื่องบินนั้นได้รับการฉีดวัคซีนตามข้อกำหนดของประเทศปลายทางแล้วหรือยัง
อ้างอิงวิดีโอจาก Today
ขณะที่ทางด้านของ CommanPass ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่อยู่ภายใต้โครงการ Commons Project ที่ทำงานอยู่ภายใต้สภาเศรษฐกิจโลก ก็ได้เริ่มกระบวนการนำร่องทดสอบการฉีดวัคซีนกับผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินระหว่างเที่ยวบินจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของสมาคมการบินนานาชาติก็ได้ออกมาแสดงความกังวลเช่นกันว่า กระบวนการทดสอบดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบกับการเก็บความลับข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่
@การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ปี 2563 ที่ผ่านพ้นไปนั้น ไม่ใช่ปีที่มีนโยบายเด่นจากรัฐบาลในการแก้ไขปรับปรุงสภาพอากาศให้ดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาจากโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ทางด้านญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เคยประกาศไว้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่เดือนนี้จะมีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้เกือบเป็นศูนย์ ซึ่งถ้าหากทั้ง 3 ประเทศ ที่ว่ามานั้นสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ก็หมายความว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกได้เป็นจำนวนถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และจะป้องกันไม่ให้เกิดการเพิ่มอุณหภูมิโลกอีก 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง
@การเมืองโลกหลังจากการระบาด
ที่ผ่านมานาย Yanzhong Huang สมาชิกอาวุโสด้านสุขภาพโลก สภาความสัมพันธุ์ระหว่างประเทศ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า สาเหตุหนึ่งที่โรคระบาดเกิดขึ้นไปทั่วโลกก็เพราะว่าโลกได้ละเลยสัญญาณแรกของการระบาด นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค. เป็นต้นมา มีสัญญาณการระบาดที่ออกมาชัดเจน เนื่องจากพบว่า มีบุคลากรด้านสุขภาพติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งนี่แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าไวรัสนั้นมีศักยภาพในการระบาดที่สูง
สำหรับการวิกฤติสุขภาพในครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นถือว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะคาดเดาได้ ณ เวลานี้ แต่สิ่งหนึ่งที่มีความชัดเจนก็คือว่า การสันนิษฐานที่ผิดๆและสถานการณ์ทางการเมืองนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตอบสนองต่อวิกฤติซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นาย Huang กล่าวต่อไปว่า บทเรียนหนึ่งซึ่งเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการระบาดก็คือว่าหลายประเทศที่เราคิดว่ามีระบบการดูแลสุขภาพที่เข้มแข็ง หรือมีการเตรียมการที่ดีสำหรับวิกฤติโรคระบาด แท้จริงแล้วดูไม่เป็นเช่นนั้นเลย
แต่กับประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่เคยได้รับความสำเร็จในการรับมือกับโรคซาร์สที่เคยระบาดเมื่อปี 2546 อาทิ เวียดนาม ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งมีการจัดการที่รวดเร็ว หลังจากมีข่าวลือที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบในประเทศจีน
ณ เวลานี้เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นแล้ว แน่นอนว่าหลายประเทศก็ได้รับบทเรียนแล้วว่าควรจะเอาอย่างประเทศที่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ การประเมินวิกฤติจากข่าวสารนั้น มีการสื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอกับสาธารณชนเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์โรคระบาด
คนงานส่งของในประเทศเกาหลีใต้
@ความพยายามของสหรัฐอเมริกากับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ในทวีปเอเชีย
“สหรัฐอเมริกาจะกลับมา” นี่เป็นคำประกาศอันชัดเจนของนายโจ ไบเด้น ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนถัดไป
แต่ว่าการกลับมาที่ว่านั้นจะยังคงห่างไกลจากคำว่าการกลับมาอย่างผู้มีชัย
โดยนาย William Choong ศาสตราจารย์อาวุโสที่สถาบัน ISEAS Yusof Ishak มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า การสหรัฐฯได้หยุดชะงักข้อตกลงต่างๆ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ไปเป็นระยะเวลาหนึ่งในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น ทำให้สหรัฐฯกลายเป็นฝ่ายที่โดดเดี่ยวตัวเอง และการที่เอเชียได้มีกระบวนการเดินหน้าทางความร่วมมือข้อตกลงทางการค้าต่างๆโดยไม่มีสหรัฐฯอยู่นั้น ข้อผิดพลาดที่มาจากการตัดสินใจของทางสหรัฐฯเอง
หรือก็คือการที่สหรัฐฯได้นิ่งเฉยและไม่ส่งเสียงอะไรเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ออกมา ก็ทำให้สหรัฐฯสูญเสียบทบาทที่เคยถูกจดจำว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียไป ซึ่งการสูญเสียบทบาทดังกล่าวนั้นก็ทำให้เอเชียไม่ได้จดจำสหรัฐฯว่า เป็นประเทศที่ขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้วนั่นเอง
ขณะที่นายไบเด้นพยายามที่จะกล่าวเสมอว่าหลังจากตัวเขาสาบานเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจะเริ่มภารกิจการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่เสียหายจากไวรัสโควิด-19 แต่ทั้งหมดนั้นจะไม่ใช่งานที่ง่ายสำหรับนายไบเด้นเลย ถ้าหากเขาต้องการจะฟื้นฟูบทบาทของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประเทศต่างๆสูญเสียความเชื่อมั่นกับสหรัฐฯไปแล้ว
ดังนั้น ทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดสำหรับนายไบเด้นในปี 2564 จะเป็นว่านายไบเด้นจะมีนโยบายกลับมาเสริมสร้างพันธมิตรอีกครั้งกับทั้งญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียในการที่จะคานอำนาจกับจีน
โดยข้อมูลจากนายเดวิด ดีนูน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีน ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวถึงสิ่งที่เรียกกันว่ากลุ่มควอด(Quad) ที่ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียน่าจะเข้าร่วมกับกลุ่ม Quad ที่ว่านี้
ซึ่งประเทศอย่างอินเดียแม้ว่า ณ เวลานี้จะยังคงสงวนท่าที แต่ในปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น ต้องยอมรับว่าอินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกคุกคามจากประเทศจีน จนเป็นเหตุทำให้มีทหารอินเดียจำนวนอย่างน้อย 20 นาย ต้องเสียชีวิตไปจากเหตุการปะทะกับทหารจีนในช่วงกลางปี 2563
อ้างอิงวิดีโอจาก Study IQ Education
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ทีมบริหารของนายไบเด้นจะเอาเหตุความตึงเครียดที่ประเทศอินเดียหรือประเทศต่างๆมีกับประเทศจีนมาเป็นปัจจัยสนับสนุนในการสร้างข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน
ซึ่งการนำเอาประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ขนาดใหญ่ ประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านเทคโนโลยี อย่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินเดีย ประเทศสหรัฐฯ และประเทศออสเตรเลีย มารวมกลุ่มกันอยู่ในกลุ่มควอดนั้นถือน่าจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 และก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ประเทศอื่นๆจะเข้ามาร่วมกับกลุ่มควอดที่ว่านี้เพื่อจะส่งเสริมบทบาทความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิกในอนาคต
ขณะที่ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองนั้น ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าทีมบริหารของนายไบเด้นจะมุ่งเน้นและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐกับประเทศอื่นๆมากขึ้นไปอีก โดยจะมีการเอาความเป็นพันธมิตรที่ว่านี้ไปผูกกับข้อตกลงอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเคยถูกสนับสนุนโดยทีมบริหารงานของนายทรัมป์ และอาจจะกลายเป็นข้อตกลงอินโด-แปซิฟิกเวอร์ชั่น 2.0 ที่จะขยายความครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศสมาชิกข้อตกลงซึ่งอยู่ในภูมิภาคทะเลจีนใต้
โดยการสนับสนุนดังกล่าวจะแลกกับการที่ประเทศในภูมิภาคจะรับรู้และส่งเสริมบทบาทของสหรัฐฯในด้านการเสริมสร้างความมั่นภูมิภาคแปซิฟิกนั่นเอง
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Asia-in-2021-through-a-screen-darkly
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage