"...การที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไว้พิจารณาตั้งแต่วาระที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงขั้นรับหลักการนั้น นับเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อ ทำให้เนื้อหาสาระของร่าง รธน.ฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของร่างอื่น ๆ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง นอกจากนั้น ยังนับเป็นการปิดโอกาสที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นด้วยกลไกประชาธิปไตย เพื่อหาฉันทามติผ่านการสร้างกติกาใหม่ของการอยู่ร่วมกัน..."
-------------------------------------------------------------------
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับสมาคมนักฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ประจำปี 2563
ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อทบทวนและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเพื่อนำไปสู่การพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำหรับ 10 เรื่องเด่น ที่ถือว่ามีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
1.ประชาชน 100,732 รายชื่อเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอวอล์) ได้รณรงค์ให้ประชาชนผู้สิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) จนได้ 100,732 รายชื่อภายในระยะเวลาประมาณ 40 วัน และได้นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2563
แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 จะมีการตรวจสอบแล้วพบมีจำนวนผู้ที่คัดค้านและถอนชื่อสนับสนุนร่างดังกล่าวจำนวน 783 รายชื่อ ทำให้มียอดคงเหลือ จำนวน 98,041 รายชื่อ แต่ยังครบหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าด้วยการเข้าชื่อประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ
2.กลุ่มนักเรียนเลวเสนอการปฏิรูปการศึกษา
การเคลื่อนไหวของนักเรียนทั่วประเทศในหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อต่อต้านระบบอำนาจนิยมทั้งในระบการศึกษา และระบบการปกครองของประเทศ โดยการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบในรูปแบบต่างๆ ทั้งพื้นที่ในโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ จนกระทั่งได้พัฒนาเป็นข้อเรียกร้องเสนอต่อ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รวม 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามนักเรียน 2.ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลังโดยเฉพาะที่มีเนื้อหากดขี่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และ 3.ปฏิรูปการศึกษา
การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มนักเรียนเลวจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษา โดยการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ทั้งได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียนนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 24 คน โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นกรรมการ และผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาจะปรากฏผลมากน้อยเพียงใดอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบที่มีพลังของนักเรียนนักศึกษาได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อระบบอำนาจนิยมในระบบการศึกษาของไทย
(การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลว 5 ก.ย.63 : ภาพจากโพสต์ทูเดย์)
3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
วันที่ 2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 212 ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ต.2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค.2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ทำให้ประกาศทั้งสองฉบับไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอีกต่อไป ผู้ที่ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกมารายงานตัวแล้วไม่มาจึงไม่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด
4.การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล : ศาลยกคำร้องการฝากขัง และให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดปี พ.ศ.2563 โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมหลายราย แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง
นอกจากนั้นยังพบว่า ตำรวจมักอาศัยอำนาจทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมมาจัดการกับผู้ชุมนุม อาทิ การขอออกหมายจับกุมตัวผู้ชุมนุม โดยไม่มีหมายเรียก อย่างไรก็ดีในหลายคดี ศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่าการฝากขังต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องฝากขังต่อไปจึงให้ยกคำร้อง
นอกจากนี้ ยังพบว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ศาลออกหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยไม่มีหมายเรียกก่อนนั้น ศาลจะไม่อนุมัติหมายจับตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ซึ่งแสดงให้เห็นบทบาทของศาลที่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดีขึ้น
5.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาผู้แทนราษฎร
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.... ฉบับประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของ รธน. และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย โดยระดมความคิดจากทุกภารส่วน และเสนอให้คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติพิจารณา
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 144 คนจากเกือบทุกพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนอาจเสนอญัตติให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ได้
ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 และจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเพื่อส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ส่วนเรื่องเด่นที่ถือมีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ในลำดับที่ 6-10 ประกอบด้วย 6.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ 7.ร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 8.ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติเป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ 9.สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ 10.การจัดตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
สำหรับ 10 เรื่องด้อยที่เป็นความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
1.รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เข้าชื่อเสนอตามกฎหมาย
การที่รัฐสภาลงมติไม่รับร่างแก้ไข รธน.ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไว้พิจารณาตั้งแต่วาระที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงขั้นรับหลักการนั้น นับเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อ ทำให้เนื้อหาสาระของร่าง รธน.ฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของร่างอื่น ๆ ที่เสนอโดยพรรคการเมือง
นอกจากนั้น ยังนับเป็นการปิดโอกาสที่จะหาทางออกสำหรับปัญหาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นด้วยกลไกประชาธิปไตย เพื่อหาฉันทามติผ่านการสร้างกติกาใหม่ของการอยู่ร่วมกัน
2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 โดยอาศัยเหตุตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของม็อบราษฎรที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวน 22 คน ทั้งที่แกนนำได้ประกาศชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมและเดินทางกลับในเวลา 06.00 น.
เป็นการกระทำที่ถือว่าขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล หลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมาย จนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งหลักการดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
(การชุมนุมกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63)
3.การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม
ในรอบปี พ.ศ.2563 มีการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายกลุ่ม และตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหว รัฐได้พยายามปิดกั้นและจำกัดการใช้เสรีภาพของม็อบราษฎร และแนวร่วมในหลายรูปแบบ อาทิ การข่มขู่ การห้าม การติดตาม การสกัดกั้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในโรงเรียนมักถูกสถานศึกษาสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง , การใช้กำลังสลายการชุมนุม และการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของไทย ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการปิดกั้นด้วยการฟ้องคดีซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งรัฐได้เข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในการดำเนินคดีกับประชาชน โดยมีการนำกฎหมายมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน ตั้งแต่ข้อหาเล็กน้อยอย่างความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ไปจนถึงข้อหาหนักเกี่ยวกับความมั่นคง อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวมถึงการรื้อฟื้นการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลังจากงดใช้บังคับมาก่อนหน้านี้
4.กรณีอุ้มหาย วันเฉลิม ความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2563 มีรายงานข่าวและภาพจากกล้อง CCTV เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ไปทั่วโลก หลังจากนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยถูกบังคับเอาตัวขึ้นรถสีน้ำเงินเข้ม โดยชายในชุดดำพร้อมอาวุธจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ที่ปฏิบัติการอย่างอุกอาจต่อหน้าพยานที่พบเห็นเหตุการณ์จำนวนมาก โดยเหตุเกิดขึ้นเวลา 16.00 น.หน้าคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญที่เขาได้พักอาศัย
แต่เวลาผ่านไปกว่า 6 เดือน ครอบครัวและองค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าการช่วยเหลือเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวของทางการไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของชาวไทยในต่างแดน ดำเนินการได้อย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
ความล่าช้าในการคลี่คลายคดีอุ้มหายต่างๆ เกิดขึ้นจากความไม่จริงใจของทางการไทยในการยุติการอุ้มหาย ทั้งที่มีการรณรงค์และการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลและรัฐสภา ที่ระบุให้การทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญามาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้วก็ตาม
(นายวิชา มหาคุณ แถลงสรุปผลการค้นหาความจริงคดีบอสเมื่อวันที่ 1 ก.ย.63)
5.กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ กรณีนายวรยุทธ อยู่วิทยา
ในเดือน มิ.ย.2563 อัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ได้นำเสนอรายงานกว่า 100 หน้า ระบุว่าพบข้อบกพร่องในสำนวนคดี มีการประวิงเวลาและใช้พยานหลักฐานเท็จ มีการระบุชัดเจนว่าเกิดความบกพร่องที่ใคร หน่วยงานใด พร้อมได้เสนอ 5 แนวทางต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เริ่มกระบวนการสอบสวนคดีนี้ใหม่เพื่อความถูกต้อง
ต่อมามีการรื้อคดีนี้ขึ้นมาดำเนินการใหม่ และวันที่ 25 ส.ค.2563 ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุมัติหมายจับนายวรยุทธ ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 และในเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ทางการไทยได้แจ้งตำรวจสากลให้ออกหมายแดงสำหรับนายวรยุทธ และเตรียมทำเรื่องขอให้ส่งตัวนายวรยุทธ กลับมาดำเนินคดีที่ไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ผลจาการทำคดีจากการสั่งไม่ฟ้องกลายมาเป็นสั่งฟ้องนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการติดตามกดดันและตรวจสอบจากภาคประชาชน และคดีนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญายังมีปัญหาและยังไว้ใจไม่ได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างที่สำคัญเลย โดยเฉพาะชั้นสอบสวนที่ยังไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ ยังถูกแทรกแซงได้ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 26 เรื่องความเสมอภาคกันทางกฎหมาย จนทำให้มีการพูดกันมากว่า “คนจนยังมีโอกาสติดคุกมากกว่าคนรวย”
ส่วนเรื่องด้อยที่ถือมีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ในลำดับที่ 6-10 ประกอบด้วย 6.ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน : การทำร้ายร่างกายและการละเมิดทางเพศ 7.การยกเลิกการจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน 8.การสรรหาและเลือก กสม.ชุดใหม่ นาน 3 ปี ส่งผลกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ 9.ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน (IO) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 10.มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา
ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ถูกพิจารณาและนำเสนอโดย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ปรากฎในรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย) ฉบับนี้ จะเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ.2563
ซึ่งจะมีผลต่อการถอดบทเรียนและการประเมินตนเองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้เกิดพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นในการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการเคารพสิทธิมนุษยชนในปีต่อ ๆ ไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage