เนื่องจากว่าวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ใหม่ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความมั่นใจถึงผลกะทบในระยะยาวเท่าไรนัก แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติการใช้งานวัคซีนเป็นการฉุกเฉิน
...................
วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค ที่ ณ เวลานี้มีการอนุมัติใช้งานในประเทศอังกฤษ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา และมีการอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา คูเวต เม็กซิโก ถือว่าเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 ชนิดแรกของโลกที่มีการอนุมัติใช้งานอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี หลังการอนุมัติใช้งานดังกล่าว ก็ปรากฏข่าวว่า มีผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน จนในที่สุดอังกฤษและสหรัฐฯ ต้องมีการประกาศเตือนว่าผู้ที่มีอาการแพ้นั้นไม่ควรที่จะรับวัคซีนต่อไป
ทำให้ ณ เวลานี้ ทั่วโลกเกิดการตั้งคำถามว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคนั้นมีความปลอดภัยจริงหรือไม่
ล่าสุดสำนักข่าว AFP ของประเทศฝรั่งเศส ได้ประมวลผลข้างเคียงของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ รวมไปถึงวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อนำเสนอต่อสาธารณ มีรายละเอียดต่อไปดังนี้
@ อะไรคือผลข้างเคียง
ผลจากการศึกษาทดลองการรักษาหรือการทดลองทางคลินิกที่มีการเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีการระบุว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
โดยวารสารทางการแพทย์ชื่อว่า New England Journal of Medicine ได้มีการบรรยายเอาไว้ว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์นั้นเป็นวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยจะใช้การสังเคราะห์โมเลกุลที่เรียกว่า messenger RNA เพื่อเจาะเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ และออกคำสั่งให้มีการผลิตสารภูมิคุ้มกันโรค
ที่ผ่านมามีการทดลองการรักษาในระยะ 3 กับกลุ่มอาสาสมัครจำนวนกว่า 40,000 คน จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าวัคซีนนั้นมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับวัคซีนนั้นจะมีอาการเจ็บที่บริเวณฉีดวัคซีน และหลายรายมีอาการอ่อนแรง ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ แต่บางรายก็มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโต
ซึ่งอาการผลข้างเคียงของวัคซีนนั้นจะมีมากขึ้น และรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย
ขณะที่วัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นเป็นวัคซีนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
โดยใช้ไวรัสซึ่งตายแล้วเป็นตัวกระตุ้นเซล และใช้อะดีโนไวรัสของลิงชิมแปนซีเป็นพาหะของวัคซีนในร่างกาย
ซึ่งผลการทดลองวัคซีนเบื้องต้นนั้น วารสารทางการแพทย์ Lancet เคยเผยแพร่ไปแล้วว่าในการทดลองวัคซีนกับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 23,000 ราย พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยเช่นกัน
@ ผสมวัคซีนกันได้หรือไม่
ณ เวลานี้ มีคำถามตามมาว่าถ้าหากผู้ได้รับวัคซีนต้องการจะรับวัคซีนชนิดหนึ่ง และไปรับวัคซีนอีกชนิดหนึ่งจะทำได้หรือไม่
กรณีนี้นั้น ทางด้านนาง Marie-Paule Kieny นักไวรัสวิทยาจากสถาบันการวิจัยสุขภาพแห่งชาติฝรั่งเศสหรือ INSERM เคยกล่าวไว้ในรัฐสภาฝรั่งเศสว่าประชาชนควรจะระวังว่าผลกระทบจากการฉีดวัคซีนแต่ละเข็มนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บที่แขนและทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า แต่ผลกระทบดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นแค่ประมาณ 1 วัน และจะอยู่ไม่นาน
ดังนั้นการฉีดวัคซีน และผลกระทบของวัคซีนนั้นจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ถ้าหากต้องแลกกับภูมิคุ้มกันของไวรัสโควิด 19
การแจกจ่ายวัคซีนในประเทศอังกฤษ (อ้างอิงวิดีโอจากบีบีซี)
@ ผลกระทบที่หายาก
ที่ผ่านมานั้นผลกระทบอันรุนแรงที่มาจากการฉีดนั้นเป็นเรื่องที่หาได้ยากเป็นอย่างยิ่ง โดยวารสาร Lancet ได้เคยระบุว่ามีผู้ทดลองวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพียงแค่ 1 รายเท่านั้นที่มีผลกระทบขั้นรุนแรงซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
คนไข้iรายดังกล่าวนั้นมีอาการเจ็บป่วยจากภาวะไขสันหลังอักเสบ ซึ่งเป็นอาการทางประสาทที่หายาก แต่จากอาการดังกล่าวนั้นทำให้เกิดการหยุดการทดลองวัคซีนเป็นการชั่วคราวเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคนั้นพบว่ามีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยมีอาการของโรค Bell's palsy หรือโรคใบหน้าเบี้ยงครึ่งซีก ซึ่งอาสาสมัครนั้นจะมีอาการอัมพาตที่ใบหน้าเป็นการชั่วคราว
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีแค่อาสาสมัคร 4 ราย จากกลุ่มทดลองในระยะ 3 จำนวน 18,000 รายเท่านั้นที่ป่วยด้วยอาการดังกล่าว
ทั้งนี้ ความถี่ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ในกลุ่มทดลองนั้นถือว่ามีความถี่เทียบเท่ากับอัตราส่วนของผู้ป่วยโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกในกลุ่มประชากรปกติ ดังนั้นจึงไม่อาจจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอาสาสมัครซึ่งมีอาการใบหน้าครึ่งซีกนั้นมาจากการฉีดไวรัสหรือไม่
@ อะไรคืออาการภูมิแพ้
หลังจากที่อังกฤษได้อนุมัติวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษได้รายงานว่ามีคนไข้ 2 รายมีอาการจากผลข้างเคียง โดยคนไข้ทั้ง 2 รายนั้นมีอาการแพ้ต่อจุลินทรีย์ที่ทำให้ก่อโรค และในเวลาต่อมาก็มีการตรวจสอบว่าคนไข้ทั้ง 2 รายนั้นจำเป็นต้องมีการพกพาเครื่องฉีดอะดรีนาลีนส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา
และเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทางการอังกฤษจึงได้ออกคำเตือนว่าผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีน แพ้ยา หรืออาหารควรจะต้องหลีกเลี่ยงจากการฉีดวัคซีน
แต่ทางด้านนายสตีเฟนส์ อีวานส์ ศาสตราจารด้านการศึกษาทางเภสัชระบาดวิทยา ที่วิทยาลัยด้านสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนได้กล่าวว่าสำหรับกลุ่มประชากรทั่วไปนั้นไม่มีต้องกังวลเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนในประเด็นเรื่องของความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะว่าแม้แต่สิ่งเล็กๆเช่นยีสต์เองนั้นก็อาจจะทำให้เกิดภูมิแพ้ได้อย่างรุนแรงได้เช่นกัน
อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Inside News
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดำเนินการการทดลองการรักษาได้มีการคาดการณ์ความเสี่ยงของวัคซีนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะกับกรณีที่อาสาสมัครทดลองนั้นอาจจะมีประวัติการแพ้วัคซีน หรืออาจจะแพ้ส่วนประกอบบางชนิดที่อยู่ในวัคซีน
ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีประชากรหลายล้านคนทั่วโลกมีอาการแพ้สารบางอย่างอยู่แล้ว เช่นแพ้ไข่ หรือแพ้ถั่ว แต่ก็ไม่จำเป็นว่ากลุ่มประชากรเหล่านี้นั้นจะต้องแพ้วัคซีนตามไปด้วย
โดยนายเกรแฮม อ๊อก ผู้อำนวยการชั่วคราว สภาวิจัยทางการแพทย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาในมนุษย์ได้กล่าวว่าหลังจากที่มีข่าวผู้แพ้วัคซีนเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องเข้าใจพื้นฐานและประวัติการแพ้ รวมไปถึงปฏิกริยาของผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนที่มีเสียก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ผลระยะยาว
เนื่องจากว่าวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ใหม่ นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีความมั่นใจถึงผลกะทบในระยะยาวเท่าไรนัก แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติการใช้งานวัคซีนเป็นการฉุกเฉิน
ซึ่งหลังจากกรณีที่มีผู้แพ้วัคซีนเกิดขึ้นนั้น ทางด้านหน่วยงานสาธารณสุขในระดับโลกหลายแห่งก็จะต้องมีการจับตาดูข้อมูลการฉีดวัคซีนต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ออกมาตรการตอบสนองต่างๆได้ทันท่วงที
“เป็นเรื่องปกติสำหรับวัคซีนใดๆก็ตาม ที่จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องด้วยเหตุผลด้านข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ” นางแคล์ เว็บเบอร์ หัวหน้ามูลนิธิ Wellcome ซึ่งเป็นมูลนิธิการกุศลด้านวัคซีนระบุ
เรียบเรียงจาก:https://www.rfi.fr/en/what-we-know-about-covid-19-vaccines-and-side-effects
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage