"...นับตั้งแต่ 18 ก.ค. พบว่ามีผู้คนถูกดำเนินคดี 220 ราย 119 คดี แบ่งเป็นพื้นที่ กทม. ภาคกลาง และตะวันออก 87 คดี ภาคเหนือ 15 คดี อีสาน 11 คดี ในจำนวนนี้ มีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 56 คดี ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 18 คดี ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งขออนุญาตจัดการชุมนุม 21 คดี ข้อหามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น 17 คดี และข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 11 คดี 24 คน..."
--------------------------------------------------------------
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ปรากฏให้เห็นตลอดปี 2563
โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง เมื่อประเทศผ่านจุดวิกฤติของสถานการณ์โควิด มวลชนสวมหน้ากากอนามัย นัดชุมนุมแบบไปเช้า-เย็นกลับ ชูสามนิ้วแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ท่ามกลางการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีผลสืบเนื่องมาจากมาตรการควบคุมโรค
ทุกเวทีมีกิจกรรมที่กหลากหลาย ทุกการเคลื่อนไหวมีแกนนำสลับสับเปลี่ยนกันไฮด์ปาร์กกันอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไป มิ.ย.2563 ‘สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย-สนท.’ นำโดย ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์’ จัดกิจกรรมทวงความยุติธรรมให้กับผู้ถูกอุ้มหาย จากกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกอุ้มหายที่ประเทศกัมพูชา
ช่วงเดือนเดียวกัน 24 มิ.ย.2563 สนท. พร้อมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘เยาวชนปลดแอก’ จัดกิจกรรมรำลึก 88 ปีวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นเดียวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และประกาศคณะราษฎรถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
วันที่ 18 ก.ค. ‘ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี’ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก พร้อมด้วย สนท. นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.แก้รัฐธรรมนูญ 3.ยุบสภา
ตามมาด้วย ‘แฟลชม็อบ’ ที่ผุดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึง ‘ม็อบแฮมทาโร่’ ที่นัดรวมพลต่อแถววิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชิปไตย พร้อมดัดแปลงเพลงการ์ตูนญี่ปุ่น เพลงแฮมทาโร่ เวอร์ชันยุบสภา ล้อเลียนการทำงานของรัฐบาล
โดยมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า "ของอร่อยที่สุดก็คือ ภาษีประชาชน"
การนัดหมายชุมนุมต่อเนื่อง-ทั่วทิศ วันที่ 3 ส.ค. ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาจเรียกว่าเป็นเริ่มต้น ‘อานนท์ นำภา’ ขึ้นเวที ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน
7 ส.ค. กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ ตั้งโต๊ะ-เปิดตัว ขยายแนวร่วมเป็น ‘คณะประชาชนปลดแอก’ สร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวให้มากกว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่
10 ส.ค. ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ นัดชุมนุม ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ‘รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ เปิดประเด็น 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยการปฏิรูปสถาบัน
16 ส.ค.มวลชนเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนิน หลั่งไหลเข้าร่วมชุมนุมกับ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ที่จัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขยับเพดาน 3 ข้อเรียกร้อง 2 หลักการ และ 1 ความฝัน
(ภาพการชุมนุม 19 ก.ย.ที่บริเวณท้องสนามหลวง)
ชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง 19 ก.ย. นำโดย ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ จัดกิจกรรมชุมนุมค้างคืน ‘ทวงคืนราษฎร’ คู่ขนานการรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ที่ท้องสนามหลวง เวลาย่ำรุ่ง 20 ก.ย.แกนนำดำเนินพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 2563 กลางท้องสนามหลวง พร้อมอ่านจดหมายเปิดผนึก และประกาศตั้งต้น ‘คณะราษฎร 2563’
การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของ ‘คณะราษฎร 2563’ ตั้งหมุดหมายไว้ที่ 14 ต.ค. ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน หนึ่งในแกนนำคนสำคัญ ‘ไผ่ - จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา’ และพวกถูกควบคุมตัวขณะเตรียมตัวปักหลักค้างคืนรอการชุมนุมเช้าวันรุ่งขึ้น
สถานการณ์ปลุกเร้าให้มวลชนเข้าร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ก่อนประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ข้อเรียกร้องถูกขมวดให้เด่นชัด 3 ประเด็น 1.นายกรัฐมนตรีลาออก 2.แก้รัฐธรรมนูญ 3.ปฏิรูปสถาบัน
ตำรวจควบคุมฝูงชนเคลื่อนกำลังเข้ากดดัน-ปิดล้อมผู้ชุมนุมเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค.หลังนายกรัฐมนตรี ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ มีการประกาศยุติการชุมนุมทันที พร้อมนัดรวมตัวในช่วงเย็นที่แยกราชประสงค์ แต่มีแกนนำและมวลชน 22 คน ถูกจับกุมดำเนินคดี รวมถึง ‘เพนกวิน-รุ้ง-อานนท์’
(ภาพการชุมนุม 14 ต.ค.ขณะมวลชนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล)
เย็นวันที่ 16 ต.ค.สถานการณ์ตึงเครียด หลังจากเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง-เคลื่อนกำลังสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน
การชุมนุมพีคที่สุด เมื่อแกนนำถูกจับ - ปรากฎภาพการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ม็อบดาวกระจาย’ เกิดขึ้นบนภาวะการเคลื่อนไหว ‘ไร้แกนนำ’ เริ่มปรากฏ พื้นที่เศรษฐกิจ-สี่แยกใหญ่ใจกลางเมือง กลายเป็นสถานที่นัดหมายรายวัน อาทิ ห้าแยกลาดพร้าว , วงเวียนใหญ่ , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , แยกอุดมสุข , แยกบางนา , แยกปทุมวัน , แยกราชประสงค์ , แยกอโศก , แยกเกษตร รวมถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน ล้วนเป็นพื้นที่ที่ 'ม็อบราษฎร' เคยปักหลักชุมนุมมาแล้วทั้งหมด
มีการเคลื่อนพลใหญ่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง วันที่ 21 ต.ค.เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรี และ วันที่ 26 ต.ค. ‘มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ นำมวลชนเดินขบวนจากแยกสามย่านไปสถานทูตเยอรมนี อ่านแถลงการณ์-ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน
วันที่ 4 พ.ย. ‘คณะราษฎร 2563’ อ่านแถลงการณ์ไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ‘ม็อบราษฎร’
ถัดมาจากนั้นการชุมนุมถูกนัดหมายตามวาระสำคัญ อาทิ 8 พ.ย.เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปท้องสนามหลวง หรือ 17 พ.ย.ชุมนุมล้อมรัฐสภาเกาะติดวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ และ 18 พ.ย.นัดชุมนุมแยกราชประสงค์ สาดสี-เขียนข้อความใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงพื้นที่โดยรอบ เพื่อคัดค้านและตอบโต้การกระทำจากรัฐที่มีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา
19 พ.ย.นายกรัฐมนตรี มีแถลงการณ์เตรียมบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด หลังสถานการณ์ไม่มีท่าทีที่จะบรรเทาลง จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินคดีแกนนำฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ถัดมาเพียง 3 วัน 22 พ.ย.มวลชนนัดชุมนุมหน้าถนนอุทยาน – ถนนอักษะ รำลึกเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2557 ต่อมาวันที่ 25 พ.ย. ‘ม็อบราษฎร’ ปักหมุดหมายนัดชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ลวดหีบเพลง-ตู้คอนเทนเนอร์ถูกจัดเตรียมไว้เป็นแนวป้องกัน ทำให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนสถานที่กะทันหันเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน
การชุมนุมถูกนัดหมายเรื่อยมา แต่เว้นระยะห่างตามวาระทางสังคม มีการชุมนุม ‘ซ้อมต้านรัฐประหาร’ เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง กระทั่ง 2 ธ.ค.นัดชุมนุมแสดงท่าทีหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดกรณีอาศัยอยู่ในบ้านพักทหาร โดยจัดขึ้นที่ห้าแยกลาดพร้าว ที่เป็นการเปลี่ยนสถานที่กะทันหันอีกครั้งจากเดิมที่นัดหมายกันที่ด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ
เกือบ 1 สัปดาห์นับจากการชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ‘ม็อบราษฎร’ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางรับทราบข้อกล่าวหาในแต่ละพื้นที่ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด
น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ขณะเปิดตัว ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ ระบุสถิติคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมที่ได้ทำบันทึกไว้นับตั้งแต่ 18 ก.ค. พบว่ามีผู้คนถูกดำเนินคดี 220 ราย 119 คดี แบ่งเป็นพื้นที่ กทม. ภาคกลาง และตะวันออก 87 คดี ภาคเหนือ 15 คดี อีสาน 11 คดี ในจำนวนนี้ มีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 56 คดี ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง 18 คดี ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งขออนุญาตจัดการชุมนุม 21 คดี ข้อหามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น 17 คดี และข้อหาตามมาตรา 112 จำนวน 11 คดี 24 คน
"ใน 4 เดือนที่ผ่านมามีการออกหมายจับ 83 คดี บางคดีมีโทษไม่ร้ายแรง แกนนำที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือ นายพริษฐ์ 21 คดี เป็น ม.112 จำนวน 7 คดี นายอานท์ 14 คดี เป็น ม.112 จำนวน 3 คดี น.ส.ปนัสยา 10 คดี เป็น ม.112 จำนวน 4 คดี นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ 12 คดี เป็น ม.112 จำนวน 2 คดี นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 16 คดี ส่วนใหญ่เป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ" น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าว
หากนับเฉพาะพื้นที่ กทม. ตามข้อมูลของ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่า มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมรวม 120 คดี ส่งพนักงานอัยการแล้ว 39 คดี และอยู่ระหว่างการสืบสวน 81 คดี
‘เพนกวิน-พริษฐ์’ หนึ่งในแกนนำ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ขณะเข้าพบตำรวจ ปอท. รับทราบข้อหามาตรา 112 ยอมรับว่า มวลชนจำนวนหนึ่งติดสอบ และอาจต่อเนื่องถึงช่วงวันหยุดยาว ย้ำปีหน้าความเคลื่อนไหวจะเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มแสดงความเห็นของตนเองได้อิสระและชัดเจนกว่านี้
ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ‘ม็อบราษฎร’ ยังนัดชุมนุมต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนกำหนดการรายวัน เป็นเว้นระยะห่างรายสัปดาห์ ตามความอ่อนล้า และวาระทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมองว่าการเคลื่อนไหวเริ่มแผ่วและเบา
วันที่ 10 ธ.ค.วันรัฐธรรมนูญ แกนนำนัดชุมนุม แต่รูปแบบใหม่จากเวทีปราศรัย เปลี่ยนเป็นเสวนาวิชาการ รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 อาจเป็นหนึ่งในเวทีที่จะถูกประเมินกำลัง-ความเข้มข้นส่งท้ายปี 2564
เป็นเส้นทาง 6 เดือนของ ‘ม็อบราษฎร’ ก่อนย่างเข้าสู่ปีใหม่ที่แกนนำหวังว่าการเคลื่อนไหวยังคงเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage