พลิกปูม 7 คดีดัง ป.ป.ช.ลุยฟ้องเอง ‘ทักษิณ’ปล่อยกู้ Exim Bank มิชอบ-ทุจริตหวยบนดิน ‘หมอเลี๊ยบ’แก้สัมปทานดาวเทียม-ตั้ง กก.คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ‘เบญจา หลุยเจริญ’ตอบข้อหารือไม่เก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’คดีกอล์ฟอัลไพน์ ‘พล.ต.ต.สัจจะ’จัดซื้อจักรยานยนต์ไทเกอร์
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข้อมูลคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้สำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องคดีเอง ระหว่างปี 2556-วันที่ 22 ต.ค. 2563 มีอย่างน้อย 69 คดี โดยคดีถึงที่สุดแล้ว 20 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 11 คดี ที่เหลือยกฟ้อง 9 คดี (อ่านประกอบ : 8 ปี ป.ป.ช.ฟ้องเอง 69 เรื่อง ใช้เวลาแต่ละสำนวนหลังชี้มูลนานปีเศษ-ถึงที่สุดแล้ว 20 คดี)
สำหรับเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องฟ้องคดีเอง เนื่องจากมีหลายคดีที่มีการชี้มูลความผิดไปแล้ว ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) อย่างไรก็ดีฝ่ายอัยการเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. กระทั่งหาข้อยุติไม่ได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงดึงสำนวนกลับมาฟ้องเอง
มาดูกันว่าในบรรดาคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 20 คดีข้างต้น มีบุคคลเด่น-ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แล้วถูกส่งฟ้องศาลมีใครกันบ้าง?
@ศาลพิพากษาจำคุก 6 คดี
หนึ่ง คดีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติให้เงินกู้แก่สหภาพพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่นฯ (คดีเงินกู้ Exim Bank)
กรณีนี้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2551 ว่า การกระทำของนายทักษิณ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 ต่อมาได้ส่งสำนวนมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฯพิพากษาว่า การกระทำของนายทักษิณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ดูแลกิจการของ Exim Bnak ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ ควบคู่กับธุรกิจของตนเองและครอบครัว โดยอาศัยโอกาสที่ได้พบปะผู้นำของสหภาพพม่า และดำเนินเรื่องจนคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ผ่าน Exim Bank ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน เพื่อประโยชน์แก่บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ที่ตนเองและครอบครัวถือหุ้น ในโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคม จนกระทรวงการคลังต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินประจำปีชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้แก่ Exim Bank
การสั่งการให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้กู้ยืมเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 เนื่องจากนายกทักษิณ ได้บริหารราชการแผ่นดิน โดยเกิดความทับซ้อนกันของผลประโยชน์ส่วนรวมและผลประโยชน์ส่วนตนขึ้น ขัดต่อหลักจริยธรรม การกระทำของนายทักษิณ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152
ศาลพิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ เป็นเวลา 3 ปี และให้ออกหมายจับมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯสั่งคุก 3 ปี! ‘ทักษิณ’คดีปล่อยกู้ Exim Bank 4 พันล.เอื้อ บ.ชินแซทเทลไลท์ฯ)
สอง คดีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (คดีหวยบนดิน)
กรณีนี้ คตส. มีมติว่านายทักษิณ กับพวกรวม 47 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8, 9, 10 และ 11 ต่อมาได้ส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฯพิพากษว่า นายทักษิณ ไม่ต้องการให้เงินจากการขายสลากโครงการหวยบนดิน ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถูกจัดสรรเข้าเป็นรายได้แผนดิน อันจะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามช่องทางปกติตามวิธีการงบประมาณ เพื่อให้มีการจัดการเงินรายได้โดยไม่มีข้อจำกัด เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีการสั่งให้จำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) การนำข้อเสนอการออกสลากดังกล่าวเข้าเป็นวาระพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ นำเงินรายได้บางส่วนคืนสู่สังคม รวมทั้งการไม่น้ำเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากจัดสรรเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ถือได้ว่าการกระทำของนายทักษิณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
ศาลฯพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 และมีมติเสียงข้างมากให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนข้อหาและคำขออื่นขอให้ยก และให้ออกหมายจับนายทักษฺณมาบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป (อ่านประกอบ : คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา! ศาลฎีกาฯ พิพากษา ทักษิณ คดีทุจริตหวยบนดิน, แสน ล.ยังไม่ส่งรายได้แผ่นดิน! คำพิพากษาศาลชำแหละคดีหวยบนดิน‘ทักษิณ’รู้อยู่แล้วขาดทุน-ขัด กม.)
สาม คดีกล่าวหานางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาภาษี (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ชช) น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร นายกริช วิปุลา นุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนตอบข้อหารือโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีการไม่เก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ปฯระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ กับนายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์
กรณีนี้ คตส. มีมติว่านางเบญจา หลุยเจริญ กับพวก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 ประกอบมาตรา 83 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 10, 13 และส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลฯพิพากษาว่า การตอบข้อหารือของนางเบญจากับพวก ที่ร่วมกันกระทำไปขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากข้อหารือถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่สมมติขึ้น จนนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไมได้แสดงรายการเงินได้จากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาตลาดของหุ้น Shin ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินจำนวนคนละ 7,941,750,000 บาท (ราว 7.9 พันล้านบาท) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร
ศาลฯพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุกมีกำหนด 2 ปี พฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ
ต่อมานางเบญจา กับพวกยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้ว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ (อ่านประกอบ : พฤติการณ์ร้ายแรง!ฎีกาคุกจริง 2 ปี 'เบญจา-พวก'ช่วย'โอ๊ค-เอม'ไม่เสียภาษีซื้อหุ้นชินคอร์ป)
สี่ คดีกล่าวหา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีทีเดิม ปัจจุบันคือกระทวงดีอีเอส) นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และเป็นอดีตปลัดไอซีที จำเลยที่ 1-3 อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยมิชอบ (คดีสัมปทานดาวเทียม)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนและชี้มูลความผิด ต่อมาได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฯพิพากษาว่า ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีที กับพวกรวม 3 ราย ร่วมกันดำเนินการอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัททั้ง 2 แห่ง ทำให้ชินคอร์ปฯไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ กระทรวงไอซีที และทางราชการ
ศาลฯพิพากษาลงโทษจำคุก นพ.สุรพงษ์ 1 ปี ไม่รอลงอาญา และลงโทษจำคุก ส่วนจำเลยที่ 2-3 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี (อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯจำคุก 1 ปี'หมอเลี๊ยบ' ไม่รอลงอาญา-2 อดีตปลัดไอซีที รอ 5 ปี คดีเอื้อชินคอร์ป)
ห้า คดีกล่าวหานายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง เป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ (คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์)
กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน และมีมติชี้มูลความผิด และยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง (เนื่องจากเรื่องเกิดขึ้นสมัยนายยงยุทธ เป็นข้าราชการ) โดยศาลฯพิพากษว่า ขณะที่นายยงยุทธเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัด พิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกจาก 2 โฉนดดังกล่าว เป็นที่ธรณีสงฆ์จากการที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารนั้น นายยงยุทธ ออกคำสั่งโดยมิชอบจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่าง ๆ และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นคำสั่งของนายยงยุทธจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธณรมิการามวรวิหาร
ศาลฯพิพากษาว่า นายยงยุทธมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ต่อมานายยงยุทธยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมานยยงยุทธยื่นฎีกา แต่ศาลฎีกาพิพากษาว่าคำร้องของนายยงยุทธมิได้แสดงถึงปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้ยกคำร้องและไม่รับฎีกา (อ่านประกอบ : ศาลไม่รับฎีกา! ‘ยงยุทธ วิชัยดิษฐ’ ติดคุกจริงทันที 2 ปีคดีทุจริตกอล์ฟอัลไพน์)
หก คดีกล่าวหา พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีทุจริตในการประกวดราคาจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจพร้อมอุปกรณ์ (ทดแทน) จำนวน 19,147 คัน โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม (คดีจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์)
กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน และชี้มูลความผิด ก่อนยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลฯพิพากษาว่า พล.ต.ต.สัจจะ ในฐานกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรกจักรยานยนต์ไทเกอร์ดังกล่าว วงเงิน 1,244,555,000 บาท ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด โดยตรวจสอบหนังสือรับรองตัวแทนจำหน่ายให้บริการซ่อมบำรุง ปรากฏว่า ระบุครบทั้ง 76 จังหวัด ถือได้ว่าจำเลยใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการกระทำของบริษัท คาร์แทรคกิ้ง จำกัด หรือมีส่วนได้เสียกับการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ตามโครงการดังกล่าว อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือปฏิบัติหน้าหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือมีการกระทำใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทดังกล่าว ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐศาลฯพิพากษายกฟ้อง
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ 2 ประการ คือตรวจคุณสมบัติและตรวจเอกสาร การที่จำเลยเพียงตรวจเอกสารของผู้เสนอราคา โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้เสนอราคามีศูนย์ซ่อมครบทั้ง 76 จังหวัดหรือไม่ ย่อมไม่ชอบด้วยระเบียบ อีกทั้งจำเลยเป็นทั้งผู้บังคับการกองพลาธิการ เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ เป็นคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน (TOR) เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประกวดราคา ทราบอยู่แล้วว่าบริษัทที่มีคุณสมบัติในการเสนอราคามีเพียง 3 บริษัท และกำหนดระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด จึงเห็นว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า พล.ต.ต.สัจจะ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท (อ่านประกอบ : เสียหาย 1.2 พันล.!อุทธรณ์กลับคุก 10 ปี‘นายพล ตร.’ซื้อ จยย.ไทเกอร์-ออกหมายจับเอกชนหนี)
@ศาลพิพากษาจำคุกแต่รอการลงโทษ 1 คดี
คดีกล่าวหา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ
กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน และชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ และมีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลฯพิพากษาว่า การที่ นพ.สุรพงษ์ เป็น รมว.คลัง มีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. แต่ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ กำหนดคุณสมบัติห้ามไม่ให้บุคคลที่มาเป็นกรรมการคัดเลือก เป็นข้าราชการประจำไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นพ.สุรพงษ์ กลับเสนอรายชื่อบุคคล 7 ราย โดยใน 3 รายชื่อเป็นผู้บริหารธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ ภายใต้กำกับของ ธปท. เพื่อเสนอเป็นกรรมการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ ธปท. จึงเป็นการแต่งตั้งผู้มีประโยชน์ได้เสีย ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย กระทบความเป็นอิสระและเสถียรภาพของ ธปท. ที่จะเป็นธนาคารกลางของประเทศ โดยการกระทำของ นพ.สุรพงษ์ เป็นการแทรกแซงทำให้ ธปท.เสียหาย
ศาลฯพิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี (อ่านประกอบ : คุก 1 ปีรอลงอาญา! คดี‘หมอเลี๊ยบ’ แทรกแซงตั้งผู้ทรงฯในบอร์ด ธปท.)
ทั้งหมดคือคดีเกี่ยวกับบุคคลดัง-ผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และฟ้องคดีเอง จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดออกมาแล้ว
ยังเหลือบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้บริหารท้องถิ่นอีกหลายคดี สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายทักษิณ จาก https://www.naewna.com/, นางเบญจา จาก https://www.thebangkokinsight.com/, นพ.สุรพงษ์ จาก https://www.hfocus.org/, นายยงยุทธ จาก https://static.posttoday.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/