"...องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองอุทัยธานี เทศบาลเมืองมุกดาหาร เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองสตูล เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และเทศบาลเมืองพังงา ...องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการรวมถึงมีการใช้งานที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครสงขลาเทศบาลนครนครปฐม เทศบาลเมืองสิงห์บุรี และเทศบาลเมืองสระบุรี..."
..................
ปัญหาขยะมูลฝอยถือว่าเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน โดยที่รัฐบาลประกาศให้ “การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” และมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย และขยะอันตรายของประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นหน่วยงานปฏิบัติการในระดับพื้นที่ร่วมกับจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ทั้งยังมีหน้าที่ในการกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นตน ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เห็นชอบแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559 – 2560) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยตามแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เป็นแนวทางเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ โดยมุ่งลดปริมาณขยะ และการคัดแยกขยะที่ต้นทาง มุ่งสร้างระบบการเก็บขนขยะ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเมื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ แล้วเสร็จในระยะสั้น 1 ปี ข้อมูลและผลการดำเนินงานที่ได้จากการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดแผนปฏิบัติการฯ ระยะสั้นในปีถัดไป เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564
จากรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย/สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยทั้งของรัฐและเอกชน จำนวนทั้งหมด 3,206 แห่ง ปิดให้บริการหรือหยุดดำเนินการ จำนวน 417 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13.00 เปิดให้บริการหรือยังคง ดำเนินการอยู่ จำนวน 2,789 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87.00 แยกเป็นสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย จำนวน 23 แห่ง และสถานีกำจัดขยะ จำนวน 2,766 แห่ง โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2562 สำนักงบประมาณได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ภายใต้แผนงานบูรณาการ จำนวน 3 แผนงาน จำนวนเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,638.32 ล้านบาท มีกระทรวงที่รับผิดชอบหลัก 2 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวข้างต้น จึงได้เลือกตรวจสอบการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ด้านมลพิษขยะ เพื่อทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค หรือข้อจำกัดต่าง ๆ และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ด้านมลพิษขยะ เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้บรรลุผลตามเป้าหมาย และมีผลคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน กำหนดระยะเวลาการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 – เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ผลการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบ จำนวน 1 ประเด็น
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ข้อตรวจพบ การบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ยังขาดประสิทธิภาพ
จากการตรวจสอบการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 23 แห่ง พบสภาพปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอย คือ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยบางรายการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และการดำเนินการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ยังไม่เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยบางรายการ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 23 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 17 แห่ง ดำเนินการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้าง มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,842.30 ล้านบาท และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย ประกอบกับการตรวจสอบสังเกตการณ์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างและดำเนินการบริหารจัดการด้วยตนเอง จำนวน 17 แห่ง และการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า มีระบบกำจัดขยะปิดใช้งานทั้งระบบ จำนวน 1 แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยแต่ไม่มีการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงมีการใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จำนวน 12 แห่ง สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองอุทัยธานี เทศบาลเมืองมุกดาหาร เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองสตูล เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และเทศบาลเมืองพังงา
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการรวมถึงมีการใช้งานที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครสงขลาเทศบาลนครนครปฐม เทศบาลเมืองสิงห์บุรี และเทศบาลเมืองสระบุรี
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการในระบบกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากชำรุดและไม่ได้รับการซ่อมแซม ซึ่งหากทำการซ่อมแซมจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงส่งผลทำให้อุปกรณ์บางรายการไม่สามารถใช้งานได้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยอุปกรณ์ที่ชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้ที่พบมากที่สุดคือ บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน และระบบน้ำชะล้างขยะมูลฝอยชุมชน (ที่ล้างรถ)
2. ผลการดำเนินการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยังไม่เป็นไปตามแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ของกระทรวงมหาดไทยแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559 – 2560) ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 มีสาระสำคัญ คือ การดำเนินงานในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดกรอบการดำเนินงานโดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้นทาง คือการลดปริมาณขยะและมีการคัดแยกขยะที่ครัวเรือน สถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ และสถานประกอบการระยะกลางทาง คือ การเก็บและขนที่มีประสิทธิภาพ และระยะปลายทาง คือ การจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมีประสิทธิภาพ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานปฏิบัติการในระดับพื้นที่ มีหน้าที่ดำเนินการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในพื้นที่ และจัดระบบการเก็บรวบรวมขนส่งขยะมูลฝอยและขยะอันตรายชุมชนแบบแยกประเภทเพื่อส่งกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคัดแยก เก็บรวบรวม การเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอย การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยให้เหมาะสม โดยจากการตรวจสอบขั้นตอนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 23 แห่ง มีรายละเอียด ดังนี้
1) การลดปริมาณและคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด พบว่า ครัวเรือนและผู้ประกอบการบางส่วน ยังไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำมาทิ้ง โดยจากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน/ประธานชุมชน ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 23 แห่ง ๆ ละ 4 ราย รวมจำนวนผู้นำชุมชน/ประธานชุมชนที่ให้สัมภาษณ์ จำนวน 92 ราย ประกอบกับการสัมภาษณ์ครัวเรือนและผู้ประกอบการ ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งละ 40 ราย รวมเป็นจำนวนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่สัมภาษณ์ จำนวน 920 ราย โดยแบ่งเป็นสัมภาษณ์ครัวเรือน จำนวน 490 ราย และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ จำนวน 430 ราย พบว่า ผู้นำชุมชน/ประธานชุมชน จำนวน 19 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20.65 ไม่มีการคัดแยกขยะ และครัวเรือนและผู้ประกอบการ จำนวน 272 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 29.57 ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงประเภทของขยะมูลฝอยที่ครัวเรือนหรือผู้ประกอบการมีการคัดแยกก่อนนำไปทิ้ง พบว่า ขยะที่มีการคัดแยกน้อยที่สุด คือ ขยะอินทรีย์ โดยมีการคัดแยกเพียงร้อยละ 31.41 ของจำนวนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่สัมภาษณ์ทั้งหมดทั้งนี้ ขยะอินทรีย์ หมายถึง ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น และขยะที่มีการคัดแยกมากที่สุด คือ ของเสียอันตราย โดยมีการคัดแยกคิดเป็นร้อยละ 96.44 ของจำนวนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่สัมภาษณ์ทั้งหมด ทั้งนี้ ของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี เป็นต้น
อนึ่ง เหตุผลที่ครัวเรือนและผู้ประกอบการไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง จำนวน 272 ราย เนื่องจากไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐมีการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 23 แห่งที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเก็บข้อมูลสถิติชุมชนที่มีการคัดแยกขยะ จำนวน 17 แห่ง รวม 647 ชุมชน โดยพบข้อมูลว่า มีชุมชนที่มีการคัดแยกขยะมูลฝอยก่อนทิ้ง จำนวน 298 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 46.09 ของจำนวนชุมชนทั้งหมดที่มีการเก็บสถิติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ยังไม่เคยมีการเก็บข้อมูลสถิติชุมชนที่มีการคัดแยกขยะในพื้นที่ จึงไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าชุมชนในพื้นที่มีการคัดแยกขยะหรือไม่ อย่างไร
2) การเก็บขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ผลการดำเนินงานส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการกองช่าง และผู้อำนวยการกองสาธารณสุข จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 23 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2559 เพื่อทราบถึงความสำเร็จในภาพรวมของผลการดำเนินการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเวลาที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ผลการดำเนินการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชน อยู่ในเกณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ โดยอยู่ในระดับดีมาก จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 65.22 ของจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด อยู่ในระดับปานกลาง จำนวน 7 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 30.43 และอยู่ในระดับน้อยจำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.35 ของจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมด ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ได้ระบุเหตุผลหรือคำอธิบายที่ทำให้ผลการดำเนินการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชนประสบความสำเร็จ เช่น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานดี มีการแก้ปัญหาการเก็บขน ไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง มีแนวทางลดปริมาณขยะอย่างชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะ ผู้บริหารของหน่วยงานให้ความสำคัญ เป็นต้น
อนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ระบุปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่ส่งผลทำให้การดำเนินการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชนไม่ประสบความสำเร็จ เช่น รถเก็บขนไม่เพียงพอ ชำรุด มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูง บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและขนถ่ายไม่มีความรู้ มีไม่เพียงพอ และลาออกบ่อยประชาชนบางส่วนยังขาดจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากปัญหารถเก็บขนไม่เพียงพอ หรือชำรุดนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562เพื่อจัดซื้อรถบรรทุกขยะตามบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละแห่ง ได้แก่ รถบรรทุกขยะขนาด 1 ตัน แบบเปิดข้างเทท้าย รถบรรทุกขยะขนาด 6 ตัน แบบอัดท้าย และรถบรรทุกขยะขนาด 6 ตัน แบบเปิดข้างเทท้าย โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดซื้อรถบรรทุกขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 379 แห่ง จำนวน 384 คัน เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น863,012,000 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากไม่มีแผนความต้องการรายการครุภัณฑ์ (รถบรรทุกขยะ) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย (รถขยะ) จำนวน135 คัน งบประมาณ 299,395,000 บาท
3) การกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมีประสิทธิภาพ พบว่า การกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ของเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 23 แห่ง พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2562 ขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้โดยรวมมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตรวจสอบสังเกตการณ์บ่อกำจัดขยะแบบฝังกลบของเทศบาลที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 23 แห่ง พบว่า มีเทศบาลที่ไม่มีระบบกำจัดขยะ จำนวน 6 แห่ง ใช้วิธีจ้างเอกชนดำเนินการกำจัดขยะหรือนำไปกำจัดที่สถานที่กำจัดขยะของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น และมีเทศบาลที่มีระบบกำจัดขยะ จำนวน 17 แห่ง โดยเป็นระบบฝังกลบทั้ง 17 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าว สามารถเปิดใช้งานระบบฝังกลบ จำนวน 16 แห่ง เนื่องจากปิดดำเนินการ จำนวน 1 แห่ง(ระบบของเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม) ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างปริมาณขยะมูลฝอยที่เทศบาลต่าง ๆ จัดเก็บได้เฉลี่ยต่อวัน กับปริมาณความจุหรือความสามารถในการรองรับปริมาณขยะมูลฝอยต่อวันของระบบที่ออกแบบไว้ ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกัน ดังนั้น ในอนาคต หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถลดปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ประกอบกับปริมาณขยะมูลฝอยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องพื้นที่บ่อฝังกลบเต็มจนต้องปิดดำเนินการเร็วกว่าอายุการใช้งานสูงสุดของระบบตามที่ออกแบบไว้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสังเกตการณ์บ่อกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 16 แห่ง ที่มีการเปิดใช้งานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 พบว่า มีบ่อกำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการฝังกลบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยมีการใช้ดินหรือวัสดุอื่นกลบทับทุกครั้งที่มีการนำมูลฝอยทั่วไปไปฝังกลบ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครนครสวรรค์ และเทศบาลเมืองยโสธร และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 14 แห่ง ดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7 แห่ง นำขยะมูลฝอยมาเทที่บ่อฝังกลบทุกวัน แต่มีการใช้ดินหรือวัสดุอื่นกลบทับขยะมูลฝอยประมาณอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ได้แก่ เทศบาลเมืองมุกดาหาร เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครสงขลา เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลนครนครปฐม เทศบาลเมืองสระบุรี และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7 แห่ง นำขยะมูลฝอยมาเทที่บ่อฝังกลบทุกวัน แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการใช้ดินหรือวัสดุอื่นกลบทับขยะมูลฝอยที่นำมาเทหรือไม่ได้ฝังกลบเป็นประจำ แต่จะรอให้ขยะมูลฝอยที่นำมาเทมีปริมาณมากหรือเมื่อเริ่มส่งกลิ่นเหม็นรบกวน จึงจะทำการฝังกลบ ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองอุทัยธานี เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองสตูล เทศบาลนครนครศรีธรรมราช และเทศบาลเมืองสิงห์บุรี
ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 30 เมษายน2563 ถึงสถานภาพการใช้งาน ณ ปัจจุบัน ของระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 16 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการฝังกลบทุกครั้งที่มีการนำขยะมาเท จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองอุทัยธานี เทศบาลเมืองสตูล เทศบาลเมืองพังงา เทศบาลเมืองสิงห์บุรี และเทศบาลเมืองสระบุรีนอกจากนี้ เทศบาลนครนครสวรรค์ และเทศบาลเมืองยโสธร จากเดิมที่เคยมีการฝังกลบทุกครั้งที่มีการนำขยะมาเท แต่ปัจจุบันดำเนินการฝังกลบสัปดาห์ละครั้งหรือเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3 แห่งเปลี่ยนไปจ้างเอกชนกำจัด หรือนำไปกำจัดที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ เทศบาลนครขอนแก่นเทศบาลนครระยอง และเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 แห่งมีสถานภาพการจัดการขยะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
จากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ และระบบกำจัดขยะ รวมถึงอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการในระบบกำจัดขยะมูลฝอยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามที่วัตถุประสงค์กำหนดไว้ส่งผลกระทบดังนี้
1. ทำให้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย และจัดหาอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอย แต่ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ไม่เกิดความคุ้มค่า คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 253.83 ล้านบาท แบ่งเป็น ระบบกำจัดขยะที่ปิดดำเนินการทั้งระบบ จำนวน 1 แห่ง มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 48.79 ล้านบาท โดยถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีนับถึงวันเข้าตรวจสอบ (ปี พ.ศ. 2559) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่สุ่มตรวจสอบยังไม่มีการนำอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยบางรายการไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้คิดเป็นเงินงบประมาณมูลค่าไม่ต่ำกว่า 205.04 ล้านบาทนอกจากนี้ การที่อุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลทำให้ระบบเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งอาจทำให้ระบบกำจัดขยะและอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ชำรุด เสียหาย และไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก รวมถึงก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสในการใช้งาน
2. กรณีประชาชนไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำมาทิ้ง หรือระบบคัดแยกขยะชำรุด/เสียหายจนไม่สามารถเปิดใช้งานได้ อาจทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่มีการคัดแยกต้องนำไปเทที่บ่อฝังกลบเพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อความจุหรือความสามารถในการรองรับของระบบในอนาคต ทั้งนี้ หากยังไม่สามารถลดปริมาณขยะที่นำเข้าฝังกลบที่บ่อฝังกลบได้เทศบาลต่าง ๆ อาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่บ่อฝังกลบเต็มจนต้องปิดดำเนินการเร็วกว่าที่อายุการใช้งานสูงสุดของระบบออกแบบไว้
3. ปริมาณขยะที่มีมากขึ้นในแต่ละปีที่ถูกกองทิ้งไว้เพื่อรอการกำจัด หรือมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวน เกิดเป็นมลพิษจากขยะ และยังเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโรคและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยด้านมลพิษขยะ เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา กรณีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ทั้งนี้ อาจเร่งดำเนินการให้มีการประกาศใช้กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ.... ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีเงินรายได้เพียงพอและสอดคล้องกับปริมาณขยะมูลฝอยที่จะนำมากำจัดต่อวัน เทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยและค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลต่าง ๆ
2. กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยในความรับผิดชอบ ให้มีการสำรวจ ตรวจสอบอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่เสื่อมสภาพ ไม่สามารถใช้งานได้ หรือมีการใช้งานเป็นระยะเวลานานจนเกินกว่าอายุการใช้งานที่กำหนดไว้ และกำหนดแนวทางบริหารจัดการ ดูแลรักษา เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างที่เสื่อมสภาพดังกล่าว
3. กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด้วยความรอบคอบ รัดกุมและกำหนดแนวทาง ขั้นตอน หรือวิธีการสอบทานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ข้อมูลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในระบบสารสนเทศด้านการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความถูกต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการ กำหนดมาตรการ แผนรองรับ และแนวทางแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
4. กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหากรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังมีการเปิดใช้งานระบบกำจัดขยะมูลฝอยในปัจจุบัน แต่ประสบปัญหาขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ หรือขาดประสบการณ์ที่เหมาะสมในการดำเนินการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบกำจัดขยะมูลฝอยสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการที่กำหนดไว้
5. กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ เช่น โครงการรณรงค์ ส่งเสริม หรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย เพื่อให้มีข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการ สภาพปัญหา อุปสรรค ตลอดจนสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการวางแผนในการปรับปรุง แก้ไขการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษขยะซึ่งเป็นวาระแห่งชาติได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณโครงการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage