"....นักกิจกรรมที่ร่วมกลุ่มพันธมิตรชานมต่างก็มองว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่พวกเขาได้มีร่วมกันในหลายประเทศนั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ และยังมองอีกว่าการประท้วงในประเทศไทยนั้นก็เพื่อต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนทางกองทัพ และเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจนกับทางกรุงปักกิ่ง ซึ่งการต่อต้านกรุงปักกิ่งนั้นก็เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรชานมอยู่แล้ว..."
...................
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทย ณ เวลานี้ กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ด้วยคำแถลงของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนยันให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย พร้อมแสดงจุดยืนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้สื่อต่างชาติได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการชุมนุมในครั้งนี้ คือ เป็นการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีช่วงอายุไม่เกิน 40 ปี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงที่ออกมาต่อต้านอิทธิพลของรัฐบาลจีนก็อยู่ในช่วงอายุดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่การใช้กลวิธีแฟลชม็อบ ที่ไม่มีแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่แน่นอน ก็เป็นกลวิธีของผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงเช่นกัน
สื่อต่างชาติหลายสำนัก จึงได้เปรียบเทียบความเชื่อมโยงกันของกลุ่มเครือข่ายผู้ชุมนุมที่เริ่มมาจากฮ่องกงและลามไปยังประเทศอื่นๆภายใต้ชื่อ "กลุ่มเครือข่ายพันธมิตรชานม"
ล่าสุด นิตยสารไทม์ของสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอบทความชื่อว่า “เราแบ่งปันแนวคิดประชาธิปไตย” พันธมิตรชานมแผ่อิทธิพลทั่วเอเชียได้อย่างไร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงเนื้อหามานำเสนอ ณ ที่นี้
เมื่อประมาณวันที่ 1ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเสมือนวันชาติประเทศจีน มีรายงานว่า นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักเรียนไทยซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ไปร้องเพลงที่หน้าสถานทูตประเทศจีนประจำประเทศไทย ซึ่งเพลงมีเนื้อหาว่า ให้ผู้ที่เป็นทาสลุกขึ้นปลดแอกตัวเอง และวิดีโอดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปแชร์ต่อในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน
ในปัจจุบันแม้ว่าเพลงชาติของหมู่เกาะฮ่องกงจะเป็นเพลงชาติการยาตราของเหล่าอาสา (The March of the Volunteers) แต่สำหรับกลุ่มผู้ประท้วงในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแล้ว พวกเขายังคงเลือกที่จะใช้เพลงเกียรติยศแห่งฮ่องกง (Glory to Hong Kong) และนี่ก็คือเพลงเดียวกับที่นายบุญเกื้อหนุนได้นำไปร้องหน้าสถานทูตประเทศจีน
โดยเพลงดังกล่าวจะถูกร้องในกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงเพื่อแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง แต่ ณ ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมในประเทศไทยก็ได้เริ่มร้องเพลงนี้ในการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอกเหนือจากเพลงแล้วยังพบว่าผู้ชุมนุมในประเทศไทยยังได้นำเอากลยุทธ์ของผู้ชุมนุมในฮ่องกงหลายอย่างมาปรับใช้พร้อมกับประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ของผู้ชุมนุมในฮ่องกงด้วยเช่นกัน
แม้ว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในประเทศไทยและในฮ่องกงจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์ร่วมกันภายใต้เครือข่ายที่ชื่อว่า "กลุ่มพันมิตรชานม" ซึ่งแสดงเจตจำนงของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการจะต่อต้านระบบอำนาจนิยมเหมือนๆกันในช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังแผ่อิทธิพลเหนือประเทศต่างๆในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
@ ทำความรู้จักชานม
ชานมนั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีความนิยมทั้งในประเทศไทย ฮ่องกง และไต้หวัน แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance ได้กำเนิดขึ้นมาในช่วงเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีสงครามมีม (สัญลักษณ์ และการสื่อสารที่แสดงแนวคิดบนโลกอินเตอร์เน็ต) ระหว่างกลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่กับเยาวชนที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตย และขยายวงกว้างมาเรื่อยๆ โดยทางด้านของนายบุญเกื้อหนุนได้เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์เอาไว้ว่า แม้ในแต่ละประเทศจะมีประเด็นปัญหาแตกต่างกันออกไป
แต่เมื่อมีการต่อสู้ พวกเราล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเหมือนกันหมด
ภาพการ์ตูนแสดงการสนับสนุนพันธมิตรชานม (อ้างอิงรูปภาพจาก https://forsea.co/the-milk-tea-alliance-how-thailand-taiwan-and-hong-kong-are-supporting-each-others-fight-for-democracy/)
หากย้อนไปเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีประเด็นความรู้สึกร่วมกันระหว่างผู้เคลื่อนไหวในประเทศไทย และผู้ชุมนุมที่ฮ่องกง ก็คือ การเกิดขึ้นมาของแฮชแท็กการบอยคอตดิสนีย์กรณีการฉายภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน จนทำให้เกิดกรณีการเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในเขตการปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์และในทิเบต
กลับมาที่ประเทศไทย ภาพของผู้ประท้วงซึ่งตะโกนว่าเรียกร้องเอกราชฮ่องกงรวมไปถึงการโบกธงประชาธิปไตยฮ่องกงและธงไต้หวันซึ่งได้รับเอกราชก็เป็นสิ่งที่เห็นได้เช่นกัน และในทางกลับกันที่กรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน กลุ่มนักเรียน นักกิจกรรม และผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านอำนาจรัฐบาลต่างก็รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการชุมนุมในประเทศไทยเช่นกัน
โดยเว็บไซต์ ได้แก่ LIHKG นั้นถือเป็นสื่อสำคัญที่ชาวฮ่องกงมักใช้เพื่อรวมตัวกันแสดงความเห็นสนับสนุนการประท้วงในประเทศไทย ซึ่งประเด็นสำคัญที่มักจะพูดถึงกันในเว็บไซต์ดังกล่าวนั้นก็คือประเด็นการสนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และผู้ประท้วงชาวไทยเองก็ได้สนับสนุนให้มีการแสดงออกในฮ่องกงได้อย่างเสรีโดยไม่กระทบต่อกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง
หน้าเว็บไซต์ LIHKG
“แนวคิดก็คือ เราสามารถพูดและแสดงความเห็นซึ่งกันและกันได้ภายใต้สภาวะซึ่งปลอดภัย” นาย Ted Hui สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยกล่าวหลังจากที่ได้จัดการชุมนุมเพื่อสนับสนุนการประท้วงในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่หน้าสถานกงสุลประเทศไทยประจำฮ่องกง
นอกจากนี้จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็ทำให้มีนักการเมืองรายอื่นๆที่เริ่มจะมีการใช้แฮชแท็กเพื่อแสดงความสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรชานม #MilkTeaAlliance เช่นกัน อาทิ รองประธานาธิบดีไต้หวัน และโฆษกพรรคพรรคภารตียชนตาของประเทศอินเดีย
“ผมคิดว่าความร่วมมือกันของแต่ละประเทศในเอเชียจะช่วยเสริมพลังเยาวชนและทำให้ประเทศจีนได้รับรู้ว่าการขยายอิทธิพลและการใช้นโยบายนักรบหมาป่า*นั้นไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายอีกแล้ว เพราะถ้าหากใครก็มีความเชื่อในประชาธิปไตยและอิสรภาพ และมีแนวคิดต่อต้านไม่ยินยอมกับพฤติกรรมคุกคามจากระบบอำนาจนิยม พวกเขาถือได้ว่าเป็นหนึ่งในส่วนของพันธมิตรชานม” โจชั่ว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงกล่าวกับนิตยสารไทม์
*หมายเหตุ นโยบายนักรบหมาป่าหรือ Wolf Warrior มีที่มาจากภาพยนตร์จีนเรื่อง Wolf Warrior เป็นคำที่มีการใช้ให้เห็นทั้งในสื่อทางการจีนและสื่อตะวันตก ซึ่งอธิบายว่าเป็นสไตล์การทูตของจีนที่ดุดันก้าวร้าว โดยซีเอ็นเอ็นบอกว่าการทูตแบบนักรบหมาป่าของจีนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวิถีการทูตแบบเดิมๆ ซึ่งจีนดำเนินมาในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อน ที่ยังมีความนุ่มนวลอยู่ แต่การทูตแบบนักรบหมาป่าจะเป็นแนวทางที่ดุดัน มักใช้ถ้อยคำตอบโต้เผ็ดร้อนผ่านถ้อยแถลง ทางโซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้โดยตรงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจีนหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน
@อะไรคือพันธมิตรชานม
ที่ไปที่มาของแฮชแท็กพันธมิตรชานม #MilkTeaAlliance ปรากฏขึ้นครั้งแรกในทวิตเตอร์ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อที่จะตอบโต้นักเล่นอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะและการสื่อสารสนับสนุนรัฐบาลจีน โดยในช่วงเดือน เม.ย. มีกรณีที่นายวชิรวิชญ์ ชีวอารี พิธีกรและนักแสดงชายชาวไทย ในซีรีส์ เรื่อง เพราะเราคู่กัน ซึ่งได้รับความนิยมในประเทศจีนได้โพสต์ภาพบนทวิตเตอร์ซึ่งระบุว่า ฮ่องกงเป็น "ประเทศ"
หลังจากนั้นผู้วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตชาวจีนได้โจมตีนายวชิรวิชญ์ และเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรผลงานการแสดงของเขา ต่อมานายวชิรวิชญ์ได้ขอโทษและลบรูปทิ้ง
แต่ชาวเน็ตจีนค้นพบโพสต์ของ น.ส.วีรญา สุขอร่าม แฟนสาวของเขาบนอินสตาแกรม เมื่อปี 2560 ระบุว่า ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช จึงทำให้การโจมตีทวีคูณขึ้น
จากนั้นเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความประณามกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์และการต่อสู้ทางดิจิทัลที่ดุเดือดระหว่างชาวเน็ตไทยและสถานทูตจีน ชาวเน็ตไทยใช้โซเชียลมีเดียตอบโต้และปกป้องไบรท์ วชิรวิชญ์ โดยคำวิจารณ์ของพวกเขากลายเป็นการวิจารณ์ที่แพร่หลายมากขึ้น และเปิดประเด็นปัญหาทางการเมืองจีนเปิดกลายเป็นสงครามข้อความบนทวิตเตอร์ด้วยแฮชแท็ก #nnevvy ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ในประเทศไทยเห็นด้วยกับการรณรงค์เรียกร้องสำหรับการต่อสู้ของฮ่องกงและไต้หวันต่อการรุกรานของจีน ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงประชาธิปไตยที่ออกมาต่อต้านในประเด็นข้างต้นมีความรู้สึกต่อต้านปักกิ่งร่วมด้วย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเวทีต่อต้านเผด็จการของขบวนการพันธมิตรชานม ร่วมกันระหว่างทั้งประเทศไทย ฮ่องกงและไต้หวัน
ผู้ประท้วงหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยชูธงเอกราชให้ทิเบต ฮ่องกง และไต้หวัน (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4030648)
“เมื่อความเคลื่อนไหวบนโลกอินเตอร์เน็ตกลายเป็นเทรนด์ ก็จะเกิดความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภาครัฐตามมาด้วย โดยเป็นความเคลื่อนไหมซึ่งอยู่คู่กันและสนับสนุนกลุ่มเยาวชน ซึ่ง ณ จุดนี้เยาวชนจะไม่ได้เคลื่อนไหวเพียงลำพังอีกแล้ว” นายพอล เชมเบอร์ นักวิชาการด้านการเมืองไทยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (อาเซียน) มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าว
@เป้าหมายของพันธมิตรชานม
นอกเหนือจากประเทศไทยที่กลุ่มเยาวชนได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่รวมไปถึงการปฏิรูปสถาบันแล้ว ในฮ่องกงเองก็มีการประท้วงเพราะความกลัวว่าจะเสียอิสรภาพทางการเมือง และกลัวว่าจะถูกละเมิดสิทธิโดยกรุงปักกิ่ง ขณะที่ในไต้หวันก็มีการเรียกร้องจากนักกิจกรรมเพราะความกังวลว่าจะถูกประเทศจีนรุกรานเพื่อควบรวมให้ไต้หวันเป็นประเทศของตัวเอง
โดยนักกิจกรรมที่ร่วมกลุ่มพันธมิตรชานมต่างก็มองว่าความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่พวกเขาได้มีร่วมกันในหลายประเทศนั้นเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ และยังมองอีกว่าการประท้วงในประเทศไทยนั้นก็เพื่อต่อต้านรัฐบาลซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนทางกองทัพ และเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจนกับทางกรุงปักกิ่ง ซึ่งการต่อต้านกรุงปักกิ่งนั้นก็เป็นจุดยืนร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรชานมอยู่แล้ว
“พันธมิตรชานมนั้นอาจจะกลายเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะแสดงจุดยืนในการต่อต้านระบบอำนาจนิยม และต่อต้านระบบอำนาจและอิทธิพลของประเทศจีน” นายโรเจอร์ ฮวง ศาสตราจารย์วิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่กล่าวและกล่าวต่อไปว่าอีกไม่นานนี้เขาเชื่อว่าจะมีการตอบสนองกลับมาจากทางรัฐบาลจีนเพื่อหาทางตอบโต้กลุ่มพันธมิตรชานม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความนิยมต่อรัฐบาลกรุงปักกิ่งค่อนข้างสูง การตอบโต้กลับก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการรวมตัวและเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้นั้นถือว่าเป็นอุปสรรคและสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อประเทศจีนที่พยายามจะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่กรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ซึ่งทำให้นานาประเทศเกิดความไม่พอใจในประเทศจีนด้วยแล้ว กรณีการเกิดขึ้นของพันธมิตรชานมก็เป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่าประเทศจีนนั้นยังคงไม่ประสบความสำเร็จในการครองใจคนหมู่มากในหมู่ประชากรไต้หวันและในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
@ ประเทศจีนพูดถึงพันธมิตรชานมว่าอย่างไร
ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศของจีนได้แสดงความเพิกเฉยต่อกระแสการรวมกลุ่มนี้มาโดยตลอด โดยนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เคยออกมากล่าวว่ากลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชไม่ว่าจะที่ฮ่องกงก็ดีหรือว่าที่ไต้หวันก็ดี ทั้งหมดล้วนมีการร่วมมือกันทำงานกันเป็นระบบจากในโลกออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับรัฐบาลจีน และแผนการสมคบคิดของพวกเขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ
แต่ว่าในกลุ่มผู้สนับสนันพันธมิตรฯกล่าวยืนยันว่าพวกเขาล้วนมีความต้องการเดียวกันก็คือการสนับสนุนระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
โดยนายโจชัว หว่อง ได้เคยกล่าวยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะต่อจ้านรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ยังต่อต้านระบบอำนาจนิยมที่อยู่ทุกหนแห่ง
ซึ่งที่ผ่านมานักกิจกรรมหลายคนได้เคยกล่าวเอาไว้ว่าการร่วมกันแสดงความรู้สึกเหมือนๆกันในประเด็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นทำให้พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าอยู่คนเดียว หรือว่าสู้เพียงลำพัง และแน่นอนว่าการใช้โซเชียลมีเดียก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ง่ายต่อการหาผู้ที่มีแนวคิดร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งต่อสู้ในแนวทางคล้ายๆกัน และยังทำให้เกิดความู้สึกว่าพวกเขามีความแข็งแกร่งในด้านของจำนวนผู้สนับสนุน
ทางด้านของนางเวโรนิก้า มัค ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยชูอยาน ฮ่องกงได้กล่าวว่า “ผู้คนในวัยหนุ่มสาวมีความรู้สึกว่าขาดปัจจัย ขาดพลัง และความสำคัญที่จะแสดงออกในด้านการเมือง เพราะพวกเขาไม่มีอำนาจเงินตรา และพวกเขาไม่กี่คนเท่านั้นที่มีคอนเน็กชั่นกับฝ่ายการเมือง แต่พอมาเป็นโลกออนไลน์ พวกเขามีความรู้สึกว่าสามารถหาแนวร่วมสนับสนุนที่มีแนวคิดเหมือนๆกัน และสามารถเปล่งเสียงได้ดังขึ้น”
ซึ่งนอกเหนือจากการใช้โซเชียลมีเดียในการเป็นบ่อหลอมรวมผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันจากหลายประเทศแล้ว โซเชียลมีเดียยังคงเป็นพื้นที่สำคัญในการแชร์กลยุทธ์และเทคนิค ในการชุมนุมด้วยเช่นกัน
กราฟิตี้สนับสนุนการประท้วงในประเทศไทยที่ฮ่องกง
ขณะที่ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือว่าฟอร์ด ผู้จัดการชุมนุมในไทย ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขานั้นเคยพูดคุยและได้ทั้งความรู้มากมายและข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงที่ฮ่องกง
ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนั้น ด้แก่การตั้งมั่นอยู่ ณ ที่กำบัง เพื่อจะหาจุดที่จะดับหรือระงับควันจากแก๊สน้ำตา รวมไปถึงขั้นตอนปฏิบัติถ้าหากไม่มีแกนนำหรือว่าแกนนำถูกจับกุม การสลายการชุมนุมให้ทันท่วงทีก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการเข้าปราบปรามอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมากลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงได้ส่งออกกลยุทธ์การประท้วงเหล่านี้ไปยังนักกิจกรรมการประท้วงในประเทศต่างๆ อาทิ ที่สหรัฐอเมริกา ที่แค้วนคาตาลุญญา ประเทศสเปน ประเทศไนจีเรีย และที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็ได้ดำเนินการประท้วงโดยใช้กลยุทธ์จากฮ่องกงด้วยกันทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อการประท้วงจากฮ่องกงนั้นเป็นต้นแบบการส่งต่อทั้งแนวความคิดความเชื่อทางด้านการต่อสู้เพื่อเสรีนิยม รวมไปถึงต้นแบบกลยุทธ์ในการประท้วง
ก็หมายความว่าในอนาคต ถ้าหากมีประเทศใดในโลกที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกิดขึ้น กลุ่มพันธมิตรชานมที่ว่านี้ ก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นไปอีกเช่นกัน!
เรียบเรียงจาก:https://time.com/5904114/milk-tea-alliance/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/