"...การจ้างเหมาทำอาหารว่างและเครื่องดื่ม สำหรับผู้มาร่วมงาน ถือได้ว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ เกี่ยวเนื่องกับการแห่เทียนพรรษาเพื่อนำไปถวายวัด ต่างๆ ในเขตเทศบาลฯ ไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณได้ ประกอบกับงานวันเข้าพรรษา เป็นงานบุญซึ่งพุทธศาสนิกชนจะนำอาหารคาวหวาน ไปร่วมทำบุญเป็นประเพณีอยู่แล้ว ..ให้เรียกเงินส่งคืนคลังเทศบาลฯโดยเร็ว หากไม่สามารถเรียกคืนได้ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินดังกล่าว และผู้บริหารต้องให้ความสำคัญในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเท่าที่จำเป็นและประหยัดเพื่อ นำไปพัฒนาท้องถิ่นในส่วนอื่นที่จำเป็น..."
................
การใช้จ่ายเงินงบประมาณรัฐขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานวันเข้าพรรษา เป็นอีกหนึ่งกรณีที่มักถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย พร้อมสั่งการให้มีการเรียกเงินอยู่ตลอด
ทั้งนี้ เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดข้อมูลจากแหล่งข่าวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ในประเด็นข้อบกพร่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณรัฐ ของ อปท. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานวันเข้าพรรษานั้น เคยมีการรวมรวบปัญหาที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบและจัดทำเป็นคู่มือใช้ชื่อว่า "เกร็ดความรู้ห่างไกล สตง." นำเสนอประเด็นข้อบกพร่อง งานวันเข้าพรรษา และข้อเสนอแนะไว้จำนวน 6 ประเด็น เพื่อเผยแพร่ให้ อปท. ทุกแห่งรับทราบและนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา
อาทิ การเบิกจ่ายเงินเป็นค่าจัดซื้อต้นเทียน และ เครื่องสังฆทาน ตามโครงการส่งเสริมงานประเพณีทอดเทียนพรรษา เพื่อถวายวัดทั้ง 11 แห่ง ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเคยถูกสตง.เคยชี้ขาดแล้วว่า การเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่มีระเบียบกำหนด จึงเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ กระทรวง มหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 67 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิก ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ข้อ 4 ข้อ 5 และ ข้อ 6
ประเด็นค่าจ้างเหมาทำอาหารว่างและเครื่องดื่ม สำหรับผู้มาร่วมงาน โครงการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา สตง. ชี้ว่า การจ้างเหมาทำอาหารว่างและเครื่องดื่ม สำหรับผู้มาร่วมงาน ถือได้ว่าไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ เกี่ยวเนื่องกับการแห่เทียนพรรษาเพื่อนำไปถวายวัด ต่างๆ ในเขตเทศบาลฯ ไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณได้ ประกอบกับงานวันเข้าพรรษา เป็นงานบุญซึ่งพุทธศาสนิกชนจะนำอาหารคาวหวาน ไปร่วมทำบุญเป็นประเพณีอยู่แล้ว ..ให้เรียกเงินส่งคืนคลังเทศบาลฯโดยเร็ว หากไม่สามารถเรียกคืนได้ให้หาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินดังกล่าว และผู้บริหารต้องให้ความสำคัญในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเท่าที่จำเป็นและประหยัดเพื่อ นำไปพัฒนาท้องถิ่นในส่วนอื่นที่จำเป็น เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดข้อบกพร่อง และข้อเสนอแนะ ทั้ง 6 ประเด็น มานำเสนอ ณ ที่นี่
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเสนอแนะของ สตง. ต่อข้อบกพร่อง งานวันเข้าพรรษา จำนวน 6 ประเด็น สามารถสรุปสาระสำคัญ ที่การพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดงานจะต้องคำนึงถึงไว้ 7 ประการ ดังต่อไปนี้
1. เป็นการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
2. การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่จะต้องพิจารณากิจกรรมตามโครงการด้วยว่ากิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมแห่งประเพณีหรือไม่
3. การจะเบิกจ่ายเงินตามรายจ่ายแห่งกิจกรรมมีระเบียบ หรือหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เบิกจ่ายไว้หรือไม่
4. การแจกสิ่งของให้ประชาชนมิใช่กิจกรรมโดยตรงตามโครงการส่งเสริมคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา หากไม่แจกสิ่งของก็ไม่เป็นผลให้โครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์แต่อย่างใด จึงเป็นการดำเนินการเกินความจำเป็น
5. ไม่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
6. เป็นการตั้งงบประมาณในลักษณะฟุ้มเฟือยเกินความจำเป็น
7. การแจกสิ่งของเป็นรายจ่ายในลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคลแม้จะไม่ลงชื่อบนสิ่งของที่แจกก็ตาม
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดในคู่มือที่ใช้ชื่อว่า "เกร็ดความรู้ห่างไกล สตง." ในประเด็นข้อบกพร่อง งานวันเข้าพรรษา และข้อเสนอแนะ ที่มีการจัดทำและเผยแพร่ให้ อปท. ทุกแห่งรับทราบและนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage