"....กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ว่า การดำเนินโครงการและกิจกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 ซึ่งใช้งบประมาณรวม 257,828,100.00 บาท บรรลุผลสำเร็จตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ หรือไม่ และเมื่อสิ้น ปีงบประมาณ ทำให้ขาดข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดรอบปีงบประมาณถัดไป..."
การใช้จ่ายเงินงบประมาณ 257,828,100.00 บาท ของ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย เชียงราย แพร่ พะเยา และน่าน เพื่อจัดทำโครงการและกิจกรรมตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ โดยยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยว เชิงนิเวศ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การกำหนดโครงการและกิจกรรม ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ รัฐเกิดค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณจำนวน 92,557,500.00 บาท ขณะที่จากการสุ่มตรวจสอบโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 จำนวน 5 โครงการ 11 กิจกรรมหลัก พบว่า ผลการดำเนินงาน 4 กิจกรรม งบประมาณรวม 69,235,975.00 บาท ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่กำหนด รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 161,793,475 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ 257,828,100.00 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 ของ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยว เพื่อให้ทราบถึงการใช้จ่ายเงินการใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยดำเนินการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เกิดความประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพหรือไม่ และสาเหตุ ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
พบประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
การจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ขั้นตอนการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ หรือประเด็นการพัฒนาถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญ เนื่องจากเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่มจังหวัด
เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตรงตามวัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์ที่กลุ่มจังหวัดกำหนดไว้โดยจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อใช้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานตาม
ยุทธศาสตร์นั้นได้จากการตรวจสอบการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
พบว่า แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2557-2560) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2560 แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2561-2564) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำให้ไม่สามารถวัดผลสำเร็จของเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ได้ โดยพบว่าตัวชี้วัด ไม่ชัดเจน ไม่สามารถวัดหรือสะท้อนผลการดำเนินงานได้เนื่องจากตัวชี้วัดรายได้จากการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 เป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นผลนอกเหนือจากโครงการและกิจกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 จำนวน 9 โครงการ งบประมาณรวม 257,828,100.00 บาท อีกทั้ง รายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าว จัดเก็บและจัดทำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งใช้วิธีการสำรวจข้อมูลและการคำนวณในภาพรวม ไม่ได้ใช้ข้อมูลจากผลการดำเนินโครงการและกิจกรรมของกลุ่มจังหวัดดังกล่าว
ผลกระทบ
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ว่า การดำเนินโครงการและกิจกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 ซึ่งใช้งบประมาณรวม 257,828,100.00 บาท บรรลุผลสำเร็จตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ หรือไม่ และเมื่อสิ้น ปีงบประมาณ ทำให้ขาดข้อมูลประกอบการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดรอบปีงบประมาณถัดไป
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 พิจารณาดำเนินการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงาน
กลุ่มจังหวัดแบบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อทบทวนการกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ของยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์อื่น ๆ ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2561-2564) ให้ชัดเจน สามารถวัดผลได้สะท้อนถึงผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และเป็นไปตามหลักเกณฑ์คู่มือ หนังสือสั่งการที่ ก.น.จ. และ ก.บ.ภ. กำหนด รวมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลสำเร็จตามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในแต่ละยุทธศาสตร์
ข้อตรวจพบที่ 2 การกำหนดโครงการและกิจกรรม ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัด ซึ่งมาจากแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด โดยระบุถึงโครงการต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยการจัดทำโครงการที่ดีต้องสามารถตอบสนองความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาของกลุ่มจังหวัด รวมถึงต้องมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลของกลุ่มจังหวัดจากการสุ่มตรวจสอบโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 จำนวน 5 โครงการ 11 กิจกรรมหลัก พบว่ามีการกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ภายใต้คุณค่าและอัตลักษณ์ล้านนาตะวันออก ตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ จำนวน 7 กิจกรรมงบประมาณรวม 92,557,500.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.89 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การก่อสร้างเส้นทางจักรยาน งบประมาณ 45,626,000.00 บาท การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคูเมืองโบราณ งบประมาณ 38,731,500.00 บาท และ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV งบประมาณ 8,200,000.00 บาท
ผลกระทบ
รัฐเกิดค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณจำนวน 92,557,500.00 บาท ไปใช้ในโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเพิ่มรายได้ตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 พิจารณาดำเนินการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงาน
กลุ่มจังหวัดแบบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 คณะทำงานระดับจังหวัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พิจารณากลั่นกรอง แผนงาน โครงการ รายละเอียดกิจกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์อื่น ๆ ตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2561-2564) ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งซักซ้อม กำชับให้หน่วยงานเจ้าภาพหลัก และหน่วยดำเนินการพิจารณาทบทวนกิจกรรมให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ก่อนเริ่มดำเนินการ
ข้อตรวจพบที่ 3 ผลการดำเนินงานบางโครงการ/กิจกรรม ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด
คู่มือการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด (พ.ศ. 2557-2560) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กำหนดแนวทางสำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ (Results)
ที่ได้รับจากการดำเนินการนั้น มาจากผลรวมการประเมิน ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcomes) โดยที่ ผลผลิต หมายถึง งาน บริการ หรือกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ทำเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่ง
มอบให้ประชาชนผู้รับบริการ ผลผลิตเป็นผลงานที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโดยตรง ผลลัพธ์ หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นตามมา ผลกระทบ หรือเงื่อนไขที่เกิดจากผลผลิต ผลลัพธ์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนผู้รับบริการ และสาธารณชน และผลสัมฤทธิ์ คือ งาน หรือกิจกรรมที่เกิดจากการทำงานได้ผลผลิตตามเป้าหมาย และเกิดผลลัพธ์ตรงตามวัตถุประสงค์
จากการสุ่มตรวจสอบโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2562 จำนวน 5 โครงการ 11 กิจกรรมหลัก พบว่า ผลการ
ดำเนินงาน 4 กิจกรรม งบประมาณรวม 69,235,975.00 บาท ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่กำหนด ได้แก่
1. โครงการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบประมาณรวมทั้งสิ้น 57,597,000.00 บาท จากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเชียงราย แพร่ และพะเยา 12 หมู่บ้าน จำนวน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรม พัฒนาหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ผู้ผลิตผู้ประกอบการ และกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน และส่งเสริมหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว งบประมาณรวม 49,499,975.00 บาท เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 37,178,800.00 บาท
ผลการตรวจสอบพบว่า ดำเนินกิจกรรมไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ได้แก่ วัสดุ ครุภัณฑ์ และสิ่งปลูกสร้างบางรายการชำรุด เสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ ไม่มีการใช้ประโยชน์ตั้งแต่จัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ กลุ่มเป้าหมายไม่นำความรู้และวัสดุจากการฝึกอบรมมาปรับใช้ไม่มีการนำวัสดุสื่อประชาสัมพันธ์ไปใช้ประโยชน์ผลการดำเนินงานดังกล่าวจึงไม่ส่งผลต่อการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือเพิ่มรายได้ร้อยละ 5 ตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของโครงการ และพบว่าไม่มีการติดตามประเมินผลความสำเร็จ ความคุ้มค่า ผลกระทบและประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากโครงการ ตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้
2. โครงการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว Green Tourism
ดำเนินการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบประมาณรวม 20,736,000.00 บาท จากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมของสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย และจังหวัดแพร่ งบประมาณรวม 19,736,000.00 บาท เบิกจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 17,965,458.00 บาท และสุ่มตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่
จังหวัดเชียงราย แพร่ และพะเยา 5 หมู่บ้าน พบว่า กลุ่มเป้าหมายไม่นำความรู้จากการฝึกอบรมและศึกษาดูงานมาปรับใช้รวมทั้งวัสดุสื่อประชาสัมพันธ์คงเหลือจำนวนมาก ซุ้มไม้ไผ่และแคร่ไม้ไผ่สำหรับจำหน่ายสินค้า ส่วนใหญ่พังเสียหายจากพายุฝน ทั้งนี้พบว่าชุมชนที่เข้าสังเกตการณ์ได้รับการสนับสนุนกิจกรรมที่มีลักษณะเดียวกันจากหลายหน่วยงาน เช่น การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นต้น และการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของการจัดประกวดการทำอาหาร กิจกรรมการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ผลการดำเนินงานดังกล่าวไม่ส่งผลโดยตรงต่อการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงไม่สามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 11 ตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้
ผลกระทบ
การบริหารงบประมาณจำนวน 69,235,975.00 บาท เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และไม่ประหยัด เป็นผลให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและเพื่อเพิ่มรายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จากกรณีดังต่อไปนี้
1. โครงการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มช่องทางการตลาดช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือเพิ่มรายได้ให้ชุมชนตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้งบประมาณ 49,499,975.00 บาท
2. โครงการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว Green Tourism ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้งบประมาณ 19,736,000.00 บาท
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำกับ ควบคุม ดูแลให้หน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยร่วมดำเนินการ ประสานงานและบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีเอกสารหลักฐานแสดงถึงการประสานงานหรือบูรณาการ
ในแต่ละขั้นตอน เช่น รายงานการประชุม บันทึกข้อตกลง เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานและแหล่งอ้างอิงในการดำเนินโครงการ กรณีเจ้าหน้าที่โยกย้าย หรือเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ให้ทราบถึงที่มาหรือเจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการ การจัดทำกิจกรรม เพื่อให้การจัดทำโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดค่าเป้าหมาย ตลอดจนเป็นการป้องกันการดำเนินงานซ้ำซ้อน
2. กำกับ ควบคุม ดูแล ให้คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2
คณะทำงานระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 ดำเนินการติดตามและประเมินผลความสำเร็จ ความคุ้มค่า ประสิทธิภาพประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดของโครงการในทุกระดับชั้น โดยกำหนดให้มีหน่วยงานผู้รับผิดชอบ วิธีการวัดผล และการรายงานผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
2.2 เร่งรัดกระบวนการเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินของกลุ่มจังหวัดให้แล้วเสร็จโดยเร็วกรณีไม่สามารถหาหน่วยงานผู้รับโอนทรัพย์สินได้ ให้หาแนวทางเพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
รักษาทรัพย์สินระหว่างหาหน่วยงานผู้รับโอน
3. แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัด ดำเนินการดังนี้
3.1 กรณีโครงการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว ให้สำรวจ ตรวจสอบ และบริหารจัดการวัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เช่น วัสดุฝึกอาชีพ วัสดุโฮมสเตย์ และสื่อประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อพิจารณาทบทวนการสนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ และกลุ่มประชาชนอื่นที่มีความจำเป็น และมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า
3.2 กรณีโครงการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว Green Tourism ให้สำรวจ ตรวจสอบและบริหารจัดการสื่อประชาสัมพันธ์ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เช่น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ สื่อวีดิทัศน์
ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อพิจารณานำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุด
3.3 ในโอกาสต่อไปหากต้องดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านอาชีพ ให้หน่วยดำเนินการประเมินความเหมาะสมในการสนับสนุนวัตถุดิบ และวัสดุสาธิต กับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นไปอย่างประหยัด และให้มีการวางแผนการดำเนินการต่อเนื่อง ภายหลังการจัดฝึกอบรมแล้วเสร็จ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถนำความรู้รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกรณีกำหนดกิจกรรมผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ให้กำหนดวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย และประโยชน์หรือผลตอบแทนที่จะได้รับจากสื่อประเภทต่าง ๆ อย่างชัดเจน และเลือกจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ควรหลีกเลี่ยงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีผู้เข้าถึงได้จำนวนจำกัด เช่น แผ่นพับประชาสัมพันธ์ สื่อวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งระบบ หรือในภาพรวมเพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ หากนำตัวเลขงบประมาณที่สตง.ระบุว่าทำให้รัฐเกิดค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณจำนวน 92,557,500.00 บาท และ การบริหารงบประมาณจำนวน 69,235,975.00 บาท เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และไม่ประหยัด มารวมกันจะอยู่ที่ตัวเลข 161,793,475 บาท และนอกจากการตรวจสอบพบปัญหาทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว จากการตรวจสอบของ สตง. ยังพบว่า ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ มีครุภัณฑ์ และสิ่งปลูกสร้างชำรุด สูญหาย และไม่มีการใช้ประโยชน์ นับแต่จัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จ มูลค่ารวม 19,780,757.84 บาท
สำหรับรายละเอียดผลการตรวจสอบส่วนนี้ จะนำมาเสนอให้ได้รับทราบในตอนต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage