“...การนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้ในราชการนั้น จำเลยทั้ง 2 รายจะต้องรู้ตามปกติวิสัยอยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดใน อบต.จันทึก และข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนไม่ปรากฎว่ามีการทำบันทึกขออนุญาตรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการปฏิบัติราชการแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำดังกล่าวทำให้เจ้าของรถยนต์ หรือผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแต่ละรายได้รับประโยชน์ เมื่อฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้ง 2 รายแล้ว เชื่อว่าจำเลยทั้ง 2 รายกระทำผิดตามฟ้องจริง…”
................................
“ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาว่า นายเสวก ทวีคูณ จำเลยที่ 1 และ นางจิตินันท์ สุขีเกตุ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 147 , 151 และ 157 ประกอบมาตรา 83 และ 91 ให้ลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทหนักสุด จำคุกคนละกระทงละ 5 ปี ปรับคนละกระทงละ 5,000 บาท รวม 24 กระทง เป็นจำคุกคนละ 120 ปี และปรับคนละ 120,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึง คงจำคุกคนละ 60 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี อย่างไรก็ดีคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้”
คือใจความสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯมีคำพิพากษาจำคุกนายเสวก ทวีคูณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กับพวกคือนางจิตินันท์ สุขีเกตุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนโยธา (นักบริหารงานช่าง 6) อบต.จันทึก และรักษาการแทนปลัด อบต.จันทึก และหัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.จันทึก กรณีเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล) ให้กับรถยนต์ซึ่งมิใช่รถยนต์ส่วนกลางของ อบต.จันทึก
โดยความคืบหน้าคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นควรให้อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในประเด็นให้รอการลงโทษ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษ (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.อุทธรณ์สู้ไม่ให้รอลงโทษ! อดีตนายก อบต.จันทึก-พวก รับสารภาพรอดคุกคนละ 60 ปี)
หลายคนอาจยังไม่ทราบที่มาที่ไปคดีนี้?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดจากคำพิพากษาให้ทราบ ดังนี้
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า อบต.จันทึก มีรถยนต์ส่วนกลางอยู่ 2 คัน คือรถปิกอัพ และรถจักรยานยนต์ โดยจำเลยทั้ง 2 ราย ร่วมกันลงนามสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเติมรถยนต์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 รวมบุคคลที่มีชื่อตามฟ้องดังกล่าว 24 ครั้ง และเบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ หจก.แห่งหนึ่ง จำนวน 32,372.90 บาท และการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548
จำเลยทั้ง 2 ให้การรับสารภาพ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 2 รายร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติดังกล่าว ในการปฏิบัติราชการภายใต้ขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ และภารกิจของ อบต.จันทึกนั้น หากกรณีจำเป็นต้องใช้รถยนต์ จะต้องใช้รถยนต์ส่วนกลางเท่านั้น คือรถยนต์ปิกอัพ และรถจักรยานยนต์ โดยในการใช้ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯข้างต้น
พยานฝ่ายโจทก์เบิกความว่า พยานทำงานในตำแหน่งนิติกรประจำสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ช่วงปี 2550-2551 พยานรับราชการอยู่ อ.ปากช่อง ตำแหน่งท้องถิ่นอำเภอ ในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการใช้และรักษารถยนต์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ น้ำมันที่จะใช้ หรือเงินที่จะซื้อน้ำมันเพื่อใช้นั้น น้ำมันดังกล่าวจะต้องนำมาใช้กับรถยนต์ส่วนกลางเท่านั้น การนำรถเอกชนมาเติมน้ำมันโดยเบิกเงินจากทางราชการของ อบต.จันทึก นายอำเภอปากช่องสั่งให้พยานเข้าไปตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบว่า อบต.จันทึก มีรถ 2 คัน คือรถปิกอัพ และรถจักรยานยนต์ แต่เมื่อตรวจสอบการเบิกจ่ายน้ำมันเพื่อใช้เติมรถยนต์แล้ว นอกจากรถทั้ง 2 คันดังกล่าว มีรายการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเพื่อเติมกับรถยนต์คันอื่นซึ่งไม่ใช่รถยนต์ส่วนกลางของ อบต.จันทึก รวมอยู่ด้วย
การตรวจสอบรายการเบิกจ่ายและฎีกาเบิกจ่ายค่าน้ำมันที่เติมให้กับรถยนต์เอกชนนั้น ไม่พบบันทึกขออนุมัติใช้ และอนุมัติใช้จากนายก อบต.จันทึก คงพบเพียงบิลค่าน้ำมันหรือใบเสร็จค่าน้ำมันและฎีกาเบิกจ่ายเท่านั้น เมื่อตรวจสอบรายละเอียดลึกลงไปก็ไม่พบว่ารถยนต์เอกชนที่ อบต.จันทึก เติมน้ำมันให้นั้น มีการนำไปใช้ประโยชน์แก่ทางราชการของ อบต.จันทึก ในส่วนใด
เนื่องจากมีการร้องเรียนไปที่อำเภอเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถูกต้องตามระเบียบ เมื่อตรวจสอบพบว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบในการเบิกจ่ายค่าน้ำมันจริง จึงสรุปว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายก อบต.จันทึก และข้าราชการที่เกี่ยวข้องไม่ชอบด้วยระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548
เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ มีการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับใช้รถยนต์ส่วนกลางและรถยนต์ส่วนบุคคลหลายรายการ การสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ส่วนกลาง และการใช้บันทึกการใช้รถยนต์ส่วนกลาง ไม่ปรากฎว่าทำผิดระเบียบ ส่วนการเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลทั้ง 24 ครั้งตามฟ้องนั้น ไม่มีข้อกำหนดให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้แทนรถยนต์ไว้ในระเบียบ กรณีตามข้อเท็จจริงก็ไม่ต้องด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ที่บังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุ
ทั้งนี้พยานฝ่ายโจทก์ยังเบิกความว่า ตามระเบียบปฏิบัติหากจะนำรถยนต์ของเอกชนรายใดมาใช้ปฏิบัติราชการ และใช้เงินของราชการเติมน้ำมัน จะต้องมีบันทึกขออนุมัติของนายก อบต.จันทึก พร้อมกับระบุเหตุผลความจำเป็นในการนำรถยนต์ของเอกชนมาใช้ และการใช้นั้นต้องใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น เมื่อนายก อบต.จันทึก อนุมัติแล้ว เอกชนนั้นถึงจะสามารถไปเติมน้ำมันและนำไปใช้เพื่อประโยชน์ราชการได้
ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์อีกรายหนึ่ง ที่เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เบิกความว่า ไม่มีหลักฐานว่ารถยนต์ส่วนบุคคลที่จำเลยทั้ง 2 รายเบิกจ่ายน้ำมันให้นั้นนำไปใช้ประโยชน์แก่ทางราชการอย่างไร ข้อเท็จจริงในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลปรากฎเพียงจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และคำเบิกความขอพยานจำเลยเท่านั้น การนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้ในราชการนั้น จำเลยทั้ง 2 รายจะต้องรู้ตามปกติวิสัยอยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดใน อบต.จันทึก
ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนไม่ปรากฎว่ามีการทำบันทึกขออนุญาตรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการปฏิบัติราชการแต่อย่างใด จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการกระทำดังกล่าวทำให้เจ้าของรถยนต์ หรือผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแต่ละรายได้รับประโยชน์ เมื่อฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้ง 2 รายแล้ว เชื่อว่าจำเลยทั้ง 2 รายกระทำผิดตามฟ้องจริง
พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 2 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) 151 (เดิม) 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และแต่ละกรรมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยมาตรา 147 (เดิม) และมาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่หนักสุดมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตาม มาตรา 151 (เดิม) จำคุกคนละ 5 ปี ปรับคนละ 5,000 บาท 24 กระทง รวมจำคุกคนละ 120 ปี ปรับคนละ 1.2 แสนบาท
จำเลยทั้ง 2 รายให้การรับสารภาพหลังจากไต่สวนพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่จากข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 60 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท แม้การกระทำของจำเลยทั้ง 2 จะเป็นความผิดต่อกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์ของรัฐหรือส่วนรวม และจำเลยทั้ง 2 รายจะก่อให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่ไม่สมควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานที่จำเลยทั้ง 2 นำสืบอยู่ว่ารถยนต์ที่จำเลยทั้ง 2 เบิกจ่ายน้ำมันให้เป็นรถยนต์ของข้าราชการ และพนักงานที่ทำงานอยู่ใน อบต.จันทึก และได้นำรถไปใช้ในประโยชน์ทางราชการอยู่ด้วย และจำเลยทั้ง 2 ไม่ได้เอาประโยชน์ใด ๆ เป็นส่วนตน โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ในช่วงเวลาเกิดเหตุต้องรับผิดชอบทุกส่วนงานใน อบต.จันทึก มีภาระงานมาก กระทำไปเพื่อให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในกรอบระยะเวลา อาจมีผลทำให้ขาดความรอบคอบในการทำงาน และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 2 รายต้องโทษจำคุกมาก่อน การจำคุกจึงไม่น่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้ง 2 ราย และสังคมโดยรวม โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 6,500 บาทแก่ อบต.จันทึกนั้น จำเลยที่ 2 ได้วางเงินจำนวน 12,000 บาท เพื่อชำระเป็นค่าเสียหาย และบรรเทาผลร้ายแก่ อบต.จันทึกแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/