“...ทั้งจำเลยที่ 1 น่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการรับเงิน เพราะเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ประกอบกับจำเลยที่ 1 เข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว พฤติการณ์บ่งชี้ว่า เป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อมีการเรียกรับทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญ…”
............................
ทราบผลกันไปแล้ว!
สำหรับคำพิพากษาคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ที่มีจำเลยรวม 14 ราย โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมอืง มีคำพิพากษาจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (2) รวม 99 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้สูงสุดแค่ 50 ปี
ขณะที่จำเลยคนสำคัญอื่น ๆ ในคดีนี้ เช่น ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง โดนโทษ 66 ปี แต่ตามกฎหมายจำคุกได้สูงสุดไม่เกิน 50 ปีเช่นกัน ส่วน ‘กี้ร์’ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่ปัจจุบันหลบหนีคำพิพากษา และถูกออกหมายจับ โดนสั่งจำคุก 4 ปี
ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ นายวัฒนา ยื่นหลักทรัพย์ของปล่อยตัวชั่วคราว 10 ล้านบาท พร้อมกับยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อสู้คดีต่อ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องไว้ โดยศาลฎีกาฯมีคำสั่งให้ประกันตัวนายวัฒนา แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ (อ่านประกอบ : 'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร)
เหตุผลที่นายวัฒนา โดนโทษสูงมากถึง 99 ปีคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
@อสส.มีอำนาจฟ้องเพราะข้อเท็จจริงชัดมีขบวนการเรียกรับเงิน
ศาลฎีกาฯ เผยแพร่คำพิพากษาฉบับย่อ คดีดังกล่าว โดยวินิจฉัยถึงประเด็น ฟ้องของโจทก์ (อัยการสูงสุด) ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้อง ซึ่งการดำเนินการมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการอย่างมีระบบอันเป็นความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง
@‘เสี่ยเปี๋ยง-เครือข่าย’อ้างชื่อ‘วัฒนา’ตัวการสำคัญขบวนการเรียกรับเงินเอกชน
ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้ง 14 ราย กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 (นายอภิชาติ) เป็นตัวกลางที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการของกลุ่มในการเรียกเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือที่เรียกว่าค่าที่ปรึกษา เป็นเพียงการให้เงินดังกล่าวนำไปลงบัญชีได้ ดังนั้นจึงฟังได้ว่า นายอภิชาติ อ้างอำนาจในตำแหน่งของจำเลยที่ 1 (นายวัฒนา) โดยติดต่อในลักษณะข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการ ที่ประสงค์เข้าดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร ให้นำเงินมามอบให้เพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง และเข้าทำสัญญาเป็นผู้จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ตามสัดส่วนที่ได้จ่ายเงินให้
ส่วนจำเลยที่ 5 (น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ) ซึ่งเป็นเลขานุการนายอภิชาติ และเป็นพนักงานของจำเลยที่ 8 (บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด) และจำเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ) และจำเลยที่ 7 (น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ) เคยเป็นแม่บ้านที่บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ได้รู้เห็นมาแต่ต้น และทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์ติดตามทวงถามเงินจากผู้ประกอบการ รวมทั้งรับเช็คมาจากผู้ประกอบการเพื่อให้ได้เงินครบจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5-7 ร่วมกับกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วย
ขณะที่จำเลยที่ 8 (บริษัท เพรซิเดนท์ฯ) นิติบุคคล ที่มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และมีการนำเงินเข้าบริษัท จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 8 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วย
@ชี้‘วัฒนา’น่าจะรู้ข้อเท็จจริงเรื่องเรียกรับเงินเอกชน-พฤติการณ์เร่งรัดจ่ายเงินล่วงหน้า
สำหรับจำเลยที่ 1 (นายวัฒนา เมืองสุข) รมว.พัฒนาสังคมฯ (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การที่จำเลยที่ 1 กำหนดแนวทางในการจัดซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่นั้น และการที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความลงวันที่ 17 ต.ค. 2548 สั่งให้แก้ไขข้อ 3 ของประกาศ กคช. ฉบับลงวันที่ 14 ต.ค. 2548 รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 แทรกแซงการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ (บอร์ด) กคช.
ส่วนความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เพื่อตอบแทนการที่ กคช. อนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญาตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบาย และจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ หรือ TOR ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 4 ไม่อาจแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่า มีฐานะเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของจำเลยที่ 1 ได้เอง อีกทั้งจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอำนาจผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงินได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้
ทั้งจำเลยที่ 1 น่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการรับเงิน เพราะเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น ประกอบกับจำเลยที่ 1 เข้าไปกำกับดูแลการจ่ายเงินล่วงหน้า ย่อมมีผลเป็นการเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว
พฤติการณ์บ่งชี้ว่า เป็นการเร่งรัดและเพิ่มจำนวนเงินล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่จำเลยที่ 4 เมื่อมีการเรียกรับทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิดแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จะเรียกเงินจากผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
@อดีต บอร์ด กคช.-หน้าห้อง‘วัฒนา’รอด เหตุข้อเท็จจริงไม่แน่ชัด
ส่วนจำเลยที่ 2 (นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ด กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549) ข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดว่า เป็นการวางแผนสมคบคิดกระทำการเรียกรับทรัพย์สิน จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดตามฟ้อง หรือเรียกรับทรัพย์สินจากกลุ่มเอกชนตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 3 (นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน)) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องรัฐมนตรีจำเลยที่ 1 ได้ประสานในกรอบของหน้าที่งานธุรการ และการประสานที่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 3 เข้าไปรู้เห็นเป็นใจ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามฟ้อง
@‘กี้ร์’ผิดด้วย เพราะช่วยอำนวยความสะดวก
ส่วนจำเลยที่ 10 (นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อน ได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนางชดช้อย ให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไป อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ แม้ผู้ร่วมกระทำผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ จะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือผให้ความสะดวกของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม แต่ถือว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง
@ยกฟ้องเอกชน เหตุถูกข่มขืนใจ มีความพร้อมได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างอยู่แล้ว
ส่วนจำเลยที่ 9 (บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน) จำเลยที่ 11 (บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด) จำเลยที่ 12 (บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด) จำเลยที่ 13 (บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด) และจำเลยที่ 14 (น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ) ที่เป็นผู้ประกอบการนั้น เป็นฝ่ายถูกข่มขืนใจเพื่อให้นำเงินมอบเงินให้หรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 9 ที่ 11 และที่ 14 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างได้อยู่แล้ว การอนุมัติหน่วยก่อสร้างมิได้สำเร็จลงด้วยการให้เงิน ทั้งการถูกข่มขืนใจหรือถูกจูงใจเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในเวลาเดียวกันได้ และเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 11-14 จึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว
@ชี้กระทำผิดรวมกันหลายกรรม
การกระทำของจำเลยดังกล่าวตามฟ้องเป็นการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแต่ละราย ต่างวันเวลาและต่างสถานที่แยกกันต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ดังนั้น จำเลยที่ 1, 4, 6 และ 8 มีความผิดฟ้องรวม 11 กรรม จำเลยที่ 5 มีความผิด 5 กรรม จำเลยที่ 7 มีความผิดรวม 8 กรรม และจำเลยที่ 10 มีความผิดกรรมเดียว
@สั่ง ‘วัฒนา-พวก’ชดใช้เงิน 1.4 พันล้าน
ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบเงินจำนวน 1,415,616,550 บาท และให้ชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบได้นั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 42, 43 และมาตรา 44 กำหนดให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือบุคคลได้มาจากการกระทำความผิดในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของสิ่งที่ต้องส่งดังกล่าวได้ พร้อมต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ศาลกำหนด โดยศาลมีอำนาจมีคำสั่งริบทรัพย์ตามที่ปรากฏจากทางไต่สวนของศาลได้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการขยายความเกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับโทษ ในส่วนการริบทรัพย์สิน ย่อมใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
เมื่อมีการรับเงินมาจากการกระทำผิดแล้ว ได้โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นหลายบัญชี และมีการเบิกถอนเงินสดด้วย เชื่อว่าโดยสภาพของเงินที่ได้รับมาไม่สามารถส่งมอบหรือคืนได้ อันเป็นการที่แสดงให้เห็นว่า การติดตามเอาคืนกระทำได้ยากเกินสมควร จึงให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบ โดยให้จำเลยที่ 1, 4, 6 และ 8 ร่วมกันชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าจำนวน 1,323,006,750 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ร่วมชำระจำนวน 763,197,000 บาท จำเลยที่ 7 ร่วมชำระ 1,056,267,000 บาท และจำเลยที่ 10 ร่วมชำระจำนวน 40 ล้านบาท
พิพากษาว่าจำคุกนายวัฒนา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี พร้อมจำคุกเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี จำคุก น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ปรับจำเลยที่ 8 กว่า 2 แสนบาท และจำคุกนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวัฒนา จาก TV24, ภาพนายอภิชาติ จาก https://static.posttoday.com/, ภาพนายอริสมันต์ จาก https://siamrath.co.th/
อ่านประกอบ :
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
24 ก.ย.ศาลฎีกาฯนัดฟังคำพิพากษาคดีบ้านเอื้ออาทร-ออกหมายจับ'กี้ร์-2 ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง'
ศาลฎีกาฯออกหมายจับ'อริสมันต์'ไม่ไปฟังไต่สวนคดีบ้านเอื้ออาทร-ปรับนายประกัน 5 ล.
'แก้วสรร'เบิกความคดีบ้านเอื้อฯ-เส้นทางเงินพันล.พักร้านก๋วยเตี๋ยวก่อนวกเข้า บ.เสี่ยเปี๋ยง
ศาลฎีกาไต่สวน 10 มิ.ย.นี้! 'วัฒนา'แจง 3 ข้อคดีบ้านเอื้ออาทร ไม่มีหลักฐานเรียกรับผล ปย.
ฉบับเต็ม! คำสั่งอายัดที่ดิน 13 แปลง ในชื่อหญิงสาว คดี‘วัฒนา’สินบนบ้านเอื้ออาทร
ปปง.อายัดทรัพย์คดีสินบนบ้านเอื้ออาทร‘วัฒนา เมืองสุข’พวก ที่ดิน 13 แปลง 51.5 ล.
‘อริสมันต์’โดนอีก! อสส.ฟ้องเพิ่ม5รายสนับสนุน ‘วัฒนา’คดีบ้านเอื้ออาทร-3เอกชนด้วย
เบื้องหลัง อัยการสั่งฟ้อง‘วัฒนา’กับพวก คดีบ้านเอื้ออาทร ปมสินบน 82 ล.
ป.ป.ช.ฟันเงียบ‘วัฒนา’คดีบ้านเอื้ออาทร-อัยการยังไม่ฟ้องสำนวนไม่สมบูรณ์ตั้ง กก.ร่วม
‘วัฒนา’ขอความเป็นธรรม! อนุฯ ป.ป.ช. สรุปคดีบ้านเอื้ออาทรชงที่ประชุมใหญ่เชือด
บิ๊กตู่ สั่งเร่งรัดคดีบ้านเอื้ออาทร -ชมอิศราทำข่าวตรวจสอบทุจริตดีหลายเรื่อง
ไขคำตอบ! 3 บริษัทโนเนม ถูกฟ้องคดี'วัฒนา'บ้านเอื้ออาทร
เปิดคำแถลงอสส.ฟ้องคดี วัฒนา-พวก 19 ราย ทุจริตบ้านเอื้ออาทร 'เสี่ยเปี๋ยง-อริสมันต์' โดนด้วย
ชำแหละคดีบ้านเอื้ออาทร‘วัฒนา’ ไฉนเพิ่งโต้ทั้งที่ถูกชี้มูลต้นปี’60-ป.ป.ช. เร่งรัดจริงหรือ?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage