“...สาเหตุที่ชาวบ้านต้องปลูกพืชไร่เพราะว่า ในช่วงหน้าแล้งจะไม่มีน้ำใช้เลย ปลูกได้เฉพาะพืชอายุสั้น อีกทั้งพืชไร่ยังมีตลาดรองรับแน่นอน ถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีรายได้ พื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เนินภูเขาปลูกได้เฉพาะข้าวโพดในฤดูฝนเท่านั้น และโซนที่ลุ่มก็ปลูกข้าว หมดฤดูก็ปลูกพืชไร่ได้เท่านั้น จะเห็นได้ว่าน้ำมีส่วนสำคัญมากต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ความต้องการของเราอยากได้แหล่งน้ำ อยากได้พื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ทำการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของชุมชน...”
หมู่บ้านดอนไชยป่าแขม หมู่ 3 ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา เป็นที่ตั้งของต้นแม่น้ำงิม หนึ่งในแม่น้ำสาขาต้นกำเนิดแม่น้ำยม ก่อนจะไหลร่วมตัวกับแม่น้ำ ปิง วัง น่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายสำคัญเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร จรดล่างสุดไหลลงอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นที่เนินเขาและที่ลุ่มหุบเขา มีประชากรรวมประมาณ 700 คน 210 ครัวเรือน ชาวบ้านทำอาชีพเกษตรกรปลูกพืชไร่เป็นหลัก อาทิ ข้าวโพด มันสําปะหลัง ยาสูบ ผักกาดเขียวปลี ถั่วแระญี่ปุ่น
@เสียงของคนต้นน้ำและความต้องการที่อยากได้
นายอภินันท์ บุญธรรม ผู้ใหญ่บ้านดอนไชยป่าแขม หมู่ 3 ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา เล่าถึงปัญหาของพื้นที่ป่าต้นน้ำว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ป่า ต่อมาก็มีการบุกเบิกป่าเพื่อทำอาชีพปลูกพืชไร่ ประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการทางรายได้เพิ่ม ชาวบ้านก็บุกเบิกพื้นที่เพิ่ม ในช่วงนโยบายทวงคืนฝืนป่า มีการทวงคืนกว่า 3 พันไร่ จากชาวบ้านและคนนอกพื้นที่เข้ามาจับจอง ก็เริ่มปลูกป่าฟื้นฟูดูแลแล้ว แต่พอฤดูแล้งต้นไม้ที่ลงปลูกไปก็ตาย รอดน้อยมาก ปัญหาหลักของพื้นที่คือ แล้งหนักมาก แต่พอช่วงฤดูฝนก็ท่วมฉับพลัน
“สาเหตุที่ชาวบ้านต้องปลูกพืชไร่เพราะว่า ในช่วงหน้าแล้งจะไม่มีน้ำใช้เลย ปลูกได้เฉพาะพืชอายุสั้น อีกทั้งพืชไร่ยังมีตลาดรองรับแน่นอน ถ้าไม่ปลูกก็ไม่มีรายได้ พื้นที่แบ่งออกเป็น2ส่วน เนินภูเขาปลูกได้เฉพาะข้าวโพดในฤดูฝนเท่านั้น และโซนที่ลุ่มก็ปลูกข้าว หมดฤดูก็ปลูกพืชไร่ได้เท่านั้น จะเห็นได้ว่าน้ำมีส่วนสำคัญมากต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ความต้องการของเราอยากได้แหล่งน้ำ อยากได้พื้นที่ป่าเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ไว้ใช้ทำการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของชุมชน ”
ผู้ใหญ่บ้านดอนไชยป่าแขม เล่าถึงความต้องการของชาวบ้านป่าต้นน้ำว่า น้ำและอาชีพ คือความต้องการของชาวบ้าน การมาปลูกป่าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำให้ยั่งยืนให้ชาวบ้านได้ประโยชน์กับป่าด้วยจะทำอย่างไร การที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นก็ยังยากอยู่เพราะความเคยชินของชาวบ้าน อีกเรื่องที่สำคัญคือ ตลาดที่ชาวบ้านจะนำผลผลิตไปขาย ชาวบ้านเองก็พยายามลดต้นทุนการผลิต ลดการเผาหลังเก็บเกี่ยว อย่างเช่น โครงการวิสาหกิจชุมชนทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นโครงการที่ดีมากชาวบ้านได้ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี เศษวัสดุการเกษตรก็เอาไปทำปุ๋ยลดการเผาได้ ต้องทำโครงการที่ยั่งยืนให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ด้วย
@วิสาหกิจชุมชนที่ยั่งยืนทางออกของปัญหาป่าต้นน้ำยม
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเเปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านดอนไชยป่าแขม จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของชาวบ้านและสำนักบริหารความยั่งยืนของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด ที่เข้ามาให้องค์ความรู้แก่ชาวบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นายชัยวัฒน์ พุฒศรี พนักงานพัฒนาความยั่งยืนสำนักบริหารความยั่งยืนฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านว่า เราจะทำอย่างไรมากกว่าซีเอสอาร์ (CSR) ปลูกต้นไม้ เป็นโจทย์หลักของเราอยู่แล้ว ทางบริษัทเราเห็นความสำคัญถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ในหลายพื้นที่ทำมาก่อนแล้ว ส่วนพื้นที่จังหวัดพะเยา ได้มีการเข้ามาทำโครงการปลูกป่าและร่วมมือกับชาวบ้าน ถามความต้องการของชาวบ้าน และช่วยเหลือในส่วนที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน เช่น การหาตลาด ลดต้นทุนการผลิต
“เราก็มองเห็นว่าปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกองจะทำให้แก้ไขปัญหาชาวบ้านได้ เลยนำอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาสอนชาวบ้าน แล้วก็ทำสำเร็จไปแล้วในรอบแรก โดยที่ได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ทำได้ง่ายและเข้ากับบริบทในพื้นที่ ที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ในการทำเกษตรกับมูลสัตว์เป็นวัสดุในการทำปุ๋ย ทำให้ปุ๋ยหมักอินทรีย์สูตรนี้ได้ผล เป็นความหวังของชาวบ้านที่จะได้ลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านจากการขายปุ๋ยอีกด้วย ”
ปัจจุบันโครงการร่วมมือระหว่างบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัดและชาวบ้านดอนไชยป่าแขมมาแล้วกว่า 2 ปี ถึงวันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเเปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ มีสมาชิกกลุ่มร่วม 78 ครัวเรือน มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และจำหน่ายในราคากระสอบละ 120 บาท นอกจากนี้มีการส่งเสริมทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไผ่ กาแฟโรบัสต้า
นายจำเนียร สมนาเมือง หนึ่งในคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนฯ เล่าถึงโครงการนี้ว่าตอนแรกก็ยังไม่แน่ใจว่าบริษัทจะเข้ามาทำอะไร เอานั้นเอานี้ให้ปลูก คำถามคือจะเอาไปขายที่ไหน ปลูกแล้วได้ผลไหม แต่ก็ลองดูในสวนปลูกต้นไผ่กับกาแฟโรบัสต้า ไผ่กำลังได้ผลดี สิ่งที่กังวลคือเรื่องตลาด ทางซีพีก็เข้ามาช่วย หาตลาดให้ ตอนนี้เหลือแค่ผลิตให้พอต่อความต้องการของตลาด ในส่วนของกาแฟนั้นยังประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งอยู่ เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้แล้งมากในฤดูร้อน คงต้องหาวิธีการปลูกต่อไป
“ในพื้นที่คนส่วนใหญ่ทำพืชไร่ ต้องถางป่า ไม่มีพื้นที่สีเขียว ในส่วนตัวเป็นคนปลูกต้นไม้ ทดลองปลูกยางพารา สับปะรดภูแล ก็ได้ผลดี ส่วนพืชที่โครงการแนะนำ มองว่าถ้ามีการทดลองลงตัวจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มพื้นที่ป่าสีเขียวได้ เพื่อเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในอนาคตได้” นายจำเนียร กล่าว
@มากกว่าปลูกป่าคือการพัฒนาที่ยังยืน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ได้จัดกิจกรรม WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่ ในการปลูกครั้งนี้ได้รับความมือกับภาครัฐ นำโดยนายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (อ่านประกอบ : เครือซีพี คิกออฟปลูกต้นไม้ภาคเหนือ ปิง-วัง-ยม-น่าน ตามโครงการ“WE GROW ปลูกเพื่อความยั่งยืน)
นายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวถึงโครงการในครั้งนี้ว่า นอกจากการปลูกป่าแล้ว พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าต้นน้ำยม มีความสำคัญอย่างมากที่ต้องรักษาฟื้นฟู พัฒนาให้มีพื้นที่ป่าสีเขียวให้มากขึ้น แต่ต้องทำควบคู่กันไปทุกภาคส่วน ภาครัฐชาวบ้าน โดยมีเอกชนเข้ามาช่วยเสริม จึงจะเกิดผลผลสัมฤทธิ์
“อีกปัญหาใหญ่ที่จังหวัดพะเยาพบคือ ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง แล้งหนัก ท่วมฉับพลัน ในพื้นที่จังหวัดพะเยาจะมีปัญหาเรื่องน้ำแล้งส่งผลต่อชาวบ้านปลูกพืชไร่ สวนผลไม้ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต พบว่าในช่วงปีหลังปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น ทางจังหวัดก็ได้มีโครงการชลประทานเข้ามา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เราต้องกลับมาดูว่าจะทำให้พื้นที่ตรงนี้ให้เป็นการพัฒนาที่ควบคู่กันไปทั้งป่าต้นน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น” ผู้ว่าราชการ จ.พะเยา กล่าว
สอดคล้องกับเจ้าของโครงการ นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เราได้ทำโครงการปลูกป่าควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยังยืน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน พื้นที่ตรงนี้กำลังมีการพัฒนาโครงการร่วมกับชุมชน มีโครงการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ปลูกไผ่ ปลูกกาแฟ หาพืชมาทดลองปลูกเพื่อทดแทนพืชไร่ ที่ได้ผลผลิตต่ำ ส่งเสริมเกษตรกรให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ทางบริษัทจะช่วยจัดหาองค์ความรู้ วิธีการดูแลรักษา จนไปถึงช่องทางการขายสิ้นค้าเกษตรเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการปลูกพืชไร่ ที่เป็นต้นเหตุของหมอกควันและการแผ้วถางป่า
“มีโครงการที่ทำก่อนหน้านี้แล้วได้ผล อาทิ โครงการสบขุ่นโมเดล,โครงการน้ำพางโมเดล เป็นการทำงานร่วมกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ต่อไปแนวทางนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืนกับชาวบ้านในพื้นที่ควบคู่กับการปลูกป่า ชาวบ้านมีรายได้ ก็ลดพื้นที่ทำไร่ แผ้วถางป่า คืนต้นต้นน้ำให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง”นายจอมกิตติ กล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage