"...มีรายงานด้วยว่ามีทันตแพทย์หลายรายมีอาการเสพติดโคเคนในช่วงเวลาดังกล่าว และมีบางรายที่เสียชีวิตจากการใช้โคเคนซึ่งรวมถึง ทพ.วิลเลียม จึงทำให้มีการคิดค้นยาที่ใช้แทนโคเคนชื่อว่าโพรเคนขึ้นมาในปี 2448 ซึ่งสารโพรเคนนั้นจะมีฤทธิ์เป็นยาชาคล้ายกับโคเคน แต่ว่าจะไม่ออกฤทธิ์ทำให้มีอาการเสพติดแต่อย่างใด..."
การใช้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาฟัน กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในสังคมไทยเป็นวงกว้างในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา
หลังปรากฎข่าวว่า พนักงานสอบสวนตำรวจ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ถึงเหตุผลกรณีไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาพบสารแปลกปลอมที่เกิดจากยาเสพติดในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ทั้งที่มีผลตรวจทางนิติเวชวิทยายืนยันจากการตรวจเลือดของวรยุทธ เป็นเพราะมีทันตแพทย์ยืนยันว่า ได้ให้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาฟัน เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปผสมจะทำให้เกิดสารแปลกปลอมในร่างกายนั้น
ทั้งนี้ ในประเด็นการใช้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาฟัน นั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นรายงานทางการแพทย์ในต่างประเทศ พบว่าเว็บไซต์ https://aliquotthesciencespot.com/ เคยตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับข้อมูลการใช้ยาโคเคนเพื่อการแพทย์เอาไว้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ยาเสพติดโคเคนนั้น มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2405 เมื่อนักเคมีชาวเยอรมนีชื่อว่าอัลเบิร์ต เนียแมนได้สกัดสารเคมีที่ส่งผลทำให้เกิดอาการชาจากใบไม้ของต้นโคคา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นของประเทศเปรู โดยสารดังกล่าวนี้มีชื่อว่ า "โคเคน"
หลังจากนั้น ก็มีนายแพทย์รายหนึ่ง ชื่อว่า คาร์ล โคลเลอร์ ได้ออกมาระบุว่า โคเคนมีสรรพคุณเป็นยาชาที่ถูกสกัดจากพืช เนื่องจากมีผู้ใช้โคเคนหลายคนพบว่า มีอาการลิ้นชา
ก่อนที่ในเวลาต่อมา นพ.โคลเลอร์ จะได้ทำการทดลองโดยฉีดโคเคนเข้าไปที่ตาของกบ กระต่าย สุนัข และท้ายที่สุดก็คือตาของตัวเอง จนพบว่าการใช้ยาโคเคนนั้นสามารถลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดตาลงได้ แต่ในสัตว์ทดลองที่ได้รับการฉีดโคเคนนั้นจะยังคงมีสติอยู่
ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการรายงานผลการทดลองต่อสภาจักษุวิทยาที่เมืองไฮเดลเบิร์ก เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2427 ทางด้านของ ทพ.วิลเลียม สจ๊วต และ ทพ.ริชาร์ด จอห์น ฮอล ก็ได้ซื้อสารละลายโคเคน 4 เปอร์เซ็นต์จากบริษัท Park Davies ซึ่งเป็นบริษัทที่สกัดและจำหน่ายโคเคนในสหรัฐอเมริกา และได้ทดลองฉีดสารดังกล่าวเข้าไปในเหงือก ก็พบว่าสารนั้นมีฤทธิ์ในการระงับประสาทความรู้สึก แต่ไม่ทำให้คนไข้หมดสติแต่อย่างใด
จึงทำให้เริ่มมีการใช้โคเคนในทางทันตกรรม โดยเฉพาะกับการถอนฟันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แผ่นโปสเตอร์ยาไฮโดรโคเคนที่มีการโฆษณาของบนอินเตอร์เน็ต (อ้างอิงรูปภาพจาก https://heavy.com/entertainment/2020/07/wish-com-cocaine-ad/)
@ ผลข้างเคียงที่ไม่น่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม การใช้โคเคนกลับทำให้เกิดความรู้สึกเคลิบเคลิ้มตามมา โดยมีทันตแพทย์หลายรายที่ฉีดยานี้เห็นผลข้างเคียงในหมู่คนไข้ ก่อนจะสรุปผลว่าสารละลายโคเคน 4 เปอร์เซ็นต์ โคเคนไฮโดรคลอไรด์ นั้นมีฤทธิ์ที่รุนแรงเกินไป และต้องทำให้มีการเจือจางก่อน จึงจะใช้งานได้
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าทั้งนายวิลเลียม สจ๊วต และนายริชาร์ด จอห์น ฮอล ที่ทดลองฉีดโคเคนเข้าตัวเองนั้นมีอาการเสพติดโคเคนอย่างรุนแรง มีพฤติกรรมที่ไม่แน่นอน มีอาการชักและอาการตื่นตระหนก รวมถึงเป็นโรคจิตเภทด้วย และยังมีรายงานด้วยว่ามีทันตแพทย์หลายรายมีอาการเสพติดโคเคนในช่วงเวลาดังกล่าว และมีบางรายที่เสียชีวิตจากการใช้โคเคนซึ่งรวมถึง ทพ.วิลเลียม จึงทำให้มีการคิดค้นยาที่ใช้แทนโคเคนชื่อว่าโพรเคนขึ้นมาในปี 2448 ซึ่งสารโพรเคนนั้นจะมีฤทธิ์เป็นยาชาคล้ายกับโคเคน แต่ว่าจะไม่ออกฤทธิ์ทำให้มีอาการเสพติดแต่อย่างใด
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะเริ่มมีการพัฒนายาชาจำนวน 3 ประเภทได้แก่ ลิโดเคน พริโลเคน และอาติเคน มาตามลำดับ โดยยาชาทั้ง 3 ชนิดนั้นยังคงใช้อยู่ในวงการทันตแพทย์จนถึงปัจจุบัน
จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้สรุปได้ว่าไม่มีการใช้ยาโคเคนในวงการทันตกรรมมานับตั้งแต่ปี 2448 แล้ว
โดยสถานะของยาโคเคนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยาที่ผิดกฎหมาย และจะอนุญาตให้ใช้เป็นยาชาในปฏิบัติการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ห้ามแพทย์สั่งจ่ายยาในทุกกรณี
ขณะที่ประเทศอังกฤษเองก็ไม่อนุญาตให้มีการใช้ยาโคเคนในทุกกรณีเช่นกัน
ข้อมูลจากงานวิจัยส่วนนี้ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ที่ออกมาระบุว่า ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคนในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาประเภทอื่น ๆ ขึ้นมา เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน เป็นต้น
ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยคำว่า ‘เคน’ โดยยาชาตัวที่เป็นสารสังเคราะห์ จะทำให้เกิดอาการชาที่ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้
จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้ และหายไปจากวงการทันตกรรม
พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี
ส่วนคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 นั้น พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ ระบุว่า ขณะนี้ ทางตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานาย บอส อยู่วิทยา ด้วยเช่นกัน หรือหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาก็พร้อมตรวจสอบ
ประเด็นข้อกล่าวอ้างเรื่องการใช้ยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาฟันในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส จึงนับเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
เรียบเรียงจาก:https://aliquotthesciencespot.com/2015/09/13/did-you-know-cocaine-was-used-in-dentistry/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage