"...ผมยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่เราดูรายละเอียดโครงการนี้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนก็กลัวว่าจะมีปัญหาเหมือนกัน ซึ่งแม้มีการชี้แจงข้อมูลกับ สตง.ไปหมดทุกเรื่องแล้ว ซึ่งสตง. ก็เข้าใจแล้ว แต่ผมก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของผมให้คนบางกลุ่มหยิบขึ้นมาพูดใหม่ได้อยู่เสมอ แต่อยากให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับเทศบาลในเรื่องนี้ด้วย..."
โครงการปรับภูมิทัศน์ถนนกาญจน์วิถี โดยการรื้อดินเก่า ปลูกต้นเงาะ เฟื่องฟ้าและชา ใช้วงเงินดำเนินการร่วม 8 ล้านบาท ของ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เมื่อหลายปีก่อน กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอีกครั้ง
เมื่อ เพจเฟซบุ๊ก "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" https://www.facebook.com/Watchdog.ACT/ นำภาพถ่ายสภาพต้นเงาะโครงการในปัจจุบันมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งต้นเงาะมีขนาดเล็ก แถมหญ้าขึ้นปกคลุมจำนวนมาก
ระบุข้อมูลดังต่อไปนี้
สภาพเงาะสี่ปี 6.9 ล้าน
ผ่านไปเนิ่นนานเกือบสี่ปี สำหรับตำนาน "เงาะเกาะกลาง" เมืองสุราษฎร์ ของ ทน.สุราษฎร์ธานี ที่ตั้งใจจะปลูกเงาะบนเกาะกลางถนน เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของการเป็นเมืองเงาะอร่อย
หมาเฝ้าบ้านได้ตรวจสอบข้อมูลเมื่อกันยายน 59 พบข้อมูลราคากลางที่ไม่ชอบมาพากลของราคาต้นเงาะและต้นเฟื่องฟ้า เมื่อเทียบกับราคาท้องตลาดแล้วทำให้พบส่วนต่างถึง 1.4 ล้าน หลังจากเปิดประเด็นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก จน สตง. สั่งปรับวงเงินโครงการลดเหลือ 6,921,054 บาท จากเดิมทำสัญญากันที่ 8,043,000 บาท
และนี่คือ สภาพโครงการ 6.9 ล้านบาท ต้นเงาะที่ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมโต แถมหญ้าขึ้นรกจนแยกไม่ออกว่าไหนหญ้า ไหนเงาะ งานนี้จะได้กินลูกเงาะปีไหน ต้องช่วยกันลุ้นต่อไป (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการปรับภูมิทัศน์ถนนกาญจน์วิถี โดยการรื้อดินเก่า ปลูกต้นเงาะ ต้นเฟื่องฟ้าและต้นชา ดังกล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 เพจเฟซบุ๊ก "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" เคยนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้มาแล้ว ระบุว่า
พิรุธงบ 8 ล้าน ปลูกเงาะเกาะกลาง เทศบาลนครสุราษฎร์
เป็นเรื่องที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันในเมืองสุราษฎร์ กรณีที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีทำการปรับภูมิทัศน์ถนนกาญจน์วิถี โดยการรื้อดินเก่า ปลูกต้นเงาะ เฟื่องฟ้าและชา ใช้วงเงินดำเนินการร่วม 8 ล้านบาท
เฉพาะรายการปลูกต้นเงาะ ที่ประมาณแนวคิดว่าจะให้สอดคล้องกับคำขวัญเมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย ในแบบ ปร.4 กำหนดปลูกเงาะสูงประมาณ 1.5 เมตร จำนวน 206 ต้น ราคาต้นละ 2500 บาท ค่าขุดดิน ต้นละ 99 บาท ค่าแรงปลูก 100 บาท ค่าไม้ค้ำยัน รวมค่าปลูกเงาะรวมเลขกลม ๆ ก็เฉียดหกแสน จำนวนที่ปลูกเต็มพื้นที่ขณะรวบรวมข้อมูลนับได้ 191 ต้น ขาดไป 15 ต้น บางส่วนก็เริ่มแห้งตายทั้งที่เป็นหน้าฝน
เฉพาะการกำหนดราคากลางต้นเงาะก็น่าสนใจ แม้ว่าสุราษฎร์ธานีขึ้นชื่อเรื่องพันธุ์เงาะโดยเฉพาะแถบนาสาร แต่เงาะไม่ใช่ไม้ประดับตกแต่ง ไม่มีใครปลูกต้นขนาด 1.5 เมตร ขาย เรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดราคากลางต้องอธิบายว่าเอาราคามาจากที่ใด และต้นเงาะเอาจากที่ใด จันทบุรีหรือสุราษฎร์ธานี หลายแหล่งให้ข้อมูลตรงกันว่ามาจากจันทบุรี
ที่น่าสนใจและเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ คือการปลูกต้นเฟื่องฟ้า ในแบบ ปร.4 ระบุพันธุ์สุมาลีสีม่วง สีขาว ขนาดพุ่ม 30 ซม. จำนวน 49,000 ต้น ราคาต้นละ 50 บาท เป็นเงิน 2,450,000 บาท รวมค่าขุดค่าปลูกเป็นเงิน 3,183,936 บาท จากการตรวจสอบพบว่าราคาขายปลีกตามร้านต่าง ๆ ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ตกต้นละ 35 บาท สามต้นร้อย หากคิดที่ราคาแค่ต้นละ 35 บาท ไม่คิดราคาซื้อล็อตใหญ่ พบส่วนต่างร่วม 7.3 แสนบาท
จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่าลงเฟื่องฟ้าล็อคละประมาณ 119 ต้น (บวกลบ) ขณะนี้ยังปลูกไม่แล้วเสร็จ แต่หากคิดเต็มพื้นที่ 190 ล็อค ก็ตกราว ๆ สองหมื่นสองพันต้น ไม่ใช่สี่หมื่นเก้าพันต้น ส่วนต่างราว ๆ ล้านสี่
ส่วนการว่าจ้างเอกชนก็เป็นอีกประเด็นที่ชวนติดตาม งานนี้ใช้อีอ็อกชั่น มีผู้รับเหมาเข้าเสนอราคา 5 ราย โดย 4 ราย เสนอราคาเท่ากันต่ำกว่าราคากลางเพียงหนึ่งหมื่นบาท ส่วนรายได้คว้าสัญญาไปเสนอต่ำกว่าชาวบ้านแค่ห้าพันบาท ที่แปลกคือในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีบันทึกข้อมูลเฉพาะประกาศเชิญชวน ไม่มีราคากลางหรือรายการอื่น (ดูภาพประกอบ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2563 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้
นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ยืนยันว่า โครงการปรับภูมิทัศน์ถนนกาญจน์วิถี โดยการรื้อดินเก่า ปลูกต้นเงาะ เฟื่องฟ้าและชา เป็นโครงการเก่าที่ดำเนินการในปี 2559 เป็นการว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาทำงาน ปรับภูมิทัศน์ และจัดหาต้นไม้มาปลูก ซึ่งหนึ่งในรายการต้นไม้ที่นำมาปลูก มีต้นเงาะร่วมอยู่ด้วย วัตถุประสงค์ที่ให้ปลูกเงาะบริเวณเกาะกลางถนนเพื่อต้องการสร้างอัตตลักษณ์เรื่องเงาะ ของ สุราษฎร์ธานี ให้เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดและผู้ที่สัญจรผ่านไปมาตามคำขวัญของจังหวัดมากขึ้น ซึ่งน่าจะดีกว่าแค่การว่าจ้างปั้นเงาะลูกใหญ่ๆ แล้วเอาไปวางไว้จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น
(ภาพจากhttp://www.suratcity.go.th/suratcitywp/)
นายธีระกิจ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ เคยถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแล้ว ซึ่งทางเทศบาลฯ ก็ได้มีการชี้แจงข้อมูลการดำเนินงานโครงการไปหมดแล้ว เรื่องการสอบสวนก็จบไปแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไรอีก
เมื่อถามว่า มีการเผยแพร่ภาพต้นเงาะในปัจจุบัน ว่าผ่านไป 4 ปี ยังมีขนาดเล็ก และมีหญ้าปกคลุม?
นายธีระกิจ กล่าวว่า "ผมเข้าใจว่าภาพต้นเงาะที่ถูกนำไปเผยแพร่ล่าสุด เป็นต้นเงาะ ที่เทศบาลนำไปปลูกซ่อมแซมใหม่ ไม่ใช่ต้นเงาะในโครงการเดิม"
"โครงการเดิมเรากำหนดให้ผู้รับเหมา ต้องดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยภายในระยะเวลา 2 ปี ต้นไหนตาย ต้องเอามาปลูกใหม่ ตอนนี้หมดระยะเวลาดูแลไปนานแล้ว เป็นหน้าที่ของเทศบาลที่จะต้องเข้าไปดูแลต่อ เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสวนคงไปหามาปลูกใหม่ทดแทนของเดิมที่ตาย ซึ่งเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามปกติ ผมก็ตามจี้ให้ดูแลเรื่องนี้ตลอด"
เมื่อถามว่า ในการจัดซื้อต้นเงาะโครงการเดิม ผู้รับเหมา นำต้นเงาะจากที่ไหน มาปลูก?
นายธีระกิจ ตอบว่า "ผมไม่ทราบ จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว แต่เรากำหนดไว้ในทีโออาร์ว่าต้องเป็นเงาะโรงเรียน เขาจะเอามาจากไหนไม่รู้ แต่คุณภาพของต้นเงาะ ต้องตรงตามลักษณะที่กำหนดไว้ และเขาก็ต้องดูแลบำรุงรักษาต่อให้เราด้วยเป็นระยะเวลา 2ปี"
"ส่วนที่ไปพูดกันว่า ซื้อมาราคาแพงต้นเป็นพันนั้น ผมอยากให้ดูด้วยว่า เราไม้ได้แค่ซื้อต้นไม้อย่างเดียว มีค่าขุด ค่าเปลี่ยนดิน และค่าดูแลรักษารวมอยู่ด้วย ซึ่งในตอนที่ทำโครงการนี้ ใหม่ๆ ต้นไม้ต้นไหนที่เอามาปลูก ไม่ได้คุณภาพมาตราฐาน เราก็สั่งให้เปลี่ยนใหม่หมด เฟื่องฟ้า ส่งมาสีไม่ตรง ก็ให้เปลี่ยนหมด สั่งปรับผู้รับเหมาไปก็เยอะ เราให้ความสำคัญอยู่ตลอด"
เมื่อถามว่า มีการประเมินผลโครงการหรือไม่ว่า ต้นเงาะที่ซื้อมาปลูก เติบโตกี่ต้น? ตายไปกี่ต้น? เปลี่ยนใหม่กี่ต้น? เปลี่ยนใหม่ช่วงไหน? การดำเนินงานคุ้มค่ากับเงินงบประมาณหรือไม่?
นายธีระกิจ กล่าวว่า "คงต้องถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อีกที เพราะผมเป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่ผมยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่เราดูรายละเอียดโครงการนี้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนก็กลัวว่าจะมีปัญหาเหมือนกัน ซึ่งแม้มีการชี้แจงข้อมูลกับ สตง.ไปหมดทุกเรื่องแล้ว ซึ่งสตง. ก็เข้าใจแล้ว แต่ผมก็เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของผมให้คนบางกลุ่มหยิบขึ้นมาพูดใหม่ได้อยู่เสมอ แต่อยากให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับเทศบาลในเรื่องนี้ด้วย"
ทั้งหมดนี่เป็น คำชี้แจงของ นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ต่อกรณี โครงการปรับภูมิทัศน์ถนนกาญจน์วิถี โดยการรื้อดินเก่า ปลูกต้นเงาะ เฟื่องฟ้าและชา ใช้วงเงินดำเนินการร่วม 8 ล้านบาท ของ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ที่กำลังกลับมาถูกวิพากษ์วิจารณ์กันใหม่ ในห้วงเวลานี้
ซึ่งดูเหมือนยังมีหลายประเด็น ที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage