"...ณ เวลานี้ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 พบว่ามีวัคซีนที่อยู่ในระยะการทดสอบก่อนการทดลองการรักษาจำนวนมากกว่า 135 โครงการ อยู่ในระยะที่ 1 หรือระยะทดลองปลอดภัย จำนวน 15 โครงการ อยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะทดลองขยาย จำนวน 11 โครงการ อยู่ใน ระยะที่ 3 หรือระยะทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 4 โครงการ และอยู่มีวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานแล้วจำนวน 1 โครงการ..."
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด 19 ณ เวลานี้ ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13,930,155 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 591,865 รายแล้ว จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลก ได้พยายามที่จะคิดค้นวัคซีนเพื่อที่จะรักษาไวรัสโควิดให้ได้ผลสำเร็จ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายประเทศออกมาประกาศถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนกันไปบ้างแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจรายงานสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนของแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐฯได้ประมวลความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนทั่วโลกเอาไว้เป็นทางการ
มีเนื้อหารายละเอียด ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
@ ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน
ณ เวลานี้ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีนจะมีการแบ่งเกณฑ์ระยะของการพัฒนาอยู่ด้วยกันจำนวน 5 ระยะ ได้แก่
ระยะการทดสอบก่อนการทดลองการรักษา (Pre-Clinical Testing)
การทดลองวัคซีนในระยะนี้ นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับสัตว์ทดลอง อาทิ ลิง หนู เพื่อจะทดสอบกระบวนการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของไวรัส
ระยะที่ 1 หรือระยะทดลองปลอดภัย
นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับอาสาสมัครเป็นจำนวนจำกัด ในปริมาณที่ไม่มากนัก เพื่อจะยืนยันผลการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร
ระยะที่ 2 หรือระยะทดลองขยาย
นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับอาสาสมัครจำนวนร้อยคนขึ้นไป โดยจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ตามเกณฑ์ต่างๆ อาทิ เด็กและผู้สูงอายุ เพื่อจะดูถึงผลของวัคซีนว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบว่าไวรัสมีความปลอดภัยจริงและสามารถจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้หรือไม่
ระยะที่ 3 หรือระยะทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มให้วัคซีนแก่อาสาสมัครจำนวนมากกว่าพันคนขึ้นไป และจะดูว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนกี่คนที่ยังคงติดเชื้ออยู่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทดสอบว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่
อนุมัติให้ใช้งานแล้ว
ในระยะนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในแต่ละประเทศจะตรวจสอบและกำหนดว่าจะอนุมัติให้ใช้งานวัคซีนหรือไม่ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาด ณ เวลานี้ ทำให้บางหน่วยงานในบางประเทศจะอนุมัติวัคซีนได้อย่างรวดเร็วกว่ากว่าขั้นตอนในสภาวะปกติ โดยอาจจะเป็นการอนุมัติให้มีการใช้งานได้ในวงจำกัดก่อนและเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยังรุนแรงในหลายประเทศทำให้มีหลายประเทศต้องการที่จะเร่งกระบวนการผลิตไวรัสให้เร็วที่สุด
ดังนั้นจึงมีการใช้ 2 กระบวนการเพิ่มเติมประกอบไปด้วย
1.ปฏิบัติการณ์เร่งด่วนพิเศษ (Warp Speed)
ปฏิบัติการณ์ Warp Speed เป็นโครงการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่จะคัดเลือกโครงการวัคซีนที่มีความเป็นไปได้จำนวน 5 โครงการหรือมากกว่า โดยรัฐบาลสหรัฐฯจะอัดฉีดเงินจำนวนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
2.ขั้นตอนผสมของระยะดำเนินการทดลอง
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้ทำให้มีหลายประเทศ ได้พยายามเร่งการทดลองวัคซีนให้เร็วขึ้นไปอีก จึงมีการผสมระยะการทดลองวัคซีน 2 ระยะเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ บางโครงการวัคซีนที่จะเข้าระยะทดลองใช้รักษามนุษย์เป็นครั้งแรก ได้มีการทดลองวัคซีนให้กับอาสาสมัครจำนวนมากว่าร้อยคนในทันที จึงเรียกว่าเป็นการเข้าระยะทดลองแบบผสมระหว่างระยะที่ 1 และ 2 หรือในบางประเทศที่ทดลองวัคซีนระยะที่ 2 เสร็จสิ้นในกลุ่มอาสามัครจำนวนร้อยคน จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็มีการอนุมัติให้ใช้งานวัคซีนได้ทันทีควบคู่ไปกับการทดลองในระยะที่ 3 เป็นต้น
โดย ณ เวลานี้ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 พบว่ามีวัคซีนที่อยู่ในระยะการทดสอบก่อนการทดลองการรักษาจำนวนมากกว่า 135 โครงการ อยู่ในระยะที่ 1 หรือระยะทดลองปลอดภัย จำนวน 15 โครงการ อยู่ในระยะที่ 2 หรือระยะทดลองขยาย จำนวน 11 โครงการ อยู่ใน ระยะที่ 3 หรือระยะทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 4 โครงการ และอยู่มีวัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งานแล้วจำนวน 1 โครงการ
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้เลือกเอาโครงการวัคซีนที่สำคัญต่างๆและมีความคืบหน้าที่น่าสนใจมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
บริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาวัคซีนสัญชาติอังกฤษและสวีเดนได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมมือกันพัฒนาวัคซีนที่มาจากการทดลองไวรัสประเภทอะดิโนไวรัสในลิงชิมแปนซี จนได้วัคซีนชื่อว่า ChAdOx1
ซึ่งขณะนี้การทดลองวัคซีนอยู่ในระยะที่ 2 ผสมกับระยะที่ 3 ในประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ระยะทดลองระยะที่ 3 ในประเทศบราซิลและแอฟริกาใต้
โดยในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ได้ออกมาเปิดเผยว่า คาดว่าจะผลิตวัคซีนได้แบบฉุกเฉินในช่วงเดือน ต.ค. และขณะนี้ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะผลิตวัคซีนเป็นจำนวน 2 พันล้านโดสแล้ว
ส่วนที่ประเทศจีน บริษัทสัญชาติจีน ชื่อว่าคันซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) ได้พัฒนาวัคซีนจากอะดิโนไวรัสที่มีชื่อว่า Ad5 โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทและสถาบันศึกษาด้านจุลชีวะ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์การทหารของประเทศจีน (Academy of Military Medical Sciences) โดยในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทคันซิโนได้เปิดเผยผลในระยะทดลองที่ 1 ซึ่งจำกัดจำนวนผู้ทดลองว่าออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเวลานี้การทดลองวัคซีนได้เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว
โดยมีรายงานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ระบุว่าการใช้วัคซีนของบริษัทคันซิโน่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกริยาต่อต้านไวรัสที่รุนแรงออกมา
จึงเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้อนุมัติให้มีการใช้วัคซีนของบริษัทคันซิโน่กับทหารในกองทัพ โดยระบุว่าเป็นวัคซีนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ จึงจะนำไปใช้ได้
ณ เวลานี้วัคซีนของบริษัทคันซิโน่ฯจึงอยู่ใน 2 ระยะผสมด้วยกันได้แก่ ระยะทดลองระยะที่ 2 และระยะอนุมัติให้ใช้งานแล้ว โดยเป็นการอนุมัติแบบจำกัดวงในการใช้งานไวรัส
ขณะที่รัฐวิสาหกิจของจีนที่ชื่อว่าซีโน่ฟาร์ม (Sinopharm) ได้มีความร่วมมือกับสถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) ร่วมกันคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิด 19
โดยหลังจากที่รัฐวิสาหกิจฯพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในการใช้งานและสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาายได้ ทางซีโน่ฟาร์มได้ประกาศว่าจะทดลองในระยะที่ 3 ในเดือน ก.ค. ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งมีรายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของยูเออีได้เข้าเป็นอาสาสมัครรับการฉีดวัคซีนแล้ว และจะมีอาสามัครเพิ่มเติมจากยูเออีอีกจำนวน 15,000 ราย
ณ เวลานี้ วัคซีนของรัฐวิสาหกิจซีโน่ฟาร์ม จึงถือว่าเข้าสู่ระยะทดลองระยะที่ 3 อย่างเป็นทางการ
ส่วนบริษัทสัญชาติจีนชื่อว่าซีโน่แว็คไบโอเท็ค (Sinovac Biotech) ได้เริ่มทดสอบวัคซีนชื่อว่าโคโรน่าแว็ค (CoronaVac) โดยในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศผลการทดลองในระยะทดลองผสมระหว่างระยะที่ 1 และ 2 ในกลุ่มอาสามัครจำนวน 743 ราย พบว่าไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด และสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นที่น่าพอใจ
ณ เวลานี้บริษัทจึงได้เริ่มการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 ที่ประเทศบราซิลนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้บริษัทซีโน่แว็คได้สร้างโรงงานไว้เตรียมพร้อมสำหรับการผลิตวัคซีนด้วยอัตราการผลิจ 100 ล้านโดสต่อวัน
ขณะที่สถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก(Murdoch Children’s Research Institute ) เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียได้นำเอาวัคซีน Bacillus Calmette-Guerin (ฺBCG) ที่ถูกคิดค้นเพื่อใช้รักษาโรควัณโรคเมื่อช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1900 และต่อมาวัคซีนดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปใช้รักษาโรคอื่นๆ โดยสถาบันได้นำกลับนำเอาวัคซีน BCG กลับมาใช้ทดลองรักษาไวรัสโควิด 19
ซึ่งในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในออสเตรเลียได้เข้าเป็นอาสาสมัครในการทดลอง 6 เดือน โดยจะมีเจ้าหน้าที่การแพทย์ 4,000 คนจะได้รับการสุ่มฉีดวัคซีนเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ วัคซีนที่สุ่มฉีดมีทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและวัณโรค หรือไข้หวัดธรรมดา จากนั้นจะมีการตรวจสอบผลตามขั้นตอนต่อไป
ณ เวลานี้ วัคซีน BCG ที่สถาบันวิจัยเด็กฯได้ดำเนินการทดลองจึงเข้าสู่ระยะที่ 3 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนที่สหรัฐฯ บริษัทมอร์เดอร์นา (Moderna Inc) ซึ่ง ณ เวลานี้ถือว่าเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันแห่งแรกที่ดำเนินการทดลองวัคซีนจนเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว
โดยวัคซีนของบริษัทนั้นจะเป็นนำเอาเอ็มอาร์เอ็นเอ (Messenger ribonucleic acid ; mRNA) เป็นโมเลกุลที่บรรจุรหัสหรือพิมพ์เขียวของโปรตีนในไวรัสไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยที่ผ่านมามีการทดลองในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะมีกำหนดการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในวันที่ 27 ก.ค.
โดยบริษัทคาดการณ์ว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2564
ส่วนที่ประเทศเยอรมนี บริษัทไบออนเทค (BioNTech) ได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และบริษัทยาสัญชาติจีนโฟซันฟาร์มา (Fosun Pharma) โดยวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 3 บริษัทได้ร่วมกันประกาศผลการทดลองวัคซีนแบบเอ็มอาร์เอ็นเอในระยะผสมระหว่างระยะที่ 1 และ 2 ที่กำลังดำเนินการ ณ เวลานี้ว่ามีผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ
โดยอาสาสมัครล้วนแต่มีการผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี เพื่อใช้ในการกำจัดไวรัสโควิด 19
ในส่วนผลข้างเคียงนั้น ขณะนี้มีรายงานว่าอาสาสมัครที่เข้ารับการฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาทิ อาการนอนไม่หลับและปวดตามแขน
โดยบริษัทไฟเซอร์ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯกล่าวว่า ทางบริษัทคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 ต่อไปได้ภายในเดือน ก.ค. นี้ และถ้าหากวัคซีนได้รับการอนุมัติ บริษัทได้ประเมินว่าน่าจะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสได้ก่อนสิ้นปี 2563 และจะสามารถผลิตวัคซีนอีกจำนวน 1.2 พันล้านโดสได้ก่อนสิ้นปี 2564
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น มีรายงานว่าเมื่อวันที่ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อว่า แอนเจส (AnGes) ซึ่งร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนกับมหาวิทยาลัยโอซาก้าและบริษัททาคาระไบโอ ได้ออกมาประกาศว่าบริษัทเริ่มกระบวนการทดลองในระยะปลอดภัยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา และขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนอยู่ในระยะผสมระหว่างระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ส่วนที่ประเทศอินเดีย มีรายงานว่าสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) ,บริษัทภารตะ ไบโอเทค อินเตอร์เนชันแนล (BBIL) และสถาบันด้านไวรัสวิทยาของประเทศอินเดีย ซึ่งร่วมมือกันวิจัยวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 ชื่อว่า โควักซิน (Covaxin) โดยเป็นการนำเอาไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม บรรจุโปรตีนจากไวรัสโควิด 19 ฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เพื่อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ซึ่งขณะนี้การทดลองที่เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ค. กำลังอยู่ในระยะผสมระหว่างระยะที่ 1 และระยะที่ 2 อย่างไรก็ตาม ทางสภาวิจัยการแพทย์ฯได้ออกมาระบุว่า วัคซีนจะมีความพร้อมสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ในวันที่ 15 ส.ค.
โดยหลังจากการประกาศดังกล่าว ก็ทำให้เกิดข้อกังขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าข้ามขั้นตอนในระยะทดลองค่อนข้างมาก
ข้ามมาที่ประเทศรัสเซียสถาบันวิจัยวิทยาการระบาดและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลอี (Gamalei National Research Center for Epidemiology and Microbiology) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียก็ได้เริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนในระยะที่ 1 ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. จนถึง ณ เวลานี้
โดยวัคซีนของสถาบันวิจัยฯมีชื่อว่า Gam-Covid-Vac Lyo เป็นการผสมอะดีโนไวรัสที่ชื่อว่า Ad5 และ Ad26 เข้าไว้ด้วยกัน โดยไวรัสทั้ง 2 ชนิดถูกตัดต่อด้วยพันธุกรรมของของไวรัสโควิด 19
และมีรายงานว่ารัสเซียจะเริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 ในช่วงเดือน ก.ย. โดยรัสเซียคาดการณ์ว่าก่อนสิ้นปี 2563 จะสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างน้อย 30 ล้านโดส สำหรับใช้ในประเทศ และอีก 170 ล้านโดสสำหรับใช้ในต่างประเทศ
ทั้งหมดนี่ คือ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
เรียบเรียงรูปภาพและเนื้อหาจาก:https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage