"...ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของโลก อยู่ในสภาวะการรบขนาดย่อย ทั้งปฏิบัติการณ์การทหาร การดำเนินยุทธการทำลายฐานปฏิบัติการและบุคลากรของฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงภัยจากการก่อการร้ายทั้งในระดับนานาชาติและในระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ในหน้าสื่อหลักทั่วโลก เศรษฐกิจของโลกนั้นประกอบไปด้วยงบประมาณด้านการทำสงครามเป็นสำคัญ แต่พอการระบาดของไวรัสโคโรน่ามาถึง ก็ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ลดหรือยุติลง และทำให้กองทัพทั่วโลกจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เหมาะสมกับการระบาดในครั้งนี้ ..."
“กองทัพมีภารกิจที่ต้องดูแลป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ แม้จะไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งสำคัญคือวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ มีความก้าวหน้า หากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่มีความทันสมัยอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้”
คือ คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บางช่วงบางตอนในระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในวาระ 1 เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ วงเงิน 4,395.7 ล้านบาท ในช่วงวันที่ 1 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา
ซึ่งควันหลงจากการอภิปรายดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนการเมืองทั้งฝ่ายค้าน จนไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ในขณะนี้
อ้างอิงวิดีโอจากช่องบีอีซีเทโร
ในขณะที่ประเทศไทย ยืนยันว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ยันเป็นสิ่งที่จำเป็นภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในปัจจุบัน น่าสนใจว่ากองทัพทั่วโลก ดำเนินการเรื่องการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ อย่างไรบ้าง? เหมือนหรือแตกต่างกับไทยอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว และเว็บบล็อกทั่วโลก เกี่ยวกับท่าทีของกองทัพทั่วโลก ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในปัจจุบัน พบข้อมูลดังต่อไปนี้
ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.เว็บไซต์ https://thinkml.ai/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข่าวสารและเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ได้เขียนบทความชื่อว่า “โควิด 19 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการจัดซื้ออาวุธทั่วโลก ไปสู่เครื่องช่วยหายใจอย่างไรบ้าง” (How COVID-19 has changed world scenarios from weapons to ventilators) มีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของโลก อยู่ในสภาวะการรบขนาดย่อย ทั้งปฏิบัติการณ์การทหาร การดำเนินยุทธการทำลายฐานปฏิบัติการและบุคลากรของฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงภัยจากการก่อการร้ายทั้งในระดับนานาชาติและในระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ในหน้าสื่อหลักทั่วโลก เศรษฐกิจของโลกนั้นประกอบไปด้วยงบประมาณด้านการทำสงครามเป็นสำคัญ
แต่พอการระบาดของไวรัสโคโรน่ามาถึง ก็ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ลดหรือยุติลง และทำให้กองทัพทั่วโลกจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เหมาะสมกับการระบาดในครั้งนี้
@ความต้องการเทคโนโลยีกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)ที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาด
ในช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนถูกคุกคามจากโรคระบาดอย่างรุนแรง ทั้งภาคส่วนของธุรกิจในระดับมหภาคและจุลภาค โรคระบาดนั้นได้กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ต้องใช้การดำรงชีวิตด้วยวิถีชีวิตใหม่หรือนิวนอร์มอลในการรับมือ
ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ระบบเอไอถูกมองว่าจะเป็นภัย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเอไอจะเข้ามาแทนที่แรงงานในรูปแบบปกติ และจะทำให้มีแรงงานที่เป็นมนุษย์ต้องตกงานเป็นจำนวนมาก
แต่ ณ เวลานี้ ทุกภาคส่วนทางธุรกิจนั้นกลับมองเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์จะกลายเป็นหนทางรอดเดียวในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้
ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบการจัดซื้ออาวุธแบบเดิมๆนั้น ก็คงต้องมีความเปลี่ยนแปลง กลายเป็นรูปแบบการลงทุนและจัดหาเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อจะมารับมือกับความยากลำบากที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตนี้ด้วยเช่นกัน
@ประเทศจีนกับยุทธศาสตร์ด้านอุปกรณ์สาธารณสุข
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของการแพร่ระบาด รัฐบาลจีนดำเนินการป้องกันปัญหาช้าจนเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลก
โดยเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไปมุ่งเน้นในด้านของสาธารณสุขให้มากขึ้น และจำเป็นต้องหยุดการดำเนินนโยบายบางประการที่จะมุ่งเน้นในด้านการทหารลงไป
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปรากฏในประเทศมหาอำนาจอื่นๆด้วยเช่นกัน หลายประเทศจำเป็นจะต้องตัดลดงบประมาณทางการทหารลงและเพิ่มงบประมาณลงไปที่ระบบการให้บริการทางการแพทย์ในสภาวะฉุกเฉิน
อาทิ ประเทศจีน มีการกำหนดกรอบวงเงินในการใช้จ่ายงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,070,000,000,000 บาท) ไปกับการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในปี 2563
ขณะที่งบประมาณในด้านกลาโหมจะอยู่ที่ 177.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,514,480,000,000 บาท) ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนงบกลาโหมจะน้อยกว่าสาธารณสุขค่อนข้างมาก
แต่ก็ยังทำให้ประเทศจีนอยู่ในอันดับ 2 ของโลกในด้านการใช้จ่ายงบกลาโหมอยู่ดี
ซึ่งการปรับงบประมาณของประเทศจีนนั้น สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของเว็บไซต์ Globaldata.com ที่ประเมินเอาไว้ว่าจะมีการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจอย่างน้อย 880,000 เครื่อง ในช่วงเวลาที่วิกฤติไวรัสโควิด 19 นี้
ประเทศจีนจึงได้ประยุกต์การใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อที่จะหาผลประโยชน์เข้าประเทศ โดยเร่งการผลิตเครื่องช่วยหายใจในประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจจากต่างประเทศมาถึงประเทศจีนอย่างน้อยจำนวน 20,000 รายการแล้ว และก็มีบริษัทอีกอย่างน้อย 21 แห่งทั่วประเทศจีนที่พร้อมจะผลิตเครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยมีอย่างน้อย 8 บริษัทที่มีขีดความสามารถในการผลิตเครื่องช่วยหายใจจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจทั่วโลก ซึ่งจะอยู่ที่ 2,200 เครื่องใน 1 สัปดาห์
เนื่องจากไวรัสโควิด 19 ได้กลายเป็นศัตรูอันดับ 1 ของมนุษยชาติไปโดยปริยาย ทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งทั่วโลกซึ่งรับสัญญารัฐบาลในด้านยุทโธปกรณ์กองทัพ ได้รับสัญญาใหม่ในด้านของความมั่นคงทางด้านระบบสาธารณสุขรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์แทน เพื่อที่จะช่วยเหลือในการบรรเทาวิกฤติครั้งนี้ให้เร็วที่สุด
โรงงานผลิตเครื่องช่วยหายใจในประเทศจีน (อ้างอิงรูปภาพจากสำนักข่าวโกลบอลไทม์)
แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของประเทศจีนอย่างอาลีบาบาและไป่ตู้ บริษัทเท็นเซ็นต์และบริษัทหัวเหว่ย ทั้งหมดนี้ก็ต้องปรับตัวเพื่อเป็นบริษัทที่จะให้บริการในด้านเอไอ และการประมวลผลทางด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ เพื่อที่จะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั่วโลกเช่นกัน
@การปรับลดงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และการใช้งบประมาณเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด 19
ข้ามมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านของกระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือเพนตากอนเอง ก็มีการยื่นของบประมาณกลาโหมในปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 7.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (21,897,300,000,000 บาท)
แต่รัฐบาลกลาง ก็ยังมีความกังวลว่า ตัวเลขการของบของเพนตากอนจะไม่สอดคล้องกับสภาวะการขาดดุลงบประมาณที่คาดว่าจะขาดดุลเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีที่มาจากการระบาดของไวรัสโควิด 19
ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่ารัฐบาลน่าจะตัดงบประมาณในส่วนของเพนตากอนลงไปอีกอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาล และหลายๆ โครงการที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก เช่นโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบสมรรถนะสูงอย่างเอฟ 35 ก็จะถูกระงับการจัดซื้อไว้ก่อนเช่นกัน
เครื่องบินรบรุ่น F-35A รุ่นย่อยที่ราคาถูกที่สุดคือลำละ 98 ล้านดอลลาร์ (3.5 พันล้านบาท ราคานี้ไม่รวมเครื่องยนต์) (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.defenseworld.net)
ขณะที่กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯหรือ HHS ซึ่งเป็นกระทรวงหน้าด่านในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพทั่วสหรัฐฯ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,435,500,000,000 บาท) เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ณ เวลานี้
ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯล้มเหลวในเรื่องของการจัดหาเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากบริษัทต่างๆเพื่อให้สอดรับกับความต้องการในช่วงต้นของการแพร่ระบาด
แต่ล่าสุดทาง HHS ก็สามารถที่จะจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจได้เป็นจำนวนนับพันเครื่องเพื่อที่จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แล้ว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ HHS แล้ว นโยบายด้านหุ่นยนต์ของสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
โดยก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสนั้น มีประเด็นถกเถียงกันอย่างรุนแรงว่าหุ่นยนต์กำลังจะเข้ามาแย่งงานของแรงงานที่เป็นมนุษย์ไปจนหมด
แต่พอเกิดการระบาดขึ้น ภาคส่วนธุรกิจของสหรัฐฯต่างก็ยอมรับว่าหุ่นยนต์นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับภาคเอกชนในการที่จะอยู่รอดในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดนี้ ส่งผลทำให้ความต้องการการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน
@การตอบสนองด้านการคลังต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศรัสเซีย
ประเทศรัสเซีย เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรงทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่า 6.5 แสนราย และยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ตกลงเนื่องจากความต้องการในการใช้พลังงานนั้นลดลงทั่วโลก ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมา
ทำให้ รัสเซีย ซึ่งแม้ว่าจะมีการใช้งบประมาณทางทหารอยู่ที่ 6.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,148,660,000,000 บาท) และงบประมาณทางด้านสาธารณสุขของประเทศรัสเซียอยู่ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านกลาโหม
แต่กองทัพรัสเซีย ก็มีการปรับงบประมาณและการปฏิบัติการณ์ของกองทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด
ทั้งการสร้างศูนย์สุขภาพแบบองค์รวมใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศรัสเซีย การตั้งจุดตรวจสำหรับฆ่าเชื้อทั่วประเทศ การปรับปรุงความพร้อมของกองกำลังทหารที่จะปฏิบัติการณ์ในสภาวะปนเปื้อนในด้านนิวเคลียร์ เคมี และชีวภาพ เพื่อจะให้กองทหารเหล่านั้นเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการทำความสะอาดสถานที่ติดเชื้อต่างๆ
โดยมีรายงานว่าในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัสเซียได้จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเป็นจำนวน 5 หน่วย เพื่อจะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ และยังได้ส่งกองกำลังพิเศษซึ่งรับผิดชอบในด้านการฆ่าเชื้อโควิด 19 ออกไปปฏิบัติการณ์ยังประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคยุโรปด้วยเช่นกัน
กองกำลังทหารซึ่งรับผิดชอบด้านการฆ่าเชื้อโควิด 19 กำลังปฏิบัติหน้าที่ในประเทศอิตาลีในช่วงปลายเดือน มี.ค. (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Ruptly)
มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วง 3 เดือนหลังจากนี้ ประเทศรัสเซีย ได้วางกรอบเอาไว้ว่าจะต้องผลิตเครื่องช่วยหายใจให้ได้อย่างน้อย 6,000 เครื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการทั่วประเทศ พร้อมกับการผลิตยา Avifavir ซึ่งทางรัสเซียอ้างว่าเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือ ความพยายามของกองทัพและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศมหาอำนาจหลักๆทั่วโลก ซึ่งมีทั้งการที่จะปรับลดงบประมาณ ปรับรูปแบบการดำเนินการทางทหารและระบบสาธารณสุขของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีความเหมาะสมเพื่อที่จะรับมือกับไวรัสโควิด 19 ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ในปี 2563 และอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2564
ส่วนกองทัพไทย จะมีการปรับรูปแบบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อจะรับมือกับโรคโควิดซึ่งเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 ของทั่วโลกเวลานี้แบบไหน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
สาธารณชนน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนกันดีอยู่แล้ว
เรียบเรียงจาก: https://thinkml.ai/how-covid-19-has-changed-world-scenarios-from-weapons-to-ventilators/, https://warontherocks.com/2020/05/how-is-the-russian-military-responding-to-covid-19/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage