“...นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปฏิเสธที่จะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องจบเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษ เป็นไปตามหนังสือลาออกทั้งหมด…”
หลายคนคงทราบกันไปแล้วว่า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทำหนังสือขอลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองชุดใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา
โดยนายวรเจตน์ ระบุสาเหตุสำคัญในการลาออกคือ ไม่ทราบมาก่อนว่าได้มีการเปลี่ยนตัวบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ (ปัจจุบันคือนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ประกอบกับตนมีปัญหาขัดแย้งกับผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ อาจส่งผลทำให้การทำงานร่วมกันไม่อาจเป็นไปได้อย่างราบรื่น จึงขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยให้มีผลตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2563 เป็นต้นไป (อ่านประกอบ : มีปัญหาขัดแย้ง‘บวรศักดิ์’! ‘วรเจตน์’ไขก๊อกผู้ทรงคุณวุฒิ กก.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, ครม.ตั้ง ‘บวรศักดิ์ ’ นั่งประธาน คกก.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง)
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีความสำคัญอย่างไร มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดนิยาม “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎ และรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตาม พ.ร.บ.นี้
มาตรา 7 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่น้อยกว่า 9 คนเป็นกรรมการ
โดยให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ผู้นั้นต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา 11 กำหนดให้คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้
(2) ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนด
(3) มีหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณาได้
(4) เสนอแนะในการตรา พ.ร.ฎ. และการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตาม พ.ร.บ.นี้
(5) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมแต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติราชการทางปกครองให้เป็นไปโดยมีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
(6) เรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
มาตรา 76 การแต่งตั้งกรรมการในลักษณะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้แต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคล
มาตรา 82 การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก
กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
เรื่องใดถ้าไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบในเรื่องนั้น
โดยสรุปคือ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลและให้คำแนะนำ หรือหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ในการออกคำสั่งทางปกครอง หรือออกกฎกระทรวง หรือปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ และทันสมัยมากยิ่งขึ้น เสมือนเป็น ‘ที่ปรึกษากฎหมาย’ ของหน่วยงานรัฐ และคณะรัฐมนตรี
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตกลงนายวรเจตน์ ลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดดังกล่าว โดยระบุสาเหตุว่าขัดแย้งกับประธานกรรมการฯคนใหม่คือนายบวรศักดิ์ด้วยสาเหตุอะไร ?
เพราะแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยยืนยันข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายบวรศักดิ์ เคยปรารภว่า แม้แนวคิดทางการเมืองจะแตกต่างจากนายวรเจตน์ แต่ไม่น่ามีปัญหาในการทำงานร่วมกัน
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปฏิเสธที่จะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องจบเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษ เป็นไปตามหนังสือลาออกทั้งหมด
“เรื่องจบไปแล้ว ผมขอไม่เล่ารายละเอียด ผมลาออก การลาออกมีผลไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไร” นายวรเจตน์ กล่าว
อย่างไรก็ดีการลาออกของนายวรเจตน์ดังกล่าว ทำให้มีคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเหลือ 9 คน โดยมาตรา 77 ระบุว่า ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน (อ่าน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ : https://www.etda.or.th/content_files/19/files/1.Act_%20Administrative%20procedures-2539.pdf)
ส่วนสาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรทำให้นายวรเจตน์ต้องลาออก คงต้องรอเจ้าตัวเฉลยต่อสาธารณชนอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/