"...สาเหตุที่ WHO ต้องออกมาชื่นชมจีนดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะว่าถ้าหาก WHO โจมตีจีนว่าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ จะทำให้จีนไม่แบ่งปันข้อมูลไวรัสให้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นช่องทางการสื่อสารเดียวที่จะสื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจีนนั้นมาจากชุมชนผู้ประกอบอาชีพต่างชาติในจีน และมาจากการที่นักวิจัยของ WHO ที่ทางการจีนอนุญาตให้เข้าไปเก็บข้อมูลได้ แต่นายโทมัส ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไม WHO ถึงได้ชื่นชมจีนจนออกนอกหน้าขนาดนั้น เพราะไม่จำเป็น และอาจทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิดจีนได้..."
บทบาทและหน้าที่ขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 ถูกกล่าวถึงจากหลายประเทศมาโดยตลอด
มีทั้งในลักษณะโจมตีการทำงาน และ สนับสนุนพร้อมยืนเคียงข้าง
ทั้งนี้ ประเด็นโจมตีเรื่องการทำงานนั้น ประเทศที่ออกมาแสดงจุดยืนกับ WHO ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาวิจารณ์การทำงานของ WHO ว่าช้าเกินไปในการแจ้งข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ระบุชัดเจนว่า การทำงานของ WHO เป็นการทำงานที่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของประเทศจีนมากกว่า ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้เขาได้สั่งตัดงบประมาณการให้ความช่วยเหลือแก่ WHO ที่สหรัฐฯ ได้จ่ายเงินสนับสนุน WHO เป็นครั้งสุดท้ายด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 28,977,850,000,000 บาท )
ขณะที่ ญี่ปุ่นและไต้หวัน ก็แสดงท่าทีไปในแนวทางเดียวกับสหรัฐฯ คือ มีความกังขาในการทำหน้าที่ของ WHO เช่นกัน
โดยในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายทาโร อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ญี่ปุ่นได้ออกมาประณามว่า WHO นั้นควรจะเปลี่ยนชื่อเป็น China Health Organization เนื่องจากช่วยจีนปกปิดความรุนแรง และข้อเท็จจริงของ"ไวรัสอู่ฮั่น"จนสร้างความเสียหายมหาศาลให้แก่โลก
ส่วน นายเฉิน เชนเจ็น รองประธานาธิบดีไต้หวันได้ออกมาประณาม WHO ว่า ได้ละเลยเรื่องการที่ไต้หวันส่งคำเตือนเรื่องโรคระบาดไปยัง WHO ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2562
อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศทที่แสดงท่าทีคัดค้าน การกระทำของสหรัฐฯ เช่น นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ที่กล่าวว่า WHO นั้นเป็นองค์กรรับผิดชอบภารกิจที่สำคัญมาก ออสเตรเลียร่วมงานกับองค์กรแห่งนี้อย่างใกล้ชิด และจะไม่มัวไปจับผิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนสูญเสียสิ่งที่สำคัญกว่าไป
ที่ทำเนียบเครมลิน (ทำเนียบประธานาธิบดีของรัสเซีย) ก็ได้ออกมาประณามว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว
เช่นเดียวกับ นายโจเซฟ บอเรล หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ สหภาพยุโรป ก็ออกมาแสดงความกังวลว่าการต่อสู้กับไวรัสโควิด 19 นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อจะให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้
คำถามที่น่าสนใจสำหรับประเด็นนี้ คือ WHO มีแนวโน้มเข้าข้างจีน ช่วยปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด ในช่วงแรกของเหตุการณ์จริงหรือ สหรัฐฯ มีนัยยะอะไรเป็นพิเศษเบื้องหลังการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ WHO ถึงขนาดประกาศตัดเงินงบประมาณสนับสนุนแบบนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจรายงานต่างๆจากสื่อต่างประเทศ พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว DW ของเยอรมนีได้เขียนรายงานฉบับหนึ่งในหัวข้อว่าอิทธิพลของประเทศจีนที่มีต่อ WHO มีรายละเอียดดังนี้
ถ้าหากย้อนเวลากลับไปเมื่อปลายเดือน ม.ค. จะพบข้อมูลว่า น.พ. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO เคยเดินทางไปพบกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่กรุงปักกิ่ง โดย นพ.เทโรสยังได้กล่าวชื่นชมการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการควบคุมโรคระบาดดังกล่าว และยังชื่นชมด้วยว่ามีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับไวรัสระบาดที่เมืองอู่ฮั่น
ยิ่งไปกว่านั้น WHO ยังได้ออกประกาศด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่จะปิดชายแดนประเทศจีนและจำกัดการเดินทางไปยังจีน
โดยนักวิเคราะห์สถานการณ์บางราย อาทิ นายโทมัส เดส กาเรธ เกดเดส (Thomas des Garets Geddes) นักวิจัยประเทศจีนศึกษาจากสถาบัน Mercator Institute for China Studies (MERICS) ได้วิเคราะห์ท่าทีของ WHO ว่า สาเหตุที่ WHO ต้องออกมาชื่นชมจีนดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะว่าถ้าหาก WHO โจมตีจีนว่าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ จะทำให้จีนไม่แบ่งปันข้อมูลไวรัสให้ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นช่องทางการสื่อสารเดียวที่จะสื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจีนนั้นมาจากชุมชนผู้ประกอบอาชีพต่างชาติในจีน และมาจากการที่นักวิจัยของ WHO ที่ทางการจีนอนุญาตให้เข้าไปเก็บข้อมูลได้
แต่นายโทมัส ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไม WHO ถึงได้ชื่นชมจีนจนออกนอกหน้าขนาดนั้น เพราะไม่จำเป็น และอาจทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิดจีนได้
นายโทมัส เดส กาเรธ เกดเดส (Thomas des Garets Geddes) นักวิจัยด้านประเทศจีนศึกษาจากสถาบัน Mercator Institute for China Studies (MERICS) (อ้างอิงรูปภาพจาก:https://www.merics.org/)
สำนักข่าว DW ยังได้วิเคราะห์เพิ่มเติมถึงอิทธิพลของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นกับ WHO โดยระบุข้อมูลถึงแรงกดดันในประเด็นเรื่องการจ่ายเงินสนับสนุนองค์กร ว่า การจ่ายเงินสนับสนุน WHO นั้นเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ที่องค์กรได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2491
เงินที่จะมาสู่ WHO จะมีอยู่ 2 ช่องทางได้แก่ 1.เงินค่าสมาชิก WHO โดยสมาชิก WHO แต่ละประเทศจะจ่ายเงินตามความเหมาะสมยึดเอาฐานะทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของแต่ละประเทศนั้นๆ เป็นสำคัญ และ 2. เงินค่าบริจาคตามที่แต่ละประเทศแต่ละองค์กรอาสาที่จะจ่ายให้
โดยในข้อ 2 นั้นเปรียบเสมือนกับเงินบริจาค จากรัฐบาลและองค์กรส่งไปถึง WHO รวมไปถึงการทำความร่วมมือผ่านโครงการต่างๆร่วมกัน
ในปัจจุบัน WHO มีประเทศที่เป็นสมาชิกอยู่ทั้งสิ้น 194 ประเทศ รูปแบบการจ่ายเงินจะจ่าย 2 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยในวงรอบปี 2563-2564 งบประมาณที่ WHO ได้รับจะอยู่ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (155,644,800,000 บาท)
10 อันดับประเทศและองค์กรที่จ่ายเงินสนับสนุนให้ WHO ในปี 2561-2562
โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 งบประมาณ รายได้เกือบครึ่งของ WHO นั้นมาจากเงินค่าสมาชิกของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลล่าสุดว่าขณะนี้ เงินค่าสมาชิกที่ WHO ได้รับจากแต่ละประเทศนั้น ลดลงไปมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งหมายความว่าหลังจากนี้ WHO จะต้องพึ่งพาเงินบริจาคจากแต่ละประเทศให้มากขึ้นไปอีก เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าว ยังได้ชี้ประเด็นว่า เพราะหลักการการพึ่งเงินบริจาคดังกล่าวนั้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ WHO จะกลายเป็นองค์การที่อยู่ภายใต้อิทธิพลประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
และมีรายงานว่าในส่วนของประเทศจีนนั้น มีการเติบโตของเงินค่าสมาชิกที่ให้กับ WHO จำนวนถึง 52 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2557 หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,788,980,000 บาท) สาเหตุหนึ่งมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลาย ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้เพิ่มเงินบริจาคให้ WHO จากที่เคยบริจาค 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (282,228,00 บาท) ในปี 2557 มาอยู่ที่ 10.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (330,888,000 บาท) ในปี 2562ด้วย
ซึ่งแม้จำนวนเงินที่ว่ามานั้นจะยังเทียบไม่ได้กับเงินจำนวน 893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ WHO ได้สนับสนุนทุกปี แต่ก็มีข้อบ่งชี้ที่น่าสนในว่า สหรัฐฯ มีความต้องการที่จะตัดเงินสนับสนุนให้กับ WHO มาโดยตลอด ขณะที่ทางการจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มเงินสนับสนุน WHO มากขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่นับรวมถึงการแสดงท่าทีกีดกันการเข้าเป็นสมาชิก WHO และองค์กรระดับนานาชาติของ ไต้หวัน ในช่วงที่ผ่านมาด้วย
“องค์กรประชาชาติเริ่มมองเห็นการที่จีนจะกลายเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของ WHO แทนสหรัฐไปแล้วนั่นเอง”นายโทมัส เดส กาเรธ นักวิจัยจากสถาบัน Mercator Institute for China Studies (MERICS) ระบุ
ทั้งนี้ มีรายงานว่าความร่วมมือระหว่าง WHO และจีนที่เพิ่มมากขึ้น ดำเนินการผ่านโครงการที่ชื่อว่าเส้นทางสายไหมด้านสุขภาพ (Health Silk Road) ซึ่งจะมีรายละเอียดครอบคลุมโครงการของ WHO ทุกโครงการทั่วโลกในปี 2573 ซึ่งโครงการที่ว่ามานั้นถือว่าสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อ นายเทดรอส และ WHO
และความร่วมมือดังกล่าว ยิ่งทำให้ WHO ถูกมองไม่ดี ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไม WHO ถึงต้องการการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างมาก และทำไม WHO ถึงแสดงท่าทีชื่นชมจีนจนออกนอกหน้า โดยไม่จำเป็น และไม่สนว่าประเด็นนี้ อาจจะทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิดจีนได้
ทำให้สถานการณ์พลิกผัน จนหลายประเทศออกมาแสดงความไม่พอใจต่อบทบาทหน้าที่ของ WHO ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา
จนทำให้ นายเทดรอส ต้องออกมาแก้เกมด้วยการประกาศเตือนว่าขณะนี้หลายประเทศกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส และยังได้ขอให้สหรัฐฯทบทวนนโยบายการตัดเงิน WHO ใหม่อีกครั้ง เพราะว่าไวรัสจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณชนไปเมื่อเร็วๆ นี้
เรียบเรียงจาก:https://www.dw.com/en/what-influence-does-china-have-over-the-who/a-53161220,https://www.ft.com/content/08e530df-bd84-4280-89ca-0041bb0a8feb
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage