"...ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การลดข้อจำกัดทางการค้า (trade barriers) และการกำหนดและปกป้องสิทธิของแรงงานในการทำงานแบบทางไกล (Remote Working) หรือการทำงานจากบ้าน (Work From Home) เป็นต้น..."
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปในทุกทวีปทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 คนนั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.2563)
เพื่อชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลของประเทศต่างๆได้กำหนดมาตรการ และมีการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้อุปสงค์ (Demand) ในภาคการบริโภคของอุตสาหกรรมต่างๆ ลดต่ำลงจนถึงขั้นวิกฤตในบางประเทศ
คณะทำงานของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วย ดร.ทรงพล มั่นคงสุจริต ,ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย , กวิน เทพปฏิพัทธ์ และ ณัฐวัฒน์ จารุโชคทวีชัย จัดทำสรุปบทวิเคราะห์ COVID-19 โดยอ้างอิงจากรายงานของ McKinsey & Company 2 ฉบับ
ได้แก่ 1. “COVID-19 Briefing material: Global health and crisis response” ฉบับ วันที่ 25 มี.ค. 2563 และ 2. “COVID-19 Briefing note: Risk practice” ฉบับวันที่ 30 มี.ค.2563 ดังนี้
@สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ในระดับโลก
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงวันที่ 25 มี.ค.2563 แต่ละประเทศมีแนวโน้มเริ่มต้นที่ใกล้เคียงกัน แต่จำนวนผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่แตกต่างกันตามรูปแบบของมาตรการที่แต่ละประเทศดำเนินการ
เช่น จีนที่ดำเนินการปิดเมืองอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะมีการออกมาตรการในการตรวจโรคเพื่อหาเชื้อ และการติดตามเพิ่มเติม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเกาหลีใต้ มีการใช้มาตรการในการตรวจโรคที่เข้มงวด และการขยายผลการตรวจโรคในวงกว้าง ซึ่งช่วยควบคุมปริมาณการแพร่กระจายได้มาก เช่นเดียวกับอิตาลี ซึ่งหลังจากใช้มาตรการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง
นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่มตะวันตกจำนวนมากที่นำ ‘โมเดลประเทศจีนช่วงแรก’ มาปรับใช้ โดยเน้นที่การกักตัว และจำกัดการเดินทาง พร้อมกับเร่งให้มีการตรวจผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บางประเทศใช้ ‘โมเดลประเทศเกาหลีใต้’ ที่ตรวจโรคประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและกักกันออกจากประชากรทั่วไป
@สถานการณ์และภาพอนาคตหลังโควิด-19
McKinsey & Company ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘กล่องเวลา’ หรือ Timebox ซึ่งเป็นภาพฉายของระยะเวลาตั้งแต่การเริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 (หรือโรคระบาดอื่นๆ) ไปจนสิ้นสุดการระบาด เทียบกับตัวชี้วัดและสภาพทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับแนวทางในการรักษาชีวิต ‘Safeguard our lives’ (กราฟเส้นขาว) ทำได้โดยลดการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด (ตำแหน่ง 1a ในกราฟสีขาว) เพื่อให้ระบบสาธารณสุขในประเทศสามารถรองรับผู้ป่วยได้ และเพิ่มศักยภาพของระบบสาธารสุข (ตำแหน่ง 1b ในกราฟสีแดง)
เช่น การเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาล หรือการสร้างโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งการเพิ่มอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น จากนั้นก็หาวิธีรักษาและป้องกันโรคด้วยยาและวัคซีน (ตำแหน่ง 1c ในกราฟสีแดง)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ (Safeguard our livelihoods) มากที่สุดในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจมีอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 13 รัฐบาลต้องมีการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง (ตำแหน่ง 2a ในกราฟสีน้ำเงิน)
พร้อมทั้งเตรียมมาตรการในการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อการระบาดเลยจุดสูงสุดไปแล้ว (ตำแหน่ง 2b ในกราฟสีน้ำเงิน) และเตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อการระบาดสิ้นสุดลง (ตำแหน่ง 2c ในกราฟสีน้ำเงิน)
@เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโควิด-19
McKinsey & Company ยังวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก หลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยดูจากระดับความเข้มข้นและประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุข เทียบกับระดับความสำเร็จของมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งสถานการณ์ออกแบบ 9 แบบ
โดยสถานการณ์ที่เป็นบวก คือ กลุ่มสถานการณ์ A1, A2, A3 และ A4 ซึ่งเกิดจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในระดับปานกลางถึงระดับดีมาก ประกอบกับมาตรการทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางถึงระดับดีมาก
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการที่ดีเพียงด้านใดด้านหนึ่ง คือ ควบคุมโรคได้ดี แต่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ หรือ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และไม่สามารถควบคุมโรคได้ เป็นสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่ควบคุมโรคไม่ได้เลย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นผล ซึ่งได้แก่ สถานการณ์ B1, B2, B3, B4 และ B5
@หลัก 5R จัดการองค์กรในภาวะวิกฤตโควิด
1. Resolve จัดการกับความท้าทายที่ส่งผลกระทบกับลูกจ้าง ลูกค้า ธุรกิจ เทคโนโลยี พร้อมทั้งออกมาตรการพื้นฐานเพื่อปกป้องสภาพคล่อง เช่น นโยบายสำหรับลูกจ้าง โดยให้ทำงานจากที่บ้าน หรือเพิ่มระยะห่างทางสังคมในที่ทำงาน และการดูแลความปลอดภัยของพนักงาน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดความเครียดและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ตัวอย่างแนวทางการแก้ไข คือ การจัดทีมขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ การตั้งเป้าหมายการบริหารงานแบบให้ทำงานทางไกลได้(Remote Working) โดยมีเป้าประสงค์ชัดเจน และการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
2.Resilience ความรวดเร็วในการตอบสนองและวินัย คือ ปัจจัยสำคัญในการตอบรับกับความท้าทายจากการบริหารการเงินในระยะสั้น ซึ่งการปรับตัวต่อวิกฤตจะมี 6 ขั้น ได้แก่ ระบุและจัดลำดับความเสี่ยง ,สร้างแบบจำลองสถานการณ์ (Scenarios) จากความเสี่ยงขั้นสูงสุด
ทำการทดสอบความสามารถในการรับผลกระทบทางการเงินที่หน่วยงานทนรับได้(Financial Stress Test) ระบุแนวทางการดำเนินงาน ,เพิ่มความโปร่งใสและการบริหารการเงินที่รัดกุม และสร้างศูนย์รวมข้อมูล (Dashboard) เพื่อติดตามตัวชี้วัดที่สำคัญ
3.Return วางแผนการกลับมาทำงานในภาวะปกติอย่างละเอียด โดยเริ่มต้นจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง และมาตรการจากภาครัฐที่ให้มีการกักตัวที่ผ่อนคลายลงหรือไม่ รวมทั้งจะต้องมีชุดทดสอบโรคใช้อย่างกว้างขวาง และทราบผลอย่างรวดเร็ว หรือมีวัคซีนป้องกันโรคที่ใช้ได้ผล
หากสถานการณ์คลี่คลายลง ให้ดำเนินการดำเนินการระดับองค์กรเพื่อปกป้องลูกจ้าง เช่น วัดไข้ ล้างมือบ่อยๆ สร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าว่าองค์กรมีมาตรการที่รัดกุม เช่น มีเจลฆ่าเชื้อ
และเมื่อกลับมาทำงานร่วมกับหน่วยงานในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะต้องกระจายห่วงโซ่อุปทานออกไปยังภูมิภาคต่างๆเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จากนั้นจึงพิจารณาผลกระทบจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ และพิจารณาว่าต่อไปควรดำเนินธุรกิจแบบเดิม หรือปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานไปอย่างไร
4.Reimagination จินตนาการว่า สภาพสังคมใหม่หลังจากโควิด-19 หรือ ‘next normal’ จะเป็นไปในรูปแบบใด ส่งผลอย่างไร และองค์กรควรปรับตัวอย่างไร เช่น การเปลี่ยนรูปแบบของการสาธารณสุขให้ครอบคลุมโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วย เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)
5.Reform ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การลดข้อจำกัดทางการค้า (trade barriers) และการกำหนดและปกป้องสิทธิของแรงงานในการทำงานแบบทางไกล (Remote Working) หรือการทำงานจากบ้าน (Work From Home) เป็นต้น
@4 ประเด็นสำคัญที่ผู้นำควรพิจารณาในภาวะโควิด-19
1.สนับสนุนและปกป้องพนักงานภายใต้ภาวะวิกฤต ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต กำหนดให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยไม่ต้องเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เข้าใจถึงอุปสรรคที่เกิดจากความไม่เคยชินในการใช้เทคโนโลยี เช่น การประชุมผ่านระบบออนไลน์ และประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลงเนื่องจากการเสียสมาธิในการทำงานเมื่ออยู่ที่บ้าน
ผู้นำควรให้ความสำคัญกับเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ (1) เพิ่มการสื่อสาร โดยมุ่งให้เกิดความสมดุลระหว่างผลสัมฤทธิ์ของงานกับการสร้างขวัญและกำลังใจ (2) เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ให้การทำงานจากบ้านหรือที่อื่นที่ไม่ใช่สำนักงานง่ายและสะดวกเท่าที่จะทำได้ และ(3) ต้องปกป้องและรักษาสุขภาพของทุกคนให้ได้มากที่สุด ตลอดจนการปรับนโยบายการลาป่วยให้เหมาะสม
2.ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค พร้อมๆกับการวางแผนเพื่อสถานการณ์ในอนาคต (Scenario Planning) โดยพิจารณาทั้งลักษณะของการระบาดของโรค และนโยบายที่เศรษฐกิจที่เป็นไปได้โดยอาจใช้เครื่องมือ ‘กล่องเวลา’ และรูปแบบสถานการณ์ 9 แบบเป็นตัวช่วยในการวางแผนอนาคต
3.คิดให้ไกลไปถึงกลยุทธ์ในการดำเนินงานหลังจากภาวะโรคระบาดสิ้นสุดลง แม้ว่าการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าจะมีความสำคัญ แต่ผู้นำต้องไม่ลืมที่จะคิดถึงการทำงานหลังจากภาวะวิกฤตสิ้นสุดลง พร้อมทั้งวางแผนและจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้โดยอาจใช้หลัก 5R
4.ใช้ประโยชน์จากการจัดตั้ง ‘ศูนย์กลยุทธ์กลาง’ หรือ Nerve Center ของบริษัทหรือหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลและวางแผนกลยุทธ์ในการทำงานภายใต้ภาวะวิกฤตในระดับต่างๆ รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบใหม่ของการทำงานและการใช้ชีวิตหลังจากวิกฤตโรคโควิด-19 สิ้นสุดลง
ในที่สุดแล้ววิกฤตไวรัสโควิด-19 จะต้องคลี่คลายและยุติลง แต่ที่แน่ๆ คือ วิถีชีวิตคนไทยยุคหลังโควิด-19 จะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนที่เคยเป็นมา เช่นเดียวกับบทบาทของผู้นำองค์กรและลูกจ้างจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage