"...ภาพจะคล้ายๆกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลได้อัดเงินเข้ามา 5-6 แสนล้านบาท แต่งวดนี้ไซส์ต้องใหญ่กว่านั้นเยอะ ผมจึงคิดว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รอบนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท โดยต้องกู้เตรียมไว้ก่อน และทยอยใช้เงินเมื่อจำเป็น ถ้าสุดท้ายโชคดี การระบาดจบเร็ว เจอวัคซีน เงินที่เหลือก็คืนไป อย่าไปรอจนมันหนักมาก..."
แม้ว่าจะไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง หลังเจอแรงช็อกขั้นรุนแรงจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงโดยง่าย
แต่สิ่งที่หลายฝ่ายอาจคาดไม่ถึงนัก นั่นก็คือการที่ กนง. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 จะติดลบ 5.3% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดในรอบ 22 ปี
สาเหตุหลักๆที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวแรง มาจากการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 16.4% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะลดลงเหลือ 15 ล้านคน จากปีที่แล้ว 39.8 ล้านคน การบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.5% จากปีก่อนที่เติบโต 4.5% และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว 4.5% จากปีก่อนที่เติบโต 2.8%
ในขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจเพียงตัวเดียวที่จะเป็น ‘เสาค้ำยัน’ ไม่ให้เศรษฐกิจดำดิ่งลงไปมากกว่านี้ คือ การลงทุนของภาครัฐ โดย กนง.ประเมินว่า การลงทุนภาครัฐในปีนี้จะเติบโตได้ที่ 5.8% จากปีก่อนที่เติบโตเพียง 0.2%
“กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว 5.3% โดยหลักๆจะเป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งมาจากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และยังส่งกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ แต่นี่จะเป็นการหดตัวชั่วคราว โดยปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ 3% เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุ
ส่วนปฏิกิริยาล่าสุดของคนในรัฐบาลนั้น แม้จะบอกว่า ไม่รู้สึกตกใจอะไร กับการที่ ธปท.ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงสู่ระดับเลวร้ายที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ผู้ที่อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจ ต่างรู้ดีว่าวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ รุนแรงในระดับใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หรืออาจมากกว่า
“ไม่ได้ตกใจกับตัวเลขที่ออกมา เพราะทั่วโลกได้รับผลกระทบเหมือนกัน ซึ่งการที่ธปท.มองว่าเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว 5.3% ถือว่าเป็นการสื่อสารให้ประชาชนได้ทราบว่าสถานการณ์ตอนนี้ตึงเครียด และเราก็รู้อยู่แล้วว่าเหนื่อยแน่ อีกทั้งไม่ใครบอกได้ว่าการระบาดของไวรัสจะดีขึ้นเมื่อไหร่” อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
พร้อมๆกันนั้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาจัดทำพ.ร.ก.กู้เงินฯ กว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมเงินไว้รับมือกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจ ที่กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยหลายสิบล้านคน ตามคำบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
“เราจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ ซึ่งอาจต้องใช้เงินกู้บ้าง เพราะงบประมาณปี 63 มีอยู่จำกัด งบกลางก็ใช้ไปพอสมควรแล้ว และเหลืออยู่น้อยมาก ตอนนี้จึงจำเป็นต้องจัดทำ พ.ร.ก.กู้เงินต่างๆ เพื่อเตรียมไว้สำหรับมาตรการระยะที่ 3 ที่ 4 โดยเราต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอร์) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อเตรียมงบประมาณไว้สำหรับรับมือกับวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังตามมานั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
“การออกพ.ร.ก.กู้เงินฯตอนนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก และจำเป็นมากที่สุด” สมชัยย้ำ
สมชัย เสนอว่า เงินกู้ที่มาจากพ.ร.ก.กู้เงินฯนั้น ควรจะนำมาใช้ในหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การเพิ่มงบด้านสาธารณสุข โดยรัฐบาลต้องไปสำรวจว่าหมอต้องการอะไร ต้องการโรงพยาบาลสนามเพิ่มหรือไม่ หรือต้องการเครื่องไม้เครื่องมืออะไรเพิ่มบ้าง หากผลิตหรือนำเข้าไม่ได้จะหามาด้วยวิธีการอย่างไร รวมทั้งจะต้องระดมคนมาช่วยกันในการยุติการแพร่ระบาด และการควบคุมการระบาดของไวรัสหลังจากนี้ไป
“เมื่อพ้นจากช่วงที่เราปิดบ้าน ปิดเมืองตอนนี้แล้ว ตอนเปิดเมืองก็ต้องมาดูว่า การกักตัวคน การตามตัวคนให้เจอจะทำอย่างไร เพราะเมื่อให้เขาเดินทางได้แล้ว ก็ต้องตามตัวเขาให้ได้ด้วย ซึ่งในเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เขามีการลงทุนทางด้านไอทีในการติดตามตัว และการทำเรื่องนี้ต้องมีกำลังคนที่จะไปตามคนเหล่านั้นเป็นพันคน ทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น” สมชัยกล่าว
สมชัย กล่าวต่อว่า ในยามที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะ 'ซึมลึก' จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรเงินไว้สำหรับดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และการยืดเวลาการจ่ายภาษี เป็นต้น
“เศรษฐกิจตอนนี้ซึมลึกมาก ผมว่าตอนนี้ก็น้องๆวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว คนถูกกระทบเยอะมาก โดนกระทบทุกหย่อมหญ้า จึงต้องการงบประมาณจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การแจกเงิน ซึ่งแจกไปแล้ว แต่ผมว่าน้อยเกินไป เพราะให้แค่ 3 ล้านคน แต่คนที่เดือดร้อนมีเยอะมาก” สมชัยบอก
สมชัย ประเมินว่า ในที่สุดแล้ว หากเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะซึมลึกแบบยาวๆ สิ่งที่ตามมา คือ หนี้เสีย (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่จะเพิ่มขึ้น และหนี้เสียจะลุกลามไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และคนอาจจะแห่กันถอนเงิน ถอนหุ้นกู้ต่างๆ จนสภาพคล่องหายไปจากระบบอย่างรุนแรง
“สิ่งที่แบงก์ชาติทำเมื่อวันอังคาร (การจัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือ MFLF) มันแค่นิดเดียว เป็นมาตรการที่เรียกว่าการป้องกันไว้เอาก่อน แต่ถ้างวดนี้เศรษฐกิจไปยาว มันจะขยายวงกว้างไปเยอะ” สมชัยกล่าว
สมชัย เห็นว่า เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่วิกฤติในระดับเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 รัฐบาลจำเป็นต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท
“ภาพจะคล้ายๆกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลได้อัดเงินเข้ามา 5-6 แสนล้านบาท แต่งวดนี้ไซส์ต้องใหญ่กว่านั้นเยอะ ผมจึงคิดว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รอบนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท โดยต้องกู้เตรียมไว้ก่อน และทยอยใช้เงินเมื่อจำเป็น ถ้าสุดท้ายโชคดี การระบาดจบเร็ว เจอวัคซีน เงินที่เหลือก็คืนไป อย่าไปรอจนมันหนักมาก” สมชัยกล่าว
สมชัย จิตสุชน
เมื่อถามว่ารัฐบาลควรมีการทบทวนการใช้จ่ายพ.ร.บ.งบปี 63 และรายละเอียดการจัดสรรงบปี 64 หรือไม่ สมชัย ระบุว่า “ถ้าปรับได้ก็ปรับ แต่ตอนนี้พ.ร.ก.กู้เงินสำคัญกว่า เพราะไม่ว่าจะปรับอย่างไรคงได้เงินมาไม่มาก และถ้าปรับงบ แต่เหตุการณ์เกิดจบเร็ว การปรับงบมาใช้เหมือนเดิมจะยุ่งกว่า ส่วนพ.ร.ก.กู้เงิน ถ้าใช้ไม่หมดก็คืนเท่านั้นเอง”
ส่วนการปรับลดงบกระทรวงกลาโหมนั้น สมชัย กล่าวว่า “งบกลาโหมควรตัดมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ในภาวะที่เป็นปกติ ซึ่งผมก็ไม่เคยได้เข้าไปดูว่าควรจะต้องตัดเท่าไหร่ แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งไปยุ่งตรงนั้นเลย ต้องทำให้วิกฤติผ่านไปก่อน เอาให้ไฟไหม้บ้านผ่านไปก่อน อย่าเพิ่งมาชวนทะเลาะกันในบ้านตอนนี้"
ขณะที่ ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเตรียมออกพ.ร.ก.กู้เงินฯวงเงิน 2 แสนล้านบาท แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น รัฐบาลต้องประเมินก่อนว่า วงเงินที่จะอัดฉีดเข้าไปช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆจะต้องใช้เท่าไหร่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าพ.ร.ก.กู้เงินฯที่มีวงเงินเพียง 2 แสนล้านบาทอาจไม่เพียงพอ
“พ.ร.ก.กู้เงิน 2 แสนล้าน ผมมองว่าน่าจะไม่พอ ซึ่งรัฐบาลจะต้องประเมินว่าความเสียหายจริงอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วก็เอาเงินส่วนนี้ไปเยียวยาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการเยียวยาคนที่ตกงานกันระเนระนาดอยู่ตอนนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ยาวไป กำลังซื้อจะหด ซึ่งตรงนี้จะไปทำลายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมในภาวะที่ส่งออกลำบาก และคนตกงานจะเพิ่มขึ้นไปกันใหญ่” ธนิตกล่าว
ธนิต ยังประเมินว่า แรงงานในระบบที่จะถูกเลิกจ้างเพราะไวรัสโควิด-19 จะอยู่ที่ 2.375 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับการดูแลจากประกันสังคม คิดเป็นเงินชดเชยว่างงาน 1.06 แสนล้านบาทในช่วงเวลา 6 เดือน ส่วนแรงงานนอกระบบที่จะตกงานนั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 3.25 ล้านคน โดยรัฐบาลต้องจัดสรรเงินมาเยียวยาคนกลุ่มนี้ 4.8 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ธนิต บอกว่า แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ปรากฏว่ามาตรการที่ออกมายังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยกู้เกินกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ผู้ประกอบการธุรกิจนั้นๆมีอยู่
“ผมเพิ่งคุยกับนายแบงก์ อย่างสินเชื่อ 1.5 แสนล้านบาท ที่ให้แบงก์พาณิชย์ไปกู้จากธนาคารออมสินแล้วนำไปปล่อยกู้ต่อ ทางแบงก์เขาใช้วิธีว่า ถ้าธุรกิจมีวงเงินโอดี (เงินกู้เบิกเกินบัญชี) เหลืออยู่ เช่นถ้ามี 10 ล้าน ใช้ไปแล้ว 5 ล้าน ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาท เขาจะโยกมาวงเงินของออมสิน ซึ่งเสียดอกเบี้ย 2% ทำให้เนื้อเงินปล่อยกู้ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะลูกหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน” ธนิตกล่าว
ธนิต ทิ้งท้ายว่า “มาตรการทุกมาตรการที่รัฐบาลออกมา ขอให้ทำจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการ”
ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ การออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ส่วนรัฐบาลจะใช้เงินกู้อย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% หั่นจีดีพีปี 63 ติดลบ 5.3%
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage