Rapid test ตรวจเร็วแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า ขณะที่การตรวจหาเชื้อ RT PCR เป็นการตรวจที่เร็วที่สุด องค์การอนามัยโลกแนะนำเอาไว้ ก่อนเริ่มมีอาการ หรือมีอาการน้อยๆ ก็ตรวจหาได้ ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 1 พันกว่ารายในประเทศไทย ก็ใช้วิธีนี้ตรวจทั้งสิ้น
สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นับเป็นวิกฤตสุขภาพโลกในยุคของเรา คำแนะนำหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก แนะนำกับทุกประเทศ นั่นก็คือ ทุกประเทศจะไม่สามารถหยุดการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ หากไม่รู้ว่าใครติดเชื้อนี้บ้าง
ดังนั้น การตรวจ ตรวจ ตรวจ ( test, test, test) และตรวจทุกคนที่สงสัย จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการชะลอการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้
"ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด 1 พันกว่ารายในประเทศไทย เราใช้วิธีการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ(Real-time RT PCR) ทั้งสิ้น" นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูล
สำหรับธรรมชาติของการเกิดโรคโควิด-19 แบ่งเป็น ระยะฟักตัวของโรค (0-วันที่มีอาการ) ระยะมีอาการ และระยะที่หายเป็นปกติ หรือเสียชีวิต โดยการตรวจหาเชื้อ แบ่งเป็น
@ ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19
1.ตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส
-Real-time RT PCR ใช้เวลา 3 ชั่วโมง
-RT-LAMP ใช้เวลา 45 นาที
2.เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส 3-4 วัน
3.ตรวจหา Antigen 15 นาที
@ ตรวจภูมิคุ้มกันด้วยชุดทดสอบรวดเร็ว โดยบุคลากรทางการแพทย์ (Rapid test) ใช้เวลา 15 นาที
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า การตรวจแบบ Rapid test แน่นอนว่า ตอนตรวจ ตรวจเร็ว แต่กว่าจะรู้ผลผู้ป่วยต้องมีอาการ 10 วันขึ้นไป ตรวจ 5 นาทีก็รู้ผล แต่หากผู้ป่วยเข้ามาตรวจด้วยชุด Rapid test ตั้งแต่วันที่ไม่มีอาการ ผลเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่ติด เพราะยังแปรผลไม่ได้
แปลความ สรุปก็คือ Rapid test ตรวจเร็วแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า
ฉะนั้น การตรวจหาเชื้อ RT PCR เป็นการตรวจที่เร็วที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำเอาไว้ ก่อนเริ่มมีอาการ หรือมีอาการน้อยๆ ก็ตรวจหาได้
นพ.โอภาส กล่าวย้ำถึงการตรวจหาเชื้อ เมื่อมีวิธีใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่เราต้องคิดเสมอก็คือ 1.วิธีตรวจนั้นได้ผลหรือไม่ 2.แม่นยำ เที่ยงตรงหรือไม่ 3. ได้มาตรฐานหรือไม่
"ตามข่าวมีวิธีการตรวจหาเชื้อมากมายไปหมด บางแห่งเริ่มพัฒนา บางแห่งกำลังพัฒนา การพัฒนาเสร็จแล้วต้องประเมินว่า ใช้ได้จริงหรือไม่ ประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และอย." (อ่านประกอบ:ชุดตรวจ COVID-19 อย่างง่าย 2 ยี่ห้อ ที่ผ่านการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
นพ.โอภาส กล่าวถึงการคาดการณ์ 15 เมษายน ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิด 3.5 แสนคนนั้น (อ่านประกอบ:ไม่อยากเป็นแบบอิตาลีต้องช่วยกัน หมอศิริราช คาดหากคุมไม่อยู่ 15 เมษาฯ คนไทยติดโควิด 3.5 แสนราย) พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด เราวางแผนเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจโควิดด้วย การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ(Real-time RT PCR) ในกทม.1 หมื่นตัวอย่างต่อวัน ในต่างจังหวัด 1 หมื่นตัวอย่างต่อวัน เขตสุขภาพ 833 ตัวอย่างต่อวัน
"จังหวัดใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราวางเครือข่ายห้องปฏิบัติการไว้แล้ว คาดว่า ไม่เกินเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยจะมีห้องปฏิบัติการประมาณ 100 แห่ง "
ส่วนห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง 44 แห่ง กรมวิทย์ฯ กำลังประเมิน 15 แห่ง กำลังจัดตั้ง 38 แห่ง และกำลังของบกลางเพื่อจัดตั้งในระยะยาว
"การตรวจแล็ปเพื่อหาคนมีเชื้อโควิด แปลว่า เรากำลังเจอคนที่กำลังแพร่เชื้อ เพื่อควบคุมโรค และตรวจเพื่อการรักษาตัวเขา ซึ่งการตรวจแล็ปที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือการตรวจ RT PCR ส่วนวิธีอื่นๆ กำลังตามมา หากได้มาตรฐานดีกว่าเก่า กรมวิทย์ฯ จะเสนอให้ตรวจด้วยวิธีใหม่ๆ" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายทิ้งท้าย
สุดท้ายกรณีของรถโมบายเคลื่อนที่ไปตรวจหาเชื้อ นพ.โอภาส ชี้แจงว่า ถือเป็นกระบวนการเก็บตัวอย่างแบบหนึ่ง การเก็บสิ่งส่งตรวจ โดยหมอ นักเทคนิกการแพทย์ พยาบาล สุดท้ายตัวอย่างที่เก็บไป ก็เข้าห้องปฏิบัติการเหมือนเดิม
"วันนี้อย.ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนตรวจหาเชื้อเอง การตรวจจะต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น ไม่เหมาะที่ประชาชนจะไปตรวจเอง เหมาะกับบางโอกาสเท่านั้น"
"เราต้องไปตรวจเชื้อโควิดหรือยัง?" กรอก แบบคัดกรองตนเอง สำหรับผู้สงสัยโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) http://164.115.26.154/screening_covid/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปตท. ศิริราช VISTEC พัฒนาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 สำเร็จ! รู้ผลเร็ว 45 นาที - ผลิตได้ 1 แสนชุด/เดือน
15นาทีรู้ผล!จุฬาฯเปิดบริการตรวจโควิด-19 Strip Test 30 มี.ค.-ลงทะเบียนออนไลน์