แล้งหนักสุดอันดับ 2 ในรอบ 60 ปี เป็นรอง ปี 2522 รุนแรงระดับสอง คาดลุ่มน้ำตะวันออก ‘อีอีซี’ ไม่เพียงพอตั้งแต่ พ.ค. 63 เลขาธิการ สทนช. เผย ‘ประวิตร’ กำชับ ปชช.ต้องมีน้ำใช้ตลอดปี ควบคุมนาปรังไม่ให้เพิ่มขึ้น ด้านกรมชลระบุค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาทรงตัว แนวโน้มดีขึ้น
สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคุกคามในหลายพื้นที่
โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับ 2 หมายถึง รุนแรงหรือคาดว่าจะรุนแรง จากทั้งหมด 4 ระดับ (ระดับ 0 ปกติ ติดตามสถานการณ์, ระดับ 1 สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น, ระดับ 2 รุนแรงหรือคาดว่าจะรุนแรง และระดับ 3 วิกฤตหรือคาดว่าจะเกิดวิกฤติ)
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุ 3 อันดับ ปีฝนแล้งจัดของประเทศไทย ได้แก่ อันดับ 1 ปี 2522 ปริมาณ 1332.3 มม. อันดับ 2 ปี 2562 ปริมาณ 1,342.5 มม. และอันดับ 3 ปี 2535 ปริมาณ 1,357.3 มม.
นั่นหมายถึงว่า สถานการณ์น่ากังวลอย่างยิ่ง และเมื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตและนอกเขตประปาฤดูแล้ง ปี 2562/63 ยิ่งน่ากังวลมากขึ้นไปอีก
โดยพบว่ามี 54 จังหวัด เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และ 46 จังหวัด เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คลอดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ โดยจะคุมเข้ม 2 ลุ่มน้ำ ที่มีการใช้น้ำเกินแผน นั่นคือ
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควบคุมการปลูกพืชฤดูแล้ง ในและนอกเขตชลประทาน ป้องกันผลกระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค ควบคุมการลำเลียงน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์ ให้เป็นไปตามแผน เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น พร้อมรณรงค์การใช้น้ำภาคการเกษตรประหยัดที่สุด
ลุ่มน้ำภาคตะวันออกในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอตั้งแต่ พ.ค. 2563 ดังนั้นต้องเตรียมหาน้ำสำรอง โดยการประปาส่วนภูมิภาคและอีสท์วอเตอร์ พิจารณาแนวทางการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และเร่งดำเนินการวางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมายังสถานีผลิตน้ำมาบยางพร จ.ระยอง และส่งไปยังสถานีผลิตน้ำหนองกลางดง จ.ชลบุรี ให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2563
สทนช. เผย ‘ประวิตร’ กำชับ ปชช. ต้องมีน้ำใช้ตลอดปี
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมแนวทางการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ว่าการแก้ปัญหาภัยแล้งขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ให้ผ่านช่วงภัยแล้งปีนี้ โดยเป็นการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำทางการเกษตร ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับว่าประชาชนต้องมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี โดยแบ่งการดูแลของการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ที่ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะแหล่งน้ำในการผลิตน้ำ
ขณะที่น้ำทางการเกษตร กรมชลประทานกั้นน้ำไว้แล้วชัดเจน แต่ขณะนี้มีบางพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ที่มีการปลูกพืช 1.6ล้านไร่ โดยกรมชลประทานจะไปบริหารจัดการ
ทั้งนี้ แผนการบริการจัดการน้ำส่วนใหญ่ ดำเนินการตามที่วางไว้ รวมถึงกรมฝนหลวง เข้ามาช่วยเหลือเพื่อเติมน้ำ โดยได้ปฏิบัติการทำฝนหลวงที่ภาคตะวันออก จ.ระยอง ทำให้มีฝนตก และเตรียมปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ที่เสี่ยงจะขาดน้ำ เพราะช่วงนี้มีฝนตกน้อย จึงต้องเตรียมการไว้
ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับงบประมาณ 3,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม บ่อเดิม รวมถึงขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่ ที่มีกว่า 1,000บ่อ จะไปดำเนินการตามที่วางไว้ เป็นการเชื่อมโยงแหล่งน้ำดิบ โดยเฉพาะสถานพยาบาล โดยเร่งรัดโครงการดังกล่าวภายใน 2-3 เดือน พร้อมติดตามพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ไข ต้องรู้ผลดำเนินการภายใน 10 วัน ตามที่นายกฯสั่งการไว้
เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ เรื่องโครงการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่าง ๆทั่ วประเทศ ให้ทันการกักเก็บน้ำในฤดูฝนที่จะถึง เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า 1-2 เดือนในฤดูฝนจะมีน้ำน้อย แต่อีก 3-4 เดือนสภาวะน้ำจะเข้าสู่ปกติ ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปยังหน้าแล้งของปีหน้า จึงต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการต่างๆ
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้า พล.อ.ประวิตร จะเป็นประธานประชุมพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อบูรณาการงานด้านบริหารจัดการน้ำ ที่สภาผ่านงบประมาณ เพื่อใช้ดำเนินการในด้านนี้เกือบ 60,000 ล้านบาท ในการวางรากฐานบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
สั่งกอ.รมน. สร้างความเข้าใจเกษตรกร งดให้น้ำทำนาปรัง
ก่อนหน้านี้ นายสมเกียรติ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่ามี 2 ลักษณะ คือ ฝนน้อย และน้ำน้อย ซึ่งในปี 2562 พบว่า ประเทศไทยมีฝนตกน้อยเป็นอันดับ 2 ในรอบ 60 ปี รองจากปี 2522 โดยพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด คือ ภาคกลาง โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา
“ภาคกลางจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือมีน้ำมากกว่าปี 2558 จึงต้องดึงน้ำจากภาคเหนือมาใช้”
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างปี 2563 กับ 2558 พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคกลางเพิ่มมากขึ้น และปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์น้อยกว่าเดิม
ส่วนธุรกิจโรงแรมและนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ใช้น้ำไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ในการปลูกข้าว ซึ่งมีปริมาณ 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ดังนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรว่าไม่สามารถจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรได้แล้ว พร้อมกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) หามาตรการรองรับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ระหว่างพ.ค.-มิ.ย. 2563 เกษตรกรจะปลูกข้าวไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่ทุ่งบางระกำ ที่ปกติต้องเริ่มปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกัน
“พล.อ.ประวิตร กำชับให้ควบคุมพื้นที่นาปรังไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมในช่วงนี้ และจำเป็นต้องงดจ่ายน้ำ”
นายสมเกียรติ ยังระบุว่า ขณะนี้ภาครัฐได้เตรียมแผนการทำงานในอนาคต เพราะจะตามล้างตามเช็ดแบบนี้อีกต่อไปไม่ได้ โดยให้จัดเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำ เมื่อถึงฤดูฝน เพื่อต่อไปจะได้ไม่ต้องทำตามหลังปัญหา ซึ่งชุมชนใดมีพื้นที่และพร้อมขุดบ่อกักเก็บน้ำ ขอให้แจ้งมายังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ทหารลงไปช่วยเหลือ นอกเหนือจากการใช้งบประมาณปกติในการหาแหล่งกักเก็บน้ำ
ค่าเค็ม ‘เจ้าพระยา’ ทรงตัว แนวโน้มดีขึ้น
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำสำรองหรือแหล่งน้ำต้นทุน ส่วนพื้นที่ในเขตชลประทาน แม้จะมีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำ หรือระบบชลประทานต่าง ๆ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์รับร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำศูนย์ย่อยประตูระบายน้ำดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่พร้อมตรวจสอบความพร้อมการสำรองเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 ชุด และรถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรหากเกิดภัยแล้งในพื้นที่
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 สำนักเครื่องจักรกล กล่าวว่า ได้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำแบบจุ่มขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Submersible pump) ขนาด 3.0 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง บริเวณสถานีสูบน้ำบางบัวทอง ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทำการผันน้ำที่ส่งมาจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่านแม่น้ำท่าจีน มายังคลองจระเข้สามพัน คลองบางบัวทอง และแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ
ส่วนบริเวณคลองพระพิมลราชา ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ขนาด 1.3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง ช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำในคลองพระพิมล ก่อนระบายลงส่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปทางตอนบน
“แม้สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเริ่มทรงตัวมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการใช้น้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดและตระหนักถึงความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในอนาคตด้วย” ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ระบุ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/