"...สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ สินค้าอุตสาหกรรมบางตัวแข่งไม่ได้แล้ว เพราะตกเทคโนโลยี ต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกใหม่..."
นับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศเมื่อปี 2530 และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมๆกับการเบนเข็มการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกมาตั้งแต่ปี 2543 แต่เพียง 20 ปีให้หลัง การส่งออกเวียดนามเติบโตต่อเนื่องทุกปี และล่าสุดในปี 2562 มูลค่าการส่งออกเวียดนามแซงหน้าไทยอย่างเป็นทางการแล้ว
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (1 ม.ค.-30 พ.ย.2562) การส่งออกไทยมีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 11 เดือนครึ่งของปี 2562 (1 ม.ค.-15 ธ.ค.2562) อยู่ที่ 251,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 10% และสูงกว่าไทย 24,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และเป็นไปได้ที่ในช่วง 1 เดือนที่เหลือของปี 2562 มูลการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาแซงเวียดนามได้ ท่ามกลางผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.2562 มีแนวโน้มติดลบ เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 ที่มูลค่า 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น ปี 2562 จึงถือได้ว่าเป็นปีประวัติศาสตร์ที่มูลค่าการส่งออกไทย ‘พ่ายแพ้’ ให้กับเวียดนาม หลังจากมีการคาดการณ์กันไปเมื่อไม่นานนี้ว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไทย ‘กำลัง’ จะแซงหน้าไทย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2562 น้อยกว่าเวียดนามนั้น มาจากตัวแปรที่ไม่คาดคิด 3 เรื่องด้วยกัน
คือ 1.การส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนต่างก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย และทำให้การส่งออกไทยในช่วงกลางปี 2562 ลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับตัว เพราะแทนที่จะผลิตสินค้าและเน้นส่งออกไปจีนเหมือนเดิม แต่ตอนนี้หันไปผลิตชิ้นส่วนฯและวัตถุดิบขั้นกลาง เพื่อส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงมากขึ้น ส่วนสถานการณ์สงครามการค้าที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้าง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนติดลบน้อยลง และบางเดือนเป็นบวก
“ผลกระทบจากสงครามการค้าที่เริ่มทรงๆ จะทำให้การส่งออกไทยไปจีนปรับตัวดีขึ้น และแม้ว่าปีที่แล้วการส่งออกไปจีนจะติดลบ แต่จะพบว่าในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าตัวอื่นๆไปจีนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าดาวรุ่งอย่างผลไม้ ซึ่งแม้ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มไม่มาก แต่มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปจีน” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
2.มูลค่าการส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ในช่วงไตรมาส 4/2562 ลดลงคอนข้างมาก เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันมาตั้งแต่เดือนก.ย.2562 ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องที่มีสัดส่วน 11-12% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด หายไปหรือคิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโรงกลั่นฯกลับมาผลิตตามปกติในช่วงไตรมาส 1/2563 มูลค่าการส่งออกไทยจะดีขึ้น
“โรงกลั่นฯในไทยที่ทยอยซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนก.ย. ทำให้กำลังการผลิตหายไปมาก และตรงนี้เป็นตัวหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกไตรมาส 4/2562 หายไปค่อนข้างเยอะ แต่เนื่องจากตรงนี้เป็นปัจจัยที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร และเมื่อถึงไตรมาส 1/2563 เมื่อโรงกลั่นฯกลับมาใช้กำลังการผลิตได้เท่าเดิม ตัวเลขส่งออกก็จะดีขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
3.ผลกระทบค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้น 8% เมื่อเทียบกับต้นปี 2562 ในขณะที่เงินด่องของเวียดนามมีทิศทางที่อ่อนค่า ทำให้เวียดนามส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น และแม้ว่าตอนนี้ทางเวียดนามจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐขึ้นบัญชีว่า ‘ปั่นค่าเงิน’ เพื่อหวังผลทางการค้า (currency manipulator) แต่เวียดนามก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะเงินดองที่อ่อนค่าเป็นประโยชน์กับเวียดนาม
น.ส.พิมพ์ชนก ย้ำว่า แม้ว่ามูลค่าส่งออกสินค้าของเวียดนามจะแซงไทย แต่เมื่อไปพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยและเวียดนามไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง ยกเว้นสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าว
“สินค้าที่เวียดนามส่งออกเยอะ เป็นพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง เช่น โทรศัพท์มือถือ อย่างซัมซุงก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามเยอะ ส่วนสินค้าอื่นๆที่เวียดนามส่งออกได้มาก เช่น สิ่งทอเสื้อผ้า ส่วนสินค้า กาแฟ ซึ่งเขาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ และยังเป็นคู่แข่งขายข้าวรายสำคัญของไทย”
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เวียดนามาส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น แต่ไทยยังมุ่งเน้นการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนฯ หรือวัตดิบขั้นกลาง ซึ่งตรงนี้อยากให้รัฐบาลเร่งรัดนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับนักลงทุนต่างประเทศด้วยว่าจะตัดสินใจอย่างไร
“ถ้าพูดถึงในระยะยาวมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงหลายเรื่อง อย่างเรื่องการส่งออกรถยนต์ ปัจจุบันตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะซื้อรถไฟฟ้ามากขึ้น แต่สินค้ากลุ่มยานยนต์ของเรายังกลุ่มเดิมๆ คือ ใช้เบนซิน ดีเซล ซึ่งเราต้องปรับปรุงใหม่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติด้วย” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า แต้มต่อสำคัญที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการส่งออก คือ ปัจจุบันเวียดนามได้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) และมีสนธิสัญญาไมตรีกับสหรัฐ มีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว และยังมีข้อตกลง FTA กับญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีกไม่นานนี้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ
“ตอนนี้ท่านรองนายกฯ (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์) เร่งเปิดตลาดเต็มที่ ผลักดันการส่งออกสินค้าตัวใหม่ และเราก็เริ่มการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆแล้ว ส่วนรัฐบาลก็พยายามดึงการลงทุนต่างประเทศเข้ามา และสิ่งที่ต้องคิดต่อ คือ สินค้าอุตสาหกรรมบางตัวแข่งไม่ได้แล้ว เพราะตกเทคโนโลยี ต้องมีการปรับครงสร้างการผลิตและการส่งออกใหม่”
พิมพ์ชนก วอนขอพร
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวทิ้งท้ายว่า “การส่งออกไทยปีนี้ จะกลับมาแซงเวียดนามได้หรือไม่ คงตอบไม่ได้ แต่เราจะพยายามลุยเต็มที่ และมั่นใจการส่งออกทั้งปี 2563 จะโตมากกว่า 1% ขณะเดียวกัน ไทยต้องทำให้อุตสาหกรรมรุ่นใหม่เข้ามาให้ได้ ส่วนที่นักลงทุนย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยนั้น พบว่ายังผลิตไม่มาก และเทคโนโลยีก็ไม่สูงมากอย่างที่หวัง”
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่ว่าในปี 2562 มูลค่าการส่งออกไทยจะแพ้เวียดนาม เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ต้นทุนการผลิตจะพบว่า สินค้าของเวียดนามต่ำกว่าไทย และปีที่แล้วค่าดองอ่อนค่าในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา และเวียดนามยัง FTA สหภาพยุโรปด้วย ทำให้การส่งออกสินค้าเวียดนามได้เปรียบไทย
นอกจากนี้ เวียดนามยังใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA โดยเฉพาะ FTA กับสหภาพยุโรป มาอุดจุดอ่อนที่เคยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป หรือแม้กระทั่งจุดอ่อนด้านโลจีสติกส์
“เงินด่องอ่อนค่า นโยบายเวียดนามที่มีความต่อเนื่อง การมี FTA กับยุโรป และยังมีกลุ่มทุนใหญ่จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามกันเยอะ ทั้งผลิตเพื่อส่งออกกลับประเทศแม่และประเทศอื่นๆ ประกอบกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่ถูกกว่า ค่าแรงถูกกว่า แรงงานพร้อมกว่า การส่งออกเวียดนามแซงหน้าไทย” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว
นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อย ‘สู้ดีนัก’ สำหรับภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ซึ่งครอบอำนาจมากเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ยังคงแก้ไม่ตกว่าจะทำอย่างไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/