"..เท่าที่เห็นตัวเลขขณะนี้มีจำนวน 140 คดี คิดเป็นมูลค่าเงินที่ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท เป็นตัวเลขของรถที่นำเข้ามาจากอังกฤษ อิตาลี เป็นหลัก เป็นตัวเลขที่มีจำนวนมาก เมื่อสอบถามไปว่า มีกรณีไม่เสียภาษีอย่างไร ได้รับแจ้งว่าบริษัทที่นำเข้าไปแจ้งกรมศุลกากร มีต้นทุนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทำให้เสียภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเสีย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำเงินภาษีเอามาคืนให้รัฐ..."
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่าน ประเด็นข่าวเกี่ยวกับการนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย ถูกสื่อมวลชนหยิบมานำเสนอเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง หากไม่นับเฉพาะกรณี รถยี่ห้อมาเซราติ รุ่นควอตโตรปอร์เต้ V8 2011 ของดาราสาว 'หนิง' ปณิตา ธรรมวัฒนะ ที่กำลังถูกสอบสวนแหล่งที่มา หลังเกิดกรณีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอเข้าตรวจค้นรถยนต์ตามหน้าที่ แต่เจ้าตัวออกมาโวยวายว่า มีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากตัวเองโดยไม่ออกใบสั่ง จนทำให้เรื่องลุกลามไปสู่การสอบสวนขยายผลทางคดีจนพบว่า รถยี่ห้อมาเซราติ ของดาราสาวคันดังกล่าว ติดอยู่ในบัญชีการตรวจสอบรถหรูเลี่ยงภาษีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้
การออกมาประกาศเริ่มต้นปฏิบัติการ ทวงคืนเงินภาษีจำนวน 9 พันกว่าล้านบาท จากขบวนการนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นับว่าเป็นเรื่องใหญ่สร้างความสนใจต่อสาธารณชน อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
"เท่าที่เห็นตัวเลขขณะนี้มีจำนวน 140 คดี คิดเป็นมูลค่าเงินที่ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐจำนวนกว่า 9 พันล้านบาท เป็นตัวเลขของรถที่นำเข้ามาจากอังกฤษ อิตาลี เป็นหลัก เป็นตัวเลขที่มีจำนวนมาก เมื่อสอบถามไปว่า มีกรณีไม่เสียภาษีอย่างไร ได้รับแจ้งว่าบริษัทที่นำเข้าไปแจ้งกรมศุลกากร มีต้นทุนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทำให้เสียภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเสีย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำเงินภาษีเอามาคืนให้รัฐ"
คือ คำยืนยันของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนล่าสุด (อ้างอิงจาก https://news.ch7.com/detail/370739)
หากสาธารณชนยังจำกันได้ เกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกคดีหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า ในช่วงประมาณต้นปี 2555 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เข้ามาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ภายหลังได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ประกอบการที่ทำเรื่องร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากร เรียกรับผลประโยชน์ในท่าเรือแห่งหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวก หรือช่วยเหลือ ในการขนส่งสินค้าทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย
โดยมีการนำเงินสดมาจากสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ครั้งละหลายล้านบาท ส่วนใหญ่จะมีการจ่ายกันทุกวันจันทร์ ถึงที่ตั้งสำนักงานของเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง
ขณะที่ ปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการเข้ามา มีสินค้าหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้าหนีภาษี รถนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เสียภาษีแบบเหมาจ่าย โดยไม่ต้องเปิดตู้ โดยเฉพาะอะไหล่รถยนต์ของเซียงกง ถ้าไม่เปิดตู้ตรวจจะเสียใต้โต๊ะ 150,000-2,000,000 บาท ต่อตู้คอนแทนเนอร์ ทำให้ผู้ประกอบการนำรถที่สมบูรณ์ทั้งคัน ซุกซ่อนเข้ามาได้ทั้งที่แจ้งเป็นอะไหล่เข้ามาเพื่อประกอบ ทำให้รัฐเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่รับเงินใต้โต๊ะและได้ประเมินภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัวเป็นจำนวนเงินมหาศาล ก่อนที่จะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนคดีอยู่หลายสำนวนในปัจจุบัน (อ่านประกอบ : ยอดสินบนนำเข้า"รถหรู”พุ่งหลักสองล้าน-หิ้วเงินสดจ่ายจนท.ทุกวันจันทร์)
ส่วนกรณีการตรวจสอบข้อมูลเรื่องการจัดเก็บภาษีการหลีกเลี่ยงนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย ที่ปรากฎให้เห็นเป็นทางการในช่วงเดือน ก.ค.2559 เมื่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สตง.จะเข้าตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากรของกรมศุลกากรกรณีการสั่งคืนภาษีอากร (ที่รัฐจะต้องจัดเก็บตามกฎหมาย) ให้แก่ บริษัท จูบิไลน์ จำกัด และ รายบริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์หรูจากประเทศอังกฤษ จึงขอให้กรมศุลกากร อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สตง.ด้วย
มีข้อมูลปรากฎว่า บริษัท จูบิไลน์ จำกัด ได้นำรถยนต์ยี่ห้อ LAMBORGHINI รุ่น GALLARDO จำนวน 6 คันราคาคันละกว่า 20 ล้านบาทผลิตจากประเทศอิตาลี และ บริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ LOTUS รุ่น EXIGE และ ELISE จำนวน 10 คัน ราคาคันละกว่า 10 ล้านบาท ผลิตจากประเทศอังกฤษ (รวมนำเข้า 2 บริษัทประมาณ 230 ล้าน) เข้ามาเก็บไว้ในเขตปลอดอากรบางกอกฟรีโซน ถ.บางนา-ตราด ต่อมาทั้งสองบริษัทได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าขอเสียภาษีเพื่อนำรถยนต์จำนวนดังกล่าวออกจากเขตปลอดอากรเพื่อขายในประเทศ แต่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่รับผิดชอบเขตปลอดอากรในเวลานั้นให้บริษัททั้งสองวางประกันราคาเพิ่ม เพื่อรับรถยนต์ทั้ง 16 คันออกไป แต่บริษัทฯกลับไม่ยอมมาชี้แจงเหตุผลหรือแสดงหลักฐานการซื้อขายที่ชำระเงินกันจริง เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่รับผิดชอบจึงได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรเพื่อให้บริษัทฯมาชำระเงิน และเพื่อให้บริษัทฯใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ราคา และได้สั่งการให้ผลักเงินประกันเป็นค่าภาษีอากรรายได้แผ่นดินจำนวนหลายสิบล้านบาท
ต่อมาบริษัททั้งสองได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรจากกรมศุลกากรและ ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ราคา แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ได้พิจารณาและเสนอเรื่องให้รองอธิบดีกรมศุลฯ ใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกำหนดราคาศุลกากร และเพิกถอนการออกแบบแจ้งการประเมินอากร โดยอ้างว่าการกำหนดราคาศุลกากรรถยนต์จำนวน 16 คันก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการออกแบบการแจ้งการประเมินอากรไม่ถูกต้อง และส่งเรื่องกลับให้ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 (บางปู) ยกเลิกแบบแจ้งประเมินอากร พร้อมทั้งสั่งคืนเงินภาษีอากรจำนวนหลายสิบล้านบาทให้แก่ผู้นำเข้ารถยนต์ทั้งสอง
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ก็มีการนำกำลังเข้าตรวจค้น บริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องการเสียภาษีด้วย ก่อนที่ตัวแทนบริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด ก็ออกมาเป็นแถลงข่าวยืนยันความบริสุทธิ์ ในการทำธุรกิจ ว่า รถทุกคันที่นำเข้า มาเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายศุลการขั้นตอน
จากนั้น เรื่องราวก็เงียบหายไป
(อ่านประกอบ : 2 บ.นำเข้ารถหรู ‘นักธุรกิจหนุ่ม’ หุ้นใหญ่! ชนวน สตง.สอบรองอธิบดีกรมศุลฯ-พวก, โดนแล้ว!สตง.เรียกสอบ อดีตรองอธิบดีกรมศุลฯ -2 จนท. ปมภาษี 2 บ.นำเข้ารถหรู, หลักฐานมัด ผอ.ศุลกากรสั่งยกเลิกประเมินภาษี บ.รถหรู -สำแดง LAMBORGHINI คันละ 2 ล., 2 บ.นำเข้ารถหรูมีประวัติโดนสรรพากรสอบ 18 ครั้ง ก่อนกรณี 16 คันพันบิ๊กกรมศุลฯ , ต่อสายตรงสตง.ทันที! อธิบดีกรมศุลฯ พร้อมร่วมมือสอบคืนภาษีรถหรู 2 เอกชนดัง, เปิดพฤติกรรม‘บิ๊กกรมศุลฯ’สั่งยกเลิกประเมินภาษีเอื้อ 2 บ.นำเข้ารถหรู 16 คัน - สตง.สอบ, สตง.สอบบิ๊กกรมศุลฯสั่งยกเลิกประเมินภาษี บ.นำเข้ารถหรู 16 คัน เสียหายหลายสิบ ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติม พบว่า สตง. ได้สรุปผลการสอบสวนเป็นทางการไปแล้ว
ปรากฎข้อมูลรายละเอียดดังนี้
ในปี 2552 บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระจำนวนสองราย ได้นำเข้ารถยนต์หรูสำเร็จรูปเข้ามา ในราชอาณาจักร ณ เขตปลอดอากร ต่อมาได้นำออกมาจากเขตปลอดอากรเพื่อให้หรือจำหน่ายภายในราชอาณาจักร
เจ้าพนักงานศุลกากรผู้ประเมินอากร สำนักงานศลุกากรกรุงเทพ ประเมินราคาแล้ว ไม่อาจรับราคาที่ผู้นำเข้ารถยนต์ อิสระทั้งสองรายสำแดงในใบขนสินค้าเป็นราคาศุลกากรได้
เนื่องจากมีความเห็นว่า ราคาที่บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทั้งสองรายสำแดงต่ำกว่าราคาทดสอบตามแนวทางการพิจารณาราคารถยนต์นั่งสำเร็จรูปตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 317/2547 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 ข้อ 2.1.1 และข้อ 2.2 วรรคสอง และเอกสารของบริษัทผู้นำเข้า รถยนต์อิสระทั้งสองรายไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเอกสารหลักฐานที่ชี้แจงไม่ใช้ต้นฉบับและหลักฐานการชำระเงินไม่ได้ผ่านการรับรองจากธนาคาร
จึงให้บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองราย วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันจนครบจำนวน เงินอากรสูงสุดที่อาจจะพึงต้องเสียตามมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 20.01 ล้านบาท และแจ้งบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองรายให้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายตัวจริงประกอบการพิจารณาราคา ภายใน 7 วัน
แต่บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองรายไม่ยื่นเอกสารดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าพนักงานศุลกากรผู้ประเมินอากร จึงได้ประเมินราคาและส่งแบบแจ้งการประเมินอากร (แบบ กศก. 114) โดยแจ้งเหตุผลการประเมินว่าราคาสำแดงต่ำกว่าราคาตามคำสั่งกรมศลุกากรที่ 317/2547 ลงวนัที่ 5 กรกฎาคม 2547 ข้อ 2.1.1 และผลักเงินประกันเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบกรมศุลกากร
บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทั้งสองรายยื่นคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินอากร (แบบ กศก. 171) ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม มาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
ต่อมาหัวหน้าฝ่ายอุทธรณ์ราคา สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร ได้พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ โดยไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีความเห็นทักท้วงการประเมินอากรและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ประเมินอากร กรณีการออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้าชี้แจง การกำหนดราคา ศลุกากรและการออกแบบแจ้งการประเมิน
ซึ่งเจ้าพนักงานศุลกากรผู้ประเมินอากร ได้ชี้แจงว่าการพิจารณาทบทวน การกำหนดราคาศุลกากรภายหลังจากการออกแบบแจ้งการประเมินอากร (กศก. 114) และได้มีการผลักเงินประกัน เป็นค่าอากรไปแล้วนั้นไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติกำหนดไว้ ประกอบกับบริษัท ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองรายได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์การประเมินอากรโดยได้ยื่นคำอุทธรณ์และคัดค้านการประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แล้ว
แต่รองอธิบดีด้านภาษีอากรและสิทธประโยชน์ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากรได้อนุมัติให้ดำเนินการส่งสำนักกฎหมายวินิจฉัยว่ากรณีที่ขั้นตอนการออกแบบแจ้งการประเมินและการกำหนดราคาศุลกากร ไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบและผู้นำเข้าได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วจะสามารถ ส่งเรื่องกลับไปยังสำนักงานที่นำของเข้าเพื่อพิจารณาทบทวนและแก้ไขการกำหนดราคาศุลกากรและออกแบบ แจ้งการประเมินใหม่ได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีประมวลระเบียบให้ปฏิบัติตามที่หัวหน้าฝ่ายอุทธรณ์ราคาเสนอ
ซึ่งสำนักกฎหมายได้พิจารณาและมีความเห็นว่าการออกแบบแจ้งการกำหนดราคาศุลกากรเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงให้เจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ และอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดิมหรือ เปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ จึงให้ดำเนินการเพิกถอน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้าชี้แจงการกำหนดราคาศุลกากรและการออกแบบแจ้งการประเมินให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และกฎกระทรวง
โดยรองอธิบดีด้านภาษีอากรและสิทธิประโยชน์ได้ลงนามให้ดำเนินการตามที่เสนอ และหัวหน้าฝ่ายบริการ คลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร สำนักงานศุลกากรกรงุเทพ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวน แก้ไขการกำหนดราคาศุลกากรสำหรับรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป ให้มีหน้าที่ทบทวนการกำหนดราคาสำหรับรถยนต์ นำเข้าสำเร็จรูป ของบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองรายใหม่ และได้มีการคืนเงินให้บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทั้งสองราย โดยถือว่าชำระค่าภาษีอากรไว้เกินจำนวนเงิน 19.89 ล้านบาท
หลังจากบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ทั้งสองรายได้รับเงินคืนแล้ว ได้มีหนังสือขอยกเลิกคำอทุธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่ อุทธรณ์ของบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองราย
สตงระบุชัดเจนว่า ดังนั้น การคืนเงินภาษีอากรโดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้กับบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองราย ทั้งที่เงินจำนวนดังกล่าว ได้ผลักเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย กฎหมายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 และมาตรา 112 ฉ เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทั้งสองราย กรณีมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่ โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของทางราชการและกรมศุลกากร สตง.แจ้งอธิบดีกรมศลุกากรให้ดำเนินการเรียกเงินจำนวน 19.89 ล้านบาท คืนจากบริษัททั้งสองและผู้เกี่ยวข้องโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 และ ดำเนินการทางอาญา ทางแพ่ง ทางละเมิด และทางวินัยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน 9 ราย บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ อิสระจำนวนสองราย และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมแจ้งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติ เลขาธิการ ปปง. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนม.ค.2562 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีรถหรูสำนวนแรกนี้แล้ว
โดยในส่วนของผู้บริหารระดับสูง ไม่ถูกชี้มูลความผิด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
สำหรับผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดนั้นเป็นเพียงแค่กลุ่มข้าราชการระดับปฏิบัติเท่านั้น ส่วนสำนวนการไต่สวนคดีอื่น ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะแล้วเสร็จช่วงไหน ในการสอบสวนเชิงลึกมีการติดตามเส้นทางเงินผู้เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?
แต่จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูยังมีความล่าช้าอยู่มาก แถมหลักฐานในการสอบสวนก็ไม่เพียงพอที่จะเชื่อมโยงไปถึงผู้เกี่ยวข้องระดับสูง เอาผิดได้แค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเท่านั้น
ทั้งที่ คนในวงการรถหรู ต่างก็รู้ข้อมูลกันดี ว่าปัญหาเรื่องนี้ ใครอยู่เบื้องหลัง เป็นตัวการใหญ่?
เมื่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม ออกมาประกาศกร้าวเริ่มต้นปฏิบัติการ ทวงคืนเงินภาษีจำนวน 9 พันกว่าล้านบาท จากขบวนการนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย ดังกล่าว
จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า นายสมศักดิ์ จะมีวิธีการและใช้กลยุทธ์ใด ที่จะทำภารกิจเรื่องยากนี้ ให้เป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้
บทสรุปท้ายที่สุดของเรื่องจะเป็นอย่างไร "เอาจริงเอาจริง" หรือ แค่การออกข่าวประชาสัมพันธ์ผลงานเรียกคะแนนเสียงสร้างฐานความนิยมทางการเมือง เท่านั้น
บทบาทหน้าที่ของ นายสมศักดิ์ เหมาะสม มีคุณค่า คู่ควร แก่การนั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรมหรือไม่
กรณีทวงคืนภาษีรถหรูครั้งนี้ จึงอาจเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำคัญ ที่ช่วยไขคำตอบคลายข้อข้องใจต่อสาธารณชนได้ ใครจะไปรู้?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/