ย้อนคดี ‘พิเชษฐ สถิรชวาล’ หน.พรรคประชาธรรมไทย ศาลรัฐธรรมนูญฟันยื่นบัญชีฯเท็จ ป.ป.ช. ปมซุก 9 ครั้ง หนี้ค้ำประกัน 48.9 ล. เว้นวรรคการเมือง 5 ปีนับ 29 ส.ค.45 พ้นโทษ โผล่เป็น ส.ส. วิบากกรรมตามหลอน ถูกยื่น กกต.สอบคุณสมบัติต้องห้ามใช้สิทธิสมัครหรือไม่
ตกเป็นข่าวถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)หรือไม่ ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า อาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตาม ม.98(18) ประกอบ ม.235 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากเคยถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 29/2546 ชี้ขาดว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) และต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ‘ตัวแสดง’ ทางการเมืองที่มีกำลังมีบทบาทต่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรของพรรครัฐบาลในขณะนี้
ลองมาย้อนข้อมูลดูคดีจงใจยื่นบัญชีฯเท็จของนายพิเชษฐกัน
@ความเป็นมา-หนี้ตามคำพิพากษา 48.9 ล. ไม่ยื่น ป.ป.ช. 9 ครั้ง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 68/2545 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2545 เห็นว่า จากการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกร้อง ที่ได้ยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง รวม 9 ครั้ง ผู้ถูกร้องมิได้แสดง รายการหนี้สิน จํานวน 48,987,128.24 บาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้อื่นอีก 4 คน ตาม คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2539 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2539 และปรากฏว่า หลังจากที่ ศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทําการยึดทรัพย์สินของผู้ถูกร้อง เป็นที่ดินมีโฉนด จํานวน 4 แปลง โดยนางสุรีย์ สถิรชวาล คู่สมรสของผู้ถูกร้อง ได้ยื่นคําร้องขอขัดทรัพย์ที่ดิน จํานวน 2 แปลง และร้องขอกันส่วนที่ดิน จํานวน 2 แปลง ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2542 แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องได้ทราบถึงการเป็นหนี้จํานวนดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2539 แล้ว ก่อนที่จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540 และได้รับรู้ถึงการเป็นหนี้ดังกล่าวโดยตลอด จากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ทําการยึดทรัพย์สิน (ที่ดิน) โดยได้มีการร้องขอขัดทรัพย์ที่ดิน และร้องขอกันส่วนที่ดินต่อศาลแพ่ง แต่ในการยื่นบัญชี ฯ ผู้ถูกร้องมิได้แสดงรายการหนี้สินจํานวนนี้แต่อย่างใด ผู้ถูกร้องเพียงแต่ระบุในสําเนา เอกสารประกอบในการยื่นบัญชี ฯ ครั้งที่ 8 ว่า หนี้สินการค้ำประกันที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต “3. การค้ำประกันบริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค จํากัด กับธนาคารเครดิต อะกริกอล อินโดสุเอซ” เท่านั้น โดยมิได้ระบุว่ามีหนี้ตามสัญญาค้ำประกันในเรื่องใด จํานวนเท่าใด และไม่แนบเอกสารหลักฐานประกอบ ทั้งที่ผู้ถูกร้องทราบดีอยู่แล้วในขณะที่ยื่นบัญชี ฯ ว่า ตนมีหนี้สินตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ต้องผูกพันอยู่ เป็นจํานวนเท่าใด นอกจากนี้ เมื่อสํานักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 23 มกราคม 2545 ขอให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อเท็จจริงในหนี้สินดังกล่าว ผู้ถูกร้องมีหนังสือลงวันที่ 15 ก.พ. 2545 ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในการยื่นบัญชี ฯ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2545 ผู้ถูกร้องก็ยังคงมิได้แสดงรายการหนี้สินจํานวนดังกล่าวไว้ในบัญชี ฯ เพียงแต่ระบุในสําเนาเอกสารประกอบ เช่นเดียวกับการยื่นบัญชี ฯ ครั้งที่ 8
@อ้างไม่แจ้ง ป.ป.ช. เกรงกระทบการต่อสู้คดีในศาล
ผู้ร้องเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่แสดงรายการหนี้สินดังกล่าวว่า ไม่สามารถ แจ้งรายการหนี้สินดังกล่าวได้ เพราะจะมีผลกระทบในการต่อสู้คดีในชั้นศาล นั้น เป็นการยอมรับว่า มีเจตนาที่จะปกปิดรายการหนี้สินจํานวนดังกล่าวไว้ เพื่อประโยชน์ของตนในการต่อสู้คดีในชั้นศาล นอกจากนี้ คําชี้แจงของผู้ถูกร้องก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้ผู้ถูกร้อง รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นจํานวนหนี้ที่แน่นอนแล้ว ซึ่งเจ้าหนี้จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง สิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ การต่อสู้คดีในชั้นศาลในการบังคับคดีเป็นการต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์ของ ทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีเท่านั้น หาใช่การต่อสู้ในมูลหนี้เดิมที่ถึงที่สุดแล้ว อันจะเป็นเหตุให้ต้องปกปิดไว้ไม่ ที่ประชุมของผู้ร้องจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 9 เสียง ว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีเข้ารับตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณี พ้นจากตําแหน่งแล้วหนึ่งปี รวม 9 ครั้ง แล้วแต่กรณี ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 ต่อไป
ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นวินิจฉัยไว้ 2 ประเด็น เรียบเรียงได้ดังนี้
1.ประเด็นคำร้องเคลือบคลุมหรือไม่
ศาลเห็นว่าผู้ร้องบรรยายคำร้องชัดเจน ไม่เคลือบคลุม
2.ประเด็นว่าความรับผิดของผู้ค้ำประกันเช่นผู้ถูกร้องนี้ มีความหมายเป็นหนี้สิน ตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ศาลเห็นว่า หนี้จำนวนดังกล่าว ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อ 7 พ.ค.2539 ให้ผู้ถูกร้องในฐานะผู้ค้ำประกัน ต้องรับผิดต่อธนาคารอินโดสุเอช ร่วมกับบริษัทนิวส์เน็ตเวิร์ค จำกัด ในหนี้จำนวน 48,987,128.24 บาท หนี้ตามจำนวนดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่เป็นจำนวนแน่นอน เพราะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเช่นนี้จึงอยู่ในความหมายของ “หนี้สิน”ตามรัฐธรรมนูญ
@ มีหน้าที่ต้องยื่น ป.ป.ช.
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ถูกร้องจะต้องแสดงหนี้สินจํานวน 48,987,128.24 บาท นี้ ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และมาตรา 292 หรือไม่
พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลฎีกามีคําพิพากษาให้บริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค ลูกหนี้ และผู้ถูกร้อง ในฐานะผู้ค้ำประกัน และผู้ค้ำประกันรายอื่น ร่วมกันชําระหนี้ จํานวน 48,987,128.24 บาท แก่ธนาคาร ฯ เจ้าหนี้ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาแล้วว่า ให้ผู้ถูกร้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมชําระหนี้ ให้แก่ธนาคาร ฯ โจทก์ จํานวน 48,987,128.24 บาท และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ หนี้ที่ศาลฎีกา พิพากษาจํานวนดังกล่าว จึงเป็นหนี้จํานวนแน่นอนที่ผู้ถูกร้องจะต้องร่วมกับลูกหนี้คนอื่นชําระให้แก่ธนาคาร ฯ และเป็นหนี้ที่แน่นอนนับตั้งแต่วันที่มีการอ่านคําพิพากษาของศาลฎีกา คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2539 ดังนั้น ผู้ถูกร้องต้องรับผิดต่อธนาคาร ฯ เจ้าหนี้ ร่วมกับบริษัท ฯ ลูกหนี้ ในหนี้จํานวน 48,987,128.24 บาท ดังกล่าว ผู้ถูกร้องจึงต้องแสดงรายการหนี้สิน จํานวน 48,987,128.24 บาท ในบัญชี ฯ ที่ยื่นต่อ ผู้ร้อง ตามรัฐธรรมนูญ
@ รู้อยู่แล้วว่ามีหนี้
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า ผู้ถูกร้องทราบว่า มีหนี้ตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้ว จํานวน 48,987,128.24 บาท หรือไม่ นั้น ศาลฎีกามีคําพิพากษาที่ 663/2539 ลงวันที่ 16 ก.พ. 2539 (ศาลแพ่งอ่านคําพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2539) เมื่อผู้ถูกร้องไม่ชําระ หนี้โจทก์ โจทก์ได้ขอให้บังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทําการ ยึดทรัพย์ของผู้ถูกร้อง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2539 ต่อมาคู่สมรสของผู้ถูกร้องได้มีการร้องขัดทรัพย์และขอกันส่วนในที่ดิน จํานวน 4 แปลง เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ถูกร้องจะยื่นบัญชี ฯ ต่อผู้ร้อง ครั้งที่ 1 ทั้งสิ้น พิจารณาจาก คําพิพากษาและพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว เชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องทราบว่า มีหนี้จํานวน 48,987,128.24 บาท ตลอดมา จนถึงวันยื่นบัญชี ฯ อย่างน้อยผู้ถูกร้องก็ต้องรู้ถึงยอดหนี้ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้ถูกร้องต้องรับผิด ในวันที่ผู้ถูกร้องถูกยึดทรัพย์ คือ วันที่ 9 ต.ค. 2539 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ถูกร้องจะยื่นบัญชี ฯ ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540
@อ้างเข้าใจสับสน ฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า เอกสารคําแนะนําในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่เพิ่มเติม ของผู้ร้อง ข้อ 15 มีข้อความไม่ชัดเจน ผู้ถูกร้องจึงไม่ยื่นบัญชี ฯ นั้น ตามเอกสารคําแนะนําดังกล่าว มีข้อความว่า “กรณีการค้ำประกันเงินกู้ไม่ต้องกรอกรายการประเภทหนี้สิน” พิจารณาจากข้อความใน คําแนะนําดังกล่าวแล้ว เห็นว่า หนี้ของผู้ถูกร้องตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2539 จํานวน 48,987,128.24 บาท ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้ถูกร้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้และผู้ค้ำประกันรายอื่น มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วม เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ผู้ถูกร้องชําระหนี้ได้เต็มจํานวน เอกสารคําแนะนํา มีความชัดเจน ไม่ทําให้เกิดความเข้าใจสับสนแต่อย่างใด หมายความว่า การค้ำประกันเงินกู้ไม่ต้องแจ้ง ในบัญชี ฯ เพราะการค้ำประกันเงินกู้นั้น ผู้ค้ำประกันยังมิได้ตกเป็นลูกหนี้จนกว่าผู้กู้จะผิดสัญญาและมี คําพิพากษาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ดังนั้น การค้ำประกันเงินกู้จึงยังไม่แน่นอนว่า ผู้ค้ําประกันจะต้องรับผิดหรือไม่ และรับผิดเพียงใด ถือว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่รู้ถึงยอดหนี้ ที่ผู้ค้ำประกันจะต้องชําระ จึงไม่ต้องระบุจํานวนเงินที่ค้ำประกันในบัญชี ฯ แต่กรณีของผู้ถูกร้องเป็นกรณี ที่มีคําพิพากษาศาลฎีกาถึงที่สุดแล้วว่า ให้ผู้ถูกร้องชําระเงินให้ธนาคารอินโดสุเอซ เป็นเงิน 48,987,128.24 บาท ในฐานะลูกหนี้ร่วม ดังนั้น หนี้จํานวนดังกล่าวเป็นหนี้ตามคําพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว และผู้ถูกร้อง เป็นลูกหนี้ตามคําพิพากษา ไม่ใช่ลูกหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ประกอบทั้งในคดีนี้ ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้แสดงหนี้ตามคําพิพากษาของศาลฎีกาจํานวนดังกล่าวที่ถึงที่สุดแล้วไว้ใน บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผู้ร้องไม่ได้อ้างว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้แสดงหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ดังที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง
ผู้ถูกร้องอ้างว่า ได้แสดงหนี้ค้ำประกันเพื่อแสดงเจตนาในการยื่นบัญชีครั้งที่ 8 และครั้งที่ 9 ไว้ในเอกสารที่ประกอบแนบท้ายบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยแสดงว่าหนี้ค้ำประกันที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคต เหตุที่ผู้ถูกร้องไม่ระบุตัวเลขที่ชัดเจนตามคําพิพากษาไว้ในแบบบัญชี ฯ เพราะเข้าใจ โดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอน และได้รับแจ้งจากบริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค ฯ ลูกหนี้ชั้นต้นว่า สามารถ ชําระหนี้ได้แน่นอน ซึ่งทางบริษัทดังกล่าวชําระหนี้แล้ว จึงไม่มีหนี้ต่อกัน และมีผู้ค้ำประกันอื่นอีก 4 คน ไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะบังคับชําระหนี้แก่ผู้ค้ำประกันรายใด หากเลือกบังคับจากผู้ค้ำประกันรายหนึ่งรายใดแล้ว เจ้าหนี้อาจพอใจ นอกจากนั้น นางประภา วิริยประไพกิจ ผู้ค้ำประกันอีกรายหนึ่งได้ชําระหนี้เป็นส่วนใหญ่ ให้กับธนาคารแล้ว ผู้ถูกร้องจึงเข้าใจว่าหนี้ดังกล่าวใกล้จะหมดแล้ว
@ ป.ป.ช.เคยเตือนให้แสดงแล้ว ไม่ฟัง
พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 292 บัญญัติ ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงใน วันที่ยื่นบัญชีดังกล่าว ดังนั้น ผู้ถูกร้องซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินจะต้องแสดง ยอดหนี้ตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้ว คือ 48,987,128.24 บาท ซึ่งอ่านคําพิพากษา เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2539 ไว้ในบัญชี ฯ ที่ผู้ถูกร้องยื่นต่อผู้ร้องเป็นครั้งแรกซึ่งยื่นเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540 อันเป็นวันหลังจากที่ศาลได้อ่านคําพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว เพราะเป็นหนี้สิน ที่มีอยู่จริงในวันที่ยื่นบัญชีครั้งแรก และถ้าหลังจากวันที่ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินดังกล่าวแล้ว ยอดหนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม ผู้ถูกร้องก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ในตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงนี้ เพราะมาตรา 292 บัญญัติให้แจ้งยอดหนี้ที่มีอยู่จริงในขณะยื่นบัญชี ฯ แต่ในกรณีของผู้ถูกร้อง ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้แสดงยอดหนี้ของธนาคาร ฯ เลย แม้ผู้ร้องจะเคยเตือน ให้ผู้ถูกร้องทราบแล้วก็ตาม ผู้ถูกร้องกลับยื่นคําชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่อาจลงยอดหนี้สินที่มีต่อธนาคาร อินโดสุเอซ (ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาและถึงที่สุดแล้ว) ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินได้ เพราะคดี ของผู้ถูกร้องอยู่ระหว่างร้องขัดทรัพย์ การแสดงยอดหนี้ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการต่อสู้คดี (เพราะเท่ากับ ผู้ถูกร้องยอมรับว่าเป็นหนี้ธนาคาร ฯ อยู่จริง อาจเป็นผลเสียแก่รูปคดี) แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องรู้ว่า ยอดหนี้นี้ต้องแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทุกครั้งที่ยื่นต่อผู้ร้อง แต่ไม่แจ้งเพราะเกรงว่า จะเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และคดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีให้เป็นไปตามคําพิพากษา ซึ่งการต่อสู้คดี ในชั้นบังคับคดีนั้น เป็นเพียงการต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินที่ถูกยึดว่า เป็นทรัพย์ของจําเลย หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่การต่อสู้ในมูลหนี้ว่า เป็นหนี้ที่แท้จริงเท่าใด อันจะเป็นเหตุให้ต้องปกปิดไว้ไม่ เพราะจํานวนหนี้นั้นถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่แท้จริง
การพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องยื่นบัญชี ฯ โดยจงใจไม่แสดงหนี้ตามคําพิพากษา จํานวน 48,987,128.24 บาท หรือไม่ จําต้องพิจารณาความหมายของคําว่า “จงใจ” ก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยที่ 19/2544 ให้ความหมายของคําว่า “จงใจ” สรุปว่า “จงใจ” เป็นเพียงเจตนาธรรมดา คือ ผู้ถูกร้อง รู้หรือไม่รู้ว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวอยู่หรือไม่ เพียงผู้ถูกร้องรู้สํานึกในการกระทําก็พอแล้ว ไม่จําต้อง มีเจตนาพิเศษเพื่อมุ่งประสงค์ต่อประโยชน์ที่มิชอบ หรือมุ่งประสงค์เพื่อเตรียมการใช้อํานาจหน้าที่แสวงหา ประโยชน์อันมิชอบ หรือเพื่อปกปิดทรัพย์สินที่ได้มาโดยทุจริตต่อหน้าที่ และคําวินิจฉัยที่ 20/2544
ให้ความหมายเพิ่มเติมจากคําวินิจฉัยข้างต้น สรุปว่า แม้คําว่า “จงใจ” ไม่จําต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ หรือมุ่งประสงค์เป็นพิเศษตามที่ได้ให้ความหมายมาแล้วก็ตาม แต่การใช้คําว่า “จงใจ” นําหน้าคําว่า “ยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ” นั้น ย่อมมีความหมายว่า รัฐธรรมนูญประสงค์เน้นว่า ผู้ยื่นบัญชี ฯ ต้องรู้สํานึกที่แน่ชัดพอสมควร และจําต้องมีพยานหลักฐาน ที่ชัดแจ้งหรือปราศจากข้อสงสัยอันสมควรมาแสดง ในกรณีที่พยานหลักฐานยังไม่ชัดแจ้งหรือยังเป็น ที่สงสัยอยู่ จึงไม่ควรวินิจฉัยให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหา นั้น
@ ชี้ชัดมีเจตนาปกปิด
การที่ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้ยื่นบัญชี แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้อง กรณีเข้ารับ ตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วหนึ่งปีในโอกาสต่างๆ รวม 9 ครั้ง แล้วแต่กรณี ตั้งแต่ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2540 จนถึงครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2545 โดยผู้ถูกร้องไม่แสดงรายการหนี้สินที่มีต่อธนาคารอินโดสุเอซ จํานวน 48,987,128.24 บาท ในบัญชี ฯ ที่ยื่นต่อผู้ร้อง ทั้ง 9 ครั้ง ทั้งที่หนี้ดังกล่าว เป็นหนี้ที่ต้องรับผิดและมีจํานวนที่แน่นอน เพราะมีที่มาจากหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน รวมทั้งหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาได้พิพากษาระบุจํานวนตัวเลขชัดเจน ไม่ใช่หนี้ที่คาดว่าจะ เกิดขึ้นในอนาคต หนี้จํานวนดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ถูกร้องทราบว่า เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนการยื่นบัญชี ฯ ครั้งที่ 1 ดังนั้น หนี้สินตามคําพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จึงเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งหรือปราศจากข้อสงสัย ถือได้ว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ ควรแจ้งให้ทราบ ที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ไม่มีเจตนาหรือจงใจปกปิดรายการหนี้สินดังที่ผู้ร้องกล่าวหา เพราะ ผู้ถูกร้องเชื่อโดยสุจริตว่า หนี้ค้ำประกันผู้อื่นยังเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอน และไม่จําเป็นต้องยื่นแสดงเป็นรายการ หนี้สินในบัญชี ฯ เนื่องจากผู้ถูกร้องได้รับแจ้งจากลูกหนี้ชั้นต้น (บริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค จํากัด) ว่า กําลังเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้อยู่ หากสามารถเจรจาทําความตกลงชําระหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ได้สําเร็จ ผู้ถูกร้องในฐานะผู้ค้ำประกันก็จะไม่มีหนี้ต้องรับผิดชอบ และผู้ถูกร้องยังเข้าใจว่า หนี้ค้ำประกันที่ยัง ไม่สามารถยืนยันตัวเลขแน่นอนได้ หากระบุตัวเลขหนี้ลงไป แล้วต่อมาสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้หรือ มีการชําระหนี้บางส่วน การระบุยอดหนี้ดังกล่าวในบัญชี ฯ อาจเป็นเรื่องยื่นเท็จได้ ทั้งยังเข้าใจว่า หลังจากได้รับแจ้งจากนางประภา วิริยประไพกิจ ผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นจําเลยที่ 5 ว่า ได้ชําระเงิน ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้แล้ว จํานวน 44,536,190.85 บาท เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ภาระหนี้ของตนน่าจะหมดไปแล้ว อย่างน้อยก็เป็นการแสดงว่า จํานวนหนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเป็น การแสดงว่าหนี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ไม่สามารถทราบตัวเลขสุดท้ายหรือความรับผิดชอบที่ชัดเจนของผู้ถูกร้องได้ นั้น
@หากบริสุทธิ์ใจต้องยื่นเอาไว้ก่อน
เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าว เป็นการพยายามอธิบายหรือให้เหตุผลโดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อที่อ้างว่า เป็นหนี้ มีจํานวนไม่แน่นอนนั้น หากผู้ถูกร้องมีความบริสุทธิ์ใจในการยื่นบัญชี ฯ ผู้ถูกร้องสามารถกระทําได้โดย การแสดงตัวเลขหนี้จํานวน 48,987,128.24 บาท เป็นรายการหนี้สินในบัญชี ๆ ที่ยื่นต่อผู้ร้อง และหนี้สินรายการนี้ก็มีเอกสารหลักฐานเป็นคําพิพากษาของศาลที่สามารถแสดงประกอบการยื่นบัญชี ฯ ได้ กรณีมีข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีจํานวนเท่ากันในการยื่นทุกๆ ครั้ง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ร้อง ที่จะต้องสอบถาม หรือแจ้งให้ผู้ถูกร้องไปชี้แจงได้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งหรือกล่าวหาผู้ร้อง ได้แก่ เรื่องผู้ร้อง กระทําการฝ่าฝืนและผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 293 และมาตรา 294 เรื่องผู้ร้องมิได้ดําเนินการตรวจสอบ บัญชี ฯ ของผู้ถูกร้องโดยชอบ เรื่องผู้ร้องดําเนินการตรวจสอบล่าช้า ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม เรื่อง การตรวจสอบบัญชี ฯ ของผู้ร้อง กระทําโดยไม่ละเอียดรอบคอบ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และ เรื่องมาตรฐานการทํางานและบรรทัดฐานการวินิจฉัยของผู้ร้อง นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ของผู้ร้อง ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยให้ได้ จึงไม่จําต้องพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
@ ตุลาการ มติ 8 ต่อ 5 ฟันยื่นเท็จ
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องรู้ถึงความมีหนี้สินดังกล่าวก่อนการยื่นบัญชี ฯ แต่ไม่แสดงหนี้สินนั้นไว้ใน บัญชี ฯ ที่ยื่นต่อผู้ร้อง การไม่แสดงหนี้สินดังกล่าว จึงเป็นการจงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จํานวน 8 คน คือ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายจิระ บุญพจนสุนทร นายผัน จันทรปาน นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย จํานวน 5 คน คือ นายจุมพล ณ สงขลา นายมานิต วิทยาเต็ม นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุธี สุทธิสมบูรณ์ และพลตํารวจเอก สุวรรณ สุวรรณเวโช วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องไม่จงใจยื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควร แจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้อง จงใจยื่นบัญชี ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 มีประเด็น ต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ถูกร้องจะถูกต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาห้าปี นับแต่เมื่อใด
@สั่งเว้นวรรค 5 ปี นับจาก 29 ส.ค. 2545
พิจารณาแล้ว ผู้ถูกร้องยื่นบัญชี ฯ ต่อผู้ร้อง รวม 9 ครั้ง ในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่างๆ ตามคําร้อง โดยผู้ร้องมีมติเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2545 ว่า ผู้ถูกร้องจงใจยื่นบัญชี ฯ ต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีเข้ารับตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง และกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วหนึ่งปี รวม 9 ครั้ง และขณะที่ผู้ร้องมีมติและยื่นคําร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญจนศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยชี้ขาด ผู้ถูกร้องยังคงดํารงตําแหน่งทางการเมือง จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ผู้ร้องตรวจพบว่ามีการกระทํา ดังกล่าว คือ วันที่ 29 ส.ค. 2545
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยชี้ขาดโดยเสียงข้างมากว่า นายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้ถูกร้อง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 และต้องห้ามมิให้ ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้อง ตรวจพบว่ามีการกระทํา ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2545 เป็นต้นไป
กล่าวสำหรับนายพิเชษฐ นอกจากคดีนี้ นายพิเชษฐ คยถูก ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ลูกหนี้ล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 ส.ค.2550 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของ นายพิเชษฐ ลูกหนี้ เด็ดขาด ต่อม ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2551 ต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง อำนาจในการจัดกิจการทรัพย์สิน จึงกลับคืนสู่ลูกหนี้
ทั้งหมดคือข้อมูลคดียื่นบัญชีฯเท็จของนายพิเชษฐซึ่งสิ้นสุดไปกว่า 10 ปี กรรมเก่า ณ วันนี้กำลังตามหลอกหลอนอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/